การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (Party-list proportional representation) ประชาธิปไตยที่เป็นธรรมสำหรับใคร ?


หนึ่งคน หนึ่งเสียง ทำไมต้องเลือกหลายครั้ง

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธปิตย์ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 และได้ตอบคำถามที่ว่า หากผลการเลือกตั้งครั้งหน้า ปชป.ไม่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง จะแย่งฟอร์มรัฐบาลแข่งหรือไม่ว่า "ในแง่หลักการ ใครได้คะแนนมากสุดก็มีสิทธิฟอร์มรัฐบาลก่อน แต่มันมีประเด็นเรื่องที่มา ส.ส. ซึ่งมี 2 ส่วนคือ ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อาจมีข้อโต้แย้งว่า แม้จำนวน ส.ส.รวมไม่ได้มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถ้าคะแนนบัญชีรายชื่อชนะขาด ใครจะได้ฟอร์มรัฐบาลก่อน"
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1297605619&grpid=00&catid=01

สอดคล้องกับเมื่อวันพุธสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการ สมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แถลงผลการศึกษาโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ "โดยได้เสนอให้แก้ไข รธน.มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในการพิจารณาปรับโครงสร้างการเมืองและกระบวนการยุติธรรม และจะเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พิจารณาในปลายเดือน ก.พ.นี้
สำหรับข้อเสนอของการปฏิรูปนั้นมีทั้งสิ้น 6 ส่วนคือ 1.โครงสร้างทางการเมือง 2.พรรคการเมือง 3.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 4.ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ 5.การกระจายอำนาจและการปรับระบบกระบวนการยุติธรรม
ที่น่าสนใจคือ โครงสร้างการเมือง ที่มีการเสนอให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากระบบบัญชี รายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งให้มีจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เท่ากับ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาก็ให้เป็นการเลือกตั้งทั้งหมด"
http://www.thaipost.net/news/170211/34502

หลายคนสงสัยว่า เหตุใดข้อเสนอของ อ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กับของ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ จึงเป็นเรื่องเดียวกันและนำเสนอออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน แม้ข่าวนี้จะไม่เป็นที่สนใจของสังคมเหมือนข่าวความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา ข่าวการยุบสภา หรือข่าวเรื่องของน้ำมันปาล์ม แต่ในแวดวงการเมืองก็ให้ความสนใจไม่น้อย

คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการ สมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ 5 คณะที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553
โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2553 มีรายชื่อคณะกรรมการ 19 คนดังนี้

   1. นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ประธานคณะกรรมการ
   2. นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)
   3. นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคลและกฏหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
   4. นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
   5. นายศุภชัย ยาวะประภาษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
   6. นายแสวง บุญเฉลิมวิภาส
   7. นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
   8. นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
   9. นายศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  10. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  11. นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมการ ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
  12. นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
  13. นายสุนทร มณีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  14. นายไชยา ยิ้มวิไล อดีตโฆษกรัฐบาลยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
  15. นายทวี สุรฤทธิกุล ประธานสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  16. นายสิริวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์
  17. นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
  18. นายเธียรชัย ณ นคร เลขาธิการ สภาพัฒนาการเมือง (สพม.)
  19. นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า และเจ้าหน้าที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีอีก 2 คน ร่วมเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

การที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ออกมาพูดเรื่องเดียวกันกับการแถลงของ อาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คาดเดามิได้ แต่สิ่งที่สังคมสงสัยก็คือ ทำไมจึงต้องนำเอาข้อเสนอที่ว่าออกมาเผยแพร่ในตอนนี้ และเป็นสัญญาณบ่งชี้อะไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือเกี่ยวกับการยุบสภาที่สังคมกำลังจับตามองอยู่ขณะนี้หรือไม่ เพราะหากพูดถึงถ้ามีการรับเรื่องนี้ไปดำเนินการก็ไม่ใช่ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะสามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จพร้อมที่นำออกมาบังคับใช้ได้ แต่ยังจะต้องมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอนและใช้เวลาอีกไม่ใช่น้อย

หากมาพิจารณารายชื่อของคณะกรรมการชุดนี้ สำหรับตัวผมเองก่อนหน้านี้ไม่มีความเชื่อมั่นเท่าใดนัก ถึงให้คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ถูกแต่งตั้งมาจากรัฐบาลนี้ด้วยก็ตาม เพราะหากนำเอารายชื่อทั้งหมดมารวมใส่กะละมังกวนๆแล้วหาค่าเฉลี่ย ในความรู้สึกของผมก็ดูจะเอียงไปทางขวาอยู่ไม่น้อย ข้อสรุปของคณะกรรมการก็คงไม่พ้นรูปแบบของประชาธิปไตยที่เป็นอนุรักษ์นิยม อิงอยู่กับขั้วอำนาจเก่าเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการให้หัวหน้าฝ่ายบริหาร(นายกรัฐมนตรี)มาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากระบบบัญชีรายชื่อ เพราะมันทำให้นึกไปถึงระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบประธานาธิบดี รวมไปถึงการเมืองสมัยจอมพลถนอม กิตติขจรเรืองอำนาจเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว

อาจเป็นเพราะผมไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (Party-list proportional representation) แม้ว่าในระดับสากล มีบางประเทศใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ร่วมอยู่ด้วย แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ปฏิเสธที่จะใช้รูปแบบนี้ สำหรับประเทศไทยวิธีการนี้จะยิ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลง มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์ตลอดกาล ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือประชาชนทั่วไปก็จะเสียเปรียบตลอดกาลเช่นกัน

เหตุผลที่มักจะนำมาใช้เพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้ที่ว่าจะทำให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น ในอดีตอาจเป็นเรื่องที่มีเหตุผลอยู่บ้าง แต่นาทีนี้ถือว่าเป็นการคิดวิเคราะห์ที่ตื้นเขินเกินไป เป็นความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เกาะติดอำนาจกับคนบางกลุ่ม เพราะการที่พรรคการเมืองใหญ่ขึ้น กรรมการบริหารมีอำนาจมากขึ้นไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าความเป็นสถาบันการเมืองที่มาจากการระดมอุดมการณ์ของประชาชนผู้สนับสนุนพรรคจะเข้มแข็งขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับกลายเป็นอำนาจอยู่ในมือผู้บริหารพรรคและผู้ที่มีอิทธิพลสนับสนุนอยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองนั้นๆ ไม่ใช่ประชาชนผู้เป็นสมาชิกพรรค การเจตนาปัดทิ้งเสียงข้างน้อย ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะรวมกันได้มากกว่าเสียงของพรรคการเมืองที่ได้มากที่สุดเสียด้วยซ้ำทิ้งไปย่อมไม่ใช่ลักษณะของประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ แต่เป็นประชาธิปไตยที่ถูกกำหนดโดยคนเพียงบางกลุ่มเพื่อความได้เปรียบของพวกพ้องของตนเองเท่านั้น

อีกทั้งแนวคิดตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย คือประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกตั้งตัวแทนของตนจึงควรเป็นหนึ่งคนต่อหนึ่งสิทธิ์และเป็นการเลือกโดยตรงไปที่คนที่เขาต้องการให้เป็นตัวแทนจริงๆ การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเปรียบเสมือนการโอนสิทธิ์ให้กลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่เรียกว่าผู้บริหารพรรคการเมืองไปจัดหาคนที่ผู้เลือกตั้งไม่ได้กำหนดมาเป็นตัวแทนของพวกเขา ซึ่งน่าจะเทียบได้กับการเลือกตั้งในระบบประธานาธิบดี

ผมจะมีอคติกับท่านอาจารย์สมบัติบ้างก็อาจเป็นเพราะการที่ท่านเป็นคนเดือนตุลาที่ร่วมต่อสู้กับรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมมา แต่ท่านกลับเข้าไปมีส่วนร่วมกับคณะรัฐประหารหรือใกล้ชิดกลุ่มอำนาจเก่ามากเกินไป คำพูดที่ว่า "ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง" ก็อาจมีส่วนเช่นกันตรงนี้ต้องน้อมรับว่าเป็นอคติส่วนตัวของผมเอง ทั้งที่ท่านก็ไม่ได้พูดผิดแต่อย่างใด เช่นหากนักเรียนในห้อง 30 คน ต้องการเลือกตั้งหัวหน้าชั้นหรือลงมติในการจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างพวกเขาก็สามารถลงคะแนนได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเลือกตั้งตัวแทนเพื่อทำการให้แต่อย่างใด แต่มันจะเป็นไปได้ไหมสำหรับขนาดของประชากรทั้งประเทศ

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (18ก.พ.54) ผมมีโอกาสได้ดูรายการของคุณจอมขวัญ หลาวเพชร ทางช่องเนชั่นแชนแนล ที่ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดโดยเชิญท่านอาจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์เสรี สุวรรณภานนท์ และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ (ส.ส.ปชป.)มาร่วมรายการ ต้องบอกตามตรงว่าหลังจากที่ได้ฟังอาจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก ท่านชี้แจงในหลายๆประเด็นและเมื่อมาเชื่อมโยงกับข้อเสนอทั้งหมดทำให้รู้สึกว่าคณะกรรมการชุดนี้มีมุมมองที่กว้างขึ้น ให้ความสำคัญกับการเมืองในระดับประชาชนมากขึ้น ให้คำอธิบายที่มีเหตุผลตามหลักการณ์ของแนวคิดของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะในเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ในเรื่องอื่นๆก็ยังคงจำกัดเสรีภาพทางความคิดของประชาชนอยู่ไม่ต่างจากที่ผ่านมาเท่าใดนัก ท่านอาจารย์เสรีเองก็มีทั้งความเห็นด้วย เห็นด้วยแต่มีเงื่อนไขและไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้ชมสามารถมองภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่วนคุณวิรัตน์ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ก็คงเห็นด้วยตามคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่แล้วโดยเฉพาะเรื่องนายกฯที่มาจากพรรคที่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุดเพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบ แต่ก็ยังคงคัดค้านการมี ส.ส.ไม่สังกัดพรรค โดยชุดความคิดเรื่องกลัว ส.ส.ขายตัว เหมือนเดิม (แต่น่าเบื่อตรงที่พอได้พูดเป็นต้องหาเสียงเหมือนหนังพวกหนังกลางแปลงที่ หนามเตยหยุดเป็นขายยา)

แล้วความรู้สึกชื่นชมเล็กๆสำหรับแนวคิดของอาจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก ที่มีต่อคณะกรรมการชุดนี้ก็ติดลบลงไปจนเท่าระดับเดิม เมื่อได้ชมรายการปอกเปลือกข่าวทางช่องสปริงนิวส์เมื่อค่ำวานนี้ (22ก.พ.54) โดยในเรื่องเดียวกันนี้ทางรายการได้เชิญผู้ร่วมรายการคือ นายบรรเจิด สิงคะเนติ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้(และอดีต คตส.) นายเดโช สวนานนท์ และอาจารย์อมร วาณิชวิวัฒน์ ซึ่งพิธีกรของรายการได้จำกัดการพูดคุยกันเพียงเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ผมได้ดูจนจบฟังการชี้แจง แสดงความเห็นของทุกคนอย่างตั้งใจก็พอสรุป(เอง)ได้ว่า หากคณะกรรมการทั้งคณะมีทัศนคติและแนวคิดเหมือนกับนายบรรเจิดทั้งหมดก็หมายความว่าคณะกรรมการชุดนี้ยังขาดความไว้วางใจประชาชน ไม่ยอมรับพัฒนาการด้านการเมืองของประชาชน ต้องการคิดและตัดสินใจแทนประชาชนไม่ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา

ลำพังการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์)ก็แย่พอแล้ว การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคที่มีส.ส.บัญชีรายชื่อมากที่สุด ก็ยิ่งเหมือนการออกกฎหมายมาล็อกสเปคให้นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวหรือพรรคใหญ่ๆบางพรรคเท่านั้น

ยิ่งแก้รัฐธรรมนูญโดยปรับอัตราส่วนระหว่างส.ส.เขตต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ส.ส.บัญชีรายชื่อมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 400:100 เป็น 375:125 รอไว้แล้วไม่เรียกว่าล็อคสเปคไว้รอฮั้วก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร

สิ่งที่น่าวิตกก็คือแนวความคิดลักษณะนี้เป็นการมองประชาชนในด้านลบ มองประชาชนเป็นคนที่ตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ สามารถซื้อได้ด้วยเงิน ไม่มีส่วนร่วม ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าวิธีคิดแบบนี้ยังมีอยู่ในยุคปัจจุบันที่สังคมได้ถูกเปลี่ยนผ่านมานับครั้งไม่ถ้วน สังคมที่มีวิทยาการให้ผู้คนสามารถสื่อสารเรียนรู้กันได้ในพริบตา

แต่ก็นั่นแหละครับแนวความคิดแบบนี้ยังมีแพร่หลายอยู่ในกลุ่มผู้รู้ นักวิชาการและอาจารย์ที่มีตำแหน่งสูงๆอยู่อีกมาก ตัวอย่างเช่นมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทดสอบ ประเมินด้านวิชาการของนักเรียนทั้งประเทศยังติดความคิดอย่างนี้อยู่ อดีตผู้บริหารมักจะมองว่าเด็กทุกคนจ้องจะโกงข้อสอบเลยตั้งเป็นกติกาว่าหากนักเรียนทำข้อสอบข้อใดผิด ก็ให้หักคะแนนข้อนั้นไปหลายๆคะแนน เพื่อเป็นการป้องกันนักเรียนเดาข้อสอบ ปรากฏว่าหลังจากหน่วยงานนี้เข้ามาทำหน้าที่ระดับความสามารถทางวิชาการของนักเรียนทั่วประเทศตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ผลการทดสอบเฉลี่ยในทุกวิชาของนักเรียนทั้งประเทศไม่เคยถึงร้อยละ 50

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้รู้ ผู้อาวุโสของประเทศจะมีความคิดแบบเดียวกันนี้เสียทั้งหมด จะเห็นได้จากในการแสดงความเห็นและมุมมองจากอาจารย์เดโช และ อาจารย์อมรที่ได้แสดงความเห็นต่างในเรื่องนี้โดยมีเหตุผลประกอบที่ชัดเจน ทั้งสองท่านมิได้ให้ความเห็นตามหลักวิชาและทฤษฎีเท่านั้น หากแต่ได้นำประสบการณ์และข้อบกพร่องจากการที่ได้พบเห็นมาประกอบด้วย เพราะแนวคิดแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งจะมี ในอดีตประเทศของเราเคยออกแบบ นำมาใช้ และล้มเหลวไปแล้วหลายครั้ง จนกระทั่งอาจสรุปได้ว่า ในบริบทของสังคมบ้านเราปัจจุบัน ประกอบกับพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสาร การบริหารจัดการและการเรียนรู้ การนำแนวคิดแบบนี้มาใช้อีกคงไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยในบ้านเราอย่างแน่นอน

ในรายการของคุณจอมขวัญ อาจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก ได้ให้สังคมนำข้อเสนอของคณะกรรมการไปพิจารณา วิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสียให้กว้างขวางเสียก่อน ดังนั้นผมก็น่าจะเสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้เช่นกัน

เมื่อผมไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องให้หัวหน้าของพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากระบบบัญชีรายชื่อ มีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ถ้าบอกเพียงไม่เห็นด้วย แล้วไม่แสดงเหตุผลพร้อมทั้งการเสนอแนวทางและวิธีการในรูปแบบที่เห็นว่าเหมาะสมอย่างอื่นก็คงไม่เป็นธรรมนัก แต่ขอยกไปตอนต่อไปก็แล้วกันครับ

 

ขอบคุณภาพจาก Internet

หมายเลขบันทึก: 428087เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท