เตือน..สารเสี่ยงก่อมะเร็งในซอสปรุงรส (ที่เราเหยาะเติมกันทุกวัน)


ประเด็นคือ....สารก่อมะเร็งในซอสปรุงรส มาจากไหน รู้ที่มาแล้วหลีกเลี่ยงได้ไหม ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร

เตือน..สาเสี่ยงก่อมะเร็งในซอสปรุงรส 1

โดย meepole

จากข่าวที่อย.ได้ออกประกาศลดสารเสี่ยงก่อมะเร็งในซอสปรุงรส โดยปรับเปลี่ยนข้อกำหนดปนเปื้อนของสาร 3-MCPD ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งให้มีน้อยลงกว่าเท่าตัวจากที่พบได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม เป็นพบได้ไม่เกิน 0.4 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไปเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

(กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค วันที่ 14 มกราคม 2554 ข่าวแจก 18 / ปีงบประมาณ 2554)

เห็นข่าวนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ปัจจุบันสารก่อมะเร็งปนเปื้อนในสิ่งต่างๆมากมาย และเราก็ยอมรับแล้วว่าโรคมะเร็งนี้เป็นโรคที่พบมากในอันดับต้นๆ แต่ก็คงไม่มีใครอยากจะเป็นกัน แม้ว่ามะเร็งบางชนิดสามารถจะรักษาให้หายได้ในช่วงระยะแรกก็ตาม เพราะการใช้ยาเพื่อรักษานั้นได้ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่สบายเลย  แต่ที่แปลกคือเราไม่ค่อยใส่ใจกันมากเท่าที่ควรที่จะลดการนำสารก่อมะเร็งเข้าร่างกาย บางครั้งทั้งๆที่รู้ว่าต้องงดการกินของปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม แต่ก็ยังคงชอบของเกรียมๆ (หลายคนก็ประชดหรือท้าทายด้วยการบอกว่าตายไม่กลัว กลัวอด  แต่ meepole ขอเตือนว่า ไม่กลัวตายดีแล้วค่ะ แต่การอยู่อย่างทรมานน่ะน่ากลัวกว่า สงสารคนดูแลด้วยและถ้าเลือกได้ขอสุขภาพดี ดีกว่า)

กรณีนี้ก็เช่นกันอาจมีบางคนที่ไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว ในซอสปรุงรสหลายชนิดมีสารปนเปื้อนที่ก่อมะเร็งอยู่ส่วนมาก ก็เลยเติมสารปรุงรสลงในอาหารเกือบทุกประเภทที่ทานกันในแต่ละวัน

ประเด็นที่เราในฐานะผู้บริโภคควรรู้คือ สารก่อมะเร็งในซอสปรุงรส มาจากไหน ? รู้ที่มาแล้วหลีกเลี่ยงได้ไหม? ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร?

 ที่มาของภาพ: commons.wikimedia.org

 

ซอสปรุงรส (seasoning sauce) หรือ ซอสปรุงอาหาร (Cooking Sauce)

ปัจจุบันซอสปรุงรสมีมากมายหลายยี่ห้อ หลากหลายสูตร จนบางครั้งหยิบซื้อโดยไม่รู้ว่ามันต่างกันตรงใหน เอาตามกระแสโฆษณา หรือไม่ก็ตามที่เคยซื้อมานาน สมัยก่อนก็จะรู้จักเพียงซีอิ๊ว น้ำปลา เต้าเจี้ยว หรือซอสถั่วเหลือง ที่ใช้กันทุกครัวเรือน แต่ในยุคหลังมีคำว่า ซอสปรุงรสแล้วตามด้วยชื่อยี่ห้อ เพิ่มขึ้นมาโดยที่บางคนก็ไม่แน่ใจว่า ซอสปรุงรส ต่างอย่างไรกับซีอิ้ว เพราะสีรสชาติ คล้ายกัน และซอสปรุงรสเหล่านี้อาจเป็นผงแห้งๆ ดังนั้นต้องพิจารณาอ่านฉลากก่อนซื้อ (จะมีตัวอย่างอ่านฉลากในตอน 2)

สารก่อมะเร็ง 3-MCPD คืออะไร

สารก่อมะเร็ง 3-MCPD คือสาร 3-monochloropropane-1,2-diol ซึ่งจะพบว่าจะเกี่ยวข้องกับซอสถั่วเหลืองและ การย่อยสลายโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเหลือง โดยใช้กรดเกลือ สามารถพบการปนเปื้อนของสารนี้ได้ในอาหารอื่นๆ และอาจหลีกเลี่ยงที่จะปนเปื้อนได้ยากในอาหารในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะพบว่ามีปริมาณน้อยในอาหารทั่วไป แต่สมบัติการเป็นสารก่อมะเร็งยังคงอยู่

 (ต่อ) ตอนที่ 2 สารก่อมะเร็ง 3-MCPD  มาจากไหน และปนอยู่ในซอสปรุงรสได้อย่างไร และอันตรายที่ก่อเกิดเมื่อบริโภค

หมายเลขบันทึก: 420734เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2011 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ที่ให้ความรู้ ต่อไปจะทานให้น้อยลง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท