วิทยุ + ชุมชน = ?


ทุกวันนี้ยังไม่มีการปันผล ด้วยชาวบ้านมีความเข้าใจว่าสถานีวิทยุชุมชนนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ลูกหลานและชุมชนมากกว่า

 

วิทยุ + ชุมชน = ?

1

“นักจัดรายการ ไม่ใช่ดีเจ”

“ดีเจมาจากคำว่า disc jockey หมายถึง คนขี่แผ่น”

อาจารย์ศักดา เชื้ออินทร์ ประชาสัมพันธ์จังหวะสุรินทร์ กล่าวเมื่อตอนอ.เป็นวิทยากรฝึกทักษะการพูดให้แก่ผู้นำชุมชนตำบลสำโรง ณ เด็กรักป่า

สำหรับสถานีวิทยุชุมชน ต้องเรียกว่านักจัดรายการจึงจะเหมาะ ที่สถานีวิทยุชุมชนเด็กรักป่าฯ มีนักจัดรายการมาดำเนินรายการโดยจิตอาสาในชุมชน ได้แก่ ชาวบ้าน เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ

 

เมื่อต้องเป็นนักจัดรายการ ฉันมีความตื่นเต้นมากๆ ตั้งแต่เริ่มต้นใหม่ๆ แม้จนกระทั่งเวลานี้ก็ตาม

ถือเป็นงานที่ต้องใช้ความมั่นใจเป็นทุนสำคัญ

แรกเริ่มเดิมที ฉันก็เป็นผู้ลอบสังเกตการณ์ก่อน ดูเด็กๆ มาจัดรายการตอนเย็น เวลาหลังเลิกเรียน

จากนั้นมาก็เริ่มทำหน้าที่ช่วยหาข้อมูลให้นักจัดรายการ แนะนำหนังสือให้ หรือบางครั้งเด็กๆจะหาข้อมูลมาเอง แล้วก็เอามาให้เราช่วยดูให้

ครั้งแรกที่เจอกลุ่มเด็กๆ นักจัดรายการ ก็นัดมาคุยเรื่องวิทยุชุมชนกัน มาจัดระเบียบเรื่องชั่วโมงเวลาการจัดรายการของแต่ละคน ใครจัดเวลาไหน และมีเนื้อหาเป็นอย่างไร

ระหว่างนั้นฉันก็จัดการเรื่องเอกสารในการขอจดทะเบียนเป็นวิทยุชุมชนตามประกาศ*

 

2

สถานีวิทยุชุมชนเด็กรักป่าก่อตั้งกันโดยชาวบ้านหมู่บ้านแสลงพันธ์ ในการซื้อหุ้นกันตามศรัทธา คนไม่ได้ซื้อหุ้นก็มาออกแรงยกเสาเทปูน ช่วยกันก่อสร้างสถานีแล้วเอาค่าแรงเป็นค่าหุ้น จนกลายเป็นสถานีวิทยุชุมชนที่มีหุ้นของทุกคนในหมู่บ้าน มีคนลงหุ้นตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่น ก่อตั้งมาแล้ว 2 ปี ทุกวันนี้ยังไม่มีการปันผล ด้วยชาวบ้านมีความเข้าใจว่าสถานีวิทยุชุมชนนั้นช่วยพัฒนาความสามารถของลูกหลาน ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกหลานและชุมชนมากกว่า

 

ช่วงปีแรกชาวบ้านมาจัดรายการกันอย่างคึกครื้นแต่ระยะหลังด้วยภาระหน้าที่การทำงาน และไม่มีอาสาสมัครดูแล ทำให้ชาวบ้านเริ่มมาจัดรายการน้อยลง จึงเป็นช่วงเวลาของการผลัดเปลี่ยนยุคมาสู่ยุคนักจัดรายการรุ่นเยาว์ เด็กๆ ใช้เวลาหลังเลิกเรียนและตั้งแต่เช้าจดเย็นในวันเสาร์อาทิตย์ในการมาทำหน้าที่เป็นนักจัดรายการ เด็กกลุ่มนี้ถือเป็นเด็กที่มีใจรัก ตั้งใจมาเรียนรู้ มาฝึกใช้คอมพิวเตอร์ ฝึกพูด โดยการจัดรายการนี้มีค่าขนมให้เด็กชั่วโมงละ 10 บาท

 

เงินสิบบาทมาจากไหน

ค่าตอบแทนในการจัดรายการมาจากการขายเสื้อผ้ามือสองมือสาม เป็นเสื้อผ้าที่มีคนบริจาคมาให้เด็กรักป่า ราคาที่ขายมีตั้งแต่ตัวละ 1 บาท ไปจนถึงตัวละ 20 บาทแล้วแต่สภาพความสมบูรณ์ของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นไป ช่วงนาทีทองของการขายเสื้อผ้านั้นจะเป็นทุกวันที่ 6 ของทุกเดือน ซึ่งเป็นวันที่ชาวบ้านแสลงพันธ์จะเข้ามาที่เด็กรักป่าตั้งแต่เช้าเพื่อออมเงิน ถอนเงิน กู้เงิน ในกองทุนออมทรัพย์สัจจะของหมู่บ้าน บ้างมาออมเงินกองบุญคุณธรรมฯ หรือบางอาทิตย์ก็มีการประชุมของหมู่บ้านด้วย ในวันนี้คนก็จะคึกคักเป็นพิเศษ

ข้างๆ หอประชุมของเด็กรักป่าจะมีกองเสื้อผ้ากองโตให้เหล่าแม่บ้านและสาวนักช้อปได้จับจ่ายกันแบบมีผลบุญ เพราะเงินที่ได้นั้น เด็กรักป่าก็นำมาจัดกิจกรรมต่อกับเด็กๆ ในชุมชน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชน

 เงินสิบบาทไปไหน

น้องอึ่ง เด็กป.6 ที่มาจัดรายการวิทยุอย่างสม่ำเสมอเล่าให้ฟังว่า “เวลาเบิกไป แม่จะให้เอาไปใส่กระปุกออมสิน เวลาไม่มีเงินใช้ก็เอามาใช้ ตอนนั้น แม่จะเอาไปเป็นเงินค่ารถ แม่บอกไม่ค่อยมีเงิน หนูเลยบอกว่า ค่าใช้จ่ายมันเยอะ ค่ารถไปโรงเรียน หนูจะเป็นคนออกเอง เพราะว่าเดือนหนึ่งก็ได้หลายร้อย ก็เก็บไว้เป็นค่ารถ”

เป็นต้น

 

การจัดรายการเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนอีกวิธีหนึ่งของเด็กที่นี่

เด็กที่เข้ามาจัดรายการมีพัฒนาการในเรื่อง ความกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น

ความมีวินัยในตนเอง ในการรักษาเวลาที่จะมาจัดรายการ มาเตรียมตัวก่อนจัดรายการ

ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ รู้จักใช้เครื่องมือในการจัดรายการ การใช้โปรแกรมต่างๆ เพื่อจัดรายการ

เมื่อไปทำกิจกรรมในโรงเรียน เด็กมีความเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่างๆ และได้นำทักษะการพูด การแสดงออกนี้ไปใช้ในการทำกิจกรรมด้วย

เช่น น้องปอนด์ ม.4 เป็นพิธีกรในงานประกวดมารยาทของโรงเรียน

น้องอึ่ง ป.6 ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปนำเสนอโครงการศิลปะ

น้องเบนซ์ ม.1 เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งขันประกวดการเล่านิทาน

เป็นต้น

3

นอกจากการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และมีพื้นที่ในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์แล้ว

เด็กรักป่าก็ส่งเสริมผู้ใหญ่เช่นกัน  โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้าน

มีโครงการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้นำชุมชนตำบลสำโรงหลากหลายงาน หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องวิทยุชุมชน

เช่น การอบรมทักษะการพูดให้แก่ผู้นำชุมชนตำบลสำโรง อันได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

และสมาชิกอบต. โดยมีอาจารย์ศักดา เชื้ออินทร์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ มาเป็นวิทยากรจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องการฝึกทักษะการพูด ตลอดการอบรมได้ถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุชมชนเด็กรักป่า F.M.96.75 MHz เพื่อให้คนทางบ้านได้มีส่วนร่วมในการติดตามรับฟังและแสดงความคิดเห็นได้

 

รูปแบบการอบรมให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการจัดรายการ 

มีโจทย์ให้ฝึกปฏิบัติ จากนั้นก็ผลัดกันออกมาจัดรายการ ทั้งกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย และแบบเดี่ยว

เมื่อนำเสนอเสร็จก็มีข้อเสนอแนะ คำแนะนำ ข้อติข้อคำชมของแต่ละคน เพื่อให้ได้ไปพัฒนาต่อ เป็นการเรียนรู้เทคนิคการพูดไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติจริง

หลังการอบรมเกิดดอกผลเป็น รายการข่าวบ้านเราเช้านี้ โดยทางสถานีจะโทรไปสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านหรือตัวแทนหมู่บ้านถึงข่าวคราวที่จะประชาสัมพันธ์ของแต่ละหมู่บ้าน โดยหมุนเวียนไปทั้ง 15 หมู่บ้าน

 

นอกจากวิทยุชุมชนกับผู้ใหญ่(บ้าน)แล้ว

ยังมีวิทยุชุมชนกับตำรวจ มีตำรวจมาร่วมจัดรายการด้วย โดยมีข่าวสารจากสถานีตำรวจ เช่น สถิติการก่ออาชญากรรมในรอบเดือน สถิติการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น รวมทั้งมีการให้ความรู้เรื่องกฎหมายต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน เป็นอีกมิติของการให้แต่ละหน่วยงานในชุมชนได้มาใช้สื่อของชุมชนให้เป็นประโยชน์ ใช้สื่อวิทยุเพื่องานชุมชน

 

4

ตามกฎหมายวิทยุชุมชนห้ามมีโฆษณาเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ยกเว้น โฆษณาเพื่อชุมชน เพราะนี้คืออีกหนึ่งวัตถุประสงค์ของการมีสถานีวิทยุชุมชน คือการทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ เป็นสื่อกลางให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกัน

โฆษณาเพื่อชุมชน โดยวิทยุชุมชน เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เจาะจงถึงใจ

โฆษณาหลักของสถานีวิทยุชุมชนเด็กรักป่า คือสปอตที่มีมีเสียงพูดของเด็กเป็นกลอนเกี่ยวกับความรักธรรมชาติ หลากหลายบทกวีที่เด็กได้แต่งขึ้นมาเอง

อาทิ

  • “รักธรรมชาติ ปราศจากทุกข์ภัย ชีวีสดใส เพราะอยู่ใกล้ธรรมชาติ ท่านกำลังรับฟังสถานีวิทยุชุมชนเด็กรักป่า บ้านแสลงพันธ์ F.M.96.75 MHz สนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง อ.เมือง จ.สุรินทร์”
  • “ธรรมชาติมีประโยชน์ ให้คุณค่าทางชีวิต ถ้าวันนี้หรือวันหน้า ธรรมชาติไม่มีแล้ว ทุกคนคงต้องตายมลายสูญ ท่านกำลังรับฟัง…”
  • “ต้นไม้มีความสุข ไม่ทุกข์เมื่อคนรัก ท่านกำลังรับฟัง…”

 

นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์งานกองบุญคุณธรรมของตำบลสำโรง มีเสียงเยาวชนและเสียงกำนันตำบลสำโรง มาถ่ายทอดเรื่องราวของกองบุญคุณธรรมฯ

อาทิ

  • “สวัสดิการชุมชนทำได้ง่าย โดยการลดรายจ่ายวันละหนึ่งบาท เดือนหนึ่งเราก็ออมเงินได้สามสิบถึงสามสิบเอ็ดบาท นำมาหยอดกระปุกเพื่อเตรียมสวัสดิการ เพื่อตนเองในอนาคต ท่านกำลังรับฟัง…”

 

วันหนึ่ง คุณครูจากศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนบ้านสำโรงก็เดินเอาข่าวมาฝากประชาสัมพันธ์ เป็นข่าวรับสมัครนักเรียนใหม่ชั้นอนุบาล

ขอบคุณสำนักข่าวทีนิวส์ที่ให้ความรู้ในการจัดทำสปอต ตอนนี้ฉันสามารถทำสปอตรายการวิทยุเพื่อใช้งานได้ในระดับหนึ่ง เป็นระดับเบื้องต้น

ในวันนั้นได้ขอให้คุณครูบันทึกเสียงพูดไว้ ฉันเอามาตัดต่อใส่ดนตรี ก็กลายเป็นสปอตโฆษณาชิ้นหนึ่ง

ให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจที่มีบุตรหลานถึงวัยจะเข้าศูนย์เด็กเล็กได้เพื่อการสมัครเรียนของลูกหลานในชุมชน

และล่าสุด มากกว่าการสมัครเรียน

เมื่อ ควายหาย!

ชาวบ้านโทรมาบอกให้สถานีช่วยประกาศหาควายให้

ฉันและเด็กๆ จึงรีบจัดทำสปอต เป็น สองเวอร์ชัน มีภาษาเขมรหนึ่ง ภาษาไทยหนึ่ง

บอกลักษณะของควายที่หายไป และการติดต่อกลับไปยังเจ้าของควาย

 

ตรงนี้แหละคือเสน่ห์ของวิทยุชุมชน นั่นคือ มีเรื่องภาษาถิ่น  มีความเป็นกันเอง มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในชุมชน เป็นเนื้อหาที่หาได้ยากในสื่อกระแสหลัก  สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนภาพที่ฉายให้เห็นลักษณะของชาวบ้าน ลักษณะของวิถีชีวิตชุมชนชนบท เพียงแต่ว่าภาพถ่ายในครั้งนี้บอกเล่าชีวิตผ่านน้ำเสียงและท่วงทำนอง…

.........

บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน "๑ ปี เรียนรู้ ครูอาสา ณ เด็กรักป่า, สุรินทร์" 

(โดย ธนัชพร  ศิริจีระชัย / 7 พ.ค. 53)  

 

หมายเลขบันทึก: 423597เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

วิทยุชุมชน "เด็กรักป่า"  มีเสน่ห์จังเลยค่ะ

เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่สุดยอดจริง ๆ

เด็กได้เรียนรู้คู่ปฏิบัติ คงมีความสุขนะคะ

การเขียนบันทึกนี้ งดงามมากในเรื่องของการเรียบเรียงเรื่องราว ชวนอ่าน ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะที่แบ่งปันเรื่องราวดี ๆ เช่นนี้

สวัสดิการชุมชนทำได้ง่าย โดยการลดรายจ่ายวันละหนึ่งบาท เดือนหนึ่งเราก็ออมเงินได้สามสิบถึงสามสิบเอ็ดบาท นำมาหยอดกระปุกเพื่อเตรียมสวัสดิการ เพื่อตนเองในอนาคต ท่านกำลังรับฟัง…

เป็นบันทึกที่ชอบมาก อยากให้วิทยุชุมชนทุกแห่ง หันมาฝึก"นักจัดรายการ"แทนการเป็นนักเปิดเพลง  ซึ่งมีความแตกต่างกัน  เหมือนความแตกต่างระหว่าง พรานกับนักหาของป่า ในวรรณกรรมเรื่อง"พราน"ของ คมทวน คันธนู

เรียน คุณธนัชพร ผมน้องใหม่เพิ่งนำเสนอแนวคิด ฝากแนะนำด้วย และหากเป็นผู้สนันสนุนเป็นพระคุณยิ่ง

ขอบคุณคุณทุกความคิดเห็นค่ะ

คุณอิงจันทร์คะ เด็กๆเขาสนุก ตื่นเต้นกับการได้จัดรายการ ดีใจที่มีคนฟัง ภูมิใจในตัวเอง ให้อะไรหลายอย่างมากเลยค่ะ ทำให้วิทยุชุมชนมีสีสัน

คุณนเรศเปรียบเทียบได้คมคายค่ะ

คุณประทีป หนูก็เป็นมือใหม่ค่ะ มิบังอาจเป็นรุ่นพี่ ๕๕ ยังไงก็แลกเปลี่ยนเรื่องราวกันได้ค่ะ

 

 

ความทุกข์มีไว้ให้เห็น มิใช่มีไว้ให้เป็น ความอยากเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท