ที่มาของเรื่องสามก๊ก


สามก๊ก

ความเป็นมาเรื่องสามก๊ก

     สามก๊กไม่ใช่พงศาวดารสามัญ จีนเรียกว่า “สามก๊กจี่” แปลว่าจดหมายเหตุเรื่องสามก๊กเป็นหนังสือซึ่งนักปราชญ์จีนคนหนึ่งชื่อล่อกวนตงเลือกเอาเรื่องในพงศาวดารตอนหนึ่งมาแต่งโดยประสงค์จะให้เป็นตำราสำหรับศึกษาอุบายการเมือง และการสงครามและแต่งดีอย่างยิ่ง จึงเป็นหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งนับถือทั่วไปในประเทศจีนและตลอดไปจนประเทศอื่น ๆ

ต้นตำนานของหนังสือสามก๊กนั้นทราบว่าเดิมเรื่องสามก๊กเป็นแต่นิทานสำหรับเล่ากันอยู่ก่อน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๔๙)  เกิดมีการเล่นงิ้วขึ้นในประเทศจีน พวกงิ้วก็ชอบเอาเรื่องสามก๊กไปเล่นด้วยเรื่องหนึ่ง ต่อมาถึงราชวงศ์ไต้เหม็ง (พ.ศ.๑๙๑๑ - ๒๑๘๖) นักปราชญ์จีนผู้หนึ่งชื่อล่อกวนตงคิดแต่งหนังสือเรื่องสามก๊กขึ้น  ๑๒๐  ตอน ต่อมานักปราชญ์จีนอีก  ๒  คน คนหนึ่งชื่อเม่าจงกัง และกิมเสี่ยถ่ายช่วยกันแต่งและตรวจรวมทั้งแต่งคำอธิบายเพิ่มเติมและจัดพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กขึ้น

ตำนานการแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาไทยมีคำบอกเล่าสืบกันมาว่า ราว พ.ศ.๒๓๔๕  ในสมัยรัชกาลที่  ๑  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลเรื่องสามก๊ก  ซึ่งเป็นหนังสือแปลพงศาวดารที่ดีกว่าเรื่องอื่น ๆ เพราะใช้ถ้อยคำและเรียงความเรียบร้อยสม่ำเสมอ อ่านเข้าใจง่าย จึงใช้หนังสือสามก๊กเป็นแบบสำหรับหัดเรียงความในโรงเรียนมาช้านาน มีสำนวนที่คัดลอกกันไว้หลายสำนวน แต่สำนวนที่นำมาตีพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์ของหมอบลัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกา เป็นสำนวนที่ได้สอบกับต้นฉบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และออกพิมพ์จำหน่ายครั้งแรก ใน พ.ศ.๒๔๐๘  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรื่อง  สามก๊ก  ที่แปลมาสู่ภาษาไทยน่าจะนำมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน  เพราะมีสำเนียงเรียกชื่อเฉพาะ เช่น ชื่อเมืองและชื่อตัวละครตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน

 

เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และถึงอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๘ 

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับราชการเป็นหลวงสรวิชิต แล้วไปเป็นนายด่านเมืองอุทัยธานี ในสมัยรัชกาลที่  ๑  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เลื่อนเป็นพระยาพิพัฒน์โกษา และเป็นเจ้าพระยาคลังในที่สุด

เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีความสามารถเป็นพิเศษในการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง งานประพันธ์ที่สำคัญได้แก่ นิยายเรื่อง ราชาธิราช สามก๊ก ร่ายยาวมหาชาติเวสสันดรชาดก (กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี) บทมโหรีเรื่องกากี ลิลิตเพชรมงกุฎและอิเหนาคำฉันท์

เรื่องย่อของสามก๊ก

ประเทศจีนเมื่อเริ่มเรื่องสามก๊กนั้นกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นเป็นใหญ่ตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองลกเอี๋ยง ได้ครอบครองแผ่นดินจีนทั่วทั้งประเทศและลักษณะการปกครองบ้านเมืองนั้น รัฐบาลกลางบังคับบัญชาการทุกอย่างอยู่เพียงมณฑลในราชธานี นอกนั้นออกไปเป็นหัวเมือง อำนาจการปกครองทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเป็นสิทธิขาดอยู่กับผู้เป็นเจ้าเมือง เป็นแต่เพียงฟังคำบังคับบัญชารัฐบาลกลางที่ราชธานี เวลามีศึกสงครามที่ใดก็เกณฑ์ให้เจ้าเมืองคุมกำลังเมืองของตนไปรบพุ่ง หรือถ้าเจ้าเมืองไหนกำเริบเป็นขบถ ก็มีท้องตราสั่งให้เจ้าเมืองอื่นยกกำลังไปปราบปราม หรือบางทีเกิดจลาจลขึ้นในเมืองหลวงให้พวกเจ้าเมืองขึ้นเข้าไปปราบปรามก็มี พวกเจ้าเมืองขึ้นมีอำนาจเช่นนั้นก็มักถือเอาประโยชน์ตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับหน้าที่ในตำแหน่ง   บางทีถึงกับรบพุ่งแย่งชิงประโยชน์กันหรือบังอาจขัดแข็งต่อรัฐบาลกลางเพื่อรักษาประโยชน์ของตน     รัฐบาลกลางจำต้องมีไหวพริบคอยระวังมิให้พวกเจ้าเมืองขึ้นมีกำลังถึงอาจจะละเมิดหรือต่อสู้รัฐบาลกลางได้ วิธีการปกครองอย่างว่ามานี้จำต้องมีพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงอานุภาพมาก หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีอัครมหาเสนาบดีอันมีความสามารถเป็นที่นับถือยำเกรงของคนทั้งหลายทั่วไป การปกครองแผ่นดินจึงจะเรียบร้อย ถ้าขาดสองอย่างบ้านเมืองก็เกิดจลาจล

หนังสือสามก๊กกล่าวความเริ่มเรื่องตั้งแต่พระเจ้าเลนเต้ได้รับรัชทายาทเมื่อ พ.ศ.๗๑๑  เพราะปฐมเหตุที่ประเทศจีนจะแยกเป็นสามก๊ก เกิดแต่พระเจ้าเลนเต้ปราศจากความสามารถหลงเชื่อพวกขันทีในราชสำนัก พวกขันที[1]จึงกำเริบเอิบเอื้อมแสวงหาอำนาจในรัชกาลบ้านเมืองด้วยอุบายต่าง ๆ ขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองหลวงเวลานั้นก็ไม่มีคนสำคัญอันเป็นที่นับถือยำเกรงของคนทั้งหลาย มีขุนนางบางคนที่ซื่อสัตย์คิดกำจัดพวกขันที ก็ติดด้วยพระเจ้าเลนเต้ป้องกันไว้ การปกครองแผ่นดินจึงวิปริตผันแปรและเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมยิ่งขึ้นเป็นอันดับมาจนพระเจ้าเล่นเต้สิ้นพระชนม์ลง มีราชบุตร  ๒  องค์ต่างชนนีกันและยังเป็นเด็กอยู่ด้วยกัน ราชบุตรองค์ใหญ่ชื่อหองจูเปียนได้รับรัชทายาท นางโฮเฮามเหสีผู้เป็นชนนีเป็นผู้ว่าราชการแผ่นดิน ราชบุตรองค์น้อยนั้นชื่อหองจูเหียบกำพร้าชนนี นางตังไทฮอผู้เป็นอัยยิกาเลี้ยงมาแต่น้อยและขวนขวายจะให้ได้ราชสมบัติแต่หาได้ไม่ นางทั้งสองจึงเป็นอริแก่กัน เมื่อพระเจ้าเลนเต้นสิ้นพระชนม์แล้ว โฮจิ้นพี่นางโฮเฮาได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ให้ลอบฆ่านางตังไทฮอเสีย แล้วคิดจะกำจัดพวกขันทีต่อไป แต่นางโฮเฮาป้องกันพวกขันทีไว้เหมือนอย่างพระเจ้าเลนเต้ โฮจิ้นจะทำการเองไม่ถนัด จึงมีหนังสือไปถึงตั๋งโต๊ะเจ้าเมืองซีหลงให้ยกกองทัพไปปราบพวกขันที ก็ตั๋งโต๊ะนั้นวิสัยเป็นคนพาลสันดานชั่วเห็นได้ช่องจะเป็นประโยชน์แก่ตนก็ยกกองทัพเข้าไปยังเมืองหลวง ครั้นพวกขันทีรู้ว่าโฮจิ้นคิดอ่านกับตั๋งโต๊ะจะกำจัดพวกของตนก็ชิงทำกลอุบายลวงโฮจิ้นเข้าไปในวัง แล้วปิดประตูวังช่วยกันจับโฮจิ้นฆ่าเสีย ฝ่ายพรรคพวกโฮจิ้นพากันโกรธแค้นเอาไฟเผาวังพังประตูเข้าไปจับพวกขันที ในเวลาจับกุมฆ่าฟันกันนั้น ไฟเลยไหม้ลุกลามเกิดอลหม่านทั่วทั้งราชวัง ถึงพระเจ้าแผ่นดินกับราชกุมารองค์น้อยต้องพากันหนีออกจากเมืองไปอาศัยอยู่ที่อื่น ฝ่ายตั๋งโต๊ะได้ช่องก็เข้าจัดการระงับจลาจล แล้วเลยกำจัดพระเจ้าแผ่นดินกับนางโฮเฮาเสีย ยกห้องจูเหียบราชกุมารองค์น้อยขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ตั๋งโต๊ะก็ได้เป็นที่ “เชียงก๊ก” สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะเป็นผู้ยกพระเจ้าเหี้ยนเต้ขึ้นทรงราชย์ แต่พอตั๋งโต๊ะได้เป็นเชียงก๊กขึ้นก็ประพฤติพาลทุจริตต่าง ๆ พวกขุนนางในเมืองหลวงไม่มีใครสามารถกำจัดตั๋งโต๊ะได้ ก็พากันหลีกหนีไปอยู่ตามหัวเมืองเป็นอันมาก ก็ในพวกที่หนีตั๋งโต๊ะไปนั้นคนหนึ่งชื่อโจโฉคิดอ่านชวนเจ้าเมืองขึ้นหลายเมืองให้ยกกองทัพเข้าไปปราบตั๋งโต๊ะ แต่การก็ไม่สำเร็จเพราะพวกเจ้าเมืองเหล่านั้นต่างถือเปรียบเกี่ยงแย่งไม่สามัคคีกัน มัวคิดหาอำนาจบ้าง เกิดเป็นอริต่อกันบ้าง การครั้งนี้เป็นต้นเหตุอันหนึ่งซึ่งเจ้าเมืองต่าง ๆ เกิดรบพุ่งชิงอำนาจและอาณาเขตกันมาในเรื่องสามก๊ก

ส่วนตั๋งโต๊ะ แม้พวกหัวเมืองไม่สามารถกำจัดได้ด้วยกำลังทหารก็ดี ต่อมาไม่ช้าอ้องอุ้นขุนนางในเมืองหลวงก็กำจัดได้ด้วยใช้กลสตรี แต่เมื่อกำจัดตั๋งโต๊ะได้แล้ว อ้องอุ้นไม่สามารถจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเรียบร้อยได้ และพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นก็ซ้ำเป็นกษัตริย์ที่ปราศจากความสามารถอีกองค์หนึ่ง พรรคพวกของตั๋งโต๊ะมีลิฉุยกุยกีเป็นหัวหน้า จึงอาจทำการแก้แค้นฆ่าอ้องอุ้นเสีย แล้วบังคับพระเจ้าเหียนเต้ ให้ตั้งพวกของตนเป็นขุนนางผู้ใหญ่มีอำนาจในเมืองหลวงต่อมา แล้วทรยศพระเจ้าเหี้ยนเต้ด้วยประการต่าง ๆ ที่สุดถึงพยายามจะกำจัดพระเจ้าเหี้ยนเต้  พระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องทิ้งเมืองหลวงหลบหนี มีความเดือดร้อนเป็นสาหัสจึงมีรับสั่งให้หาโจโฉซึ่งได้เป็นเจ้าเมืองตงกุ๋นอยู่ในเวลานั้นเข้าไปช่วย โจโฉเข้าไปปราบปรามพวกขบถได้ราบคาบ ก็ได้เป็นที่เชียงก๊กอยู่ในเมืองหลวงต่อมา แต่ในเวลานั้นหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องมาแต่ครั้งตั๋งโต๊ะและลิฉุยกุยกียังมีมาก พวกผู้ดีที่หนีตั๋งโต๊ะไปจากเมืองหลวงในคราวเดียวกันกับโจโฉก็ได้ไปเป็นเจ้าเมืองหลายคน เมื่อโจโฉได้เป็นที่เชียงก๊กขึ้น ที่อ่อนน้อมต่อโจโฉก็มี ที่เฉย ๆ อยู่คอยว่าโจโฉจะว่าอย่างไรก็มี

โจโฉเป็นคนฉลาดมีสติปัญญาสามารถผิดกับตั๋งโต๊ะ อาจปกครองบังคับบัญชาการบ้านเมืองและทำนุบำรุงกำลังรี้พลให้มุขมณฑลมีอำนาจขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่มักทำการตามอำเภอใจขุนนางที่มิใช่พรรคพวกของโจโฉจึงมักเกลียดชัง แต่ก็ไม่สามารถจะกำจัดได้ ด้วยคนทั้งหลายในราชธานีนิยมกันอยู่โดยมาก ว่าโจโฉทำการเพื่อรักษาอาณาจักรในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินอ่อนแอ แต่โจโฉใช้อำนาจเพลินไปจนถึงให้พระเจ้าเหี้ยนเต้ได้รับความคับแค้นถึงกับเอาพระโลหิตเขียนเป็นหนังสือร้องทุกข์ขอให้ผู้มีความจงรักภักดีช่วยกำจัดโจโฉความทราบไปถึงหัวเมืองพวกเจ้าเมืองที่มีกำลังและมิได้เป็นพรรคพวกของโจโฉ ก็ถือว่าโจโฉเป็นศัตรูของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนตั๋งโต๊ะ แล้วพากันกระด้างกระเดื่องขึ้น ฝ่ายโจโฉก็ถือว่าตนเป็นเชียงก๊ก มีหน้าที่จะต้องปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินจึงเกิดรบกันขึ้น ทั้งสองฝ่ายประกาศอ้างเหตุใส่ความข้อเดียวกัน ฝ่ายโจโฉว่าพวกเจ้าเมืองเป็นกบถต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฝ่ายพวกเจ้าเมืองก็ว่าโจโฉเป็นกบถต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ด้วยกัน เวลาโจโฉมีท้องตราอ้างรับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้ออกไปถึงหัวเมืองที่เป็นข้าศึก หัวเมืองเหล่านั้นก็เคารพนบนอบต่อท้องตราเป็นแต่ไม่ยอมฟังบังคับบัญชาของโจโฉ การที่พวกหัวเมืองต่อสู้ทหารเมืองหลวงหรือบางทีตีเข้าไปจนแดนเมืองหลวง ก็ถือว่ารบกับอัครมหาเสนาบดี หาได้คิดร้ายกับพระเจ้าแผ่นดินไม่ ผลของการที่รบพุ่งกันนั้น ฝ่ายโจโฉมีชัยชนะปราบหัวเมืองได้โดยมาก ปราบไม่ลงแต่หัวเมืองที่ซุนกวนและเล่าปี่ปกครอง

ซุนกวนเป็นเจ้าเมืองกังตั๋งอันเป็นหัวเมืองใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออก ได้ครองเมืองโดยการสืบสกุลและเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมปกครองบ้านเมืองดีจนมีคนนิยมเข้าเป็นพวกจนมีกำลังมาก เล่าปี่นั้นเดิมเป็นคนอนาถา แต่เป็นสกุลสูงเป็นเชื้อสายในราชวงศ์ฮั่นและเป็นผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารีกับเผอิญได้คนมีฝีมือไว้เป็นทหารหลายคน จึงมีชื่อเสียงปรากฏและพวกเจ้าเมืองมักเชิญให้ไปช่วยในเวลาเกรงศัตรู แต่เล่าปี่เป็นคนอาภัพ แม้ได้นายทหารก็มีกำลังรี้พลน้อย มักต้องหลบหนีเอาตัวรอดเนือง ๆ จึงไม่สามารถตั้งมั่นเป็นหลักแหล่ง      จนได้ขงเบ้งเป็นที่ปรึกษาแนะนำให้ไปเป็นสัมพันธมิตรกับซุนกวน ช่วยกันต่อสู้โจโฉจึงรักษาตัวได้ และต่อมาได้เมืองเสฉวนเป็นที่มั่นอยู่ทางทิศตะวันตก เรื่องราวตอนนี้แม้พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นแต่อย่างเจว็ดอยู่ในศาล ในพงศาวดารก็ยังนับว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินทั่วทั้งประเทศจีน

ครั้นโจโฉตายลงโจผีลูกโจโฉได้เป็นที่เชียงก๊กแทน เลยถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้เสียจากราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.๗๖๓ แล้วตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ใหม่เรียกว่า ราชวงศ์วุย ฝ่ายเล่าปี่ถือว่าเป็นสมาชิกราชวงศ์ฮั่น ก็คิดตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์สืบราชวงศ์ฮั่นขึ้น ณ เมืองเสฉวน ซุนกวนไม่ยอมขึ้นต่อโจผีหรือเล่าปี่ ก็ตั้งตัวเป็นเอกราชขึ้นที่เมืองกันตั๋งบ้าง ตั้งแต่นี้ประเทศจีนจึงแยกกันเป็นสามก๊ก คือ  ๓    ราชอาณาเขตเป็นอิสระแก่กัน     อาณาเขตของพระเจ้าโจผี   ได้นามว่า

“วุยก๊ก”   อาณาเขตของพระเจ้าเล่าปี่ได้นามว่า “จ๊กก๊ก”        อาณาเขตของพระเจ้าซุนกวนได้นามว่า

 “ง่อก๊ก” เป็นอยู่อย่างนี้ไม่นานเท่าใด พอสิ้นพระเจ้าเล่าปี่พระเจ้าโจผีและพระเจ้าซุนกวนแล้ว เชื้อสายที่รับรัชทายาทสืบมาก็เสื่อมความสามารถลงด้วยกันทั้งสามก๊ก สุมาเจียวซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการวุยก๊กปราบจ๊กก๊กได้ก่อน แล้วสุมาเอี๋ยนลูกสุมาเจียวชิงราชสมบัติวุยก๊ก ตั้งราชวงศ์ใหม่เรียกว่าราชวงศ์จิ้น พระเจ้าสุมาเอี๋ยนปราบง่อก๊กได้อีกก๊กหนึ่ง แผ่นดินจีนก็กลับรวมกันเป็นราชอาณาเขตเดียวกันสืบมา

หนังสืออ้างอิง

ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา.  สามก๊กเล่ม  ๑  และตำนานสามก๊ก. 

กรุงเทพมหานคร  :  สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร,  ๒๕๒๕.

วิชาการ,กรม  กระทรวงศึกษาธิการ.  หนังสือเรียนภาษาไทย ท ๓๐๕ ท ๓๐๖ ชุดทักษสัมพันธ์

                   เล่ม  ๓  .  พิมพ์ครั้งที่  ๔.  กรุงเทพมหานคร  :  โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,  ๒๕๓๘.



[1] ขันที  ผู้ชายที่ทำงานในราชสำนัก จะถูกตอนโดยการตัดอวัยวะเพศ

หมายเลขบันทึก: 426012เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2011 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสามก๊กได้รู้จักที่เป็นมาของสามก๊ก

ธีรนันท์ สุริวงค์ เลขที่31 ชั้นม.3/8

สนุกมากๆเลยค่ะ ทำให้ได้มีความรู้เรื่องสามก๊กมากขึ้นด้วย

คณิศักดิ์ นนทศักดิ์ ชั้น ม.3/8 เลขที่ 2

ได้เรียนรู้ เรื่อง สามก๊ก นอกห้องเรียนคับ

เสาวลักษณ์ สมบัติ ชั้น ม.3/8 เลขที่ 43

อ่านแล้วสนุกค่ะ และยังได้ความรู้ เรื่อง สามก๊กอีกด้วย

ได้ความรู้และสาระ เรื่อง สามก๊กค่ะ

คณิศักดิ์ นนทศักดิ์ ชั้น ม.3/8 เลขที่ 2

ได้เรียนรู้ เรื่อง สามก๊ก นอกห้องเรียนคับ

ธีรานันท์ มลิวรรณ ชั้น ม.3/8 เลขที่ 32

ได้ความรู้และสาระ เรื่อง สามก๊ก ค่ะ

สุดยอดเลยค่ะ ได้ความรู้เพิ่มเติมจากที่เคยรู้มาอีก ขอบคุณมากนะคะ

ได้ความรู้เรื่องสามก๊กมากขึ้นค่ะ

ได้อ่านเรื่องสามก๊กแล้วจ๊ะ  ได้ความรู้เพิ่มขึ้น  ขอขอบคุณนะคะ

พัฒนพงษ์ ปรีชา 3/8 เลขที่15

เป็นความรู้ให้กับทุกๆคนที่เข้าดู เเละเป็นความรู้นอกห้องเรียนที่สามารถดูได้ทุกเวลาครับ

ได้รับความรู้เพิ่มเติมและทำข้อสอบได้ครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ได้เข้ามาใช้และร่วมแสดงความคิดเห็น

ได้รุ้ถึงประวัติศาสตร์

นางสาวปาริชาติ พัฒนศิลป์

ม.5/2 เลขที่15

เนื้อหาสั้นดีคับเข้าใจง่าย

ดีมากเลยครับเพราะน้อยคนที่จะรู้ว่าท่ีมาที่ไปของเรื่องมาจากไหน

สวัสดีค่ะ ขออนุณาตประชาสัมพันธ์ โมเดลโลหะอัลลอย สามก๊ก สำหรับแฟนพันธ์แท้สามก๊ก ราคาน่าซื้อมากค่ะ จัดส่งทั่วประเทศ ดูได้ที่https://www.facebook.com/profile.php?id=100005917337996หรือเว็บไซต์ LAZADAhttp://www.lazada.co.th/3kingdom/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท