ความเครียด


พญ อมรา มลิลา

ความเครียดคืออะไร

ความเครียดคือใจที่คิดเอาไว้อย่างหนึ่ง และจริงๆ เป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่แหละคือสาเหตุของความเครียด ถ้าไม่รู้จักกำจัดมัน เครียดมากๆ ก็ทำให้ร่างกายจนกระทั่งจิตใจแปรปรวนไปได้ เพราะร่างกายเป็นไปตามบงการของจิตใจ

ในทางแพทย์ ถ้าเราเครียด วิธีที่ร่างกายจะตอบสนองก็มี 2 แบบ

ประการที่หนึ่งคือ สู้ ก็ทำให้ความดันเลือดสูง

ประการที่สอง ถอย ก็ทำให้เป็นแผลในกระเพาะ

อย่างท่านผู้บริหารทั้งหลาย แต่จะความดันเลือดสูงหรือเป็นแผลในกระเพาะ ผลที่สุด ร่างกายก็ทรุดโทรม ยิ่งร่างกายทรุดโทรม จิตใจก็ยิ่งเครียดหนักขึ้นไปอีก

ทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจว่า ความเครียดอยู่ที่ไหน และสาเหตุมาจากอะไร

เราไปคิดว่า ความเครียดมาจากข้างนอก เราไปบอกว่า เพราะเงินบาทลดราคา เพราะแชร์ล้ม เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงทำให้เราเครียด จริงๆ แล้วของข้างนอกก็อยู่อย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมันก็เป็นอย่างนี้ โลกนี้ก็เป็นอย่างนี้ตลอดมา ถ้าเราไปนึกว่า ความเครียดเพิ่งมามียุคสมัยเรา เราก็เข้าใจผิด มันเป็นของคู่โลก ตราบเท่าที่มีสิ่งมีชีวิต มีจิตใจ ความไม่รู้ตามสภาพเป็นจริงก็ทำให้จิตใจเครียด  เมื่อเครียดมากๆ แล้ว  เราก็แสวงหา

ถ้าเป็นยุคที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ท่านก็แสวงหาจนได้มุตติธรรม แล้วนำสัจจธรรมเหล่านั้นมาเรียบเรียงสั่งสอน ให้เรามองเห็นโลกตามความเป็นจริง

ธรรมะเหล่านี้ คือเพชฌฆาตที่ฆ่าความเครียด  มีอยู่ในทุกๆ ลมหายใจของเรา มีอยู่ในธรรมชาติรอบล้อมตัวเรา แต่เราไม่ได้หยุดใจของเราให้นิ่งพอที่จะมองเห็น

มีครอบครัวหนึ่ง ซึ่งคุณแม่รักและหวังดีต่อลูกมาก เมื่อลูกชายวัยรุ่นลองชิมเบียร์ คุณแม่กลัวจะเสียอนาคต ก็เรียกลูกมาอบรมสั่งสอน จนกระทั่งลูกยอมรับปาก แต่นี้ต่อไป จะไม่กินเบียร์อีกเลย แล้วลูกก็ทำจริงๆ อย่างที่ได้ให้สัจจะเอาไว้

วันหนึ่งแม่พาลูกๆ และเพื่อนของลูกไปเที่ยวชายทะเล  เพื่อนๆ ดื่มเบียร์กัน ลูกก็ไม่ได้ดื่ม  ตอนที่เพื่อนเอากระป๋องเบียร์มาวานให้ลูกชายช่วยถือ แม่ไม่เห็น พอเหลียวมามองอีกที เห็นลูกกำลังถือกระป๋องเบียร์อยู่ ด้วยความโกรธและน้อยใจ ว่าลูกเคยอยู่ในโอวาท ก็ไม่ได้ถามไม่ได้ไถ่ พอตรงมาถึงก็กระชากกระป๋องเบียร์จากมือลูกทิ้ง แล้วตบหน้าลูก ลูกไม่ได้พูดอะไรสักคำ พอตกกลางคืนมาลาแม่ไปนอน แล้วพูดทิ้งท้ายว่า คงจะลากันเป็นครั้งสุดท้าย ก็ไม่มีใครเฉลียวใจ พอเข้าไปนอนก็เลยไปยิงตัวตาย

เห็นไหมว่า จิตใจที่ไม่รู้จักปฎิบัติต่อความเครียด คิดว่า เราหาทางออกที่ถูกต้องแล้ว คิดว่าการจบชีวิต ความเครียดจะจบลงไปด้วย....

...ถ้าเชื่อในคำของพระพุทธองค์ว่า ร่างกายอันนี้เป็นสมมุติ เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเพียงสิ่งแปรปรวน ส่วนใจเป็นอมตธาตุ เป็นธาตุรู้ ที่ไม่มีวันตาย เราก็จะไม่ทำอย่างนั้นเป็นอันขาด เพราะการที่เราทิ้งเรือแพ คือ ดิน น้ำลม ไฟ อันนี้ออกไป ไม่ได้ทำให้ความทุกข์ของเราเปลี่ยนแปลงไปแม้แต่นิดเดียว

ธาตุรู้ที่ยังเศร้าหมอง ด้วยความรู้ไม่จริง ด้วยอวิชชาและด้วยอุปาทาน ยังหมุนติดอยู่ในอวิชชา ในอุปาทานนั้น ยังไม่สามารถหลุดออกจากอารมณ์เหล่านั้นไปได้

เพราะอะไร

เพราะไม่มีผัสสะอันใหม่มากระทบ เพื่อให้เปลี่ยนอารมณ์ ใจคงยังติดพัน เหมือนกับติดอยู่ในตาข่าย หมุนวนแล้ววนเล่า ดังท่านอาจารย์มหาบัวเคยเปรียบเทียบเหมือนมดไต่ขอบกระด้ง

เวลาที่ใจติดอยู่ในอารมณ์อะไร ลองนึกถึงเวลาเรามีความทุกข์ นั่งก็นึกถึงเรื่องนั้น นอนก็นึกถึงเรื่องนั้น หลับไปแล้วก็ยังฝันถึงเรื่องนั้น บางทีฝันจนตกใจตื่นขึ้นมา แล้วก็คิดว่าความฝันเป็นความจริง ใจไม่หลุดออกจากอารมณ์นั้น เพราะเราไม่ยอมให้ใจเปิดไปรับผัสสะอันใหม่เข้ามาเปลี่ยนอารมณ์ นรกก็คือตรงนั้นเอง ตรงที่ใจของเรารุ่มร้อน อยู่ในอารมณ์อะไรอันหนึ่งที่หลุดออกไปไม่ได้ ไม่มีอะไรมาเปลี่ยน  สวรรค์ก็อยู่ตรงนั้น  ถ้าเมื่อไรก็ตาม เราเห็นว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่ไปทุกข์ ให้ตัวเองทรุดโทรม ของทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้ารู้จักวางใจให้มีสติมีปัญญารักษา เราก็ปล่อยอารมณ์อันนั้นให้ผ่านไป ดูอารมณ์อันนั้น  เหมือนเรายืนอยู่ริมฝั่งน้ำ ดูกระแสน้ำพัดผ่านไป อารมณ์ต่างๆ ผัสสะต่างๆ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มันก็ไม่มีผลทำให้เราจมลงไปในอารมณ์เหล่านั้น แล้วก็ทุกข์จนหาทางออกไม่ได้

เรื่องที่เล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างอันหนึ่ง หลายๆ คนบอกว่า ไม่มีวันหรอก ฉันมีสติ มีปัญญาพอ ฉันเป็นพุทธมามกะ ฉันไม่มีวันฆ่าตัวตาย ใช่ เราไม่ฆ่าตัวตาย ด้วยการยิงตัวเอง  แต่เราฆ่าใจของเรา

แทนที่จะเอาใจให้มาอยู่กับปัจจุบัน แล้วทำปัจจุบันให้เป็นสาระ ให้เป็นเสบียงกรังกับชีวิต เรากลับเอาใจของเราไปจมติดอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ยึด แล้วก็ทุกข์ แล้วเราก็คิด คิด คิด คิดแต่สิ่งที่เป็นอกุศล อกุศลนั้นก็ก่อวิบาก เป็นห่วงโซ่พันเราหนัก จนกระทั่งไม่สามารถดิ้นหลุดไปได้ แต่เวลานั้นเรามองไม่เห็น ถ้าสติของเราตามไม่ทันความคิดที่เกิดขึ้น

เมื่อสติตามไม่ทัน อะไรเกิดขึ้น เกิดขึ้นแค่ไหนแค่ไหน ก็เสมือนไม่ได้เกิดขึ้น แต่พอผลคือวิบากเกิดตามมา ให้เราต้องชดใช้ ตรงนี้เราจะทุกข์ ทุกข์หนักขึ้นไปกว่าทุกข์เดิม เพราะทุกข์เดิมเป็นทุกข์ที่เราเผาใจของเราเอง แต่ทุกข์ที่ติดตามมานี้ เป็นทุกข์จากวิบากจริงๆ ที่เกิดกับร่างกายและจิตใจ ให้เราต้องรับผิดชอบ ให้เราต้องชดใช้ ถึงตอนนั้น เราอาจหาทางออกไม่ได้ ทรุดโทรมหนักลงไปอีก

ถ้าไม่หยุดเอาสติปัญญามาคุ้มครองใจ เราก็จะโทษซ้ายป้ายขวา มองออกข้างนอก แล้วตะครุบเอาแต่เงา โดยการโทษทุกอย่างที่อยู่รอบตัวว่า เป็นสาเหตุของความทุกข์ แต่ไม่โทษตัวเอง

หยุดที่ใจของเรา ตั้งสติปัญญาให้เกิดขึ้นเพื่อมองตรงตามที่เป็นจริง  ถ้าเราคอยมองตัวเราทุกวัน เราจะพบว่า วิธีคิดของเราไม่ได้คิดตามความจริง พอใครมาพูดอะไร แทนที่จะฟังให้จบประโยค เราจะแซงว่า รู้แล้ว ...รู้แล้ว

เป็นต้นว่า ลูกบอกแม่ว่า ประเดี๋ยวจะออกไปข้างนอก แล้วไม่กลับมาทานข้าวที่บ้าน แทนที่แม่จะถามว่า ลูกจะไปที่ไหน กับใคร นั้นคือการอยู่กับความเป็นจริง แม่ได้ยินแว่วๆ ว่า เมื่อกี้ลูกพูดโทรศัพท์กับเพื่อนชื่อแก้ว แม่ก็ตอบว่ารู้แล้วๆ ลูกจะไปทานข้าวกับคุณแก้วใช่ไหม ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่

เราเอาความคาดเดาของเรา ไปเดา ไปคิดเอาว่าทำอย่างนี้อยู่เสมอ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่สลักสำคัญ คู่สนทนาก็ปล่อยให้ผ่านไป โดยไม่โต้แย้งหรือไม่ได้ชี้แจง จนติดเป็นนิสัย

ครั้นถึงวินาทีวิกฤต  เราพยายามอธิบายความจริง แต่อีกฝ่ายยึดอยู่กับการด้นเดา  ที่เป็นอุปาทานในใจ เขาก็ว่า รู้แล้ว แต่รู้คนละเรื่อง พอไปทำเข้าก็ทำผิด มันก็เกิดขัดข้องกันขึ้น ความเครียดก็เกิดขึ้นอีกแล้ว เช่นเราบอกว่า เรื่องที่พูดนี้จะทำกันวันอาทิตย์หน้า เขารับคำว่ารู้แล้วๆ แต่ทำมันเสียวันนี้เลย ซึ่งวันนี้ไม่ใช่วันอาทิตย์หน้าสักนิด

สรุปแล้ว การที่เราเอาอุปาทานในใจของเรา  ความคาดคิด ความยึด มาเป็นความจริง เราไม่ยอมเปิดหูเปิดตาฟังความจริงนี่แหละ คือตัวที่ทำให้ความเครียดเกิดขึ้น แล้วก็เครียดจนกระทั่งหยุดไม่ได้ แต่เรามองไม่เห็น โดยอัตโนมัติ เมื่อมีความขัดข้องเกิดขึ้น เราต้องหาคนผิด เราเป็นฝ่ายที่ไม่ผิดวันยังค่ำ เรานึกหาข้อแก้ตัว

เมื่อแก้ตัว อุปาทานก็พาออกไปไกลจากความเป็นจริงไปอีกแล้ว เพราะทุกคนรักตัวเอง ทุกคนต้องการปกป้องตนเอง เหมือนอย่างครั้งหนึ่ง คุณหมอท่านหนึ่งไปวัด ได้ยินคุณแม่ชีคุยกับผู้มาปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดว่า ปัสสาวะของท่านเวลาที่ตั้งไว้มีมดมาขึ้น คุณหมอก็สรุปลงความว่า คุณแม่ชีเป็นเบาหวาน เพราะมดมาขึ้นปัสสาวะ แต่ลืมนึกไปว่า มดเห็นน้ำที่ไหนก็ไปที่นั่น จะใช่เบาหวานหรือไม่ใช่เบาหวานก็ตาม ท่านก็นัดว่าจะเอายามารักษาเบาหวานคุณแม่ชี โดยไม่ได้ทำการตรวจเลือด ไม่ได้ทำการตรวจปัสสาวะ หรือตรวจอะไรทั้งนั้น

คุณหมออีกท่านหนึ่งรู้เรื่องนี้เข้า ก็ประท้วงท่านว่า การที่มดมาขึ้นปัสสาะวะเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่า คุณแม่ชีเป็นเบาหวาน เอาเลือดเอาปัสสาวะมาตรวจเสียก่อนไม่ดีหรือ แม้วัดนั้นจะอยู่ห่างไกลห้องทดลองก็จริง แต่ก็ไม่ไกลเกินกว่าที่จะทำการตรวจได้ สรุปแล้วก็มีการเจาะเลือดคุณแม่ชีไปตรวจ ผลจากการตรวจ พบว่า น้ำตาลในเลือดเป็นปกติ ไม่มีเบาหวาน

ความที่ท่านเป็นคนที่ทำอะไรผิดไม่ได้ ในจิตก็คงคิดแก้ตัวกับตัวเอง  พอไปเจอผู้คนซึ่งถามถึงเรื่องนี้ว่า เป็นอย่างไรบ้าง ท่านก็เล่าหน้าตาเฉยว่า ท่านเสียเวลามาที่วัด เพราะเหตุว่า คุณหมอที่ทักท้วงเห็นว่า คุณแม่ชีเป็นเบาหวาน ท่านสับเปลี่ยนตัวท่านเองเป็นผู้ทักท้วง และผู้ทักท้วงมาเป็นท่านตลอดเรื่อง นี่คือกรรมวิธีที่จิตของเราต้องการเปลี่ยนความผิดไปให้คู่กรณี เราคิดอย่างนั้น เมื่อคิดกระทั่งตัวเองเชื่อ เราก็พูดออกไปโดยไม่ได้มีเจตนาจะพูดปด

แต่ก่อนนั้นดิฉันไม่เข้าใจ  และเคยสงสัยผู้ใหญ่หลายท่านว่า ท่านก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ มีฐานะหน้าที่การงาน ทำไมท่านจึงพูดอะไรเหมือนหลอกลวง พูดไม่จริง แต่หลังจากเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว ตัวเองได้เป็นผู้รู้ผู้เห็นเหตุการณ์ จึงเห็นว่าในจิตของคนเรา เวลาที่ต้องการปกป้องตนเองให้ไร้ความผิดนั้น ถ้าสติตามไม่ทัน เราไม่ได้เจตนาพูดไม่จริง แต่ใจที่ต้องการให้เหตุการณ์เป็นไปอย่างที่เราคิดอยาก พาเราทำได้ทุกอย่าง เพื่อให้ความคิดนั้นกลายเป็นความจริงขึ้นมา โดยไม่แยแสความจริงว่า จริงๆ นั้นเป็นอย่างไรกัน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เราลืมตาตื่นกันอยู่อย่างนี้  ถ้าไม่มีสติอยู่กับใจ ก็เหมือนหลับแล้วละเมอ เราจะเชื่อถืออะไรกับคนหลับแล้วละเมอได้เล่า  ทุกคนคงเคยเห็น ถ้ามีลูก ก็คงเคยเห็นลูกเล่นสนุกมากๆ พอนอนหลับแล้ว ละเมอลุกขึ้นวิ่งเล่นต่อไป จับเขย่าก็ไม่รู้ตัว เอากลับมานอนแล้วยังไม่รู้ตัว รุ่งเช้าถามก็จำอะไรไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เราที่เดินกันอยู่  แล้วลืมตามองกันแจ๋วอย่างนี้ ถ้าไม่มีสติอยู่กับใจก็เรียกว่า ละเมอ  บริหารทุกอย่างในชีวิตไปด้วยความไม่รู้ตัว กรรมที่เราก่อ จึงเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ เมื่อผลเกิดขึ้นก็ไม่พอใจ คับเครียด เกิดปัญหา

ถ้าเป็นอย่างที่ดิฉันเรียน อย่างเมื่อตะกี้ คือเป็นโรคทางกาย  มันก็แล้วเรื่องไป ยังไปหาหมอให้รักษาได้  แต่ถ้าคับเครียดถึงจุดๆ หนึ่ง ทำให้สติหลุดไปจากใจ  เรากลายเป็นคนครึ่งคน กลายเป็นคนใจรั่ว เป็นผู้ที่คนทั่วไปเรียกว่าคนบ้า ความเป็นคนบ้าคนดีก้ำกึ่งกันแค่นี้เอง ถ้าบ้าอย่างชนิดที่เขาจับไปโรงพยาบาลโรคจิต  ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับสังคม

ถ้ามีเวลาบ้าสลับกับเวลาดี  จนกระทั่งคนอื่นจับไม่ทัน  บางทีเราก็ละเมอ บางทีเราก็ดีๆ อยู่  เราเอาความบ้าบริหารชีวิตสลับกับความที่รู้ความเป็นครั้งเป็นคราว  แล้วก็จับต้นชนปลายไม่ถูกว่า ที่ทำไปนั้นตรงไหนเป็นความคิดเอาเองของเรา เป็นอุปาทานที่ลากจูงไป ตรงไหนเป็นความจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ  เพราะมันไม่มีวรรคตอนให้เรารู้ มันจึงเกิดความคับข้อง ความสับสน งานการที่ติดต่อกันจึงไม่ได้ดังใจ

....แล้วอย่านึกว่า เป็นแต่เฉพาะในวงงานเท่านั้น  ในบ้าน กับคู่ครอง กับลูกเต้า กับคนข้างเคียง เราก็ทำอย่างนี้อยู่ทุกบ่อยๆ  สมมุติว่า เราเป็นคนตาสั้นด้วย ตายาวด้วยอย่างดิฉันนี้ จะมองของใกล้ๆ ก็จัดแจงถอดแว่นตา ครั้นถอดแล้วก็กลัวลืม เลยเอาแว่นขึ้นไปไว้บนศีรษะ แล้วก็ทำอะไรๆ ไปจนเสร็จ แล้วก็ลืมจริงๆ ทั้งๆ ที่แว่นตาอยู่บนศีรษะ ก็ไปโวยวายว่า ใครเอาแว่นตาไป จนเขามาหยิบแว่นตาจากศีรษะส่งให้เรา เราจึงได้ยอมเชื่อว่า ไม่มีใครเอาไป

ไม่อย่างนั้น ถ้าใครบอกว่า ไม่ได้เอาไปๆ ใจของเราก็ยังระแวง นึกอยู่ว่า คนนั้นเอาไป คนนี้เอาไป เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นเสมอๆ ยิ่งเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจ แล้วสงสัยผู้นั้นผู้นี้ โดยไม่ดูความจริง เราก็อาจทำความผิดกับผู้น้อย โดยไปกล่าวหาว่า เขาขโมยหรือว่าเขาบกพร่อง ไม่ทำงานที่มอบหมายให้ทำ ถ้าบ่นเฉยๆ เขาก็เจ็บช้ำน้ำใจ เสียใจไป ก็ยังไม่เป็นไรนัก บางคนถึงขั้นลงโทษตัดเงินเดือน ไล่ออก

ลองคิดดู ถ้าใจของเราตกอยู่ใต้อคติ ด้วยการเชื่อความคิดเอาเองของเรา  เราจะทำความทุกข์ให้กระเซ็นไปถึงคนอื่นมากมายอย่างนี้  ทำแล้วก็ไม่เห็น แล้วก็จำไม่ได้ ถ้าเขาประท้วง เขายิ่งมีความผิดมากขึ้น เถียงหรือ เป็นคนก่อปัญหา ปกครองยาก ตกลงความยผิดยิ่งเพิ่มพูนขึ้นไปอีก แต่ไม่ได้หยุดดูใจของเราเองว่า เขาพูดความจริง แต่เราเองเข้าใจผิดไป

ท่านจึงบอกว่า ถ้าใจของคนแต่ละคนๆ ไม่ศึกษาหาความจริง ไม่พยายามเอาเหตุผลมากำกับใจเอาไว้ ไม่ฝึกสติให้อยู่กับใจ เมื่ออะไรมากระทบ มีสติยั้งเอาไว้เป็นห้ามล้อ พิจารณาไตร่ตรองให้เกิดเป็นสติเป็นปัญญาขึ้นมา ให้เห็นตามเป็นจริง เราก็ทำให้ชีวิตของเราเองแย่  ชีวิตของคนข้างเคียงที่ต้องเกี่ยวข้องกับเราก็แย่ เมื่อเกิดเป็นอุปนิสัยอย่างนี้แล้ว ยากนักที่จะแก้ ยากนักที่จะหยุดได้

เพราะอะไร เพราะกิเลสมันลื่น เหมือนเครื่องยนต์ที่มีน้ำมันหล่อลื่นชั้นเยี่ยม เพียงเขี่ยเบาๆ ก็เดินไปตลอดครบวงจรแล้ว

...แต่การที่เราจะยั้ง แล้วอยู่กับเหตุผลนี่  มันฝืดเหลือแสน  ขี้สนิมขึ้น  เหมือนบานพับเก่าๆ ที่ฝืดแล้วฝืดอีก  กว่าจะเปิดออก ก็ทำท่าว่าบานพับทั้งบานจะหลุดออกไปเลย  เพราะไม่เคยซ้อม  ไม่เคยฝึก ไม่เคยใช้ พอจะใช้เข้า มันก็ครูดใจตัวเอง เพราะไม่เป็นไปตามใจ ตามกิเลส

เราเลยอ้างว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้ทรมานตัวเอง  ไม่ให้เดินทางที่เบียดเบียนตัวเอง แต่แท้ที่จริง มันไม่ได้เบียดเบียนตัวเอง  มันเป็นการทำความดีความชอบให้แก่ตัวเอง แต่เป็นการเบียดเบียนกิเลส  กิเลสเลยบอกเราว่า อย่าไปทำเลย ตกลงเราก็ทำตามกิเลสต่อไปอีก แล้วนึกว่าเราปฎิบัติธรรมแล้ว  จริงๆ ไม่ใช่

ถ้าปฎิบัติธรรมจริง ทำถูกต้อง ใจของเราต้องสงบ ใจต้องร่มเย็น  ไม่ไปคิดว่า นี่เรารักษาศีล8นะ นี่เราไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น  คนอื่นที่กินเนื้อสัตว์เป็นยักษ์ ไม่อยากเข้าใกล้  เหม็นสาบ ถ้าเราคิดมีตัวเราเป็นไม้วัด  เป็นมาตรฐานอยู่อย่างนั้น  มันไม่ใช่ธัมมะ

พระพุทธองค์ตรัสว่า ธัมมะไม่มีตัวสัตว์  ไม่มีบุคคล  มีแต่เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย  ที่อยู่ในสภาวะเดียวกัน  คือทุกข์  ทุกข์จากความแปรปรวนของสังขาร  ของสิ่งรอบกาย  ทุกข์จนกระทั่งทำอย่างไร เราจึงจะไม่หาทุกข์มาเพิ่มให้กับตัวเอง

ท่านสอนให้เพียงแต่ว่า ทำอย่างไร  สิ่งที่กระทำออกไป  สิ่งที่ไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่น  จึงไม่เป็นความเดือดร้อนแก่เขา แต่ไม่ใช่ไปคิดว่า  ถ้าเราทำอย่างนี้ คนอื่นที่ไม่ทำอย่างเราผิด  ถ้าเราพูดอย่างนี้ คนอื่นที่ไม่เห็นด้วยโง่เซ่อ  ไม่มีสติปัญญา

เราเปิดใจกว้างฟังใครก็ตาม เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราจะฟังทั้งสิ้น  เพราะคนทุกคนที่เป็นปุถุชนเปรียบเหมือนคนตาบอด รู้บางส่วนแต่ว่ายังรู้ไม่รอบ รู้ไม่จริง เหมือนคนตาบอด 6 คน ไปคลำช้าง คนหนึ่งไปถึง บังเอิญไปคลำถูกหูเข้า อ้อ ช้างนี่เป็นพัด แล้วมันก็เป็นพัดจริงๆ เพราะคลำถูกแต่หูช้าง  แทนที่จะเดินคลำต่อไปให้รอบ  พอคลำหูครบทั้งหูก็คิดว่า ช้างมีแค่นี้เองนะ แบนเหมือนพัด

อีกคนหนึ่งไปเจอขาเข้า  คลำตั้งแต่ต้นขาจนถึงปลายขา อ้อ ช้างเหมือนเสานะ

สองคนไปคุยกัน คนที่คลำช้างเป็นเสา อยากได้เสา  ก็บอกอีกคนหนึ่ง คุณๆ ช่วยเอาช้างให้ฉันหน่อยเถิด คนนั้นคลำเจอหู ก็หยิบพัดมาให้ด้วยความเต็มใจ ตั้งใจ ก็ช้างของเราคือพัดนี่  ก็เอามาให้เขา คนนี้กำลังอยากได้เสา  จับเป็นพัดก็โกรธ แหม คนอะไรโง่เซ่ออย่างนี้  ฉันไม่ได้ต้องการไอ้นี่ ฉันจะเอาช้าง

เพื่อนก็โกรธ  งานของตัววางทิ้งเอาไว้ก่อน อุตส่าห์วิ่งไปหาเอาช้างมาให้  แล้วยังมาพาลอีก

ภาษาสมมุติเป็นอย่างนี้

ใจที่ถูกอวิชชากับอุปาทานครอบเอาไว้  ทำให้เรารู้แคบๆ รู้นิดเดียว  อันที่จริงก็ถูกทั้งคู่  ช้างบางภาวะก็เป็นพัด บางภาวะก็เป็นเสา  พระพุทธองค์สมัยที่เป็นโพธิสัตว์ ท่านก็เคยเป็นมาอย่างเราแล้ว  แต่ท่านเรียนจากความผิดพลาดของท่าน

เมื่อเขาดุว่าท่าน  ว่าฉันจะเอาเสา ฉันจะเอาช้าง ท่านก็บอกเขาว่า ไหน คุณลองเอาช้างของคุณมาให้ฉันดูหน่อยซิ  เราตามเขาไปคลำ  ช้างเป็นเสาด้วยหรือ คลำแล้วก็กลับมาคลำของเรา บางทีมันก็เป็นพัดนะ  บางทีมันก็เป็นเสานะ คลำต่อไปอีก

เราจะไม่หยุดอยู่โดยความบอดมืดที่หลอกให้เราติดอยู่ตรงนั้น คลำต่อไป  มันก็มีท้อง เหมือนกระทะ ไปเจองวงเหมือนงู ก็คลำไปเรื่อย  กล้าที่จะเรียน ที่จะรู้  ใครว่าช้างเป็นเชือก เพราะคลำถูกหาง  เราก็ให้เขาจูงมือไปคลำตรงนั้น  ในที่สุดเราก็เรียนรู้ช้างทั้งตัว

....จริงๆ แล้ว หูเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่ง  ขาเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่ง  งวงเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่ง  เมื่อเอามาประกอบกันทั้งหมดนั่นแหละ  จึงเป็นช้าง  คราวนี้เมื่อใครต้องการช้าง  เราจะได้ถามว่า จะเอาหางช้างหรือจะเอาหูช้าง  เราก็รู้ตามที่เป็นจริง

ถ้าเรามีสติที่จะคิดได้ดังนี้ มีเหตุ มีผล อะไรๆ ที่เกิดขึ้นมา แทนที่จะเป็นความเครียด  ก็จะกลายเป็นหินลับสติปัญญา  พอเกิดปัญหาขึ้นมา แทนที่จะโกรธ ทำให้ความดันสูง หรือทำให้ปวดท้อง เป็นแผลในกระเพาะ  เราก็ลืมตาขึ้นดูปัญหา ศึกษาว่ามันคืออะไรแล้วไตร่ตรองใคร่ครวญ  จนกระทั่งเกิดปัญญาเห็นชอบ

ปัญหาอันนั้นก็ตกไป เราเรียนรู้เพิ่มขึ้น  เพราะฉะนั้นแต่ละปัญหา  แทนที่จะสร้างความเครียดให้ใจของเราเกิดสนิม  ให้ใจของเราเกิดเป็นอกุศล คุ้นเคยกับความชั่วความบาป  เราก็เอาปัญหาเหล่านั้นมาเป็นบทเรียน  สอนใจให้ใจมีสติไวขึ้น มีปัญญาเท่าทันที่จะแก้ไขเหตุการณ์

เริ่มครั้งแรกๆ สติยังไวไม่ทัน  การกระทำหลั่งไหลต่อไป  ก็ไม่เป็นไร พอเขาว่า ยอมรับ ขอโทษที ฉันไม่ได้เจตนา แต่เพราะความโง่เซ่อ  จึงพลาดไปอย่างนี้  ก็มีทางประนีประนอมกัน เราก็ได้เรียนรู้ เราก็จำเอาไว้  เป็นความรู้จากการได้ฟังมา  จดจำมา

อาศัยสิ่งเหล่านั้นเป็นมรรค  ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ เหมือนรถบดถนน  บดหลายๆ ครั้งเข้า  ดินก็แน่น เมื่อแน่นแล้ว รถจะแล่นเท่าไรๆ ถนนก็ไม่แตกไม่ร้าว  ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ

แต่ถ้าไม่ทำซ้ำๆ ซากๆ  จนความจำอันนั้นกลายเป็นปัญญา  กลายเป็นความรู้ที่ติดอยู่ในใจของเรา  ก็เหมือนอย่างเด็กๆ  ทำโจทย์เลข  ยังทำไม่เก่ง  พอครูทำให้ดู  ลอกออกมาแล้ว ก็ท่องเอาไว้ พอจะสอบทีก็ต้องท่องทีหนึ่ง  สอบเสร็จก็คืนครู  อยู่ในสมุดนั่น  ถ้าไปเจอปัญหาอันนี้อีก  ก็ทำไม่ได้  ทั้งๆ ที่ตอนสอบได้คะแนนเต็มเพราะท่องจำมา

ถ้าท่องอยู่เรื่อยๆ ฝึกซ้อมทำอยู่เรื่อย  วันหนึ่งความจำอันนั้น ก็ฝังแน่นกลายเป็นความรู้จริงขึ้นมา  เป็นปัญญาคุ้มครองตัวเรา  ให้เอาตัวเป็นที่พึ่งแก่ตัวได้  พอถึงวันนั้นก็ถึงจุดที่ธรรมรักษาเราแล้ว

ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้น เราต้องคอยรักษาธรรม ต้องคอยตั้งสติกั้นใจเอาไว้ ไม่ให้รั่วไหลตามกิเลส  อวิชชาอุปาทานไป  เกิดเป็นความเครียด ทั้งกับตัวเอง  ทั้งกับเพื่อนร่วมงาน  พระพุทธองค์ไม่เคยสอนเลยว่า คนเราจะพ้นทุกข์ พ้นความเครียดเพราะโชค เพราะความร่ำรวย เพราะอะไรต่างๆ

ท่านตรัสไว้ว่า  บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร  แสดงให้เห็นว่า เราทุกคนนี้รู้ รู้กันทั้งนั้น  เพราะธัมมะมีอยู่ในพระไตรปิฎก อยู่ในคัมภีร์ อยู่ในหนังสือ  ในที่ไหนๆ ทั่วไป  คนทุกคนที่มีสติปัญญา อ่านหนังสือได้  ฟังออก  ก็รู้ด้วยกันทั้งนั้น

แต่ที่รู้นี้ มันรู้แค่ไหน  รู้เพียงแค่เป็นวิญญาณ  ตาเห็นรูป  อ้อ ต้นไม้ รู้ว่า ต้นไม้  เอามือไปจับร้อน อ้อ รู้ว่าไฟ รู้แค่นั้นยังเอาตัวไม่รอด หรือจำได้ อ้อ จำได้  พระท่านสอนว่า เราต้องทำทาน รักษาศีล  แต่ตัวเองไม่เคยทำทาน ไม่เคยรักษาศีล  มันก็ไม่เกิดประโยชน์

....รู้อยู่พูดได้ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง  พูดได้สารพัด แต่นกแก้วนกขุนทองไม่เคยเอาสิ่งที่พูดได้นั้น ไปทำประโยชน์ให้กับจิตใจของมันเอง เหมือนอย่างกับเรา  รู้ว่ายาอันนี้ดี แต่ไม่กินยาเข้าไป โรคก็ไม่หาย  นับวันแต่จะลามมากขึ้นไป  จนในที่สุดก็ตรีฑูตจนรักษาไม่หาย  เพราะยาอยู่ในขวด ไม่ได้เอามารักษาโรค

นี่ก็เหมือนกัน  ถ้ารู้แล้วไม่พากเพียร  เอามาฝึกปฎิบัติ ให้มันเห็น  เป็นสมบัติขึ้นในใจของเรา  จิตก็เครียดอยู่อย่างนั้นแหละ  แม้เราจะบอกว่า อย่าโกรธ  เพราะโกรธทำให้ความดันโลหิตสูง เราก็พูดได้เวลาไม่มีอะไรมากระทบ เราก็สอนคนได้น่าฟัง แต่พอมีอะไรมากระทบเปรี้ยงก็ลืมหมด  ปรากฏเราเองนั่นแหละโกรธจนเส้นโลหิตแตก  เลยไม่ทันได้ป้องกันตัวเอง มันเป็นอย่างนี้

ท่านจึงได้สอนว่า ถ้ายังรู้ด้วยสัญญา รู้ด้วยฟัง รู้ด้วยอ่าน รู้อย่างนั้น มีวิชาท่วมหัวก็เอาตัวไม่รอด พออะไรเกิดขึ้นปั๊บ  สอนคนอื่นได้ แต่ปรากฏว่า ตัวเองทำอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งไม่ได้สอนเขา เพาะความรู้อันนั้นเก็บเอาไว้ดีมาก ใส่ตู้ลั่นกุญแจเสียจนกระทั่งยามคับขันควักออกมาไม่ทัน ช่วยตัวเองไม่ได้

เราเห็นอย่างนี้แล้ว แทนที่จะไปรู้อย่างที่เคยรู้  มาลงมือปฏิบัติ  .........จะปฏิบัติอย่างไร จึงคลายเครียดได้

....อะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปอย่างใจ  หยุดกาย หยุดวาจาของเราให้นิ่งเสียก่อน ท่านอาจารย์สิงห์ทองเคยสอนให้อมน้ำมนต์ ท่านเล่าว่า มีสองครอบครัว  บ้านอยู่ติดกัน ครอบครัวหนึ่งอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข พูดอะไรก็ปรองดอง  ฟังเหตุฟังผลกัน แต่อีกครอบครัวหนึ่งมีเรื่องทะเลาะกันทุกวี่ทุกวัน

วันหนึ่งภรรยาของบ้านที่ทะเลาะกันไปหาอีกบ้านหนึ่ง  ถามว่า คุณพี่ทำยังไง  คุณพี่ผู้ชายถึงไม่ทะเลาะด้วย บ้านนี้ได้โอกาสก็บอกว่า พี่มีน้ำมนต์  อาจารย์กำชับว่า ถ้าจะให้ศักดิ์สิทธิ์ต้องอมไว้ในปาก  พอคุณผู้ชายกลับเข้าบ้านมาค่อยอมน้ำมนต์  ระหว่างที่คุณผู้ชายอยู่ในบ้าน  คอยระวังอย่าให้น้ำมนต์กระฉอกออกจากปากเป็นอันขาด เผลอกลืนลงไปก็ไม่ได้ แล้วรับรองทุกอย่างจะเรียบร้อย ว่าแล้วก็ไปเอาน้ำมนต์ใส่ขวดมาให้

ภรรยาบ้านนั้นรับไปแล้วก็ดีใจ เราได้ของวิเศษมาแล้ว พอสามีกลับบ้านก็อมน้ำมนต์เอาไว้ เมื่ออมน้ำมนต์ไว้ กลืนก็ไม่ได้ กระฉอกหกก็ไม่ได้ เลยพูดไม่ได้ พอสามีบ่นว่าอะไร  ทั้งๆ ที่ใจอยากเถียง แต่ความที่คอยระวังน้ำมนต์ ก็ต้องยิ้ม สามีก็นึก อือ วันนี้เมียเราน่ารัก บ่รกับคนที่เขาไม่บ่นตอบ ไม่เห็นสนุกเลย ก็เลิกบ่น เลยไม่มีเรื่องกัน ก็แสดงว่า น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์

ท่านอาจารย์สำทับพวกเราว่า มีอะไรเกิดขึ้น อมน้ำมนต์เอาไว้ อย่าให้กระฉอก  

...ท่านถามว่า ที่เราไปโกรธ ไม่ได้อย่างใจ เพราะเสียงพูดของเขาหรือเพราะใจของเราไปแปลความหมายคำพูดนั้น  ท่านบอกสมมุติเขาพูดอย่างเดียวกับคำที่เขาด่าว่าเรานี่  แต่เขาพูดเป็นภาษาเขมรเสีย เราแปลไม่ออก ฟังไม่รู้เรื่อง เราจะโกรธเขาไหม

เราไม่โกรธ  บางทีอาจยิ้มด้วยซ้ำไป นึกว่าเขาให้พร  เพราะเสียงมันสูงๆ ต่ำๆ เพราะดี  ท่านบอกเวลาเราจะโกรธ ให้นึกว่าเขาพูดภาษาเขมร  เอาสติกำกับใจ นึกพุทโธเอาไว้  นึกว่าเขาให้พรเรา อย่าไปคิดแปลความหมายคำพูดเหล่านั้น

มันไม่ใช่คำพูดของเขาที่ทำให้เราเครียด แต่เพราะใจเราเอาอุปาทาน  เอาสัญญาเก่าๆ ไปปรุงไปแต่ง ไปแปลความหมาย  แล้วก่อกวนให้ตัวเองนั่นแหละทุกข์  ตัวเองนั่นแหละเดือดร้อน แล้วพอทุกข์พอเดือดร้อนแล้ว ก็ยังไม่มีสติพอจะรักษาใจตัวเอง  ปล่อยให้กาย ให้วาจา ตอกเขาออกไปเป็นอกุศลกรรม ก่อวิบากที่ต้องชดใช้ เป็นหนี้เป็นสินกับตัวเอง

ท่านถาม นั่นเรียกว่าโง่หรือเราฉลาด ถ้าเราเป็นลูกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้วว่า พุทธศาสนานี้เป็นศาสนาของพุทธะ ของสติปัญญา พ่อของเรารู้ตื่น รู้เบิกบาน  ทำไมเราเป็นลูกของท่านแล้ว  ไม่เอาพุทธะเป็นเครื่องกำกับรักษาใจ  ให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย พ้นจากกิเลสที่จะมาครอบงำ ลากจูงเอาเราไปเป็นทาส อย่างที่เคยเผลอตัว  ละเมอปล่อยให้มันลากจูงไป

บัดนี้เราตื่นขี้นมาแล้ว เรารู้แล้ว ทำไมไม่พากเพียร  ทำไมยังไปหลงเชื่อมันอยู่อีก ถ้าเราตั้งใจจริงพากเพียร เราทุกคนมีสิทธิที่จะทำให้ใจของตนหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เพราะสติที่กำกับอยู่กับใจ ไหวตัวเร็วทันผัสสะที่มากระทบ ทำให้สัญญา อุปาทาน ลากจูงให้ปรุงคิดตามไม่สำเร็จ

สติเป็นดังทำนบกั้นมันเอาไว้ ทำให้อะไรที่มากระทบก็สักแต่ว่า เมื่อสักแต่ว่าแล้ว มันก็ไม่มีความหมาย เราก็กองมันเอาไว้ตรงนั้น  พิจารณาตามเหตุตามผล  อะไรที่เป็นเหตุเป็นปัญญาเห็นชอบ เราจึงสนองไป

สติเป็นดังทำนบกั้นมันเอาไว้ ทำให้อะไรที่มากระทบก็สักแต่ว่า เมื่อสักแต่ว่าแล้ว มันก็ไม่มีความหมาย เราก็กองมันเอาไว้ตรงนั้น  พิจารณาตามเหตุตามผล  อะไรที่เป็นเหตุเป็นปัญญาเห็นชอบ เราจึงสนองตอบไป

เมื่อเกิดปัญญาเห็นชอบ ก็เท่ากับเราเปิดประตูมรรคได้แล้ว เมื่อเปิดประตูมรรคได้แล้ว  ถนนสายนี้ถึงจะหลับตาเดิน ก็ต้องทอดไปสู่ความดับทุกข์ ดับเครียด เพราะอะไร เพราะมรรคคือเหตุแห่งการดับทุกข์ เมื่อประกอบแต่เหตุที่จะดับทุกข์  ทุกข์ก็เกิดขึ้นมาไม่ได้

แต่ถ้าเผลอสติ ผัสสะมากระทบ  เรากะดอนตกลงไปในสมุทัย ต้นเหตุแห่งทุกข์  แล้วเราหยุดใจเราไม่เป็น เราก็เปิดโรงงานผลิตทุกข์ คิดไม่พอ  เผลอกระฉอกพูดออกไป ดีไม่ดีออกกายกรรม ไปทุบไปตีเขา ตกลงครบหมด มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม เกลี้ยงหมดเลย

หว่านเมล็ดอกุศลลงไปเป็นกระชุๆ  คราวนี้มันก็งอกเป็นดงหนาม  อะไรต่อมิอะไร เป็นวิบากมาทำให้เราเดือดร้อนไปหมด ถ้าเดือดร้อนอย่างนั้นแล้วจะไปโทษใครได้  เพราะว่าเวลาที่เราขาดสติ  เราไม่เห็นถามใคร ไม่เห็นปรึกษาใครเลย เราเชื่อตามกิเลสในใจ  ที่ดึงเราไปบริหารโดยไม่มีฝั่งมีฝา

หรือเราจะรู้อย่างที่ฟังกันนี้ แต่ถ้าไม่นำไปปฎิบัติ  อย่านึกว่าเราจะทำได้ เพราะดังที่เรียนแล้ว น้ำมันหล่อลื่นของกิเลส มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมเหมือนวิ่งสเก็ตไปบนลานสเก็ต นอกจากลื่นแล้วยังยั้งไม่อยู่  แต่ธัมมะถ้าไม่ฝึกไม่ปฎิบัติ มันฝืดเหลือเกิน  เหมือนเกวียนที่ตกหล่ม แล้วเราพยายามยกขึ้น กำลังที่ไม่ค่อยมี  ทำท่าจะขึ้นแล้ว กลิ้งตกลงไปใหม่  เป็นอยู่เช่นนั้น

หรือเหมือนซ้อมวิ่งกระโดดสูง พอซ้อม อุ่นเครื่องมากๆ  แทนที่จะวิ่งกระโดดข้ามไป

คำสำคัญ (Tags): #พญ อมรา มลิลา
หมายเลขบันทึก: 425911เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2011 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อมน้ำมนต์เอาไว้ อย่าให้กระฉอก..

จะพยายามทำค่ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท