พบรัฐลงทุนการศึกษาคุ้มค่ามากสุด


สำนักข่าว USA Today ตีพิมพ์เรื่อง 'Early childhood education benefits both kids, taxpayers, study says' = "การศึกษาเด็กเล็กให้ประโยชน์กับเด็ก (และ) ผู้เสียภาษี", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
ศ.อาเตอร์ เรโนลส์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยมินนีโซทา และสถาบันสขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างเด็กเล็ก ติดตามไปจนอายุ 26 ปี (ตีพิมพ์ใน Child Development)
.
ผลการศึกษาพบว่า การลงทุนให้เด็กเล็กมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนให้ผลคุ้มค่าน่าลงทุน ทั้งต่อเด็กๆ และผู้เสียภาษี 
.
เงินที่รัฐลงทุนเพื่อการศึกษาทุกๆ $1 (1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้ผลตอบแทนกลับมา $4-$11 = 4-11 เท่าในระยะยาว หรือให้ผลตอบแทน (annual rate of return) = 18%/ปี
.
กลไกที่ช่วยอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว คือ คนที่เรียนจบมัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย จะมีชีวิตเปลี่ยนไปดังต่อไปนี้
.
(1). มีรายได้สูงกว่าคนที่เรียนไม่จบ > ทำให้รัฐมีรายได้กลับมาในรูปภาษีมากขึ้นในระยะยาว
.
(2). มีโอกาสทำผิดจนถูกจับกุม เป็นโรคซึมเศร้า ติดยาเสพติด และป่วยเรื้อรังน้อยกว่า > ทำให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จับกุม-คุมขัง
.
โปรแกรมส่งเสริมการศึกษาทำในกลุ่มตัวอย่างครอบครัวยากจนมากกว่า 100,000 ครัวเรือน เริ่มในปี 1967 หรือ พ.ศ. 2510 โดยให้คุณแม่คุณพ่อมีส่วนร่วมในการศึกษา, ส่งเสริมการศึกษา ให้อาหาร (คล้ายโครงการอาหารกลางวัน), สิทธิในการรักษาพยาบาล และการเยี่ยมบ้านโดยทีมงานส่งเสริมการศึกษา
.
โปรแกรมนี้ส่งเสริมให้เด็กเล็กที่ด้อยโอกาสเข้าชั้นเรียนเตรียมอนุบาล (preschool) ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และให้เรียนจนจบเกรด 3 (เทียบเท่าประถมศึกษาปี 3) ที่อายุ 9 ปี
.
กลุ่มตัวอย่างเป็นคนด้อยโอกาสในสังคมสหรัฐฯ, 93% เป็นคนผิวดำ (black / African-American), 7% เป็นคนอพยพเข้าจากเม็กซิโก-อเมริกากลาง (Hispanic = สเปน เนื่องจากภูมิภาคอเมริกากลาง-ใต้เกือบทั้งหมดเป็นอดีตอาณานิคมสเปน ยกเว้นบราซิลเป็นอดีตอาณานิคมโปรตุเกส)
.
ถ้าไม่มีโปรแกรมลงทุนด้านการศึกษาและติดตาม-เอาใจใส่, เด็กที่มีฐานะยากจนจำนวนมากจะไม่ได้เข้าชั้นเรียนอนุบาล (kindergarten) ทำให้เรียนไม่ทัน และผลสอบแพ้เพื่อนๆ ที่มีโอกาสเรียนในชั้นเรียนเตรียมอนุบาล-อนุบาล
.
ตรงกันข้าม, เด็กๆ ที่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนชั้นเตรียมอนุบาล-อนุบาลจะทำให้เด็กๆ เชื่อมั่นว่า เรียนทัน และสอบแข่งกับเพื่อนๆ ได้ ทำให้โอกาสเลิกเรียนกลางคัน (drop out) ลดลงไปอย่างมากมาย
.
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เด็กๆ วัย 3-4 ขวบเกือบทั้งหมดชอบเรียน และพอใจกับโปรแกรมส่งเสริมการศึกษา "ชิคาโก (ชื่อรัฐที่ทดลองใช้โปรแกรมนี้)"
.
ศ.บรูซ ฟูลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและนโยบายสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์คเลย์ กล่าวว่า โปรแกรมชิคาโกใช้เงินมากกว่า $8,500 = ฿255,000 (คิดที่ 30 บาท/$) ต่อเด็กก่อนวัยเรียน 1 คน ซึ่งภาครัฐหลายๆ แห่งอาจหาทุนระดับนี้มาสนับสนุนไม่ได้
.
ท่านเชื่อว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ รัฐลงทุนเพื่อการศึกษา และให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การเยี่ยมบ้านโดยทีมงานส่งเสริมการศึกษา ฯลฯ
.
ทุกวันนี้รัฐบาลส่งเสริมการศึกษาได้ ทั้งแบบเดิม (ผ่านสถาบันการศึกษา) และออนไลน์ เช่น จัดประกวดบทเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาที่สาม (เช่น จีน ญี่ปุ่น สเปน อาหรับ ฯลฯ), ภาษาเพื่อนบ้าน (เช่น พม่า มาเลย์ กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ) ตั้งแต่ระดับอนุบาล-ประถมฯ-มัธยมฯ-อาชีวะ-มหาวิทยาลัย-ประชาชนทั่วไป ฯลฯ
.
บทเรียนดังกล่าวควรครอบคลุมทั้งสาขาวิชาหลัก โดยจ้างสถาบันการศึกษาระดับแนวหน้า เช่น เตรียมอุดมศึกษา ฯลฯ บันทึกวิดีโอ, จัดทำติวสอบ (จะได้ประหยัดค่าเรียนพิเศษ), เฉลยแบบฝึกหัด ฯลฯ
.
รัฐควรจัดประกวดบทเรียนวิชาช่าง-ความรู้สำหรับประชาชน เช่น วิธีขับรถ-ดูแลรถ วิธีต่อท่อประปา วิธีตัดผม วิธีทำกับข้าว วิธีทำขนม วิธีลดความอ้วน วิธีนวดแผนไทย วิธีทำสบู่-แชมพูใช้เอง ฯลฯ จัดทำเป็นบทเรียนฟรีออนไลน์
.
สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป คือ ส่งเสริมให้บ้านนอกมีโอกาสใช้อินเตอร์เน็ตเท่า หรือเกือบเท่ากรุงเทพฯ
.
วิธีที่ประหยัด คือ นำบทเรียนขึ้น YouTube, จัดทำเว็บไซต์ส่งเสริมการศึกษา จัดให้มีศูนย์ดาวน์โหลดฟรีทุกจังหวัด และบังคับให้โรงเรียนใหญ่ๆ ทุกจังหวัดต้องจัดทำห้องสมุดสำหรับประชาชนแบบ TKpark - ห้ามโรงเรียนทำอนุสาวรีย์ (ไม่ทราบทำไมเมืองไทยชอบทำอนุสาวรีย์ เพื่อเสนอหน้ามากจัง)
.
การลงทุนทางการศึกษาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบจะทำให้คนไทยแข่งขันกับนานาชาติได้ ซึ่งตรงนี้น่าดีใจที่รัฐบาลส่งเสริมให้แปลวิกิพีเดียเป็นภาษาไทยแล้ว ลงทุนแบบนี้คุ้มค่ามากกว่าการสร้างอนุสาวรีย์อย่างมากมายมหาศาล และใช้เงินน้อยกว่าด้วย)
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

 > [ Twitter ]                             

  • Thank USA Today
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 6 กุมภาพันธ์ 2554.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 424624เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2011 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบล็อกที่มีสาระดีๆน่าอ่าน  ขอเป็นกำลังใจในการเขียนเรื่องต่อๆไปครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท