ลดต้นทุนในงานรถเกี่ยวข้าว


ผมจะขอกล่าวเรื่องการลดต้นทุนเพื่อสร้างผลกำไรในงานรถเกี่ยวข้าวพอเป็นสังเขปอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมเองก็คิดว่าท่านเจ้าของรถเกี่ยวข้าวคงสนใจไม่น้อยในเรื่องของผลกำไรจากการเกี่ยวข้าว

รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ ได้มีโอกาสมาให้คำแนะนำเกร็ดความรู้บางอย่างให้กับท่านสมาชิกชมรมคนรักรถเกี่ยวข้าว ในวันนี้

ท่านคือผู้ที่ซื้อรถเกี่ยวข้าวไว้รับจ้างเกี่ยวข้าวให้กับผู้ที่ทำนาใช่หรือเปล่าครับ ?

ท่านเตรียมพร้อมกับการแข่งขันแล้วหรือยัง?

ไม่ใช่แข่งขันกับคนที่นั่งอยู่ในโต๊ะเดียวกัน หรือไม่ใช่แข่งขันกับคนที่นั่งโต๊ะข้างๆ ไม่ว่าซ้ายหรือขวา และไม่ได้แข่งขันกับคนที่นั่งโต๊ะข้างหน้าและข้างหลังของท่านในขณะนี้

หากแต่ท่านจะต้องแข่งขันกับรถเกี่ยวข้าวขนาดเล็กที่บริษัทข้ามชาตินำเข้ามาขายโดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ภายไต้นโยบายของเขาที่จะต้องทำให้ ผู้ปลูกข้าวหรือชาวนามีรถเกี่ยวข้าวเป็นของตัวเองคนละ 1 คันโดยเริ่มจากรถไถนาเอนกประสงค์ 1 คัน ต่อไปก็จะส่งเสริมการขายเพื่อให้ชาวนาซื้อรถเกี่ยวครอบครัวละ 1 คัน และต่อไปจะเป็นรถปักดำอีกครอบครัวละ 1 คัน ภายในระยะเวลาอันสั้นนี้ ผมไม่ได้บอกให้ท่านเชื่อ แต่ผมกำลังถามท่านว่าถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านจะทำอย่างไรกับรถเกี่ยวข้าวสายพันธ์ไทยที่อยู่ในครอบครองของท่าน? ท่านเตรียมตัวหรือยัง ?

เนื่องจากวันนี้มีเวลาอันน้อยนิดก่อนที่ท่านจะพบกับการแสดงต่างๆ ที่ทางชมรมได้จัดความบันเทิงบนเวทีและความสำราญบนโต๊ะอาหารให้กับท่านทั้งหลายนั้น

ผมจะขอกล่าวเรื่องการลดต้นทุนเพื่อสร้างผลกำไรในงานรถเกี่ยวข้าวพอเป็นสังเขปอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมเองก็คิดว่าท่านเจ้าของรถเกี่ยวข้าวคงสนใจไม่น้อยในเรื่องของผลกำไรจากการเกี่ยวข้าว

ในโลกยุคนี้การสร้างผลกำไรนั้น ไม่ใช่การเพิ่มราคาค่าบริการให้สูงขึ้น เพื่อให้ได้เงินมากๆ หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเป็นกำไรเยอะๆ แต่เขาใช้วิธีคงราคาค่าบริการแต่ลดต้นทุนลงเพื่อให้เสียค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดทำให้เหลือเป็นกำไรเยอะๆ

แนวทางในการดำเนินการมีอยู่ 4 ข้อที่จะแนะนำ

ข้อแรก การบำรุงรักษารถเกี่ยวข้าวเพื่อความคงทนและลดความเสียหาย (TPM)

          ก่อนที่จะเริ่มทำงานในแต่ละวันเราควรที่จะต้องบำรุงรักษารถเกี่ยวของเราให้มีความพร้อมในการทำงาน เหมือนในโรงงานอุตสาหกรรมก่อนที่พนักงานจะเริ่มทำงานตอนเช้าต้องมีการออกกำลังกายก่อนเพื่อเป็นการวอร์ม ร่างกายแล้วก็ตรวจเช็คเครื่องจักรที่จะต้องเข้าไปทำงานด้วยเพื่อความปลอดภัยทั้งคนและเครื่อง รถเกี่ยวก็เช่นกันครับ ก่อนออกเกี่ยวควรตรวจเช็คและหยอดน้ำมัน อัดจารบี ตรวจเช็คความตึงของสายพาน ข้อต่อไฮดรอลิค จุดเชื่อมต่อต่างๆ ว่ายังสามารถใช้ได้ดีอยู่หรือเปล่า น้ำมันหล่อลื่นพร่องไหม น้ำหล่อเย็นเป็นอย่างไร เหมือนเป็นการพูดคุยกับรถเกี่ยวว่าให้เตรียมตัวให้พร้อมนะ เดี๋ยวเราจะลงมือทำงานกันอย่างเต็มที่กันแล้ว และเมื่อเราพบจุดบกพร่องเราก็จะได้เตรียมอาหลั่ยมาเพื่อการเปลี่ยนให้มันมีสภาพที่พร้อมใช้อย่างสมบูรณ์เสมอ ไม่ปล่อยไว้จนมันทำงานไม่ได้เพราะมันจะทำให้ชิ้นส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกัน เสียหายไปด้วย ทำให้เข้าตำรา เสียน้อย เสียยาก เสียมากเสียง่าย เพราะถ้าเราดำเนินการตั้งแต่แรกพบเราอาจเสียเวลาสัก 1 ถึง ครึ่งชั่วโมงในการเปลี่ยนหรือซ่อมแซม แต่ถ้าเราปล่อยมันจนทำงานไม่ได้อาจต้องใช้เวลาในการซ่อมถึง 2-3 วันเลยทีเดียว แล้วงานละครับหยุดไป 3 วันเสียโอกาสไปกี่ไร่แล้วครับ ประมาณ 130 ไร่ คิดเป็นรายได้กี่บาทครับ ไร่ละ 450 บาทเป็นเงิน 58,500 บาท(ห้าหมื่นแปดพันห้าร้อยบาท) ยังไม่รวมค่าอะไหล่ค่าแรงที่ต้องซ่อมแซมชิ้นส่วนที่ไม่น่าจะเสียอีกด้วย นี่คือค่าเสียโอกาส ตัวที่ทำให้กำไร ลดลง ยังไม่รวมค่าเครียดที่เจ้าของนาด่าอีก เพราะเขาจะเกี่ยวแข่งกับนาข้างๆ!!

ข้อสองการพัฒนารถเกี่ยวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ (Kaizen) กล่าวกันว่าไม่เครื่องจักรใดๆ ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ 100% เมื่อทำงานไปแล้วเกิดปัญหาขึ้นที่ไม่ใช่ปัญหาทางด้านเทคนิคหรือสมรรถนะของรถเกี่ยว หากแต่เป็นปัญหาที่ผู้ใช้ไม่พอใจ เช่น ขอดึงรวงมันน่าจะยาวอีกซักนิ้วเพื่อจะได้ดึงข้าวได้ดี ไม่มีข้าวร่วง หรือที่ตีนเป็ดลองเอายางสายพานมาติดเพื่อจะได้ลุยหล่มได้ดีขึ้น และไม่กระแทกมากเวลาวิ่งบนท้องนาแห้งๆ หรือเอาแผ่น อะคีลิค ใส มาติดด้านข้างเพื่อให้เห็นสายพานหมุนได้อย่างชัดเจนเวลามีอะไรเข้าไปขัดจะได้เห็นและแก้ไขได้ทัน เป็นต้น หรือการปรับปรุงพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดการทำงานที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น ประหยัดขึ้นคงทนขึ้นนั่นเอง เป็นส่วนหนึ่งที่เมื่อทำแล้วสามารถลดต้นทุนในการดูแล บำรุงรักษา หรือ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขึ้นได้

ข้อที่สาม การวางแผนการดำเนินการเพื่อการลดเวลาในการดำเนินการ (Planning) มีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง การวางแผนที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่ข้าวยังไม่แก่หรือตั้งหว่านเลยทีเดียวโดยการทำงานเชิงรุก แทนที่จะรอให้เจ้าของนามาหารถเกี่ยว แต่เราไปติดต่อตกลงกันไว้ก่อนเลยเพื่อเป็นการกำหนดว่าเราจะเริ่มต้นทางไหนไปทางไหน ว่ากันไปเป็นทุ่งๆ กันเลยเชียวไม่ใช่เกี่ยวตรงนี้แล้วย้ายไป 10 กิโลแล้วก็กลับมาเกี่ยวแถวนี้อีก แล้วย้ายไป 20 กิโล แล้วกลับมาแถวนี้อีก เพราะอย่างน้อยที่เห็นก็คือรถเกี่ยวมันต้องขึ้นรถบรรทุก มันไปเองไม่สะดวก รถบรรทุกต้องมีคนขับ และใช้น้ำมัน การย้ายที่เกี่ยวไปไกลกันบ่อยๆ ทำให้สิ้นเปลืองค่าขนย้ายอย่างมากและการขึ้นลงรถบรรทุกบ่อยๆ ก็เสี่ยงที่จะเกิดการชำรุดของชิ้นส่วนรถเกี่ยวด้วยเหมือนกัน เช่น เฉี่ยวสายไฟฟ้า เฉี่ยวเสา เฉี่ยวต้นไม้ เฉี่ยวรถที่สวนมา หรือเฉี่ยวรถที่จอดอยู่ ก็เป็นได้ทั้งนั้น

ข้อที่สี่ ข้อสุดท้ายการสร้างสัมพันธภาพที่ดี (Relation) ทั้งในส่วนของเจ้าของนาที่เป็นลูกค้า (Customers) และ เพื่อนร่วมธุรกิจเดียวกัน (Group) ไม่คิดว่าเขาคือคู่แข่ง (Competitors) แต่ให้มองว่าเขาคือหุ้นส่วนหรือกลุ่มเดียวกัน (Clusters) ทั้งในจังหวัดเดียวกันและคนละภูมิภาค เช่น กลุ่มพิจิตร กลุ่มร้อยเอ็ด เป็นต้น การช่วยเหลือกันแบบจริงใจ การป้อนงานให้กัน จะทำให้เกิดเครือข่าย (Net work) ที่ดีต่อกัน และแข็งแรง มั่นคง สามารถต่อรองได้ โดยต้องมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน ไม่เอาเปรียบกัน ทำให้ประสบความสำเร็จและพึงพอใจทั้งสองทาง (Win Win)

ทั้งสี่หัวข้อนี้เป็นแนวทางเบื้องต้นที่จะแนะนำเพื่อการสร้างผลกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ แต่แค่รู้แล้วเมา กลับไปนอน ตื่นขึ้นมาก็ยังปฏิบัติตนเหมือนเดิมไม่ได้ดำเนินการอะไรที่แตกต่างจากเดิม ก็คงไม่ได้เกิดประโยชน์ใดใด ทั้งสิ้น

อย่าลืมว่าเราไม่ได้แข่งกับนายทุนข้ามชาติอย่างเดียว แต่เราต้องแข่งกับตัวเราเองด้วย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและความมั่นคงของธุรกิจรถเกี่ยวข้าวรับจ้าง ที่ยั่งยืนตลอดไป

สุดท้ายขออวยพรให้ทุกท่านโชคดี มีกำไรเยอะๆ และมีเครือข่ายที่แข็งแรง เป็นความหวังของคนทำนาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อความมั่นคงในครอบครัวเกษตรกรรม ที่ยั่งยืนตลอดไป

ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 421311เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2011 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท