มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

ความฝันสีจาง


"โมสะแป โตขึ้นอยากเป็นอะไรครับ" ผมถามเด็กหญิงวัย 13 ปีซึ่งโตที่สุดในโรงเรียน เธอนั่งคิดอยู่ครู่ใหญ่ก่อนจะตอบด้วยสายตาและน้ำเสียงเศร้า ๆ เป็นภาษาพม่าว่า "จะมะ มะติบู" แปลเป็นไทยว่า "หนูไม่รู้" (ค่ะ)

ความฝันสีจาง


 

อภิสิทธิ์ เหล่าลุมพุก

เมื่อมองย้อนกลับไปในวัยเด็ก เราทุกคนต่างมีความฝันที่วาดไว้อย่างสวยงาม บางคนฝันว่าจะเป็นหมอ เป็นครู เป็นวิศวกร พ่อค้าแม่ค้า ดารา นางแบบ ฯลฯ หรือบางคนอาจจะคิดเท่ ๆ ว่าเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นคนดีของสังคม แต่เมื่อโตขึ้นจะมีซักกี่คนที่จะไปถึงฝันของตน

แม่สอด คือจุดรวมความฝันของคนหลาย ๆ คน โดยเฉพาะประชาชนจากประเทศพม่าที่ลี้ภัยสงคราม บ้างก็มาทำงานเพื่อสลัดความยากจนแร้นแค้น ผมมาแม่สอดครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 เพื่อสำรวจพื้นที่ออกค่ายอาสาพัฒนา ในปี 2553 ผมมีโอกาสกลับมาที่แม่สอดอีกครั้ง เพื่อเป็นอาสาสมัครสอนวิชาภาษาไทยให้กับเด็ก ๆ จากประเทศพม่า แม่สอดที่ได้รับการยกฐานะเป็น “นครแม่สอด” ในปี 2553 ไม่ต่างอะไรกับแม่สอดที่ผมเคยมา งบประมาณแผ่นดินที่นำมาใช้พัฒนาให้แม่สอดเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดน และการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ แทบไม่มีผลอะไรกับคุณภาพชีวิตของประชาชนจากพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก ๆ จากพม่า ที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสพวกเขาอย่างใกล้ชิด

“Dream One World Children care center” คือชื่อของศูนย์การเรียนที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่มีหัวใจและความรักที่ยิ่งใหญ่ “พี่เอ เขมิสรา เอกคณาสิงห์” อดีตนักกิจกรรมจากชมรมค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง บ้านเช่าสองชั้นหลังเล็ก ๆ ที่ชานเมืองแม่สอดหลังนี้ ถูกเนรมิตให้เป็น "โรงเรียน" สำหรับเด็ก ๆ จากประเทศพม่า ใต้ถุนโล่งถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องเรียนสำหรับเด็ก ๆ วัยอนุบาล ชั้นสองเป็นห้องเรียนสำหรับเด็กที่โตมาหน่อย ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 8 – 11 ปี

ศูนย์การเรียนแห่งนี้มีครูสอนประจำอยู่ 1 คน เขามี "รถประจำตำแหน่ง" เป็นมอเตอร์ไซค์สามล้อเครื่องหรือรถซาเล้ง สำหรับรับ –ส่งเด็ก ๆ ในวันที่มีการเรียนการสอน ที่นี่ยังมีครูอาสาสมัครสอนวิชาภาษาอังกฤษสำหรับเด็กโต 1 คน เป็นอดีตนักต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่า และมีผมอีกคนหนึ่งที่อาสามาสอนวิชาภาษาไทย

เด็ก ๆ เกือบทั้งหมดที่นี่มีฐานะยากจน สภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา ทำให้ผมรู้สึกหดหู่หัวใจไม่น้อย บางคนต้องเดินเก็บขยะตามข้างถนนเพื่อจะนำไปขายเป็นรายได้ บางคนออกเดินขอทานไปตามสถานที่ต่าง ๆ พวกเขาพักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดที่บางคนมองว่าเป็น “มุมมืด” ไม่อยากเฉียดใกล้ ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดนี่เอง ทำให้ใครหลายคนมองว่าพวกเขาเป็นเด็ก “ก้าวร้าว” ทั้งที่ในความเป็นจริงพวกเขาไม่ได้อยากเป็นเช่นนั้นเลย

 

เราเคยตั้งคำถามกับเด็ก ๆ เหล่านี้หรือไม่ว่าพวกเขาทำไมถึงต้องใช้ชีวิตอย่างนี้ ทั้งที่วัยของเขาควรจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่ หรือแม้แต่สงสัยว่าพวกเขาจะฝันถึงอนาคตที่ดีกว่านี้ไหม

"ผมอยากเป็นหมอครับ เพราะเวลาที่แม่ป่วยจะได้รักษาแม่ได้ ไม่ต้องไปโรง'บาลให้เสียเงิน" เหน่ ชาย ในวัย 10 ปี ตอบคำถามที่ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ด้วยแววตาเป็นประกายราวกับความฝันของเขากำลังใกล้จะเป็นจริง               

"หนูอยากเป็นคนทำเสื้อผ้า (ดีไซน์เนอร์) เพราะ... หนูชอบทางนี้" เสียงใสแจ๋วของ เน้ง เหว่ โม เด็กหญิงวัย 11 ปีตอบคำถามอย่างมีความสุข ผมไม่รู้ว่าเธอรู้จักอาชีพนี้มาจากไหน แต่ทำเอาผมยิ้มแก้มปริ

"แล้ว วี โตขึ้นอยากเป็นอะไรครับ" ผมถามเด็กชายเชื้อสายมุสลิม

"เป็นตำรวจครับ...ไม่เอาดีกว่า ไม่เป็นแล้ว ตำรวจบางคนก็นิสัยไม่ดี ผมไม่อยากนิสัยไม่ดี..."

"โมสะแป โตขึ้นอยากเป็นอะไรครับ" ผมถามเด็กหญิงวัย 13 ปีซึ่งโตที่สุดในโรงเรียน เธอนั่งคิดอยู่ครู่ใหญ่ก่อนจะตอบด้วยสายตาและน้ำเสียงเศร้า ๆ เป็นภาษาพม่าว่า "จะมะ มะติบู" แปลเป็นไทยว่า "หนูไม่รู้(ค่ะ)"

ขณะที่ผมนั่งเขียนเรื่องราวของเด็ก ๆ ที่แม่สอด (8 มกราคม 2554) เด็กทั่วประเทศไทยคงกำลังสนุกสนานกับกิจกรรมในงานวันเด็ก ทำเนียบรัฐบาลคงกำลังเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เข้าไปนั่งเก้าอี้ของนายกรัฐมนตรี กรมทหารราบที่ 11 ฯ บางเขน คงกำลังเปิดให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับรถถังหรือเฮลิคอปเตอร์อย่างใกล้ชิด เด็ก ๆ เหล่านั้นคงกำลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้รับในวันนี้ไปต่อเติมฝัน เพื่อสร้างเป้าหมายในอนาคต แต่อีกมุมหนึ่งที่แม่สอด เด็ก ๆ ที่ผมสอนกำลังทำอะไรอยู่... กำลังเก็บขยะหรือออกขอทาน...

หากแม่สอดคือจุดที่รวมความฝันของคนจากพม่า One Dream One World Children care center ก็คือจุดรวมความฝันของเด็กจากพม่าเช่นกัน แม้ผมยังไม่รู้ว่าความฝันของเด็ก ๆ ที่ศูนย์การเรียนแห่งนี้จะเป็นจริง หรือจะเป็นเพียงหมอกควันที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศแล้วหายไป แต่สิ่งที่ผมทำได้ในตอนนี้คือทำหน้าที่ "ครู" ให้ดีที่สุดถึงแม้จะเป็นครูที่ไม่มีวิทยฐานะรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ผมเชื่อว่าความรู้ที่ผมสอนจะช่วยต่อเติมเพิ่มความฝันให้หัวใจอันแห้งผากของเด็ก ๆ เหล่านี้

หมายเลขบันทึก: 426390เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2011 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท