คำถามให้กลุ่มพันธมิตรตอบ เน้นความจริง


ติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่

http://www.naewna.com/allnews.asp?ID=97&HL=0&no=1

 

คำถามให้กลุ่มพันธมิตรตอบ เน้นความจริง (บทเรียนจากความจริง กับดร.จีระ)

 

สัปดาห์นี้คนไทยคงจะมีเวลาได้ทบทวนบทบาท ค้นหาตัวเอง เข้าหาธรรมะ คิดบวก ตั้งสติ รักชาติ เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว ในวันมาฆบูชา

แต่การเมืองไทยและชายแดนไทยยังร้อนระอุอยู่

การประท้วงของพันธมิตรยังปักหลักอยู่ ปิดถนนไม่มีท่าทีจะเจรจาหาทางตกลงกันได้

บทความสัปดาห์ที่แล้ว เรื่อง คนไทย : ตั้งสติ คิดบวก และช่วยกันหาทางออก มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้ส่งข้อมูลกลับมาที่ Web แนวหน้า ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีว่า…..

“ทำไมรัฐบาลไม่เจรจาหาทางออกกับพันธมิตร ส่วนตัวแล้วตอนนี้คิดว่า พันธมิตรก็มีข้อมูลที่ดี แต่วิธีการนำเสนอแรงไปหน่อยต้องคิดถึงชาติเป็นหลัก ส่วนรัฐบาลต้องพยายามคุยกับพันธมิตรให้ได้ อย่าคิดว่าเป็นรัฐบาลแล้วสูงส่ง ต้องให้ทุกคนตั้งสติเพื่อชาติจริงๆ ยังหวังว่าผู้ที่หวังดีกับชาติที่แท้จริงจะเป็นบทพิสูจน์ว่า ผู้ใดถูก ผู้ใดผิด (ตอนส่งสารชาติอย่างเดียว) เบื่อรัฐบาล, เบื่อพันธมิตร”

อยากขอให้คุณอภิสิทธิ์หาทางเจรจา หาทางออกให้แก่กลุ่มพันธมิตรอย่างรวดเร็วมีเหตุผล แต่ในมุมกลับกัน ก็มีคำถามหลายๆ ข้อที่คนไทยสนใจจะถามกลับไปที่พันธมิตร

* กลุ่มพันธมิตรเป็นกลุ่มเดียวที่รักชาติใช่หรือไม่ หรือว่ามีเป้าหมายส่วนบุคคลเท่านั้น

* ถ้าจะเล่นงานเรื่องกัมพูชา โดยเฉพาะหยิบยก MOU 2543 ทำไมไม่ทำตั้งแต่ 2 – 3 ปีที่แล้ว

* ข้อเสนอของพันธมิตรเป็นแบบ Zero – Sum (มีแพ้ ชนะ) ไม่ใช่ Win / Win (ชนะทั้งคู่) ไม่เปิดโอกาสให้มีทางออกเลย ทำไปเพื่ออะไร?

* สมมุติว่า พันธมิตรชนะ การเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ชาติไทยได้ประโยชน์จริงหรือ?

* อะไรเป็นหลักฐานว่า MOU 2543 ต้องรับแผนที่ ที่ฝรั่งเศสทำไว้ทั้งหมด

* พันธมิตรมีปฏิกิริยาอย่างไรกับข้อสรุปของ UNSC สภาความมั่นคงของสหประชาชาติ

เรื่องแผนที่ ที่ฝรั่งเศสเขียนไว้ ถ้ารับแผนที่ฝรั่งเศสจริงๆ ป่านนี้หลายๆพื้นที่ของประเทศไทยก็ถูกกัมพูชายึดหมดแล้ว ในข้อเท็จจริง มี MOU 43ไว้เพื่อเจรจากัน

ทุกประเทศในโลกก็มีปัญหาชายแดน แต่ทุกประเทศต้องพยายามใช้สันติวิธีไม่ใช่ใช้วิธีความรุนแรง รบกัน และทำสงคราม

สัปดาห์นี้ ผมเริ่มกังวลมากขึ้นกับการเมืองไทยว่า จะมีทางออกและทางเลือกน้อยลง จึงอยากให้รัฐบาลกับกลุ่มพันธมิตรหาทางออกร่วมกันให้ได้

ปัญหาชายแดนไทย – กัมพูชาของเราเป็นจุดอ่อน เพราะคนไทยขาดความสามัคคี ข้อมูลที่เกิดขึ้นในเมืองไทยไม่เป็นความลับต่อกัมพูชา ทุกคนมีสิทธิ์ออกความคิดเห็นอย่างเสรี ซึ่งบางครั้งก็ต้องระมัดระวัง เพื่อความอยู่รอดของชาติไทย

จุดแข็งของคนไทยคือ มีเสรีภาพ แต่ถ้ามีมากเกิน ก็ต้องระวัง แต่ก็มีประโยชน์ ทำให้รัฐบาลต้องฟังทุกฝ่าย แต่ขณะเดียวกัน พันธมิตรก็ต้องฟังกลุ่มพลังอื่นๆที่รักชาติเช่นกัน ไม่ใช่กลุ่มพันธมิตรผูกขาดความรักชาติฝ่ายเดียว

กลุ่มพลังที่เป็นกลาง เช่น กลุ่มนักวิชาการหรือประชาชนทั่วไป ถ้าไม่เห็นด้วยกับวิธีการของพันธมิตรก็ต้องออกมาแสดงจุดยืนบ้าง เพื่อถ่วงดุลอำนาจให้เหมาะสม

เพราะผมเชื่อว่าศักยภาพของกลุ่มพันธมิตรคงไม่พอเพียง ที่จะเป็นเสาหลักของประเทศต่อไป เพราะบางคนอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนและพฤติกรรมน่าสงสัย

ขณะเดียวกัน ถึงเวลาแล้วที่นโยบายต่างประเทศของเราต้องเข้มแข็งขึ้น ข้าราชการประจำก็ต้องมีจุดยืนและเป็นมืออาชีพ ต้องมีการทำวิจัย ทำยุทธศาสตร์ที่ทันเหตุการณ์ รู้จริงกับปัญหาชายแดน ไม่ใช่แค่เป็นนักการเมืองที่มีเกียรติ หันมาดูแลผลประโยชน์ของชาติด้วย คะแนนนิยมของกระทรวงต่างประเทศช่วงนี้ตกลงมาอย่างน่าใจหาย

ตัวรัฐมนตรีฯกษิต ภิรมย์ ก็ต้องเริ่มนโยบายการทูตเชิงรุก มีพันธมิตรในโลกมากขึ้น อย่าโดดเดี่ยว

ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการให้ ASEAN ดูแลปัญหาการขัดแย้งของสมาชิก เรามีเลขาธิการอาเซียนที่เป็นคนไทย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ท่านจะช่วยประเทศของเราได้มากในเรื่องนี้

สัปดาห์นี้ผมภูมิใจมาก ภายใต้การนำของรัฐมนตรีอลงกรณ์ พลบุตร ได้ริเริ่มทำงานที่เป็นรูปธรรม เรื่อง การจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจแห่งชาติ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนที่ 11 เป็นแผนระดับ Macro พอมาปฏิบัติระดับกระทรวงฯ ระดับ Micro ก็ไม่มีทิศทางเท่าที่ควร ครั้งนี้น่าจะเป็นการร่างแผนระดับกระทรวงฯครั้งแรก

ในอนาคต ธุรกิจไทยจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในการมองไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ผมรับหน้าที่เป็นประธานเรื่อง ทุนมนุษย์กับธุรกิจ

นอกจากรัฐมนตรีอลงกรณ์ พลบุตร แล้ว ยังมี ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คนรุ่นหนุ่ม ความรู้ดี ตั้งใจทำงานให้แก่ชาติ บ้านเมือง และยังมีข้าราชการเก่งๆ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ช่วยกันเป็นฝ่ายเลขาฯ

คณะของผมนำทีมของมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและแนวร่วมหลายๆกลุ่มเข้ามาช่วยกัน

ผมอยากได้ข้อมูลจากทุกๆท่านที่สนใจ ส่งมาได้ที่ E-mail. [email protected] ครับ

แต่เบื้องต้น น่าจะเน้น

* ทุนมนุษย์กับศักยภาพการแข่งขัน

* ทุนมนุษย์กับการแข่งขันในเวทีโลก

* ทุนมนุษย์กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

* ทุนมนุษย์กับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

* ทุนมนุษย์กับการสร้างนวัตกรรมใหม่ของธุรกิจ

* ทุนมนุษย์กับการสร้างจิตวิญญาณผู้ประกอบการ

* ทุนมนุษย์กับการสร้างความพอดีในสังคม เน้นเศรษฐกิจพอเพียง

งานต้องต่อเนื่องระยะยาวไม่ใช่แค่ มีคณะกรรมการตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาปัญหาระยะสั้นและควรสร้างสถาบันที่ถาวรในการวิจัยและพัฒนาทุนมนุษย์ในภาคุธุรกิจ

พบกันใหม่สัปดาห์ครับ
หมายเลขบันทึก: 427733เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2011 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท