ประวัติเมืองสงขลา (8) ถนนย่านเก่า


อาหารเช้าที่ถูกใจผมมากที่สุดอย่างหนึ่ง ทุกครั้งที่กลับมาบ้านที่สงขลาต้องไปกินให้ได้ ไม่อย่างนั้นเหมือนยังไม่ได้กลับสงขลา คือ ข้าวสตู

ย่านเก่าเมืองสงขลา คือ บริเวณถนนสามสายที่ขนานไปกับชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ทอดตัวจากเหนือลงใต้ คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม

ถนนที่อยู่ชิดกับทะเลสาบสงขลา คือ ถนนนครนอก ชื่อนี้อาจจะมาจากอยู่นอกกำแพงเมืองสงขลาก็ได้ กำแพงเมืองถูกรื้อออกไปเกือบหมดในช่วงที่มีการจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช เหลือให้เห็นในปัจจุบันเพียงน้อยนิด

ถ้าไปเดินเล่นแถวถนนนครนอก เพื่อหวังจะชมทิวทัศน์บริเวณทะเลสาบสงขลา คงผิดหวัง เพราะมีบ้านเรือนปลูกชิดริมถนนหนาแน่นตลอดทั้งสาย เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ก่อนตั้งเทศบาลเมืองสงขลาเสียอีก

ถัดเข้ามาก็เป็นถนนนครใน ซึ่งมีบ้านเรือนหนาแน่นไม่แพ้กัน และถนนนางงามอยู่ทางด้านทิศตะวันออกสุดของย่านเก่า ห่างออกมาจากถนนนครในราว 80 เมตร และมีถนนซอยเชื่อมระหว่างถนนทั้งสามสายเข้าด้วยกัน เช่น ถนนยะหริ่งและถนนหนองจิก

เอกลักษณ์ของย่านเก่าสงขลาอย่างหนึ่งคืออาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส หมายถึง เป็นอาคารลูกผสมระหว่างจีนกับฝรั่ง มีรูปแบบเฉพาะตัว เค้าโครงเป็นแบบตะวันตก กรอบหน้าต่างเป็นรูปครึ่งวงกลม แต่มีลวดลายปูนปั้นดูอ่อนช้อย

อาคารแบบนี้พบเห็นได้ที่หัวเมืองปักษ์ใต้แห่งอื่นๆ อีกเช่นที่ตะกั่วป่า ตรัง ภูเก็ต หรือแม้แต่ปีนัง มาเลเซีย

อีกอย่างที่เป็นร่องรอยหลงเหลือให้เห็น คือ อาเขต ซึ่งเป็นทางเท้าใต้ชายคาบ้านสำหรับคนเดินผ่านไปมาหน้าบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าในตัว ใช้หลบแดดหลบฝนได้

ลักษณะจึงเหมือนอาคารพาณิชย์ ส่วนหน้าบ้านใช้ทำการค้า กลางบ้านมีบ่อน้ำ เปิดโล่งให้แสงส่องลงมาได้ และส่วนหลังบ้านใช้พักอาศัย

วันนี้ การจราจรบนถนนทั้งสามสายคับคั่ง กลายเป็นถนนวันเวย์และไม่สามารถขยายถนนได้อีกแล้ว เพราะถนนได้ออกแบบไว้ให้คนเดินและรถจักรยาน สามล้อถีบผ่านเท่านั้น

ถนนนางงาม ดูจะคึกคักมีชีวิตชีวามากที่สุด สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองสงขลา มีอาหารประจำท้องถิ่นของชาวเมืองสงขลาให้ชิมให้ชมกันตลอดเส้นทาง รวมไปถึงร้านกาแฟแบบเก่าและร้านขนมไทย

อาหารเช้าที่ถูกใจผมมากที่สุดอย่างหนึ่ง ทุกครั้งที่กลับมาบ้านที่สงขลาต้องไปกินให้ได้ ไม่อย่างนั้นเหมือนยังไม่ได้กลับสงขลา คือ ข้าวสตู

ข้าวสตู น่าจะเป็นอาหารที่มีเฉพาะในสงขลา สตูในที่นี้ไม่ใช่สตูแบบฝรั่งที่ทำด้วยเนื้อวัวหรือลิ้นวัวแล้วเคี่ยวกับน้ำเกรวี่ข้นๆ แต่เป็นข้าวสวยหนึ่งจาน รับประทานกับเนื้อหมูและเครื่องในหมูที่ต้มในน้ำซุปข้นเล็กน้อย มีต้นหอมซอยผสมกับพริกไทย รสชาติออกเค็มๆ หวานๆ และมีน้ำจิ้มรสเปรี้ยวๆ เค็มๆ เจือด้วยรสเผ็ดของพริกสด

จึงเป็นรสชาติของอาหารชุมชนชาวจีนที่ประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตหัวเมืองปักษ์ใต้ได้อย่างลงตัว

อาหารอีกอย่างที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตชาวประมงของสงขลาคือ ไข่ครอบ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการไข่ขาวไปใช้ย้อมแหอวนเพื่อความทนทาน และต้องระวังไม่ให้ไข่แดงแตกปนมา

ไข่ครอบทำโดยนำไข่เป็ดมาเจาะเอาไข่ขาวออก แล้วเอาไข่แดงของไข่อีกใบหนึ่งใส่ลงไปในไข่ที่เอาไข่ขาวออกไปแล้ว ก็จะได้ไข่ 1 ใบที่มีแต่ไข่แดง 2 ใบอยู่ด้วยกัน เหยาะเกลือลงไป ทิ้งไว้ 1 คืน นำไปนึ่ง จะได้ไข่ที่มีลักษณะเหมือนไข่แดงแฝดอยู่ในไข่ใบเดียว รสชาติเหมือนไข่แดงเค็ม แต่นิ่ม

มาสงขลาต้องลองชิม

หมายเลขบันทึก: 428657เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หิวข้าวสตูจัง ตอนนี้เค้ายังขายอยู่เหรอคะ

แต่ก่อนครูอิงไปดูหนังที่โรงหนังหลักเมืองประจำค่ะ

อยากกินเย็นตาโฟร์ร้านเจ๊โบ๋ว  แถว ๆ โรงหนังเพรสซิเด้นท์ด้วยหละค่ะ

คิดถึงอาหารแต่ละอย่างที่สงขลาแล้วน้ำยายหยัย

ครูอิงอาศัยอยู่เชื่อมต่อกันระหว่างถนนนางงาม กับ ถนนนครนอก นครใน คือ ถนนยะหริ่งค่ะ

ขอบพระคุณมากมายค่ะที่ทำให้คิดถึงบ้านเกิด  ปิดเทอมนี้คงได้กลับไปอยู่สงขลาหลาย ๆ วัน

อยากไป อีกครั้ง ไปที่ไร ไม่ได้ไปเดิืน ถนนนางงามเลย 
ขอบคุณที่ นำมาเล่า ให้อ่าน ชอบจังค่ะ 

ข้าวสตู ยังมีอยู่หลายเจ้าครับคุณครูอิงจันทร์ แต่ผมรู้จักอยู่แค่สองเจ้า คือที่เก้าห้อง ถนนนางงามกับที่ริมทางรถไฟเก่าข้างวัดโรงวาส

โรงหนังเปรสสิเด้นท์ ถ้าผมจำไม่ผิด เคยไปดูหนังการ์ตูนเรื่องสุดสาครที่นี่ เมื่อ 30 ปีก่อนครับ

ขอขอบพระคุณอาจารย์กิติยา และพี่ pa_daeng ที่แวะมาจากแดนไกลเข้ามาชมครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท