ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

มหาจุฬาฯ มุ่งพัฒนางานวิชาการสู่ระดับนานาชาติ


      ในระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔  ที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การอบรมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการการจัดการความรู้บทความวิชาการนานาชาติ"  ซึ่งวัตถุประสงค์หลักในการจัดงานครั้งนี้ คือ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการเขียนบทความวิชาการ เพื่อพัฒนาให้เกิดความสมบูรณ์และนำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติ วิสาขบูชาโลก” สำหรับวิทยากรที่ได้เข้าร่วมการอภิปรายครั้งนี้ ประกอบด้วย พระ ครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า รศ.ดร.ภัทรพร สิริกาญจน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และผศ.ดร. ปาริชาด สุวรรณบุปผา มหาวิทยาลัยมหิดล  ดำเนินรายการโดย นางสาวศันศนีย์ นาคพงศ์

    ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้ อำนวยการหลักสูตรการไกล่เกลี่ย สถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับการสร้างความปรองดองในสังคม ไทยว่า "จาก กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือกรณีความขัดแย้งในสังคมไทยนั้น การออกจากกำดักของความขัดแย้งไม่ควรที่จะนำอดีตมาครอบงำปัจจุบัน แต่ควรนำอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อเตือนใจของชนในชาติ แล้วพยายามตั้งคำถามว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในอนาคตข้างหน้าได้อย่างไร  การจม หรือยึดมั่นอยู่กับประวัติศาสตร์ในอดีตนั้น ทำให้การจัดการความขัดแย้งพบกันทางตันมากยิ่งขึ้น  ฉะนั้น  ความจำเป็นเร่งด่วนคือ การที่กลุ่มต่างๆ รับฟังกันและกันมากยิ่งขึ้น และนำข้อห่วงใยของแต่ละฝ่ายมาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาทางออก"

     มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เชิญบุคลากร และนิสิตทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ตลอดจนนักวิชาการทั่วไปที่สนใจ จำนวน ๙๖ รูป/คน ที่ส่งบทความเพื่อนำเสนอในการประชุมนานาชาติ วิสาขบูชาโลก ในหัวข้อ “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” ประจำปี ๒๕๕๔  ได้ร่วมนำเสนอบทความในครั้งนี้ โดยมีนักวิชาการ และคณาจารย์ของมหาจุฬาฯ ประกอบด้วย พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รศ.ดร.ภัทรภร สิริกาญจน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผศ.ดร. ปาริชาด สุวรรณบุปผา มหาวิทยาลัยมหิดล และผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ร่วมวิพากษ์วิจารณ์บทความ เพื่อนำไปเขียนบทความลงตีพิมพ์ในวันวิสาขบูชาโลก ปี ๒๕๕๔

     พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.ดร. คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งเป็นประธานในการมอบวุฒิบัตร ได้กล่าวในพิธีปิดการสัมมนาว่า "การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่นิสิต และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย เพราะถือว่าเป็นเวทีในการแสดงออกทางความคิด และงานวิจัย  เพราะในอดีตที่ผ่านมานั้น  นิสิต และคณาจารย์ขาดเวทีในการนำเสนอความคิด แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น  การดำเนินการในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดการกระตุ้นเตือนนิสิต และคณาจารย์ของมหาจุฬาฯ ให้สามารถผลิตงานทางวิชาการที่ได้คุณภาพทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ อีกทั้งจะนำไปสู่การส่งเสริมงานด้านประกันคุณภาพได้อีกด้วย"

     "การที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธ ศาสนาของโลกจำเป็นต้องพัฒนา ให้นิสิตและคณาจารย์ควรมีความสามารถทั้ง ๓ ภาษา คือ  (๑) ภาษาไอที  จำเป็นต้องเน้นและเรียนรู้ เพราะโลกก้าวไปพุทโธโลยี ธรรโมโลยี และสังโฆโลยี ตามก้าวให้ทันต่อความเป็นไปของสิ่งต่างๆ เพื่อให้สองสิ่งเอื้อเฟื้อและเกื้อกูนต่อการเข้าถึงธรรม และนำธรรมเข้าสู่สังคม (๒) ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้เพื่อเป็นเครื่องแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในภูมิภาคต่างๆ และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (๓) ภาษาวิชาการ  เน้นวิชาการให้เข็มแข็ง ทั้งในแง่ของการเรียน ศึกษาหาความรู้ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนต่างๆ รวมถึง การเขียนตำราทางวิชาการ และเอกสารคำสอนต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทั่วโลก" พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. ในฐานะผู้ดำเนินการจัดงานครั้งนี้กล่าว

     พระมหาหรรษา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "เราจำเป็นต้องบูรณาการการเรียนรู้ทั้ง  ๓ ภาษาข้างต้น จะเห็นว่า หากภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างๆ ของเราไม่เข้มแข็งเพียงพอ จะมีผลต่อการพัฒนาภาษาวิชาการ และภาษาไอทีเป็นอย่างมาก เพราะภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ  อุดมไปด้วยองค์ความรู้ และขุมทรัพย์ทางปัญญาอย่างหลากหลายที่ซ่อนตัว หรือเผยตัวอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก ฉะนั้น ภาษาจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะไข 'ความลับของสรรพสิ่งในจักรวาล'  ให้เผยตัวออกมาเพื่อนำไปสร้าง และบูรณาการองค์ความรู้ใหม่ๆ ต่อการพัฒนามนุษยชาติและสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป"

หมายเลขบันทึก: 429004เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2011 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท