ความสามารถของนักสารสนเทศในยุคใหม่


นักสารสนเทศในอนาคต

        

ความสามารถของนักสารสนเทศในยุคใหม่

            ในยุคใหม่ต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะบทบาทใหม่ของนักสารสนเทศซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ต้องมีการจัดการกับสารสนเทศและความรู้ในองค์กร การรู้ถึงความสามารถเหล่านี้จะช่วยให้นักสารสนเทศเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับความต้องการใหม่ๆ ของตลาด

Newman และคณะ (2001) ทำนายไว้ว่า ในระหว่างปี 2000 ถึง 2010 ไม่มีอาชีพใดจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากไปกว่านักสารสนเทศ

Lettis (2000) ยืนยันว่า กระบวนทัศน์ของศูนย์กลางสารสนเทศในวันนี้เปลี่ยนจากการค้นหา รวบรวม และปกป้องข้อมูล ไปสู่การเลือก ประเมิน จัดการ และแจกจ่ายสารสนเทศอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นักสารสนเทศจึงต้องมีความเป็นธุรกิจมากขึ้น, มีความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจและนักเทคโนโลยีสารสนเทศ; ลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อการเติบโตและการขยายงาน; เพิ่มมูลค่าให้แก่สารสนเทศด้วยการกรอง, สังเคราะห์, ทำให้เป็นเนื้อหา, และรวบรวม; และใช้แง่ต่างๆ ทางธุรกิจเพื่อพิสูจน์คุณค่าและมูลค่าของมัน

ในไม่กี่ 10 ปีที่ผ่านมา ศาสตร์ด้านสารสนเทศได้เปลี่ยนแปลงไปจนแทบจะเป็นสิ่งใหม่ในเชิงปฏิบัติ ความเปลี่ยนแปลงในด้านบริบท, เทคโนโลยี, และวิถีขององค์กรเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ขององค์กรสารสนเทศทั้งหมด บทบาทใหม่ต้องการความสามารถกลุ่มใหม่จากนักสารสนเทศ

ก่อนการพูดถึงแนวโน้มของแนวทางด้านสารสนเทศที่นำไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ และความต้องการในนักสารสนเทศ จะต้องมีการกำหนดคำนิยามเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ดังนี้

ยุคใหม่ หมายถึง การพัฒนาใน 20-30 ปีที่ผ่านมาที่องค์กรสารสนเทศมีบทบาทหลักในการจัดการสารสนเทศ (Information Management – IM)

ความสามารถ หมายถึง ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ – สิ่งที่นักสารสนเทศจำเป็นต้องมี

นักสารสนเทศ หมายถึงเฉพาะ ผู้ที่มาจากการศึกษาทางด้านสารสนเทศโดยตรง (ไม่รวมนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ผู้จัดการระบบ, ผู้จัดการสื่อ, และผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวกับสารสนเทศและความรู้ในองค์กร)

เนื้อหาจะมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างบทบาทใหม่แก่นักสารสนเทศในองค์กร โดยมีสมมุติฐานว่า โอกาสหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักสารสนเทศ ซึ่งก็คือการขยายแวดวงสารสนเทศในองค์กรเป็นที่รับรู้อยู่แล้ว

1. การพัฒนาการจัดการสารสนเทศและการจัดการความรู้

ใน 20 ปีที่ผ่านมา ห้องสมุดและองค์กรสารสนเทศมีบทบาทใหม่ในการสร้างฐานข้อมูล, ระบบสารสนเทศ, การทำให้เป็นดิจิทัล, การสร้างห้องสมุดเสมือนจริง, เมทาดาทา, และการพัฒนาอินทราเน็ต เอ็กซ์ทราเน็ต และช่องทางการส่งต่อ ซึ่งต้องมีทักษะใหม่ๆ ในด้านการจัดการสารสนเทศ, โครงสร้าง, อินเตอร์เฟซระหว่างคนและเครื่องกล, การเชื่อมต่อ, คลังข้อมูล, การบรรจุข้อมูล, และการจัดส่ง ซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือกับผู้อื่นในกิจกรรมนั้นๆ (ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและผู้ที่อยู่ในธุรกิจส่วนนั้นๆ) (Cortez และคณะ, 2004; Rubin, 2000; Tanner, 2001) นักสารสนเทศมีหน้าที่จะต้องประสานระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ, ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา, และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทำให้ต้องมีความรู้พื้นฐานที่จำเป็นจำนวนมาก (Choo, 1995)

ใน 15 ปีที่ผ่านมา องค์กรเปลี่ยนไปใช้การจัดการความรู้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน TFPL (1999) สังเกตว่า นักสารสนเทศได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดใน 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อบทบาทและโอกาสของนักสารสนเทศ วิถีการจัดการความรู้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักสารสนเทศ ถ้าหากพวกเขาทราบภาพรวมการทำงานขององค์กรและบทบาทของนักสารสนเทศในฐานะส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

2. ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการสารสนเทศและการจัดการความรู้

สำหรับการจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิผล นักสารสนเทศจะต้องเข้าใจว่า ความรู้คืออะไร ลักษณะและโครงสร้างของความรู้ในองค์กรคืออะไร และอะไรทำให้มันต่างจากรูปแบบความรู้ชนิดอื่น (Choo, 1995)

Broadbent (1997) บอกว่า ถ้าบรรณารักษ์และศูนย์สารสนเทศต้องการเป็นตัวหลักในการจัดการความรู้ พวกเขาจะต้องเข้าใจหลายๆ มุมมองของผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือต้องเข้าใจความสัมพันธ์การจัดการสารสนเทศและการจัดการความรู้ (Davenport & Cronin, 2000; Loughridge, 1999; Oxbrow & Abell, 2002; Southon & Todd, 2001a) มีมุมมองหนึ่งที่ว่า การจัดการความรู้อย่างน้อยบางส่วนก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการห้องสมุดและการจัดการสารสนเทศ (Koenig, 1996; Broadbent, 1998) Davenport และ Cronin (2000) เห็นว่า บรรณารักษ์ทั่วไปสับสนการเปลี่ยนแปลงจากการจัดการสารสนเทศไปสู่การจัดการความรู้ และส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนแปลงเพียงคำที่ใช้ Southon และ Todd (2001a) สังเกตว่า มุมมองของนักสารสนเทศไม่เป็นภาพรวม โดยการมุ่งเน้นในความรู้ที่มันชัดเจนออกมาและถูกมองว่าไม่เกี่ยวกับงาน, กระบวนการ, หรือคนอื่น พวกเขามองว่า การจัดการสารสนเทศมีความชัดเจน, เป็นกระบวนการที่มีเทคนิคที่ทำให้สามารถประสบผลได้, มีการทำงานกับแหล่งข้อมูลที่จับต้องได้หรือดิจิทัล, และอิงอยู่กับระบบ แต่การจัดการความรู้ถูกมองว่าซับซ้อน, เป็นองค์รวม, เกี่ยวกับเรื่องขององค์กร, และเป็นกระบวนการที่อิงกับมนุษย์และสังคม Southon และ Todd (2001b) ระบุว่า นักสารสนเทศจำเป็นต้องมีความเข้าใจในด้านความรู้, องค์กร, เทคโนโลยี, บุคคล, และสารสนเทศ ถ้าต้องการประสบผลสำเร็จในบทบาทของการจัดการความรู้ Loughridge (1999) บอกว่า การจัดการความรู้แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากทฤษฎีและการปฏิบัติของบรรณารักษ์, การจัดการสารสนเทศ, และการจัดการแหล่งสารสนเทศ เนื่องจากมีความต้องการในกลุ่มทักษะใหม่

ศศิวิมล (2005) กล่าวว่า นักสารสนเทศในยุคใหม่ควรมีทักษะที่สำคัญใน 2 ด้าน คือ

1. “ทักษะในการทำงาน” (ศศิวิมล, 2005) ซึ่งแบ่งออกเป็น

1.1 “ทักษะในด้านสารสนเทศ” (ศศิวิมล, 2005) – ความสามารถในการจัดการสารสนเทศและการจัดการความรู้ของนักสารสนเทศ

McInerney (2002) กล่าวว่า การจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิผลในหลายๆ บริบทขึ้นอยู่กับความเข้าใจลักษณะที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ของความรู้ ซึ่งนักบริหารสารสนเทศหลายคนไม่มีทักษะของนักบันทึก ทั้งการจับประเด็น, จัดเก็บ, และรายงานความรู้ใหม่ๆ นักสารสนเทศควรมีความเข้าใจและท่าทางที่แตกต่างออกไป พวกเขาควรมีความผูกพันกับเครือข่ายบุคคล, เชื่อในความคิดที่ว่า “เข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องในเวลาที่ถูกต้อง” การจัดการความรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นศูนย์กลางจะนำไปสู่ความเสียหาย และความคิดของการเสมือนจริงทำลายความสัมพันธ์และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสังคมองค์กร (De Cagna, 2001) Lamb (2001) เน้นว่า นักสารสนเทศจะต้องเป็นตัวกลางระหว่างสารสนเทศกับองค์กรด้วยความสามารถและความชำนาญในการเชื่อมต่อคนกับสารสนเทศที่เขาต้องการเพื่อสร้างความสมดุลและมั่นคงในการจัดการความรู้

Kakabadse และคณะ (2003) อธิบายว่า วิธีหนึ่งที่จะสามารถวิเคราะห์การจัดการความรู้และกลยุทธ์ทางความรู้คือการใช้แผนที่ความรู้ ซึ่งนำไปสู่องค์กรแห่งความรู้ (Stanford, 2001) Perez (2002) บอกว่า ห้องสมุดองค์กรสามารถเป็นบทบาทที่สำคัญในกระบวนการจัดการความรู้ ถ้าเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์แบบเก่าของการให้บริการและส่งต่อสารสนเทศ มาเป็นการพยายามสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับทั่วทั้งองค์กร ด้วยวิธีที่มีประสิทธิผลและอำนวยความสะดวกในการได้มา, ระบุตัวตน, รวบรวม, และบันทึกความรู้และประสบการณ์ของมนุษย์

ความสามารถในการจัดการสารสนเทศและการจัดการความรู้ของนักสารสนเทศที่สำคัญ คือ

1) การจัดการสาระความรู้

2) การทำให้เป็นดิจิตอล

3) การจัดการส่งต่อ

หากจะพูดถึงแยกเฉพาะในส่วนบทบาทของบรรณารักษ์ดิจิทัลในการจัดการระบบสารสนเทศดิจิทัลนั้น Sreenivasulu (2000) ได้กล่าวเกี่ยวกับลักษณะมัลติมีเดียรุ่นใหม่ในห้องสมุดดิจิทัลซึ่งทำให้เกิดความต้องการบรรณารักษ์ดิจิทัล ที่มีความหมายถึง ผู้ที่ดูแลห้องสมุดดิจิทัลและจัดการระบบสารสนเทศดิจิทัล ซึ่งต้องมีความสามารถเฉพาะทางเพื่อจัดการห้องสมุดดิจิทัล, ทำงานที่เกี่ยวกับการทำให้เป็นดิจิทัล, การจัดเก็บ, การเข้าถึง, การทำเหมืองความรู้ดิจิทัล, การให้บริการอ้างอิงดิจิทัล, การให้บริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์, การประสานงานการค้นหาสารสนเทศ, และการจัดการจัดเก็บถาวรและการเข้าถึง ซึ่งบรรณารักษ์ดิจิทัลต้องเป็นเหมือนผู้คุ้มครองเส้นทางเข้าถึงสารสนเทศหรือห้องสมุดดิจิทัลสากลและเป็นเหมือนผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเหมือนเครื่องกล ในงานที่เกี่ยวกับสารสนเทศ (การได้มา/การจัดส่ง/การส่งผ่าน/การค้นหา), เทคโนโลยีภาพ, การรู้ถึงลักษณะผ่านทางการมองเห็น, ภาษาที่สร้างขึ้น, การทำแคตตาล็อก, เมทาดาทา, สารบัญมัลติมีเดียและเทคโนโลยีฐานข้อมูล, การออกแบบอินเตอร์เฟซของผู้ใช้, การสร้างโปรแกรม, และเทคโนโลยีเว็บ

1.2 “ทักษะทางด้านเทคนิคและบริการในงานห้องสมุด” (ศศิวิมล, 2005) ซึ่งแบ่งออกเป็น

1) ความสามารถในเนื้องานของนักสารสนเทศ – นอกจากเทคนิคดั้งเดิมและรูปแบบการบริการสาธารณะ สารสนเทศยุคใหม่ได้นำมุมใหม่ๆ และความท้าทายมาสู่การปฏิบัติงานสารสนเทศ ซึ่งมีความต้องการความสามารถใหม่ๆ ดังนี้

a) แนวคิดความเชื่อต่อการดำเนินงานขององค์กร

b) การประสานงานกับผู้ขาย

c) ความสามารถในการจัดจ้างภายนอก

d) ความรู้ที่สามารถนำไปแข่งขันได้

2) ความสามารถในการส่งเสริมการให้บริการและสิทธิ์ของผู้ใช้ – ในบริบทของสารสนเทศในปัจจุบัน การให้อำนาจและความรู้แก่ผู้ใช้ถูกมองว่าเป็นมุมมองใหม่ ด้วยปัจจัย คือ ที่อยู่ของผู้ใช้, การส่งเสริมความสามารถของผู้ใช้, อินเตอร์เฟชรูปแบบใหม่, การขยายรูปแบบการเข้าถึง, ฟังก์ชั่นเครือข่าย, และการส่งถึงหน้างาน ซึ่งส่งผลไปยังการเข้าถึงสารสนเทศ, บริการ, และผลิตภัณฑ์ทางไกล ซึ่งนักสารสนเทศต้องใช้วิถีทางใหม่ในการสร้างพันธมิตรและผู้มีส่วนร่วม พวกเขาจะต้องรับบทบาทใหม่ของการตรวจการให้บริการและสารสนเทศสู่กลุ่มที่ทำงานหลายๆ แบบ (Agada, 1997) ในปัจจุบันมีความต้องการการบรรจุสารสนเทศและการส่งถึงหน้างานหลากหลายรูปแบบ ศูนย์สารสนเทศจะต้องดำเนินการกับความรู้ภายในที่ไม่เป็นทางการโดยใช้เทคโนโลยีและแนวทางใหม่ ซึ่งความสามารถที่สำคัญในด้านนี้ คือ การมุ่งเน้นที่ลูกค้าและความรู้ด้านสารสนเทศของผู้ใช้ โดยคุณสมบัติของนักสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้บริการมีด้วยกัน 4 ข้อ คือ

a) “เป็นเหมือนครูแนะแนวการอ่านหรือแนะนำวิธีการศึกษาค้นคว้าหาคำตอบแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง

b) เป็นแพทย์หรือพยาบาลที่ช่วยขจัดปัญหาหรือรักษาผู้ใช้ที่ต้องการความรู้ในทุกรูปแบบ

c) เป็นผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งนักสารสนเทศต้องเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากข้อมูลในยุคสารสนเทศมีเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการแนะนำแหล่งใช้บริการข้อมูลที่ทันสมัยแก่ผู้ใช้บริการ

d) เป็นผู้ให้คำแนะนำ โดยนักสารสนเทศต้องเป็นผู้แนะนำการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรสารสนเทศที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะต้องมีการแนะนำวิธีการใช้ การสืบค้นข้อมูล เป็นต้น” (สุนิษา, 2007)

1.3 “ทักษะในด้านการจัดการเรื่องต่างๆ ขององค์กร” (ศศิวิมล, 2005) – ความสามารถในการจัดการ

องค์กรสารสนเทศประสบกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านของแผนกลยุทธ์และการตัดสินใจ, ความสัมพันธ์และการติดต่อภายในองค์กร, มิติทางด้านกายภาพ, มุมมองด้านการเงิน, บุคลากร, คุณค่าและการประเมินกระบวนการและบริการ, และการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งความสามารถเหล่านี้ได้รับความสนใจในแวดวงสารสนเทศปัจจุบัน

1) การวางแผนกลยุทธ์และการตัดสินใจ

2) การตลาดและการประชาสัมพันธ์

3) มิติด้านกายภาพ

4) กลยุทธ์ด้านการเงินและงบประมาณ

5) การเปรียบเทียบกับผู้ที่ทำได้ดีและการประเมินคุณค่า

2. “ทักษะส่วนตัว – บทบาทของนักสารสนเทศที่จะต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมต้องเริ่มจากการฝึกฝนปฏิบัติให้เกิดทักษะและความชำนาญในการปฏิบัติงานในยุคสารสนเทศดิจิทัล นักสารสนเทศควรมีทักษะเพิ่มเติมจากเดิมที่มีความเชี่ยวชาญในการสืบค้นสารสนเทศแล้ว ยังต้องเชี่ยวชาญในการสืบค้นสารสนเทศแบบกว้างและลึก ทราบแหล่งสารสนเทศต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศเป็นอย่างดี มีความคิดอย่างสร้างสรรค์ในการทำงานและในด้านธุรกิจ สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา กระตือรือร้นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (ศศิวิมล, 2005)

นักสารสนเทศภายในองค์กรที่หวังอยากประสบความสำเร็จในบทบาทการจัดการสารสนเทศและการจัดการความรู้ ต้องทำการตลาดเชิงรุกในส่วนที่เป็นเป้าหมาย, พัฒนาความเข้าใจธุรกิจขององค์กร, เป็นผู้มีส่วนร่วมในกลยุทธ์การตัดสินใจ, และแปลงการดำเนินงานตามความเป็นจริงในปัจจุบัน นักสารสนเทศต้องผูกพันกับการวางแผนกลยุทธ์, การแสดงถึงการคืนทุน, การแลกเปลี่ยนสารสนเทศเสมือนจริง, และสารสนเทศที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันจากแหล่งภายในและภายนอกโดยคำนึงถึงทั้งเวลาและเงินที่จำกัด

ที่มา

ศรินดา วงศ์โกศลสุข. (2552). ความสามารถของนักสารสนเทศในยุคใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://happysandy.wordpress.com/2009/08/20/. [2553, พฤศจิกายน 29]

 

หมายเลขบันทึก: 424576เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2011 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท