การนำ Cao, MgO และ S มาใช้เป็นธาตุอาหารรองในพืช และการใส่สารสกัดสกัดอินทรีย์, อะมิโน แอซิด


การนำ Cao, MgO และ S มาใช้เป็นธาตุอาหารรองในพืช และการใส่สารสกัดสกัดอินทรีย์, อะมิโน แอซิด

เป็นที่ทราบกันดีว่า ธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการเพื่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตนั้นก็คือ ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P2O5) และโปแตสเซียม(K2O)

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีธาตุอาหารรอง ที่ก็มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืชด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ แคลเซียม(CaO) แมกนีเซียม(MgO) และกำมะถัน(S) ซึ่งพืชจะขาดเสียไม่ได้ เพียงแต่ต้องการในปริมาณที่น้อยกว่าธาตุอาหารหลักเท่านั้นนั่นเอง ความสำคัญของธาตุอาหารรองทั้ง 3 ธาตุนั้น เป็นดังนี้ คือ

1.แคลเซียม(CaO)เป็นธาตุอาหารที่จำเป็นและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่ช่วยในการแบ่งเซลล์ การผสมเกสร การงอกของเมล็ด ซึ่งถ้าหากพืชขาดธาตุแคลเซียม ใบของพืชที่เพิ่งเจริญใหม่ก็จะหงิกงอ ตายอดจะไม่เจริญ ซึ่งอาจจะมีจุดดำที่เส้นใบ มีผลทำให้รากของพืชสั้น ผลแตก และมีคุณภาพไม่ดีได้

2.แมกนีเซียม(MgO) เป็นธาตุอาหารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ ช่วยสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน และน้ำตาล ทำให้สภาพกรดด่างในเซลล์พอเหมาะและช่วยในการงอกของเมล็ด ถ้าขาดธาตุนี้ใบแก่จะเหลือง ยกเว้นเส้นใบ และใบจะร่วงหล่นเร็ว

3.กำมะถัน(S) เป็นธาตุอาหารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกรดอะมิโน โปรตีน และวิตามิน ถ้าขาดธาตุนี้ทั้งใบบนและใบล่างจะมีสีเหลืองซีด และต้นอ่อนแอ

การที่พืชมีความต้องการธาตุอาหารรองทั้งสามในปริมาณที่น้อยกว่าธาตุอาหารหลักนั้น ในทางวิชาการแล้วประมาณกันไว้ว่า ควรใช้ Cao, Mgo ในอัตราไม่ต่ำกว่า 0.40% และ S กำมะถัน ในอัตราไม่ต่ำกว่า 0.25% โดยปริมาตร ต่อการให้ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมทั้งหมดในปริมาณ 1 ลิตร เมื่อนำไปฉีดพ่นในพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1 ไร่

มีรายงานทางวิชาการกล่าวถึง ธาตุอาหารที่ต้องการ (กก.) สำหรับข้าว 1 ตัน ซึ่งจะพบว่าธาตุอาหารรอง แคลเซียม(CaO) แมกนีเซียม(MgO) และกำมะถัน(S) มีความสำคัญและจำเป็นมาก แต่อยู่ในปริมาณที่น้อยลงกว่าธาตุอาหารหลัก

( Brandon, D.M., Brouder, S., Chaney, D., Hill. J.E., Scardaci, S.C. and Williams, J.F. 1997. Rice straw incorporation. Agronomy fact sheet Series 1995-1. Dept. of Agronomy & Range Science. UC, Davis. (From UC Davis rice web site. และ การจัดการเกี่ยวกับธาตุอาหารพืชสำหรับข้าว (http://natres.psu.ac.th/Department/plantscience/510-111web/Technology%20Changes_Rice/07.p;ant%20nutrition%20mang.htm)


มีข้อแนะนำบางประการคือ การนำธาตุอาหารรอง แคลเซียม(CaO) แมกนีเซียม(MgO) และกำมะถัน(S) มาให้แก่ต้นพืชนั้น ควรมีการใส่สารสกัดสกัดอินทรีย์บวกอะมิโน แอซิด ทั้งนี้เพราะ สารสกัดอินทรีย์ ฮิวมิก แอซิดนี้ มีคุณประโยชน์ต่อพืชคือ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมีของพืช โดยจะช่วยละลายปุ๋ยเคมีที่เหลือตกค้างในดิน ให้พืชดูดกลับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ทำให้ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงถึง 30 % ลดการสูญเสียของปุ๋ย เนื่องจากการชะล้าง หรือถูกดินยึดไว้

นอกจากนี้ ยังช่วยปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรม ขาดธาตุอาหาร และปรับปรุงโครงสร้างของดินที่เหนียวแน่นแข็ง ให้มีสภาพดินที่สมบูรณ์ โปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี ระบบรากพืชเจริญแผ่กระจาย มีความแข็งแรงสมบูรณ์ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารปราบศัตรูพืช ทำให้พืชดูดซับสารได้ดีขึ้น

ซึ่งปัจจุบันก็มีจำหน่ายในท้องตลาดเกษตรทั่วไป และเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย กว้างขวางเช่น สารวินนีก้า สุพรีมโกล เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเป็นการสะดวกและประหยัดมากในด้านการขนส่ง แรงงานการขนใส่ต้นพืช และปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นและเพียงพอดังกล่าว

ส่วนกรดอะมิโนนั้น มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและสร้างความแข็งแรงต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมทั้งต้นพืชด้วย กรดอะมิโนที่พบมีอยู่ 20 ชนิด และแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและหน้าที่แตกต่างกันไป โดยปกติแล้ว พืชสามารถสร้างกรดอะมิโนขึ้นได้เองตามธรรมชาติ โดยการใช้แร่ธาตุต่างๆที่ได้มาจากธรรมชาติ แต่ก็มักพบเสมอว่าพืชไม่สามารถสร้างกรดอะมิโนเหล่านั้น ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ซึ่งถ้าพืชเกิดสภาวะการขาดกรดอะมิโนหรือมีไม่เพียงพอ ก็จะทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ มีการออกดอก ติดผล ได้ไม่มากหรือผลผลิตไม่สมบูรณ์ มีคุณภาพต่ำ เป็นต้น

จึงควรมีการนำสารสกัดสกัดอินทรีย์บวกอะมิโน แอซิด มาให้แก่ต้นพืชที่เราจะมุ่งเพาะปลูกเพื่อเอาผลผลิตในเชิงการค้าดังกล่าว


รองศาสตราจารย์ ดร.ชยพร แอคะรัจน์

หมายเลขบันทึก: 425012เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2011 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2015 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท