เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๓๑ มกราคม - ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔


     

๖  กุมภาพันธ์   ๒๕๕๔

เรียน  เพื่อนครู  ผู้บริหารและผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน 

วันจันทร์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔  เช้านี้เรียกประชุมทีมงานเพื่อวางแผนแก้ปัญหาความขัดแย้งในโรงเรียนหนึ่ง มีท่านรองฯ สมมาตร ชิตญาติ ท่านรองฯ กฤษณะ  เลิศวิชานันท์  นิติกร ศึกษานิเทศก์ และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน จะดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อค้นหาความจริง จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาที ก็ได้ข้อยุติและเริ่มปฏิบัติในบางส่วน เป็นการเก็บข้อมูลเชิงลึก ขึ้นห้องทำงานมีงานเอกสารไม่มากนัก สาย ๆ โรงเรียนอนุบาลปทุมธานี พานักเรียนที่ไปแข่งขันดนตรีไทยชนะเลิศระดับประเทศในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ ๖๐ มาถ่ายภาพด้วย ได้มอบเหรียญกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ให้นักเรียนคนละเหรียญเป็นของเก่าที่ได้รับมาจาก สปจ.ชุมพร ลงไปสโมสรให้นักเรียนร้องเพลงกับดนตรีคาราโอเกะ นักร้องนำหญิงร้องได้ไพเราะมาก ทั้งน้ำเสียง จังหวะและทำนอง เที่ยงไปทานข้าวที่ร้านอาหารกันเอง คลองบ้านพร้าว มีท่านรองสมมาตร ชิตญาติ  ศน.ทรงเดช ศน.วราภรณ์ ขุนแท้  หมูและเต้ย  อาหารเป็นเมนูเดิมที่เคยสั่งเคยกิน ปลากระทิงคั่วกลิ้ง ผัดฉ่าปลาบึก ต้มยำปลาคัง ปลาช่อนแดดเดียว ผัดผัก  

บ่ายทำงานเอกสารจน ๑๕ นาฬิกา ท่านรองฯ ยรรยง  เจริญศรีและคณะประกอบด้วยหนูกิ๊ก หนูไก่ หนูอ้วน หนูผอม จาก สพป.เพชรบุรี เขต ๒ มาหาเพื่ออวยพรวันเกิด ปีใหม่ รวมถึงตรุษจีน การไปมาหาสู่ระหว่างผมกับทีมงานเพชรบุรีมีเป็นระยะ ๆ เมื่อมีงานทุกข์งานสุขก็ลงไปร่วมตามโอกาสที่มี ทำนองเดียวกันเวลามีราชการในกรุงเทพฯ เขาก็จะแวะมาหาเป็นปกติวิสัย แม้จะอยู่เพียงปีเดียวแต่มีความรักความจริงใจให้เต็มร้อย ที่สำคัญเป็นหนึ่งปีที่ทุกคนทำงานหนักเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขต   ลงไปเลี้ยงรับรองที่ห้องสโมสรด้วยอาหารคาวหวานแบบจานด่วน คุยไปร้องเพลงกันไปจน ๑๘ นาฬิกาจึงแยกย้ายกันกลับ 

  

วันอังคารที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔  ออกเยี่ยมสนามสอบ O-Net ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เมื่อข้ามสะพานปทุมธานี ๒ แล้วใช้ถนนบางคูวัด-รังสิตเป็นหลัก แวะ โรงเรียนรังสิตวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนเป็นโรงเรียนแรก มีครูจากโรงเรียนวัดชินวนารามมาเป็นกรรมการคุมสอบ สภาพโรงเรียนปรับมากจากอู่ซ่อมรถจึงดูแปลกตากว่าโรงเรียนทั่วไป มีอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าสังเกต ด้านหน้าโรงเรียนจะเป็นที่รวมถังขยะของชุมชน มีโอกาสสอบถามนักเรียนชั้น ป.๖ ถึงความยากง่ายของข้อสอบ เขาบอกว่า พอทำกันได้ เดินทางต่อไปเข้า Local Road  แวะโรงเรียนวัดรังสิตของ ผอ.มานิต  ปรีชาหาญ ครูจากโรงเรียนวัดเปรมประชากร มาคุมสอบ มีอาคารหลักอยู่ ๒ หลัง ถนนผ่ากลางเป็นทางสัญจรของคนในชุมชน รอบ ๆ โรงเรียนเป็นชุมชนแออัดที่กำลังขยายตัวมาบีบมาเบียดพื้นที่ของโรงเรียนและวัด   ออกจากโรงเรียนมาแวะตลาดไทยซื้อส้มจีน ๑ ลังเขาขาย ๔๘๐ บาท ราคาค่อนข้างแพง หากเป็นสายน้ำผึ้ง ๕๔ ลูก ราคา ๑,๖๐๐ บาท  ขากลับมาแวะทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารเป็ดพะโล้คลองน้ำอ้อม ต้องลงทางเบี่ยงเข้าวัดเสด็จแล้ววกลอดสะพานมุดถนนไปอีกฝั่งหนึ่ง เคยกินเป็ดพะโล้ร้านนี้หลายครั้งเพราะมีคนซื้อไปฝาก วันนี้เป็นครั้งแรกที่ตามมาถึงที่เกิดเหตุ ด้วยพรุ่งนี้เป็นวันไหว้ จึงพบผู้คนเข้าคิวซื้อเป็ดพะเป็นแถวยาว ทางด้านนอกร้าน เข้าไปนั่งโต๊ะติดริมน้ำสั่งเป็ดสั่งห่อหมกมาทาน ทั้งราคาและรสชาติต้องยอมรับว่า ผ่าน กลับสำนักงานทำงานแฟ้มเอกสารจนบ่าย นัดคณะครูโรงเรียนแห่งหนึ่งมาพบเพราะถามข้อมูล กว่าจะพร้อมก็เลยเวลา ๑๕ นาฬิกา ใช้ห้องประชุมเล็กติดสโมสรสอบถามรายคน มีกรรมการของเขตเต็มรูปคอยรับฟังและซักถามประเด็นต่าง ๆ โดยสรุปครูทุกคนต่างยืนยันตรงกันว่า การบริหารงานของ ผอ.รร. ทำให้โรงเรียนเจริญขึ้นมาก ครูทำงานหนักขึ้น  แต่สาเหตุความขัดแย้งน่าจะมาจากการจัดงานวันเด็กที่ผ่านมา ทุกปีมีการเลี้ยงอาหารทั้งเด็กแลผู้ปกครอง ปีนี้งดไป เลี้ยงเด็กด้วยอาหารปกติประจำวัน ชั่งน้ำหนักดูแล้วเรื่องนี้น่าจะยุติลงได้หากครูในโรงเรียนสามัคคีกัน ช่วยกันชี้แจงให้ผู้ปกครองเข้าใจ สำหรับเงินบริจาคหากโรงเรียนระบุวัตถุประสงค์ว่าจะนำมาเลี้ยงผู้คนในวันเด็กแต่ไม่ได้เลี้ยง ก็คืนเขาไปเก็บไว้ก็ไม่มีประโยชน์ ใช้ไปก็จะเข้ากรณีใช้ผิดวัตถุประสงค์เป็นการกระทำผิดระเบียบเปล่า ๆ ส่วนคืนแล้วบางรายจะให้กลับมาใหม่ก็จะเป็นเรื่องใหม่วัตถุประสงค์ใหม่   มีอีกเรื่องหนึ่งที่ถามจนกระจ่าง คือ ตู้เย็น ที่ผู้บริหารนำมาบริจาคที่สโมสรของเขต เพราะผู้ร้องเรียนเขียนทำนองว่าเขตไม่เอาจริงเอาจังในการสอบสวนเรื่องนี้เข้าทำนองตู้เย็นอุดปาก ครูและผู้บริหารโรงเรียนยืนยันว่า มีผู้ประกอบการซึ่งรู้จักกับผู้บริหารโรงเรียนนำตู้เย็นที่มีตำหนิมามอบให้ผู้บริหารเป็นการส่วนตัว ท่านก็เลยมอบให้สโมสรเขตประถมศึกษา ๑ หลัง เขตมัธยมศึกษา ๑ หลัง ที่เหลือให้ครูในโรงเรียนจับสลากไปใช้ที่บ้าน  ประชุมกันจน ๖ โมงเย็นแม้ไม่ได้ข้อยุติก็ต้องพักไว้ก่อน หลังตรุษจีนจะหาข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าผู้ปกครองและบุคลากรในโรงเรียนมีความเข้าใจตรงกัน  

 

วันพุธที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔  ตื่นเช้าเพื่อทำพิธีไหว้ในเทศกาลตรุษจีน ความจริงได้เตรียมการมาหลายวัน ซื้อของจำเป็นตุนไว้ เมื่อวานและเมื่อคืนจึงเป็นการซื้อหมูซื้อไก่และผลไม้รอบสุดท้าย การไหว้เจ้าที่ต้องทำเช้ามืด สาย ๆ เป็นการไหว้บรรพบุรุษ แม้จะตัดย่อ ๆ ไปหลายรายการแต่กว่าจะเสร็จก็เลยเที่ยงเหมือนกัน   บ่ายเดินทางเข้าเขตพร้อมเป็ดไก่และขอไหว้ทั้งหลายให้ช่วยกันกิน เป็นกุศโลบายหนึ่งของการไหว้ตรุษจีน หลังพิธีต้องแจกจ่ายของไหว้ให้กินกันทั่วหน้า จะได้บุญแรง เป็นการสอนให้รู้จักแบ่งปัน

วันพฤหัสบดีที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔     เช้าไปโรงเรียนวัดโพธิ์เลื่อน เพื่อประเมินวิทยฐานะ ผอ.ชุณพิมาน ทรัพย์มี ร่วมกับกรรมการอีก ๒ ท่าน คือ ผอ.นิพนธ์ โพธิ์มั่น ผอ.สายใจ อุนนะนันทน์  สภาพโรงเรียนหลังจากน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติ มีสนามเด็กเล่นที่จัดสรรงบประมาณให้คราวคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามาประชุมกันเมื่อปลายปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ห้องน้ำจัดได้สะอาดและสวยงาม การตรวจด้านที่ ๑ และด้านที่ ๒ ดูทั้งเอกสาร สัมภาษณ์เจ้าตัว และครูในโรงเรียน ในที่สุดคณะกรรมการประเมินให้คะแนนเป็นรายบุคคล คะแนนก็ผ่านอย่างเอกฉันท์ เที่ยงแวะไปกินข้าวที่ซุ้มเจ้าพระยา ตรงข้ามโรงเรียนวัดไก่เตี้ย  บ่ายกลับเข้าสำนักงานเขต ประชุมคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๓๘ ค.(๒) ที่ประชุมให้นำเกณฑ์การประเมินที่เคยกำหนดไว้เดิมมาใช้ แต่เพิ่มภาคปฏิบัติตามประเด็นที่กำหนด เย็นลงไปเตรียมสถานที่ในสโมสรเพราะผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน คุณจินตนา ศรีทอง ขอใช้เป็นที่สังสรรค์สมาชิก นปส.๕๓ ในวันนี้ เพราะกรมที่ดินสั่งให้มารักษาราชการแทนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๓ มาบัดนี้ได้สั่งให้กลับไปเป็นผู้ตรวจฯตามเดิม และส่งคุณบุญปรีดา ธรรมานุรักษ์  มารับตำแหน่งแทน ซึ่งก็เป็นสมาชิก นปส.๕๓ เหมือนกัน วันนี้สมาชิกมากันเฉพาะที่พอติดต่อกันได้ในเวลาจำกัดมี คุณมะลิวัลย์ วรรณอาภา ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คุณเยาวนุช วิยาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนิติการ กรมบัญชีกลาง   คุณศิริพร พุทธรังษี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย  คุณดนัย สุนันทารอด ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมโยธาธิการและผังเมือง คุณเริงวิทย์ เวชชศาสตร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  คุณราตรี บุญยงค์ นายอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง คุณคมสัน เจริญอาจ ผู้อำนวยการโรงเรียนนายอำเภอ  คุณวงเทพ เขมวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนปลัดอำเภอ   คุณวิเชียร วงษ์สมาน ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยนิวเคลียร์ สำนักงานปรมณูเพื่อสันติ คุณบุญปรีดา ธรรมานุรักษ์  เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี พบกันก็เหมือนสมัยเรียนถามข่าวคราวเพื่อนร่วมรุ่นที่เจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นรองอธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง หลายคน ผมเองยังมั่นคงในตำแหน่งแต่ดีตรงที่เขาเลื่อนให้ไปรับเงินเดือน ค.ศ. ๕ กำหนดเดิมจะเลิก ๑ ทุ่ม เอาเข้าจริงเลิก ๕ ทุ่ม เพราะบรรยากาศดี มี่ผู้บริหารโรงเรียนมาช่วยดูแลความเรียบร้อย ๔ – ๕ คน 

วันศุกร์ที่ ๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔ ตื่นตี ๔ เพราะต้องไปส่งลูกที่สนามบินสุวรรณภูมิ แวะรับเพื่อนเขาอีก ๒ คนแถววงศ์สว่างและเกษตร-นวมินทร์ ถึงสนามบินประมาณ ๐๗.๓๐ น. เพื่อนอีกหนึ่งมาคอยอยู่ก่อนแล้ว เขามีโปรแกรมไปเที่ยวสิงคโปร์จนถึงวันจันทร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์นี้ เป็นการเที่ยวกันเองแบบไม่พึ่งทัวร์ พ่อแม่เป็นห่วงก็ไม่ฟังความเห็น ก็ต้องปล่อยไปในโลกกว้าง  กลับถึงที่ทำงานนัดกรรมการประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ด้านที่ ๑ และ ๒ ท่านรองฯ ประพฤทธิ์ บุญอำไพ ตรวจเอกสารหลักฐานและสัมภาษณ์ ณ ห้องทำงานของผู้ถูกประเมิน มีท่านรองฯ ครรชิต หิรัณยหาด เป็นกรรมการด้วย ส่วนท่านจำรูญ  พรมสุวรรณ จะประเมินทีหลัง เที่ยงเดินทางไปศาลปกครองเพื่อเรียนเสริมอีก ๓ ชั่วโมง ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นผู้บรรยายเป็นการรวบยอดความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปที่เรียนมาตั้งแต่ต้น อาจารย์คาดหวังว่าหากพวกเราสอบเป็นตุลาการศาลปกครองได้ จะเป็นตุลาการที่ใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงตัวบทกับข้อเท็จจริง และไม่เป็นผู้ใหญ่ที่ตะแบงเอาข้างเข้าถู สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง มีอยู่เรื่องหนึ่งที่อาจารย์เน้นย้ำให้พวกเราเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ มาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่คนทั่วไปมักอ้างมักกล่าวเพื่อให้เจ้าหน้าที่เกรงกลัวระมัดระวังหรือขู่ว่าจะฟ้องเป็นอาญาแผ่นดิน มาตรา ๑๕๗ ควรถูกตีความอย่างจำกัด  ใช้ลงโทษเจ้าพนักงานที่นำเรื่องส่วนตัวเข้ามาพัวพันกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการเท่านั้น เรื่องส่วนตัวที่กฎหมายรังเกียจอย่างยิ่ง คือ เรื่องทุจริต หากเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว แม้การปฏิบัติหน้าที่นั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานจะผิดมาตรา ๑๕๗ ในส่วนนี้ ในกรณีของการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เจ้าพนักงานเอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ เรื่องส่วนตัวนั้นคือ “การกลั่นแกล้ง” ผู้อื่น ดังนั้น  หากเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายและมีเจตนากลั่นแกล้งผู้อื่น  เจ้าพนักงานจะผิดมาตรา ๑๕๗ ในทำนองกลับกัน ในกรณีไม่มีเรื่องกลั่นแกล้ง แม้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานก็ไม่มีทางผิดมาตรา ๑๕๗ การตีความมาตรา ๑๕๗ ในลักษณะดังกล่าวน่าจะทำให้ความเข้าใจมาตรา ๑๕๗ เป็นไปอย่างถูกต้อง จากเดิมที่ว่าเป็น “บทหว่านแห” เอาผิดเจ้าพนักงานโดยไม่มีข้อจำกัดเปลี่ยนไปเป็นว่า มาตรา ๑๕๗ นั้นจะเป็น “เกราะคุ้มกันเจ้าพนักงาน” ในการปฏิบัติหน้าที่เสียมากกว่า  อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ การใช้อำนาจทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของจะกระทำการใด ๆ ได้เฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น หากไม่มีกฎหมายกำหนดให้ทำได้ก็ย่อมไม่มีอำนาจในเรื่องนั้น ๆ อำนาจทางปกครองมี ๒ กรณี กรณีที่หนึ่ง อำนาจผูกพัน หมายความว่าหากได้กำหนดเงื่อนไขในคุณสมบัติในการออกคำสั่งทางปกครองไว้ หากครบเงื่อนไขดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการเสมอ เช่น ผู้ปกครองนำเด็กที่มีอายุเข้าเกณฑ์บังคับมาแจ้งเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมีหน้าที่ต้องรับเข้าเรียน  หรือกรณีชายและหญิงบรรลุนิติภาวะแล้วมายื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส เจ้าพนักงานจะต้องดำเนินการให้เสมอ   กรณีที่สอง อำนาจดุลพินิจ  ในบางกรณีกฎหมายไม่สามารถกำหนดวิธีปฏิบัติได้เฉพาะเจาะจงลงไป จึงเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถเลือกตัดสินใจได้แต่ต้องสมเหตุสมผล ได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์สาธารณะ  พรุ่งนี้ต้องเข้าเรียนกับกลุ่มใหญ่ จำนวน ๑๗๗ คน พิธีเปิดจะทำกันที่ชั้น ๑๑ ศาลปกครอง การเรียนการสอนจะเข้มข้นไปในเรื่องกฎหมายปกครองที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการทางปกครอง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง เก็บคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมาฝากเพื่อเป็นอุทาหรณ์ในการทำงาน

 
                               ความล่าช้าเป็นบ่อเกิดของความอยุติธรรม
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 260/2546 (ประชุมใหญ่)

          ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการพิจารณา  คำขอ หรือการกระทำใด ๆ ของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสำหรับเรื่องนั้น ๆ ไว้เป็นการเฉพาะ หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.119/2548

          ในกรณีที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นการเฉพาะ หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และหากเกิดความเสียหายขึ้นจากเหตุดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

                              กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.40/2550

          กรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องพิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร ไม่เช่นนั้นย่อมถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร 

 

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 424238เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2011 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
สมศรี ศักดิ์รุ่งพงศากุล

ชอบอ่านข้อความที่ท่านเขียน  หลากหลายความเห็น  เก็บข้อมูลได้ละเอียดดี            แง่ต่างๆ   หลายกรณีตัวอย่าง  นำไปปรับใช้ในการบริหารงานในโรงเรียน  สอดแทรก คติ  คุณธรรม  ความสวยงาม ความละเอียดของการเก็บภาพ  ขอขอบคุณท่านมา  ณ ที่นี้ค่ะ

อ่านแล้วได้แง่คิดดีๆนะค่ะ

ท่านอาจารย์กำจัด คงหนู เยี่ยมเสมอ ในทุกๆๆเรื่องเลยครับ ขอชื่นชมครับ

วิเชียร ปรมาณู53

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท