การรักษาอธิปไตยของสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔


ความเป็นไปได้ของการรักษาอธิปไตยของสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วยความรู้ทางโหราศาสตร์ชั้นสูง

การรักษาอธิปไตยของสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ 

ตามประวัติศาสตร์ที่เราเรียนและศึกษากันมา ในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ คือช่วงที่อังกฤษและฝรั่งเศส กำลังแข่งกันล่าอาณานิคมในแถบเอเชียอย่างเอาเป็นเอาตาย  ดังที่อินเดีย พม่าและมาลายูต้องเสียเมืองให้แก่อังกฤษ และเวียดนามเสียเมืองให้แก่ฝรั่งเศส เหลือแต่สยามเท่านั้นที่ยังรอดเงื้อมมืออยู่ ด้วยตาที่จ้องเป็นมันจากทั้งสองฝั่ง

ด้วยความแข็งแกร่งของมหาอำนาจฝรั่งตาน้ำข้าวที่เข้ามาพร้อมเรือปืนไฟและยึดเมืองต่างๆ ที่รายล้อมสยามที่ครั้งหนึ่งคือศัตรูตัวฉกาจเช่นพม่าได้อย่างง่ายดาย หรือแม้แต่จีน มหาอำนาจที่สยามต้องจิ้มก้องมาตลอดในประวัติศาสตร์ ยังต้องยอมแพ้ทำสัญญาสงบศึกกับอังกฤษและฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงหนักพระทัยเป็นอย่างมากว่าสยามก็คงไม่รอดเช่นเดียวกัน การจะต่อสู้ด้วยกำลังเช่นพม่าและเวียดนามก็คงไม่สามารถรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้ วิธีการโอนอ่อนผ่อนตามเท่านั้นอาจจะพอรักษาตัวให้รอดได้บ้าง

นอกเหนือจากการใช้การเจรจาเป็นหลัก รัชกาลที่ ๔ ยังทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับทั้งสองชาติมหาอำนาจ แม้ในที่สุดต้องยอมทำสัญญาที่เสียเปรียบเรื่องการค้าเสรีและสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับอังกฤษที่เรียกว่า สนธิสัญญาบาวริ่ง ซึ่งดูตามสถานการณ์แล้วสยามทำได้เพียงแค่ประวิงเวลาไว้เท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์ก็มาปะทุดุเดือดในสมัยรัชกาลที่ ๕ สยามต้องเสียดินแดนและเงินทองไปอย่างมากมายเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติไว้ให้ได้

ยังมีหนทางอื่นอีกไหมที่จะช่วยประคับประคองสยามให้รอดพ้นจากภัยอันใหญ่หลวงนี้ นอกเหนือจากการต่อสู้ด้วยกำลังทหาร การเจรจาด้วยพิธีการทูต หรือแม้แต่การสวดมนต์ภาวนา เป็นไปได้หรือไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงใช้วิชาโหราศาสตร์ที่เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่รู้กันดีตั้งแต่ครั้งทรงผนวชแล้ว มาช่วยแก้ไขอีกทางหนึ่ง

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เรารู้กันว่าท่านได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างมาก สามเรื่อง คือ

๑)     ด้านศาสนา ทรงก่อตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้น เป็นอีกหนึ่งนิกายในศาสนาพุทธที่ปฏิบัติในแนวทางที่เคร่งครัดยิ่ง แยกออกมาเป็นเอกเทศจากนิกายเดิม ท่านทรงก่อตั้งนิกายนี้ตั้งแต่ยังผนวชอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓

๒)    ด้านพระมหากษัตริย์  ท่านทรงยกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สองบริหารบ้านเมืองร่วมกับพระองค์

๓)    ด้านประเทศชาติ เมื่อครองราชย์ได้เพียงปีกว่าก็ทรงซ่อมแซมเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ ใหม่ ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นวันเวลาไหน ระหว่างวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๕ กับวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๖

ในทางโหราศาสตร์อาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่าการสร้างดวงฤกษ์ที่สำคัญมากๆ เช่นดวงเมือง แล้วสามารถอัญเชิญทวยเทพเทวดาให้ลงมาร่วมปกปักรักษาเสมือนหนึ่งว่าดวงเมืองนี้มีชีวิตและมีอายุอยู่ได้อย่างยาวนาน ต้องกระทำโดยผู้มีความรู้อย่างแท้จริง ต้องกระทำอย่างพิถีพิถันและครบถ้วนรอบด้าน นี่จึงถือเป็นเหตุผลสำคัญได้ไหมว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรู้เรื่องภัยจากการล่าอาณานิคมตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงทรงประกอบพิธีการทางโหราศาสตร์โดยเริ่มจากด้านศาสนาความศรัทธาความเชื่อ ด้วยการก่อตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งนิกาย ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ยกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นกษัตริย์เคียงคู่กับพระองค์ด้วยในคราวเดียวกัน หลังจากนั้นก็ทรงมีพระราชดำริให้ซ่อมแซมเสาหลักเมืองเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมเสียใหม่ และทำการผูกดวงฤกษ์ใหม่ให้คู่กับดวงฤกษ์เดิมเมื่อครั้งสร้างกรุงเทพฯ

คำถามคือทำไมท่านจึงทรงสร้างดวงเมืองดวงใหม่ขึ้นมาคู่กับของเดิม ใช่หรือไม่ว่าการสร้างของใหม่ก็เพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นคู่ เช่นพ่อกับลูก ช่วยปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งของดวงเมืองที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ให้มากขึ้น นอกจากนั้นอาจต้องการให้เกิดบรรยากาศของการเป็นทวิภาวะซึ่งหมายถึง การปรับตัวเก่ง ไม่แข็งกร้าวโดดเดี่ยว ศัตรูทายทิศทางยาก มีไหวพริบปฏิภาณมากขึ้น ซึ่งนี่ก็อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ช่วยให้สยามรอดพ้นจากวิกฤติการเสียบ้านเสียเมืองหรือการล้มละลายมาได้แทบทุกครั้ง  และหมายถึงต่อไปในอนาคตด้วย

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 422017เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2011 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2014 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท