เรียนรู้จากเพลง "เสียงของความเงียบ" ( The Sound of Silence)


ผมซึ้งกับเพลง The Sound of Silence ในมิติของปรัชญาของชีวิตและธรรมชาติมากที่สุด

เมื่อสมัยผมเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย มีภาพยนตร์เรื่อง The Graduate แสดงนำโดย Dustin Hoffman ที่มีเพลงประกอบเพราะๆหลายเพลง และมีเพลงหนึ่งที่เพราะจับใจมาก ฟังทีไรซึ้งทุกที ทำให้นึกถึงบรรยากาศสมัยเด็กๆ ก็คือเพลง

The Sound of Silence

สมัยโน้นฟังแล้วก็ไม่คิดมาก คิดแต่ว่าเพราะดี

แต่ก็สงสัยว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่

  • บทเพลงแห่งความเศร้า
  • บทเพลงแห่งความรัก
  • บทเพลงแห่งธรรมชาติ หรือ
  • บทเรียนเชิงปรัชญา กันแน่

จนถึงวันนี้ ผมก็ยังหาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ ว่าจริงๆแล้วคืออะไร

แต่....

ผมได้นำมาทบทวนแล้ว สามารถนำมาเป็นปรัชญานำทางชีวิตได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะ “เสียงของความเงียบ” หรือ แม้กระทั่ง “เสียงในความเงียบ”

ที่ทำให้เรามีโอกาสได้ยิน และ “ฟัง” เสียงต่างๆ ที่อยู่ในภาวะนั้นอย่างหลากหลาย มากมายคณานับ

ที่เราจะไม่มีโอกาสได้ยินเลยในภาวะที่มีเสียงอื่นๆดังมาก หรือ มีเสียงอึกทึกครึกโครม

เสียงเหล่านั้น คือเสียง “ธรรมชาติ” ที่ไพเราะเสนาะหูเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งฟังยิ่งได้ยิน ทำให้ผมได้พบกับเสียงธรรมชาติอย่างมากมายในทุกสถานการณ์ ยิ่งเงียบเท่าไหร่ ยิ่งได้ยินเสียงต่างๆมากเท่านั้น

ทำให้ผมหลงเสน่ห์ของความเงียบ และชอบอยู่แบบเงียบๆ เรียนรู้กับเสียงต่างๆที่มากับความเงียบ

ทำให้ผมไม่ค่อยฟังวิทยุ หรือ ทีวี หรือเครื่องเสียงใดๆ และไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง เพราะผมรู้สึกว่า เสียงดังเหล่านั้นกำลังทำลายระดับความสามารถการได้ยินเสียงที่แผ่วเบา ที่มีอรรถรสในการฟังมากกว่า

เลยทำให้ผมไม่ชอบนอนในสถานที่ที่มีเสียงรบกวน หรือ เสียงอึกทึกครึกโครม เพราะทำให้เสียบรรยากาศของการฟังเสียงธรรมชาติไป

ในทำนองเดียวกัน ผมก็ชอบทานอาหารที่ไม่ปรุงรส หรือปรุงน้อยที่สุด เพราะต้องการฝึกลิ้นให้รับรู้ “รส(ธรรม)ชาติ” จริงๆของอาหาร แทนการรับรู้รสเครื่องปรุง หรือ เครื่องปรุงรส

ผมจะได้รู้ว่าอาหารใด ของที่ไหนรสชาติอย่างไร

เพราะ เกลือ มะนาว น้ำตาล พริก ผงชูรส ที่ไหนๆ ก็รสชาติไม่น่าจะต่างกันเท่าไหร่

ผมได้ใช้หลักการนี้มาค่อนข้างนานกว่า ๔๐ ปี ที่รับประทานอาหารแบบไม่มีการปรุงรสเพิ่ม และ ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอให้คนปรุงอาหารปรุงรสน้อยที่สุด หรือเลือกอาหารที่มีการปรุงแต่งน้อยที่สุด

การปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ผมทานอาหารแบบ “รู้รสชาติ” ของอาหารอย่างแท้จริง ที่คนชอบปรุงแต่งรสชาติจะไม่มีวันเข้าใจ

ผมยังนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ทั้งการทำงาน การทำนา การสร้างบ้าน จัดบ้าน การใช้ชีวิต และระบบชีวิตแบบ “ธรรมชาติ” อยู่แบบธรรมดาๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผมจึงซึ้งกับเพลง The Sound of Silence ในมิติของปรัชญาของชีวิตและธรรมชาติมากที่สุด

ที่คิดว่าผมคงจะต่างจากคนที่ชอบหนีธรรมชาติ หรือ ชอบปรุงแต่งธรรมชาติ หรือชอบธรรมชาติที่ผ่านการปรุงแต่ง หรือสิ่งเลียนแบบธรรมชาติ หรือ แม้แต่สิ่งที่ทำลายธรรมชาติ

แต่ผมชอบธรรมชาติแบบ “ธรรมชาติ” จริงๆ

ที่ผมคิดว่าผมอาจได้รับอิทธิพลจากเพลงนี้พอสมควร จึงทำให้ผมใช้ชีวิตแบบนี้ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

และผมก็เป็นเช่นนี้เองครับ

 

หมายเลขบันทึก: 428251เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เสียงเพลง เสียงธรรมชาติทำให้เรารู้สึกดีนะค่ะ  ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

จริงด้วยค่ะ เพลงเข้ามามีอิทธิพลในบางเรื่อง  ที่เป็นครูได้นี่ก็เพราะเพลงนำพา

รำลึกถึงหนังและเพลงในยุคซิกซ์ตี้

 The Graduate , Scarborough fair , The Sound of Silence

  อาจารย์เป็นคนกล้าหาญมากที่เลือกใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการไม่ตามสังคมนิยมวัตถุ  อ่านบทความของอาจารย์แล้วคิดถึงหนังสือ " วอลเดน" ของเฮนรี่ เดวิล ธอโร

ก็ปกติครับ ไม่กล้าอะไรนัก คิดว่าอะไรดีสำหรับตัวเรา ไม่ล่วงล้ำสิทธิของคนอื่น ก็ทำ

ประมาณนี้ครับ

เพลงThe sound of silence เป็นเพลงที่ Pual Simon ร้องสดบริเวณground zeroเพื่อรำลึกวันงาน911เมื่อ11/09/11เปิดดูเขาเล่นguitarโปร่งเพราะและมีความหมายเ้ากับบรรยากาศเลยแหละ

ผมเดาว่า น่าจะมีบรรยากาศของความเงียบ แบบเดียวกับที่ผมใช้จริงๆในชีวิตผมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท