Low Vision Clinic มีนักกิจกรรมบำบัดแล้ว!


ขอบพระคุณ นพ.วรากร เทียมทัด และทีมงาน Low Vision Clinic หอผู้ป่วยจักษุ ชั้น 12 อาคารกาญจนาภิเษก รพ.เลิศสิน ที่ร่วมมือด้านบริการวิชาการกับ ดร.ป๊อป

ดร.ป๊อป ได้เริ่มบทบาทนักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทาง Low Vision Clinic โดยออกตรวจประเมินร่วมกับจักษุแพทย์ เมื่อ 25 ม.ค. 54 และนัดหมายกรณีศึกษาที่น่าสนใจมา 2 ราย ที่คลินิก เมื่อ 1 ก.พ. 54 คุณหมอนัดติดตามผลอีกครั้งเมื่อ 12 พ.ค. 54  

จึงขอบพระคุณ นพ.วรากร เทียมทัด และทีมงาน Low Vision Clinic หอผู้ป่วยจักษุ ชั้น 12 อาคารกาญจนาภิเษก รพ.เลิศสิน ที่ร่วมมือด้านบริการวิชาการกับ ดร.ป๊อป และนักศึกษากิจกรรมบำบัด (นศ.กบ) ที่กำลังฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก

กรณีศึกษารายแรกมีการพัฒนาเด็กที่ช้าเนื่องจากสมองพิการจนแขนขาเกร็งซีกซ้ายมากกว่าซีกขวา มีขาสองข้างเกร็งแบบขากรรไกร จนไม่ชอบใช้ร่ายกายซีกซ้าย ข้อศอกซ้ายงอจนกล้ามเนื้อรอบข้อต่อตึง กลัวเวลาคนแปลกหน้าจับข้อต่อยืดและต้านแรงงอข้อศอกตลอด

บทบาทนักกิจกรรมบำบัดที่ ดร.ป๊อป อ.ติ๊ก นศ.กบ. พิมประไพ และ นศ.กบ. กีรตินุช ช่วยเหลือกรณีศึกษารายนี้ คือ การสร้างสัมพันธภาพแบบ Active friendliness ด้วยกิจกรรมการเล่น ที่ปรับความท้าทายและความสนุกสนาน พร้อมเป็นการบ้านให้ผู้ปกครองสังเกตและลองฝึกน้องไปด้วยกัน ได้แก่ การเล่นโยนห่วงด้วยมือข้างที่ชอบใช้ (ข้างขวา) 7 ครั้ง/รอบ ตามด้วยข้างที่ไม่ชอบใช้ (ข้างซ้าย) 3 ครั้ง/รอบ ในท่านั่งขัดสมาธิเพื่อลดเกร็งของขาสองข้าง ค่อยๆ เล่นไปพักไป รวม 5 รอบ แต่ละรอบมีการปรับทิศทางให้ได้เหยียดศอกและแขนทั้งสองข้างโดยน้องตั้งใจทำเอง ไม่มีการบังคับหรือจับเหยียดใดๆ จากนั้นเปลี่ยนกิจกรรมโดยปิดไฟ เพื่อให้น้องกลอกตาและใช้มือสองข้างจับแสงไฟหลายสี มีการสื่อสารให้รับรู้แสงไฟแต่ละสีที่กำลังหมุนและเคลื่อนไปมาให้ได้เอื้อมจับอย่างเพลิดเพลิน (ประเมินเปรียบเทียบโดยเปิดไฟ พบว่า มีสมาธิและจดจ่อกับกิจกรรมได้น้อยกว่าตอนปิดไฟ แต่ไม่ควรทำเกิน 5 นาที เพราะจะทำให้ล้าได้) และกิจกรรมนั่งกับผู้ปกครอง มีการวางมือผู้ปกครองบนมือน้องที่คว่ำข้างขวาบนโต๊ะ สวมแว่นสายตาที่จักษุแพทย์สั่งตัด (ปกติไม่ชอบใส่) พร้อมกระตุ้นให้ใช้มือและแขนข้างซ้ายอย่างเดียวในการขว้างลูกเทนนิสลงตะกร้า รวม 5 ครั้ง (สังเกตว่าน้องคุ้นเคยและสนุกสนานกับกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนได้เป็นลำดับเหมาะสม) ตามด้วยการจัดท่ายืนเกาะเก้าอี้แล้วใช้มือขวาหยิบห่วง พร้อมลงน้ำหนักไปที่ร่างกายซีกซ้ายจนไม่มีการเขย่งของขาซ้าย รวม 10 ครั้งตามจำนวนห่วง/รอบ พร้อมปรับให้ยากขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นการเกาะเดินลงน้ำหนักจากมุมเก้าอี้ขวาไปซ้ายคล้ายตัว L รวม 1 รอบ ใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ชม. 15 นาที ทั้งนี้แนะนำให้ผู้ปกครองอดทน และฝึกควาใจเย็น ในกรณีที่น้องไม่ยอมทำกิจกรรม ค่อยๆ ทำกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กข้างต้นไม่เกิน 5 นาทีต่อครั้ง แล้วกอดให้คำชมเชย พร้อมหยุดพักเล่นอย่างอิสระ หาเวลาฝึกกิจกรรมบำบัดที่บ้านสลับกับการพักตลอดวันรวม 12 ครั้ง  

จะเห็นว่า กรณีศึกษารายนี้นัดหมายฝึกกายภาพบำบัด 3 เดือนครั้ง ตลอด 2 ปี และฝึกกิจกรรมบำบัด เพียง 1 ครั้ง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่รพ.แห่งหนึ่ง ผู้ปกครองฝึกน้องที่บ้านอย่างไม่ต่อเนื่อง เพราะน้องไม่ยอมให้ความร่วมมือจนอายุ 4 ขวบกว่าแล้ว ทำให้การพัฒนาเด็กในองค์ประกอบของการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตไม่สมบูรณ์นัก ดร.ป๊อป จึงตัดสินใจนัดหมายไปประเมินและออกแบบกิจกรรมบำบัดเยี่ยมบ้านเพื่อจิตสังคมต่อไปในเดือน มี. ค. 54

กรณีศึกษารายที่สองอายุ 1 ขวบ 8 เดือน ยิ้มแย้มเวลาพูดคุย ชวนเล่น แต่หงุดหงิดเมื่อให้ทำกิจกรรมใดๆ มีความสนใจบางกิจกรรมไม่เกิน 1 นาที หันเหความสนใจง่าย ไม่ยอมใช้มือขวาทำกิจกรรมใดๆ ชอบใช้มือซ้ายเพราะถนัดซ้าย และไม่ยอมส่งเสียงสื่อสารใดๆ ซึ่งไม่เคยได้ฝึกกิจกรรมบำบัดเลย มีเพียงกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการแนะนำเบื้องต้นตั้งแต่เล็ก อดีตญาติน้องบังคับฝึกจนน้องไม่ชอบการฝึกทำกิจกรรมใดๆ คุณแม่เลยไม่บังคับและเล่นกับน้องมากขึ้น จนน้องเคลื่อนไหวแบบตั้งใจมากขึ้น แม้ว่าจะใช้เวลาทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตนานมากกว่า 1 ชม. เช่น กิจกรรมทานข้าว

บทบาทของนักกิจกรรมบำบัด คือ สร้างสัมพันธภาพแบบ Passive friendliness ไม่ออกคำสั่งกับน้อง แต่รอให้น้องสนใจและอยากทำกิจกรรมด้วย จึงค่อยๆ กระตุ้นทำกิจกรรมอย่างมีเป้าหมาย ได้แก่ กิจกรรมเล่นลูกบอลแสงไฟในที่มืด พร้อมกระตุ้นให้ใช้มือสองข้างจับโยนให้ ตามด้วยการให้ผู้ปกครองอุ้มหันมือขวาเข้าหาสวิตซ์เปิดไฟทั้งตัวลูกบอลและไฟในห้องฝึก จากนั้นลองประเมินกิจกรรมการจับแก้วดื่มน้ำที่มีมือจับสองข้าง พบว่าทำได้บ้างเมื่อกระตุ้นส่งแก้วทางด้านขวา แนะนำให้ผู้ปกครองใจเย็นและค่อยๆ ให้น้องเล่นกับรายละเอียดของแก้ว เช่น ปิดจุก หมุนครอบแก้ว เทน้ำใส่แก้ว จะใช้สองมือ มือซ้ายตามถนัด มือขวาเล็กน้อย ก็ถือว่าไม่เป็นไร ไม่บังคับมือขวามากจนเกินไป จากนั้นลองให้เล่นกิจกรรมโยนห่วง กิจกรรมหยิบจับดินที่ปั้นกลม กิจกรรมหยิบช้อนทานข้าว แต่ละกิจกรรม น้องทำได้เพียงช่วงสั่นๆ ไม่เกิน 1 นาที ก็พักบ้าง เพื่อไม่ให้น้องรู้สึกโดนฝึกและเกิดความหงุดหงิดในห้องฝึก  

จะเห็นว่า น้องเกิดการเรียนรู้แบบบังคับและแบบอิสระอย่างไม่สมดุล ไม่มีนักกิจกรรมบำบัดออกแบบและฝึกน้องด้วยกระบวนการทางจิตสังคม ทำให้การพัฒนาของเด็กไม่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้องมอง การใช้มือที่สัมพันธ์กับการจ้องมอง และการใช้อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการกินและการสื่อสาร เช่น ริมฝีปากอ่อนแรงซีกขวามากกว่าซีกซ้าย ตาขวากลอกน้อยกว่าตาซ้าย ยิ้มแต่ไม่สามารถแลบลิ้นได้อย่างชัดเจน เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้วควรส่งปรึกษานักแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย และมีการพัฒนาเด็กโดยเยี่ยมบ้านเพื่อจิตสังคมต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 423616เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าสนใจมากๆ เลยค่ะ

เห็นกรณีศึกษาที่อาจารย์ป๊อปทำแล้วน่าสนใจมากครับ เป็นกรณีตัวอย่างที่สามารถนำดนตรีบำบัดไปใช้แล้วคาดว่าน่าจะได้ผลดี อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับตัวเด็กเองด้วยที่จะได้รับการบำบัดที่หลากหลาย ทำให้เกิดการพัฒนาที่เห็นผลเร็วขึ้น ผมเพิ่งทราบว่ากิจกรรมบำบัดก็เป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทยเช่นกันครับ

ขอบคุณมากครับคุณชลัช หากกลับมาทำงานที่เมืองไทย เราคงได้มีโอกาสทำงานร่วมกันระหว่างกิจกรรมบำบัดและดนตรีบำบัดในเด็กสายตาเลือนรางและพัฒนาการช้าครับ

ขอบคุณมากครับคุณนา OT26

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท