เพชรยอดมงกุฎ


ขอคิดต่อยอดกับกิจกรรมดีๆในโครงการเพชรยอดมงกุฎ

ดร. สมบูรณ์ แซ่เจ็ง

[email protected]

31 มกราคม 2554

เมื่อปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามลูกสาว ซึ่งไปสอบแข่งขันวิชาเศรษฐศาสตร์ ระดับช่วงชั้นที่ 1 ในโครงการเพชรยอดมงกุฎ อันเป็นโครงการของมูลนิธิร่มฉัตร โดยมีท่านพระเทพภาวนาวิกรม(ดร.เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานมูลนิธิ และท่านอาจารย์ ดร.อุบล เล่นวารี เป็นประธานกรรมการอำนวยการโครงการเพชรยอดมงกุฎ ซึ่งมีโรงเรียนจากทั่วประเทศสมัครเข้าสอบแข่งขันเป็นจำนวนมาก รวมทุกช่วงชั้นก็นับเป็นพันคนเฉพาะสาขาเดียว แต่โครงการนี้มีการสอบถึง 9 สาขาวิชา โดยแยกสอบตามโรงเรียนต่างๆใน กทม. ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว จนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันในวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่น่าสนใจก็คือ โครงการนี้มีฝ่ายสงฆ์เป็นผู้อุปถัมภ์ โดยมีฝ่ายรัฐ(สพฐ.)เป็นผู้ดำเนินการ และสามารถจัดต่อเนื่องกันมาหลายปีจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ผู้ที่สอบเข้ารอบก็จะได้รับทุนการศึกษาเป็นกำลังใจ และยังมีวุฒิบัตรแจกให้ผู้ที่ได้ชมเชยอีกด้วย ผู้เขียนสังเกตดู ก็เห็นว่าโรงเรียนต่างๆค่อนข้างให้ความสนใจและกระตือรือร้นในการส่งนักเรียนเข้าแข่งขันกันอย่างมาก ซึ่งน่าจะส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางวิชาการได้ไม่น้อยเลย จึงถือเป็นโครงการที่ดีและน่าสนับสนุนให้ยั่งยืนต่อไป ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็ใคร่ขออนุญาตคิดต่อยอดกับโครงการเพชรยอดมงกุฎนี้ ซึ่งมี 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก เท่าที่สังเกตจะเห็นว่าวิชาที่สอบ ซึ่งประกอบด้วยวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ และเศรษฐศาสตร์ นั้น ทั้งหมดเป็นกลุ่มวิชาการที่เน้นความสามารถทางสติปัญญา ที่ฝรั่งเรียกว่า Cognitive นั่นเอง ซึ่งผู้แข่งขันจะต้องอ่าน ท่อง และทำความเข้าใจเป็นหลัก แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนต่างก็ทราบดีว่า สังคมจะพัฒนาไปได้นั้น คงอาศัยความรู้ในสมองอย่างเดียวไม่ได้ เราจำเป็นต้องอาศัยทักษะปฏิบัติ และความสามารถในการแสดงออกต่างๆ มาร่วมเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย อย่างที่ Bloom เคยบอกไว้ว่า การเรียนรู้ต้องทำให้ครบ 3 ด้าน ทั้งด้านสติปัญญา ด้านจิต และด้านทักษะปฏิบัติ การศึกษาจึงจะสมบูรณ์ ดังนั้นผู้เขียนใคร่ขอเสนอเพิ่มเติมว่า หากสามารถทำได้ ก็อยากเห็นการแข่งขันเพชรยอดมงกุฎในสาขาทักษะปฏิบัติ อาทิ การปฏิบัติในงานอาชีพต่างๆ สาขาการพูด การแสดง สาขาทักษะกีฬา ทักษะดนตรีและขับร้อง และอีกหลากหลายเท่าที่จะคิดได้ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นโรงเรียนและครู ให้สนใจการพัฒนามนุษย์ให้รอบด้าน ไม่เน้นแต่วิชาการ จนขาดทักษะชีวิตด้านอื่นๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายอันแท้จริงของการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะเวลานี้โรงเรียนไม่น้อยที่เน้นแต่วิชาการ ให้นักเรียนคอยแต่ท่องจำเนื้อหา แต่ขาดการส่งเสริมกิจกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและการดำรงชีวิตอย่างสมดุล เราคงไม่อยากเห็นลูกหลานของเรา กลายเป็นประเภท "ความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด" นะครับ ผู้เขียนเห็นว่าโครงการเพชรยอดมงกุฎ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับจากโรงเรียนทั่วประเทศ สามารถใช้การยอมรับนี้ขยายแนวความคิดที่ได้เสนอมาให้โรงเรียนทั้งหลายตระหนักได้

ส่วนประเด็นที่สอง ก็คือในโอกาสที่มีนักเรียนจากทั่วประเทศเข้ามาสอบแข่งขันกัน ผลของการทำข้อสอบก็เป็นสิ่งที่น่านำมาศึกษา ถ้าเรื่องนี้ทางผู้จัดได้ดำเนินการแล้วก็ดีไป แต่ถ้ายังไม่ได้ทำ ผู้เขียนใคร่ขอเสนอว่า คณะกรรมการออกข้อสอบแต่ละสาขา น่าจะนำเอาคำตอบของนักเรียนทั้งหมดมาวิเคราะห์ ดูว่าเนื้อหาอะไร ตรงไหน เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของเด็ก ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นภาพรวมทั้งประเทศได้ว่า เด็กไทยของเราเก่งหรืออ่อนในเรื่องอะไรบ้าง เพื่อสะท้อนผลให้โรงเรียนทั่วประเทศได้ทราบ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ดีในการปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไป

ผู้เขียนอยากเห็นโครงการดีๆอย่างโครงการเพชรยอดมงกุฎนี้ ดำเนินต่อเนื่องไปอย่างไม่ขาดตอน และมีพัฒนาการจนกลายเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการวัดความรู้ความสามารถของนักเรียนไทยอย่างเป็นที่ยอมรับยิ่งๆขึ้นไป...

 

หมายเลขบันทึก: 423249เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2011 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

*** หลักสูตรกำหนดให้ผู้เรียนเรียนครบทุกทักษะ แต่การสอบไม่เน้นจึงสร้างความรุ่งเรืองให้กับสถาบันและธุรกิจศึกษามากมาย...น่าคิดนะคะ

 

แน่นอนครับว่า หลักสูตรย่อมต้องกำหนดให้เรียนครบทุกด้าน แต่ปัญหาอยู่ที่ความเข้าใจและความคาดหวังของสังคม ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติของโรงเรียน เพราะสังคมเข้าใจว่า เด็กเก่ง คือเด็กที่สอบวิชาคณิตฯ วิทย์ ภาษา ได้คะแนนดี และเข้ามหาวิทยาลัยได้คณะยอดฮิต ดังนั้นบรรดาข้อสอบทั้งหลายที่หลั่งไหลมาจากหลายสถาบัน ไม่ว่าจะเป็น สสวท. โอลิมปิกนานาชาติ เพชรยอดมงกุฎ ฯลฯ จึงเน้นไปในทางนี้ และบ่อยครั้งที่ค่อนข้างจะเกินระดับความเข้าใจของเด็ก ไม่เชื่อไปดูข้อสอบ สสวท. ที่ใช้สอบเด็กประถม 3 สิครับ.. ผู้ใหญ่หลายคนยังทำไม่ได้เลย โรงเรียนจึงต้องลอยตามน้ำไปตามความคาดหวังของสังคม และวิธีลอยตามน้ำได้ลัดที่สุด ก็คือ การจับเด็กมาติวเข้มและท่องจำ มากกว่าจะสอนให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเข้าใจและรอบด้าน สังเกตได้จากโรงเรียนประถมส่วนใหญ่ยังสอนวิทย์ คณิต ด้วยกระดานดำ ไม่มีห้องทดลอง ไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำเลย ทั้งๆที่เด็กวัยนี้ควรเรียนรู้จากสภาพจริงมากที่สุด ไม่ใช่รอจนถึงมัธยมหรืออุดมศึกษา จึงจะได้ส่องกล้องจุลทรรศน์กับเข้าบ้าง

ถึงเวลาแล้วครับ ที่สังคมจะต้องเข้าใจเสียใหม่ว่า ความสำเร็จของชีวิตนั้น ไม่ได้อยู่ที่สอบวิชาการได้ที่ 1 หรือเข้ามหาวิทยาลัยดังๆได้ แต่อยู่ที่ผู้นั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขในปริบทที่หลากหลายได้หรือไม่มากกว่า..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท