ความเข้าใจในเรื่อง กามภพ รูปภพ อรูปภพ - ขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ คืออะไร?


ผู้ที่สามารถเห็นอสุรกายได้ด้วยตาเปล่า จึงเป็นคนโชคดีอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากอสุรกายเป็นพวกอบายภูมิ ฉะนั้นรูปร่างที่เห็นอาจจะไม่เป็นที่เจริญตาเจริญใจนักสำหรับมนุษย์ แต่อย่าได้เอาใจใส่กับรูปร่างอันพิกลพิการของเขาเลย มันเป็นธรรมดาของเขาอย่างนั้น

 

ก่อนจะตอบปัญหาของเธอ เราจะอธิบายภูมิของสัตว์ให้เธอเข้าใจเสียก่อน ...   

  

   บรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า “สัตว์”  แปลว่า ผู้ยังข้องอยู่ ติดอยู่ในวัฏฏะ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ เมื่อใดออกจากวัฏฏะได้ บรรลุถึงนิพพาน เมื่อนั้นจึงพ้นจากความเป็นสัตว์

     วัฏฏะอันเป็นที่อยู่ของสัตว์แบ่งออกเป็น ๓ ภพ สำหรับเป็นที่อยู่ของสัตว์ ๓ ประเภท คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ 

     กามภพ หมายถึงที่อยู่ของสัตว์ที่ประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน โลภะ โทสะ โมหะ ยังกระทำกรรมทางไตรทวาร ยังอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

   ภพที่สองซึ่งสูงขึ้นไป เรียกว่า “รูปภพ” หมายถึงภพอันเป็นที่อยู่ของรูปพรหม สัตว์จำพวกนี้ประกอบด้วยขันธ์ ๕ แต่ไม่ต้องอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีพ ยังมีอวิชชา แต่มีตัณหาอุปาทานเบาบาง

   ภพชั้นสูงสุดเรียกกว่า “อรูปภพ” เป็นที่อยู่ของอรูปพรหม สัตว์พวกนี้ไม่มีรูปขันธ์ มีแต่นามขันธ์ (เรียกว่ามีขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นพวกจตุโวการ)  ไม่มีตัณหาอุปาทาน แต่มีอวิชชา (สัตว์ที่มีขันธ์ ๑ ได้แก่ อสัญญีพรหม คือ มีเฉพาะรูปขันธ์ เป็นพวกเอกโวการ ) 

   สัตว์ในกามภพยังแยกออกไปอีกเป็นชั้นๆ สูงต่ำต่างกัน ตามกรรมของตนๆ สัตว์นรก เป็นสัตว์ชั้นต่ำที่สุด เสวยผลแห่งความชั่วของตนอยู่ในนรก เปรียบเหมือนนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ

   เปรต หมายถึง สัตว์ที่พ้นจากนรกมาแล้ว แต่ยังมีเศษของกรรมชั่วเหลืออยู่ จึงต้องเสวยทุกข์ต่อไปอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง เปรียบเหมือนนักโทษที่ออกจากเรือนจำมาแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างภาคทัณฑ์ ยังอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่  ยังมีการกำหนดบริเวณให้อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

   สัตว์พวกที่ ๓ เรียกว่า อสุรกาย หมายถึงสัตว์ที่พ้นจากเปรตวิสัยมาแล้ว แต่ยังไม่ได้มาเกิดเป็นสัตว์ หรือมนุษย์กำลังเร่ร่อนแสวงหาที่เกิด เปรียบเหมือนอดีตนักโทษที่พ้นจากภาคทัณฑ์แล้ว กำลังเร่ร่อนแสวงหางานทำและหาที่อยู่ สัตว์เดียรัจฉานที่ตายแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปเกิดในกำเนิดอื่นก็ไปเกิดในกำเนิดอสุรกายก่อน แม้มนุษย์ที่ตายแล้ว แต่จิตยังเป็นห่วงกังวล ทรัพย์สมบัติหรือคนรัก ยังไม่ได้ไปเกิดในกำเนิดอื่น  ก็ต้องไปเกิดในกำเนิดอสุรกายก่อน

    สัตว์ประเภทที่ ๔ เรียกว่ากำเนิดเดียรัจฉาน ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีกายหยาบใกล้ชิดมนุษย์ เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว สัตว์ทั้ง ๔ ประเภท คือ  สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน จัดว่าเป็นอบายภูมิ แปลว่า ภูมิของผู้ไม่เจริญ  เป็นทุคติ เป็นที่อยู่อันลำบาก

   สัตว์ประเภทที่ ๕ คือ มนุษย์เรานี่เอง สัตว์ประเภทที่ ๖ เรียกว่าเทวดา ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายพวกหลายชั้น บางพวกก็อยู่ตามต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ บ้านเรือน เรียกชื่อตามสถานที่อยู่ เช่น ภูมมเทวดา อยู่ตามแผ่นดิน รุกขเทวดา อยู่ตามต้นไม้ เป็นต้น บางพวกก็อยู่ในสวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่จาตุมหาราชิกา ถึงปรนิมมิตวสวัสดี สัตว์ประเภทมนุษย์และเทวดา จัดเป็นสุคติ  แปลว่าที่อยู่อันสบาย

    ในบรรดาสัตว์ประเภทต่างๆในกามภพนี้ สัตว์ที่มีกายหยาบ มี ๒ ประเภท คือ มนุษย์และสัตว์เดียรัจฉาน นอกนั้นมีกายละเอียด มองด้วยตาเนื้อไม่เห็น

  

   ท่านอาจารย์หยุดบรรยาย  หันมามองหน้าดูอาตมาคล้ายกับจะถามว่า  เข้าใจหรือไม่  หรือจำได้หรือไม่อะไรทำนองนั้น  อาตมาได้ถือเอาโอกาสนั้นเรียนถามท่านว่า  เท่าที่ฟังท่านอาจารย์บรรยายมา  ผมไม่ได้ยินคำว่าผีเลย  ถ้าอย่างนั้นผีจะจัดอยู่ในจำพวกไหนครับ?

 

  ถ้าถือตามหลักนี้ ผีก็ไม่มี และเมื่อผีไม่มี ถ้าอย่างนั้น อะไรเล่า ที่เที่ยวปรากฏตัวหลอกหลอนคนอยู่ตามสถานที่ต่างๆ

    

  ท่านอาจารย์ตอบว่า สัตว์ที่อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ มี ๒ จำพวก คือ อสุรกาย กับเทวดาชั้นต่ำๆ  พวกอสุรกายจัดเป็นอบายภูมิ  มีความทุกข์  อยากจะพ้นจากกำเนิดอสุรกาย  กำลังแสวงหาที่เกิด  ท่องเที่ยวเร่ร่อนไป  อยู่ไม่เป็นที่  อสุรกายมีกายเหมือนกัน  แต่เป็นกายละเอียด  ตามปกติคนเรามองไม่เห็น  เวลาเขาจะแสดงตัวให้คนเห็น  เขาจะดึงเอาปรมาณูในอากาศมาเสริมร่างของตนเองทำให้รูปร่างเข้มข้นขึ้น  พอให้มองเห็นได้รางๆ  ด้วยตาเปล่าชั่วระยะเวลาหนึ่ง  การที่เขาแสดงตัวให้เห็น  มีจุดมุ่งหมายหลายอย่าง  เช่นอสุรกายของคนที่เพิ่งตาย  มาแสดงตัวให้ญาติพี่น้องที่รักกันได้เห็นด้วยความรักความอาลัย  อสุรกายที่มาจากกำเนิดอื่น  แสดงตัวให้คนอื่นเห็น  เพื่อขอส่วนบุญเพราะกำเนิดอสุรกายเป็นอบายภูมิดังกล่าวแล้ว  จึงมีความทุกข์เป็นประจำ  มีความสุขบ้าง  ก็ต่อเมื่อได้รับส่วนบุญจากผู้อื่น  ฉะนั้นเมื่อเวลาเห็นอสุรกาย  คนจึงนิยมเรียกกันว่าผีหลอก  ไม่ควรตกใจกลัวควรทำใจให้สงบแล้วอุทิศส่วนบุญให้เขาไป  ตามปกติอสุรกายก็อยู่ในโลกของเขา  มีอาหารมีหน้าที่ของเขา  มีสังคมของเขาต่างหาก  ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เลย   ต่างคนก็ต่างอยู่กันคนละโลก  เขาจะปรากฏตัวได้ง่ายๆก็ต่างอาศัยความเหมาะสมของดินฟ้าอากาศ  แสงสว่าง  และสถานที่ประกอบกันอย่างได้ส่วน  บางทีอยากจะปรากฏตัวแทบตาย  แต่ก็ทำไม่ได้ก็มี  บางทีทำได้  แต่คนดูไม่รู้ไม่เห็นก็มี   ฉะนั้นผู้ที่สามารถเห็นอสุรกายได้ด้วยตาเปล่า   จึงเป็นคนโชคดีอย่างยิ่ง  แต่เนื่องจากอสุรกายเป็นพวกอบายภูมิ  ฉะนั้นรูปร่างที่เห็นอาจจะไม่เป็นที่เจริญตาเจริญใจนักสำหรับมนุษย์ แต่อย่าได้เอาใจใส่กับรูปร่างอันพิกลพิการของเขาเลย  มันเป็นธรรมดาของเขาอย่างนั้น

  

  ส่วนพวกเทวดา  จัดอยู่ในสุคติภูมิ  สูงกว่ามนุษย์สบายกว่ามนุษย์  พวกนี้อยู่ประจำเป็นที่เป็นทาง  ตามต้นไม้  ตามภูเขาบ้าง  ตามอาคารบ้านเรือนบ้าง   แต่เขาก็มีหน้าที่การงาน   อาหาร   และสังคมของเขาต่างหาก  โดยปกติไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์  มีร่างกายละเอียด  เช่นเดียวกับอสุรกาย  แต่อาจจะแสดงตัวให้มนุษย์เห็นได้เป็นครั้งคราว  รูปที่แสดงให้เห็นนั้นอาจจะน่ากลัวก็ได้  น่ารักก็ได้ แล้วแต่จุดประสงค์ของเขา  ถ้ามนุษย์ไปรบกวนเขา  ทำอันตรายแก่ที่อยู่ของเขา เขาต้องการจะขับไล่ เขาก็แสดงรูปอันน่าหวาดกลัว   มนุษย์เห็นก็เข้าใจว่าถูกผีหลอก  ความจริงผีหลอกไม่มี  มีแต่การปรากฏตัวของอสุรกายและเทวดาชั้นต่ำดังที่กล่าวแล้ว 

  

  อาตมาเรียนถามท่านว่าอาจารย์ต่อไปว่า  "ถ้าอย่างนั้นเราควรปฏิบัติต่ออสุรกายและเทวดาอย่างไร"

    

  ท่านอาจารย์ตอบว่า  เฉยๆเสียได้เป็นดี  เพราะตามปกติต่างคนก็ต่างอยู่  อยู่แล้ว  ถ้าจำเป็นจะต้องมีการติดต่อสัมพันธ์  ก็ขอให้เป็นไปในทางที่ดี  เช่นแผ่เมตตาให้  อุทิศส่วนกุศลให้  เป็นต้น  อย่าถึงกับถือเป็นสรณะที่พึ่ง  เพราะอสุรกายก็ดี  เทวดาก็ดี  เป็นที่พึ่งแก่ใครไม่ได้  เพราะเขาก็มีหน้าที่การงานของเขา  เช่นเดียวกับเรามีหน้าที่การงานของเรา  ถ้าพูดถึงด้านคุณธรรม  พวกนี้ก็มีคุณธรรมไม่สูงไปกว่ามนุษย์  บางครั้งก็อาจจะต่ำยิ่งกว่ามนุษย์เสียอีก

 

  หลังจากได้ฟังคำอธิบายของท่านอาจารย์แล้วอาตมาก้เลิกกลัวผี  เลิกกลัวอสุรกาย  เลิกกลัวเทวดา  เพราะเห็นว่าสัตว์เหล่านี้มีพิษภัยน้อยกว่ามนุษย์เสียอีก ถ้าเรามีเมตตาจิตต่อเขา  เขาก็เป็นมิตรที่ดีของเรา  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  อาตมาก็ชอบไปปักกลดบำเพ็ญเพียงอยู่คนเดียวตามป่าช้า  ตามป่าเขาลำเนาไพรที่เขาเล่าลือกันว่าผีดุ  เพราะเมื่อไปอยู่ในที่เช่นนั้น อาตมาเกิดความอบอุ่นใจว่า ตัวมิได้อยู่คนเดียว แต่อยู่ในท่ามกลางญาติมิตร

  ขอบคุณ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ และ อาจารย์แสง จันทร์งาม ที่ได้อธิบายเรื่องนี้เอาไว้อย่างละเอียด

หมายเลขบันทึก: 425158เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2011 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น้อมธรรมสู่ใจ..

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ขอบพระคุณมากๆคะ เข้ามาอ่านเว็บนี้แล้วความรู้ในภพภูมิและขันธ์ 5 เพิ่มขึ้นเลยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท