ห้องเรียนชาวนา


 
ฝนตกเมื่อย่ำรุ่ง..เมื่อแสงอรุณรุ่งสาดมาถึงสายฝนทิ้งไว้แต่เพียงลมระรื่นพัด
 
“ทุ่งนา..เรามาถึงแล้ว” เด็กชายหญิงต่างส่งเสียงจำนรรจ์เมื่อรถของเราค่อยๆ เคลื่อนตัวสู่เขตชานเมือง ฝูงนกเพื่อนในท้องนาโผบินอยู่เบื้องหน้า
 
“ไม่นึกว่า ปทุมธานี ก็มีนาข้าวด้วย” ซุ่มเสียงของคนพูดฟังร่าเริงราวกับเสียงระฆังข้างโบสถ์
 
จำได้ว่าความรู้ที่เคยผ่านมา ย้ำนักหนาว่าเมืองไทยอุดมไปด้วยเกษตรกรรม และพื้นที่แถบภาคกลางของประเทศนี้ก็ถือว่าเหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง ปทุมธานีก็เป็นหนึ่งในนั้น
 
 
เรือนทรงไทยเด่นตระหง่านรับกับแดดวัยหนุ่ม..เก้าโมงที่เด็กๆ กรูกันลงไปยืนสำรวมอยู่หน้าบ้าน ครูธานี หอมชื่น ชายหนุ่ม ผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ในแววตา
 
“ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี” เด็กๆ ท่องคำนี้เมื่อพบหน้าครูชาวนา
 
 
ใต้ถุนเรือนทรงไทยเป็นห้องเรียนแสนพิเศษในชั่วโมงแรก..เราเริ่มเรียนรู้ความเป็นอยู่ของคนไทยกันต้องแต่เสาเรือนกันเลย เด็กๆ สนุกสนานกับการตอบคำถามและซักถามเกี่ยวกับการปลูกเรือนของคนไทยสมัยก่อนอย่างออกรส..โดยมีสายลมเย็นๆ ชโลมผ่าน มันอาจผ่านแผ้วผิวเนื้อแลผิวใจของเด็กๆ อย่างไม่รู้ตัว
 
 
“ใครอยากมีบ้านทรงไทยบ้าง” ครูธานี นำหัวใจของเด็กๆ ออกมาเผย ท่าทีของใจอยู่กับอุ้งมือน้อยๆ มันถูกยกกันพรึบอย่างไม่มีใครนัด
 
สายลมอีกแล้วที่แย้มยิ้มและแอบมอง
 
 
 เด็กๆ ย้ายห้องเรียนออกไปสู่เพิกนา
 
“ทุ่งข้าวกำลังแต่งตัว” ชายชาวนาสง่างามอธิบายถึงความเจริญเติบโตของข้าวในท้องนา ที่มองไกลสุดลูกหูลูกตา..
 
 
อุปกรณ์ทำนามีชีวิต ด้วยถูกใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หาใช่พิพิธภัณฑ์กันคำครหาถึงอาชีพของบรรพบุรุษอย่างที่เคยได้เห็น
 
 
เด็กๆ กุลีกุจอกันออกมาสาธิตกรรมวิธีการผลิตข้าว
 
“ครกกระเดื่อง เวลาตำต้องช่วยกันหลายคน งานถึงจะเสร็จเร็ว” เด็กน้อยเหยียบเท้าเล็กของพวกเขาให้เข้ากับจังหวะของครกตำข้าว เท้าที่เหยียบย่ำ ช่วยย้ำความเข้าใจ มันคงดังเข้ากับจังหวะการเต้นของหัวใจคนตัวเล็กๆ เหล่านั้น
 
กว่าจะได้กินข้าวอย่างทุกวัน ชาวนาต้องกรำงานทั้งปี..เด็กๆ ทำตาโตกับเรื่องราวที่เพิ่งมีโอกาสได้สัมผัส ห้องเรียนชาวนากว้างนักกับเด็กเมืองตัวเล็กๆ เหล่านี้ ดวงดาวมาขังรวมอยู่ในแววตาของพวกเขา มันแข่งกันอวดแสดงแข่งกับแดดกลางท้องนา
 
 
งานหลายอย่างชาวนาต้องทำร่วมกัน และงานหลายอย่างต้องการความประณีตกว่าที่เด็กๆ คิด เด็กๆ ร่อนข้าวเปลือกเพื่อแยกข้าวสาร งานที่ดูง่ายในเบื้องแรกทำให้พวกเขารู้จักการเอาใจใส่ลงไปในงาน
 
 
กลวิธีในการทำนาทำให้ชาวนารู้จักการสร้างเครื่องทุนแรงง่ายๆ ให้เกิดขึ้น ไม่น่าเชื่อว่าชาวนาที่เด็กๆ เคยรู้จักมาว่าเป็นเพียงแรงงานผลิตข้าวนั้น แทนแล้วเป็นบ่อเกิดความสร้างสรรค์อีกมากมาย
 
“เครื่องสีข้าว เท่ห์จังเลย”
 
 
 
แดดสว่างไสว ทำให้เด็กๆ สว่างไสวไปด้วย ห้องเรียนกว้างขวางสายลมใจดี และยังมีสายตาอารีของผู้ใหญ่คอยบอกสอนอย่างอดทด คุณลุงคุณป้าต่างช่วยกันเติมศรัทธาในความเป็นมนุษย์ให้กับคนตัวเล็กเหล่านี้
 
ยังมิทันที่กลิ่นโคลนสาบควายจะเวียนมาสัมผัสเด็กๆ ก็อิ่มหัวใจไปหมดกับบทเรียนแสนพิเศษในวันนี้ วันที่อากาศแสนใจดี ผู้คนเต็มไปด้วยอัธยาศัย นกเล็กๆ ส่งเสียงร้องเพลงอยู่ด้านใน ขณะต้นข้าวระบัดใบอยู่ในดวงตา..
 
หมายเลขบันทึก: 426513เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2011 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

"ไม่น่าเชื่อว่า..ถือเงินไปเท่าไหร่ เด็กๆ ก็มีเงินกับมาเท่านั้น..ที่สำคัญความรู้เต็มกระเป๋าเล็กๆ ที่เรียกว่าหัวใจด้วยซี"

เรียน คุณมานีแวะมาชมให้กำลังใจ ผมน้องใหม่เพิ่งนำเสนอแนวคิดผ่านเว็บ http://www.nature-dhama.ob.tc ฝากข้อคิดเห็นให้ผมบ้าง หรือสมัครสนับสนุนเป็นพระคุณยิ่งครับ

ชอบใจจังเลยครับ ห้องเรียนชาวนา

ชื่อเหมือนกับของคุณเดชา ศิริภัทร อะไรนี่เเหละ ที่สุพรรณครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท