เอื้อ สุนทรสนาน “สังคีตสัมพันธ์” พัฒนาการของเพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทย


ครูเอื้อ สุนทรสนาน (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๒๔) หรือชื่อเดิม “ละออ” หรือ “บุญเอื้อ” ชื่อในการร้องเพลง “สุนทราภรณ์” เป็นอัจฉริยะด้านการแต่งทำนองเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานเพลงไทยสากลอีกคนหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง จนทำให้เกิดประเภทย่อยของเพลงลูกกรุงซึ่งเป็นเพลงไทยสากลประเภทหนึ่ง ในชื่อ “เพลงสุนทราภรณ์” ที่มีกลุ่มคนนิยมชมชอบมาจนถึงปัจจุบัน

ครูเอื้อเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรของนายดี นางแส สุนทรสนาน เรียนวิชาสามัญจบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ แต่มีความสามารถด้านการเรียนดนตรีสากล โดยเป็นลูกศิษย์ของพระเจนดุริยางค์ รับราชการในกรมมหรสพ สังกัดกระทรวงวัง กรมศิลปากร และกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) เป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยฟิล์ม หัวหน้าวงดนตรีกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) และหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ เคยได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างผู้ประพันธ์เพลงประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๔ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ต่อมาองค์การยูเนสโกก็ได้ยกย่องครูเอื้อเป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล

นอกจากความสามารถด้านการแต่งเพลงแล้ว ครูเอื้อยังมีความสามารถด้านการขับร้องเพลงด้วยน้ำเสียงลีลาเฉพาะที่มีแฟนานุแฟน (แปลว่าแฟนรุ่นใหญ่รุ่นเล็ก คำศัพท์นี้เข้าใจว่ามีที่มาจากค่ายต่วยตูน) ชื่นชอบมากมาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะคือการสีไวโอลินไปร้องเพลงไป จนมีเด็ก ๆ รุ่นก่อน ๆ นำมาเป็นปริศนาคำทาย (Riddle) กันว่า “สุนทราภรณ์ใส่สูทสีอะไร” ถ้าตอบว่าสีดำ สีกรมท่า ตัดสินว่าผิด ที่ถูกเฉลยว่า “สีไวโอลิน”

ครูเอื้อมีความสามารถด้านดนตรีไทยจึงแต่งทำนองเพลงโดยดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเรียบเรียงเสียงประสานเพลงทั้งทำนองไทยและที่มิใช่ทำนองไทยให้มีแบบแผนการบรรเลงให้ดนตรีไทยเล่นเคล้าไปกับดนตรีสากลที่เรียกว่า “สังคีตสัมพันธ์”

จุดเริ่มต้นของสังคีตสัมพันธ์เกิดจากความคิดริเริ่มของพลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร อดีตอธิบดีกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ที่ต้องการให้วงดนตรีสากลประเภทหัสดนตรี และวงดนตรีไทยของกรมประชาสัมพันธ์บรรเลงร่วมกันได้ด้วยเสียงที่ผสมกลมกลืนไพเราะ มีความเป็นไทยผสมสากล จึงมอบหมายให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

ในทางเทคนิคของการนำเอาดนตรีไทยมาบรรเลงร่วมกับดนตรีสากล ต้องแก้ไขระดับเสียงของเครื่องดนตรีไทยให้มีระดับเสียงเท่ากับเครื่องดนตรีสากล ซึ่งโดยปกติระดับเสียงของเครื่องดนตรีสากลจะสูงกว่าระดับเสียงของเครื่องดนตรีไทย ๑ ระดับ เช่นเสียงที่ ๑ ของดนตรีสากลคือเสียงโด จะสูงกว่าเสียงที่ ๑ ของดนตรีไทย คือเสียงโด ๑ เสียง นั่นคือเสียงโดสากลจะเท่ากับเสียงเรของไทย วิธีการอาจทำได้ด้วยการขึ้นเสียงของเครื่องดีดและเครื่องสี เช่นจะเข้ ซอด้วง ขิม ให้สูงขึ้นเท่ากับเสียงดนตรีสากล ถ่วงตะกั่วให้เครื่องตี เช่น ระนาด ฆ้อง ให้มีระดับเสียงเท่าเครื่องดนตรีสากล ส่วนเครื่องเป่าเช่น ปี่ ขลุ่ย อาจต้องทำใหม่ให้เป็นระดับเสียงสากล

อีกวิธีการหนึ่งก็คือไม่ต้องปรับเพิ่มระดับเสียงของเครื่องดนตรีไทย แต่เลือกทาง  (คีย์หรือบันไดเสียง) ในการบรรเลงให้ตรงกับคีย์หรือบันไดเสียงดนตรีสากล เช่น ดนตรีสากลใช้คีย์เอฟ ดนตรีไทยบรรเลงทางเพียงออล่างหรือทางในลด (ซึ่งจะมีโน้ตหลักคือ ซอล ลา ที เร มี เสียงก็จะเท่า ๆ กับเสียงดนตรีสากลที่ต่ำลงไป ๑ เสียง คือ ฟา ซอล ลา โด เร) แต่วิธีการนี้มีข้อจำกัดตรงที่ทางของดนตรีไทยมีน้อย (ทางหรือบันไดเสียงของดนตรีไทยมี ๗ ทางเท่านั้นในขณะที่ดนตรีสากลมีมากกว่าหลายเท่า) ทำให้เลือกทางที่ตรงกันได้น้อยมาก และอาจมีอุปสรรคในการบรรเลงเครื่องดนตรีไทยประเภทปี่ ขลุ่ย ซอ ที่เกิดอาการนิ้วขัดในการบรรเลงทางที่ไม่ตรงกับธรรมชาติของเครื่องนั้น ๆ  เช่น ขลุ่ยเพียงออบรรเลงทางเพียงออล่างหรือทางเพียงออบนได้สะดวก แต่บรรเลงทางในได้ไม่สะดวก ในขณะที่ปี่ในบรรเลงทางในได้สะดวกเพราะเป็นทางเฉพาะของปี่ใน เป็นต้น

ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการให้เครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีสากลมาเล่นด้วยกัน คือความกลมกลืนกันอย่างแนบสนิทของเสียง ทั้งนี้เพราะระบบเสียงของดนตรีไทยต่างจากระบบเสียงของดนตรีสากล กล่าวคือดนตรีไทยเป็นระบบ ๗ เสียงเต็ม จากเสียงหนึ่งไปถึงเสียงหนึ่งจะห่างเท่ากันคือ ๑ เสียงตลอด แต่ดนตรีสากลเป็นระบบ ๕ เสียงเต็ม ๒ เสียงครึ่ง (ระบบเสียงโครมาติค ๑๒ ครึ่งเสียง) จากเสียงหนึ่งไปเสียงหนึ่งอาจห่างกัน ๑ เสียงหรือห่างกันแค่ครึ่งเสียงแล้วแต่ว่าจากเสียงไหนไปเสียงไหน ดังนั้นเสียงดนตรีทั้งสองแบบที่คิดว่าเท่ากันแต่จริง ๆ แต่ก็ไม่เท่ากัน จึงไม่แนบสนิทจริง ๆ (ถ้าจะให้แนบสนิทจริงต้องแก้ไขด้วยการสร้างเครื่องดนตรีไทยให้เป็นแบบสากลคือเป็นระบบเสียงโครมาติคแล้วนำมาใช้บรรเลงร่วมกัน) อย่างไรก็ตามหากฟังเผิน ๆ หูของมนุษย์ธรรมดาที่เป็นผู้บริโภคดนตรีจะจำแนกไม่ออกว่าเสียงกลมกลืนกันสนิทหรือไม่ จึงยังพอฟังกันไปได้ นอกจากจะฟังกันแบบหาเรื่องตำหนิกัน

(หมายเหตุ สังคีตสัมพันธ์เป็นเทคนิคทางดนตรีขั้นสูง ผมเขียนบันทึกนี้เพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจระดับพื้นฐาน จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่เชี่ยวชาญทางดนตรีช่วยอธิบายขยายความเพื่อการสร้างความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางขึ้นสำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ใช่นักดนตรีแต่เป็นผู้บริโภคดนตรีเช่นเดียวกับผม ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้าครับ)

บุคคลที่ช่วยเหลือครูเอื้อมากในการทำสังคีตสัมพันธ์ คือครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ซึ่งเป็นครูดนตรีไทยที่มีความสามารถสูงมากอีกท่านหนึ่งที่เข้ามาร่วมงานกับวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะที่ปรึกษาด้านดนตรีไทยของกรมประสัมพันธ์ โดยรับหน้าที่เป็นผู้บอกทางเพลงที่ถูกต้อง

เพลงแรกที่เรียบเรียงแบบสังคีตสัมพันธ์คือเพลงกระแต ดัดแปลงทำนองเพลงกระแตเล็ก ๒ ชั้น แก้ว อัจฉริยะกุล เป็นผู้แต่งคำร้อง วินัย จุลละบุษปะ และชวลี ช่วงวิทย์ เป็นผู้ขับร้อง การดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา มามีเพลงสังคีตสัมพันธ์จำนวน ๑๐๓ เพลง แบ่งเป็น ๔ ประภท คือ เพลงที่นำทำนองและเนื้อร้องเพลงไทยมาใช้ทั้งหมด จำนวน ๕ เพลง เพลงที่นำทำนองเดิมจากเพลงไทย แล้วแต่งเพิ่มเติม จำนวน ๔ เพลง เพลงที่นำทำนองมาจากเพลงไทยทั้งหมด แต่ประพันธ์เนื้อร้องใหม่ จำนวน ๙๓ เพลง และเพลงที่ประพันธ์ทำนองและเนื้อร้องขึ้นใหม่ โดยมีลักษณะความเป็นเพลงไทยอยู่ในบทเพลง จำนวน ๑ เพลง” (ข้อมูลจากบทคัดย่อวิทยานิพนธ์เรื่อง “ดนตรีผสม "สังคีตสัมพันธ์" : กรณีศึกษาวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์” ของกัณณพนต์ โยธินชัชวาล)

เพลงแบบสังคีตสัมพันธ์เท่าที่พอหาฟังได้ในเวลานี้จากอินเตอร์เน็ต ได้แก่

๑. เพลงพายเรือพลอดรัก คำร้องโดย สมศักดิ์ เทพานนท์ ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ดัดแปลงทำนองเพลงเขมรพายเรือ ๓ ชั้น วินัย จุลละบุษปะ-ชวลีย์ ช่วงวิทย์ ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=-ulRchlqor0

๒. เพลงเสี่ยงเทียนเสี่ยงรัก คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ดัดแปลงทำนองเพลงลาวเสี่ยงเทียนทางเปลี่ยน วินัย จุลละบุษปะ-ชวลีย์ ช่วงวิทย์ ขับร้อง http://saisampan.net/index.php?topic=24340.0

๓. เพลงวอนเฉลย คำร้อง เอิบ ประไพเพลงผสม ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ดัดแปลงทำนองเพลงแขกต่อยหม้อ ๓ ชั้น วินัย จุลละบุษปะ –เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=hliR8Ts0qj4

๔. เพลงเพชรน้อย คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ดัดแปลงทำนองเพชรน้อย ๓ ชั้น วินัย จุลละบุษปะ ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=r0LToY8t5TU

๕. เพลงทะเลบ้า คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ดัดแปลงทำนองเพลงทะเลบ้า วินัย จุลละบุษปะ ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=ygwZJSeQ0do

๖. เพลงม่านมงค คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ ดัดแปลงทำนองเพลงฟ้อนม่านมงคล วินัย จุลละบุษปะ ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=ZiPY_yHXtjE

๗. เพลงพรพรหม คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน ดัดแปลงทำนองเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เอื้อ สุนทรสนาน-เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=tKS4KJYl7ng       

 

สำหรับเพลงทำนองไทยในยุคหลังที่เรียบเรียงเสียงประสานแบบสังคีตสัมพันธ์ที่หาฟังได้ในอินเตอร์เน็ต ได้แก่

  • เพลงระแวงรัก คำร้อง-ทำนอง ชิน เรืออุไร ดัดแปลงทำนองเพลงฟ้อนม่านมงคล น้ำเพชร อเนกลาภ ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=2hGW_Ag9KzY
  • เพลงวอนองค์พ่อจตุคาม คำร้อง-ทำนอง วิเชียร คำเจริญ ดัดแปลงทำนองเพลงดาวทอง ฝน ธนสุนทร ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=o7BxMeXjGxg
  • เพลงลูกที่ถูกลืม คำร้อง-ทำนอง สมศักดิ์ สมบูรณ์ ดัดแปลงทำนองเพลงทยอยญวน เป็นเพลงไตเติ้ลละครทีวี ไชยา มิตรชัย ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=DzCoFNKobCA
  • เพลงบัวยั่วภมร ยังไม่มีข้อมูลผู้แต่ง ดัดแปลงทำนองเพลงลาวจ้อย ไชยา-แอน มิตรชัย ขับร้อง http://www.patakorn.com/modules.php?name=News&file=article&sid=6
  • เพลงคนรักแม่ คำร้อง-ทำนอง ขวัญใจ สุริยัน ดัดแปลงทำนองเพลงลาวเสี่ยงเทียน วิฑูรย์ ใจพรหม ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=3i4n7G9mmWQ
  • เพลงคนจนแถลงการณ์ ยังไม่มีข้อมูลผู้แต่ง ดัดแปลงทำนองเพลงโสมส่องแสง ๓ ชั้น เสรี รุ่งสว่าง ขับร้อง http://www.youtube.com/watch?v=0dJS5AwZ_z8
  • เพลงผิดด้วยหรือที่ขี้เหร่ ยังไม่มีข้อมูลผู้แต่ง ดัดแปลงทำนองเพลงสาริกาแก้ว เสรี รุ่งสว่าง ขับร้อง http://music.hunsa.com/index.php?comp=detail&id=3602&mod=music (ไม่จบเพลง)
  • เพลงพระพรหมช่วยที คำร้อง-ทำนอง ดอย อินทนนท์ ดัดแปลงทำนองเพลงแขกตาเสือ เอกชัย ศรีวิชัย ขับร้อง นักเรียนโรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง นำมาร้องประกวดรายการชิงช้าสวรรค์ http://www.youtube.com/watch?v=Qvq47k-dUpQ

วิพล นาคพันธ์

๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

อ่านบันทึกข่าวสารของวิพล นาคพันธ์ ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/toc

 

หมายเลขบันทึก: 427234เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2011 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท