จากทฤษฎีการนำองค์การสู่การปฏิบัติ


ทฤษฎีการนำองค์การ

                            จากทฤษฎีการนำองค์การสู่การปฏิบัติ 

 

1. การนำองค์การ

           การนำองค์การ  ประกอบด้วย  2  กระบวนการหลักที่มุ่งเน้นปรับปรุงองค์การ  คือ กระบวนการนำองค์การ  และกระบวนการรับผิดชอบต่อสังคม

       1.1    กระบวนการนำองค์การ 

กระบวนการนำองค์การ  เป็นกระบวนการที่ผู้บริหารใช้ชี้นำองค์การ  ประกอบด้วย  7  ขั้นตอน คือ  กำหนดทิศทางองค์การ  สื่อสารสร้างความเข้าใจ  สร้างบรรยากาศ  เป็นตัวอย่างที่ดี  ทบทวนผลการดำเนินการ  จัดลำดับความสำคัญ  และปรับปรุงการปฏิบัติงานทั่วทั้งองค์การ  ดังนี้

                 1)  การกำหนดทิศทางองค์การ 

การกำหนดทิศทางขององค์การ  ประกอบด้วย  4  ประเด็น  คือ  การกำหนดวิสัยทัศน์  การกำหนดเป้าประสงค์  การกำหนดค่านิยม  และการกำหนดผการดำเนินการที่คาดหวัง  ซึ่งผู้บริหารจะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางขององค์การในประเด็นดังกล่าว

                 2)  วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์  หมายถึง  ความคาดหวังในอนาคตขององค์การ  ที่ต้องการจะเป็น  เป็นข้อความซึ่งกำหนดทิศทางของพันธกิจ / ภารกิจ  เป็นสถานภาพอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่องค์การมุ่งหมาย  มุ่งหวัง  หรือประสงค์จะเป็นหรือจะมีในอนาคต

                เหตุผลและความจำเป็นที่ทุกองค์การจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ เนื่องจาก

               1)   ปัจจัยต่างๆ  ไม่หยุดนิ่ง  เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

               2)   การปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวไม่เพียงพอ

               3)   การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็น

               4)   การมองไปข้างหน้าจะทำให้เกิดการพัฒนา

               5)   การคิดใหม่เท่านั้นที่จะทำให้อยู่รอด

               6)   วิสัยทัศน์เป็นกุศโลบายแห่งการพัฒนา

ลักษณะของวิสัยทัศน์ที่ดี  ต้องมีคุณลักษณะดังนี้

               1)   มีความชัดเจน  และสามารถนำไปปฏิบัติได้

               2)   เป็นภาพเชิงบวกที่สะท้อนถึงความเป็นเลิศขององค์การ

               3)   สร้างศรัทธาในบุคลากรทุกคนในองค์การมุ่งมั่นไขว่คว้า

               4)   ต้องท้าทายความรู้ความสามารถของทั้งผู้นำ และบุคลากรทุกคนในองค์การ

               5)   คำนึงถึงผู้รับบริหารเป็นสำคัญ  (Customer  Oriented) 

               6)   มีความสอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต

 

  ขั้นตอนการทำวิสัยทัศน์  มีดังนี้

              1)  การประเมินสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน    โดยใช้เครื่องมือ  SWOT  Analysis  เพื่อสะท้อนให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์การในการตอบสนองโอกาสที่จะเกิดขึ้น  หรือภัยคุกคามจากภายนอก   ซึ่งประกอบด้วยเทคนิคต่างๆ  ดังนี้

                  (1)    การระดมสมองจากกลุ่มเป้าหมาย

                  (2)    การออกแบบสอบถามรายบุคคล

                  (3)    การสำรวจความคิดเห็นจากผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

                  (4)    การสำรวจเพื่อวิเคราะห์องค์การ

              2)  การระบุองค์ประกอบของวิสัยทัศน์เพื่อการเปลี่ยนแปลง    เป็นขั้นตอนที่สร้างภาพอนาคตขององค์การ  ผู้บริหารต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่สำคัญเพื่อให้ประกอบเนื้อหาในถ้อยแถลงวิสัยทัศน์

              3)  การกำหนดสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลง  โดยการวิเคราะห์เปรียบเทียบภาพปัจจุบันและภาพอนาคตที่ต้องการไป แล้วนำมากำหนดสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์

              4)  การร่างวิสัยทัศน์โดยการระดมสมองและสร้างความเห็นร่วมกันในองค์การ

              5)  การประเมินร่างวิสัยทัศน์เพื่อให้ทราบจุดอ่อน  จุดแข็ง  วิสัยทัศน์  โดยเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์  ซึ่งมักประกอบด้วย

                   (1)    ตำแหน่ง  บทบาท  ท่าที  ในการแข่งขันกับองค์การคู่แข่ง

                   (2)    ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

                   (3)    ทักษะหลักขององค์การที่ต้องการพัฒนา

                   (4)    ทิศทาง  และแนวทางในการตัดสินใจ

                   (5)    ความสามารถหรือความเข้มแข็งของคุณค่าหลัก

                   (6)    หลักการและเหตุผลของการเปลี่ยนแปลง

                   (7)    สาระสำคัญ  และรูปแบบของการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง

              6)  การทบทวนเพื่อกำหนดเนื้อหาและรูปแบบ

              7)  นำผลจากการประเมินในขั้นตอนที่ผ่านมาจัดทำร่างวิสัยทัศน์อีกครั้ง  ทบทวน  หลักเกณฑ์  วิพากษ์วิจารณ์หาข้อยุติร่วมกัน

 

     ประโยชน์

              1)  ช่วยกำหนดทิศทางที่จะดำเนินชีวิตหรือกิจกรรมขององค์การโดยมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน

              2)  ช่วยให้บุคลากรในองค์การทุกคนรู้ว่าแต่ละคนมีความสำคัญต่อการมุ่งไปสุ่จุดหมายปลายทาง

              3)  ช่วยกระตุ้นให้บุคลากรในองค์การทุกคนมีความรู้สึกสนใจ  มีความผูกพันมุ่งมั่นปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ  ท้าทาย  เกิดความหมายในชีวิตการทำงาน

              4)  ช่วยกำหนดมาตรฐานของชีวิต  องค์การ  และสังคมที่แสดงถึงการมีชีวิตที่มีคุณภาพ

              5)  ก่อให้เกิดการทำงานเป็นทีม 

       3)  เป้าประสงค์

            เป้าประสงค์  หมายถึง  สภาพในอนาคต  หรือระดับผลการงานที่ต้องการให้บรรลุเป้าประสงค์  เป็นได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว  เป้าประสงค์เป็นจุดหมายปลายทาง  ซึ่งชี้นำการปฏิบัติ

                หลักการทั่วไปของเป้าประสงค์

             1) จะต้องมีความเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์  และประเด็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

             2) เป้าประสงค์ของให้เขียนในลักษณะสิ่งที่ต้องการที่จะบรรลุ

             3) ในกำหนดเป้าประสงค์  อาจประยุกต์ใช้กับตัวแบบต่างๆ

             4) ในการกำหนดเป้าประสงค์นั้น จะต้องมองกรอบการประเมินผลทั้ง  4  มิติ คือ

                 (1) มิติด้านประสิทธิผลตามพันธกิจ

                 (2) ด้านคุณภาพการให้บริการ

                 (3)  มิติด้านประสิทธิภาพการจัดการ

                 (4)  มิติด้านพัฒนาองค์การ

ลักษณะของเป้าประสงค์ที่

          ป้าประสงค์ที่ดีจะต้องได้มาจากพันธกิจและค่านิยมขององค์การที่กำหนดขึ้นมา

ก่อน  จากนั้นจึงนำมาแปลความหมาย  ตีความ  และขยายความออกมาเพื่อกำหนดเป็นแผนกลยุทธ์  และแผนปฏิบัติการ

                 ขั้นตอน/วิธีการ

                การคัดเลือกหรือกำหนดเป้าประสงค์ขององค์การนั้นมักจะทำโดยการประชุมพิจารณากันในคณะกรรมการวางแผน  ซึ่งส่วนมากมักจะดำเนินการตามขั้นตอน  ดังนี้

         1)  พิจารปัจจัยที่มีผลกระทบเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการพิจารณาเป้าประสงค์  โดยพยายามคัดเลือกจัดลำดับปัจจัยทางกลยุทธ์ที่มีความสำคัญมากขึ้น

        2)  พิจารณาแต่ละปัจจัยกลยุทธ์  เพื่อให้เห็นชัดว่า  ปัจจัยกลยุทธ์ใดที่ส่งผลกระทบ  หรือส่งผลต่อองค์การให้สามารถเคลื่อนตัวเข้าไปสู่จุดมุ่งหมาย

                ประโยชน์ของเป้าประสงค์

        1)  ทำให้วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการมีความชัดเจนขึ้นเพื่อจะวัด

ความสำเร็จ

       2)  สนับสนุนการทำงานเป็นกลุ่มด้วยการมุ่งเน้นเป้าหมายร่วมกัน

       3)  สนับสนุนให้มีแนวความคิดนอกรอบ (Out-of –the-box)  เพื่อให้บรรลุ

เป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้น

       4)  เป็นพื้นฐานสำหรับวัดความก้าวหน้าและเร่งให้บรรลุผลร่วมกัน

 

4)  ค่านิยม

      ค่านิยม  หมายถึง  หลักการชี้นำ  (Guiding  Principle)  หรือพฤติกรรมที่องค์การหรือคนในองค์การคาดหวังที่จะปฏิบัติ  ค่านิยมจะเป็นตัวสะท้อนหรือมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมองค์การที่คาดหวังและค่านิยมจะเป็นตัวสนับสนุนหรือชี้นำการตัดสินของบุคลากรทุกคนในองค์การ  และเป็นตัวช่วยให้องค์การบรรลุวิสัยทัศน์  พันธกิจขององค์การ

     หลักการแนวคิด

     การกำหนดค่านิยมขององค์การ  ผู้บริหารควรมีบทบาทในการดำเนินการ  ดังนี้

     1)  ผู้บริหารต้องทำหน้าที่ในการกำหนดค่านิยมในองค์การ  โดยเสนอมุมมองใหม่ในการทำงาน  เสริมสร้างความเข้าใจให้บุคลากรในองค์การสามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยวิธีการให้บุคลากรได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง  (Action  Learning)  ซึ่งค่านิยมควรสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์การ

     2)  จัดเตรียมและกำหนดกรอบของค่านิยมหรือคุณลักษณะของบุคลากรที่พึงประสงค์  โดยวางแนวทางการพัฒนาเพื่อไปสู่ทิศทางใหม่ให้เห็นเป็นภาพที่ชัดเจนง

     3)  เปิดโอกาสและกระตุ้นให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการกำหนดค่านิยมขององค์การ    โดยการแต่งตั้งคณะทำงาน  ในสายงานต่างๆ  มาทำหน้าที่กำหนดค่านิยมร่วมกัน  หรือสำรวจความคิดเห็นของบุคลากร

     4)  เป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามค่านิยมเพื่อสร้างศรัทธาในการนำค่านิยมไปปฏิบัติของบุคลากร

                ลักษณะของค่านิยมที่ดี  ต้องมีลักษณะ  ดังนี้

     1)  ต้องสามารถปฏิบัติได้

     2)  ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร

     3)  ไม่ยาว  ไม่สั้น  และมีจำนวนไม่มาก

     4)   สอดคล้องกับค่านิยมในข้ออื่น

เทคนิคในการสร้างและปลูกฝังค่านิยมให้เกิดขึ้น  มีดังนี้

     1)  สื่อให้จำ (Memorizing  Technique)

     2)  สื่อด้วยภาพ (Visual  Technique)

     3)  สื่อด้วยสัญลักษณ์ (Symbolic  Technique)

     4)  ระบุพฤติกรรมที่ควรทำ

     5)  อธิบายความสำคัญ

ประโยชน์ของค่านิยมในองค์การ

     1)  พลังยึดเหนี่ยวคนในองค์การให้มีแนวทางการปฏิบัติงานเดียวกัน  และมี

เป้าหมายการทำงานร่วมกัน

     2)  พลังร่วมสำหรับประเมินเลื่อนขั้นหรือสนับสนุนบุคลากรตามเส้นทาง

ความก้าวหน้าและระบบการจัดสรรสิ่งจูงใจ

     3)  พลังขับเคลื่อนเอกลักษณ์ที่นำไปสู่ภาพลักษณ์อันพึงประสงค์ขององค์การ

     4)  พลังก่อรูปวัฒนธรรมและกระบวนทัศน์อันพึงประสงค์ขององค์การ  ทำให้

บุคลากรในองค์การรู้ว่า  องค์การคาดหวังอะไร  ผลงานแบบใด  ด้วยวิธีการแบบไหน

     5)  ช่วยสร้างบรรยากาศที่กลมเกลียวและกลมกลืนในการทำงาน

     6)  ช่วยทำให้บุคลากรในองค์การมีแนวทางในการปรับตัว  เพื่อให้เกิดความ

เหมาะสมกับองค์การ

 

5.  ผลการดำเนินการที่คาดหวัง

          ผลการดำเนินการที่คาดหวัง  หมายถึง  ผลผลิต  (Output)  และผลลัพธ์  (Outcome)  ที่องค์การมีความคาดหวังที่จะได้รับจากกระบวนการ  ผลผลิตและบริการซึ่งทำให้สามารถประเมินและเปรียบเทียบกับเป้าประสงค์  มาตรฐาน  ผลลัพธ์ที่ผ่านมา  และองค์การอื่นๆ  ซึ่งผลการดำเนินการอาจแสดงในรูปแบบการเงินและที่ไม่ใช่การเงิน

 

           หลักการแนวคิด

           ในการกำหนดวิสัยทัศน์  เป้าประสงค์  และค่านิยมขององค์การ  ผู้บริหารควรคำนึงถึงความต้องการหรือผลประโยชน์ของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นใครและอยู่ในกลุ่มใด รวมทั้งจะต้องคำนึงถึงผู้รับบริการที่จะพึงมีในอนาคต  เพื่อให้การกำหนดวิสัยทัศน์  เป้าประสงค์  และค่านิยมขององค์การ  มีความถูกต้อง  ชัดเจน  และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้ทั้งหมด

            ขั้นตอน/วิธีการ

            1)  สำรวจพันธกิจขององค์การเพื่อวิเคราะห์หาผลผลิตและบริการที่สำคัญของแต่ละพันธกิจและนำมากำหนดกลุ่มผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละผลผลิตและบริการ

            2)  จำแนกกลุ่มผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  โดยใช้หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมตามประเภทของผลผลิตและบริการ

            3)  การจำแนกกลุ่มผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีในอนาคต ควรศึกษาจากความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ขององค์การ  นวัตกรรม  โครงสร้างประชากร  สภาพภูมิศาสตร์  และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป 

            4)  นำข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการข้อข้อ  1  ถึงข้อ  3  มาใช้ประกอบในการกำหนดวิสัยทัศน์  เป้าประสงค์  และค่านิยมขององค์การ

           ประโยชน์

            1)  การกำหนดวิสัยทัศน์  เป้าประสงค์  และค่านิยมขององค์การ  มีความถูกต้องชัดเจน และมีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จการจากการดำเนินการตามที่คาดหวังไว้เนื่องจากได้มีการคำนึงถึงความต้องการของผู้รับบริการ  และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

           2)  วิสัยทัศน์  เป้าประสงค์  และค่านิยมขององค์การที่ได้กำหนดขึ้นเป็นผลการดำเนินการที่ดี   และตั้งมั่นอยู่บนฐานข้อมูลที่ชัดเจน  ครบถ้วน  และถูกต้องสามารถนำไปใช้ในการกำหนดทิศทางขององค์การได้อย่างแม่นยำ

6.  การสื่อสารสร้างความเข้าใจ

        ผู้บริหารของส่วนราชการควรมีการสื่อสารอย่างชัดเจน  และเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับ  วิสัยทัศน์  เป้าประสงค์  และค่านิยม  ไปสู่บุคลากรทุกคนในองค์การรวมทั้งผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  โดยใช้การสื่อสารแบบ  2  ทิศทาง  ผ่านระบบการนำองค์การ

        การสื่อสาร  หมายถึง  กระบวนการส่งข้อมูลข่าวสาร  ความคิดจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร  ซึ่งจะใช้วาจาหรือไม่ใช้วาจาก็ได้  โดยส่งผ่านทางช่องทางสารต่างๆ

        การสื่อสารแบบ  2  ทิศทาง  (Two-Way  Communication)  เป็นการสื่อสารที่ผู้รับข้อมูลจะสามารถสื่อสารโต้ตอบกับผู้ให้ข้อมูลได้  เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับข้อมูลมีโอกาสสอบถามข้อสงสัย 

        หลักการแนวคิด

              ผู้นำกับการสื่อสาร

              ผู้นำต้องสื่อสารวิสัยทัศน์กับผู้อื่น  เพื่อสร้างให้บุคลากรเกิดแรงจูงใจ  แรงบันดาลใจให้มีต่อวิสัยทัศน์  รวมทั้งสร้างคุณค่า  และความไว้ใจ  ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานส่งผลถึงความสำเร็จขององค์การ

               การสื่อสาร  2  ทาง จะช่วยให้การทำงานภายในองค์การนั้นๆ  มีความสะดวกราบรื่น  อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน  และมีความคุ้นเคยและเข้าใจกันมากขึ้น

               รูปแบบของการสื่อสาร

               การสื่อสารภายในองค์การ  จำแนกออกเป็น 4  รูปแบบ  ดังนี้

               1.  Downward  Communication  เป็นการสื่อสารจากผู้นำสู่บุคลากร  ซึ่งเป็นการส่งผ่านเป้าประสงค์  รวมทั้งการกำหนดให้มีคำอธิบายงานที่บุคลากรรับผิดชอบ  การแจ้งให้ทราบถึงนโยบายแบะกระบวนการขององค์การ  การชี้แนะให้เห็นปัญหาและสิ่งที่ต้องการให้ความสนใจเป็นพิเศษหรือการประเมินผลการปฏิบัติงาน

               2.  Upward  Communication  เป็นการสื่อสารจากบุคลากรไปยังผู้  ทำให้ผู้นำตระหนักว่าบุคลากรรู้สึกอย่างไรต่องาน  ผู้ร่วมงานและองค์การ  ผู้นำจะเชื่อถือความคิดจากบุคลากรที่ได้ให้ความคิดเห็นว่าจะปรับปรุงองค์การอย่างไร  จากรายงานผลการปฏิบัติงาน  กล่องรับฟังความคิดเห็น  แบบสำรวจทัศนคติบุคลากร  การจัดกลุ่มอภิปรายปัญหาต่างๆ  กับผู้นำหรือผู้แทนผู้บริหารระดับสูง

               3.  Lateral  Communication  ระดับระนาบเดียวกัน ทำให้ประหยัดเวลา  และสร้างความสะดวกในการปฏิบัติงานร่วมกัน

               4.  Diagonal  Communication  การสื่อสารที่ตัดผ่านทั้งสายงานและระดับในองค์การ  รวมทั้งการสื่อสารกันแบบไม่จำกัดทิศทาง  เพื่อให้การประสานงานเกิดความคล่องตัว

               เทคนิคการให้คำแนะนำของผู้นำ

               1.  ในการที่จะตำหนิหรือให้การว่ากล่าว  ควรลดความรุนแรงโดยการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอธิบายรายละเอียดให้มากขึ้น

               2.  ให้คำแนะนำเพื่อการแก้ไขและเน้นความสำเร็จในอนาคต

               3.  ให้คำแนะนำโดยให้เห็นปัญหาด้วยตนเอง

               4.  เมื่อให้คำแนะนำหรือข้อมูล  ควรบอกแหล่งที่มาของข้อมูลให้ชัดเจน

               5.  ให้กำลังใจและความเชื่อมั่นแก่ผู้มาขอคำแนะนำ

               6.  ให้คำแนะนำที่ผู้ปฏิบัติสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

               7.  กำหนดเวลาและอธิบายความรับผิดชอบให้ชัดเจน

               ขั้นตอนวิธีการ

               1.  ศึกษาหาข้อเท็จจริง  รับฟังและสำรวจปัญหาที่เกี่ยวกับนโยบายและแผนงาน  ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ  คือ  การสนทนา  แบบสอบถาม  แบบสัมภาษณ์ 

               2.  กำหนดกลยุทธ์ในการสื่อสาร  ซึ่งประกอบด้วย

                    -  กำหนดจุดประสงค์ในการสื่อสาร

                    -  กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสาร  เช่น  ระดับบริหาร  หรือระดับผู้ปฏิบัติการ

                    -  กำหนดรูปแบบการสื่อสารให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

                    -  กำหนดแผนและผู้รับผิดชอบในการสื่อสาร

               3.  ดำเนินการสื่อสารตามที่กำหนดไว้ในแผน

               4.  ติดตามและประเมินผลการสื่อสาร

               ประโยชน์

               การสื่อสารมีประสิทธิภาพของผู้นำก่อให้เกิดประโยชน์  ดังนี้

               1.  ทำให้บุคลากรเข้าใจวิสัยทัศน  พันธกิจ  และเป้าหมายขององค์การ  นำไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ

               2.  ทำให้บุคลากรเข้าใจทิศทางและแนวทางในการทำงานที่ชัดเจน

               3.  สร้างความไว้วางใจ  รวมทั้งขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากร

               4.  เกิดความร่วมมือ  ร่วมใจ  และความสำเร็จในการทำงานเป็นทีม

               5.  ลดความขัดแย้งและความไม่พอใจของบุคลากรในองค์การ

               ข้อควรคำนึงในการนำไปใช้

               การดำเนินการสื่อสารสร้างความเข้าใจมีข้อควรคำนึง  8  ประการได้แก่

               1.  เนื้อหาของข้อความ (Content  of  message)  ผู้ฟังจับใจความได้  ชัดเจน  เหมาะสม  กับผู้ฟังกลุ่มเป้าหมาย

               2.  ความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง  (Consistency  and  continuity)  ข้อมูลที่ให้ต้องเหมือนเดิมไม่ว่าจะส่งอย่างไร

               3.  องค์ประกอบ  สภาพแวดล้อมเกี่ยวกับข้อความ (Context  of  message)  การส่งข้อความนั้นเป็นเวลาที่ผู้ฟังให้ความสนใจ  และสามารถสื่อสารประโยชน์ที่ได้ให้กับผู้ฟังได้หรือไม่

               4.  ประโยชน์ของผู้ฟังเป้าหมาย  (Customer  benefits)  สื่อสารประโยชน์ที่ผู้ฟังได้รับให้ชัดเจน

               5.  ช่องทางการสื่อสาร (Channels  of  communication)  เลือกช่องทางการสื่อสารให้เหมาะสมกับผู้ฟังมากที่สุด

               6.  ความสามารถในการฟังของผู้ฟัง (Capability  of  audience )  ควรเลือกใช้สื่อ  การใช้ระดับของคำ  หรือเอกสารที่ประกอบการสื่อสารที่เหมาะสมกับผู้ฟังแต่ละประเภทให้มากที่สุด

               7.  ผู้สื่อสารต้องเป็นผู้มีความเชื่อถือได้ (Credibility  of  message)  ความเชื่อถือได้ของผู้สื่อสาร  เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อผู้รับข้อมูล

               8.  การบอกให้ผู้รับข้อความทราบความต้องการให้เกิดการดำเนินการ  (Call  to  action)  บอกให้ผู้รับข้อความทราบว่าคุณต้องการให้ใครทำอะไร

 7.  การสร้างบรรยากาศ

         ผู้บริหารต้องสร้างบรรยากาศภายในองค์การ  เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจและนวัตกรรม เช่น 

         1)  ควรนำระบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม  เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีโอกาสในการตัดสินใจและแสดงความคิดเห็นอย่างมีอิสระ

         2)  การมอบอำนาจให้ผู้ปฏิบัติงานในระดับรองลงมา  ให้สามารถตัดสินใจได้อย่างทันท่วงทีเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน

         3)  การมอบอำนาจเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสใช้ศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มที่  ภายใต้การกำกับดูแล  การให้คำปรึกษาแนะนำของผู้บริหาร

         4)  การมอบอำนาจเพื่อให้เกิดการทำงานในลักษณะของทีมงาน  หรือคณะกรรมการ/คณะทำงาน

         5)  การส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ  ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้ขององค์การ  มี  2  ระดับ  คือ  ระดับองค์การ  และระดับบุคคล 

              (1)  ระดับองค์การ   โดยการส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา  การประเมินและพัฒนากระบวนการทำงาน  การรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  การแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ  การเทียบเคียงผลการปฏิบัติงาน

              (2)  ระดับบุคคลโดยการส่งเสริมให้บุคลากรมีโอกาสในการพัฒนาตนเอง

     การจัดระบบการทำงานที่เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่องค์การแห่งการเรียนรู้  ดังนี้

         1)  มีวิสัยทัศขององค์การ  กลยุทธ์ขององค์การที่ชัดเจน

         2)  มีการมอบหมายภารกิจด้วยความท้าทายด้วยเป้าหมายที่สอดคล้องและนำไปสู่วิสัยทัศน์ขององค์การ

         3)  มีการสนับสนุนอย่างเต็มที่  ด้วยทรัพยากร  ทั้งงบประมาณ  บุคลากร  โครงสร้างพื้นฐาน  และที่สำคัญคือ  การให้โอกาส

         4)  มีการสร้างบรรยากาศเปิดต่อยุคแห่งการสร้างสรรค์  และการพัฒนาภูมิปัญญาด้วยการส่งเสริมให้มีความกล้าคิด  กล้าแสดงออก  กล้าลงมือทำ  โดยให้ทุกคนเรียนรู้ร่วมกัน  และเป็นที่พึงของกันและกัน  ทั้งนี้  เพื่อให้เกิดความเป็นเลิศขึ้นแก่องค์การและผู้มีส่วนร่วมทุกคน

         5)  การสร้างความพึงพอใจในงาน  ซึ่งมีองค์ประกอบ ได้แก่  ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับงาน  ลักษณะงานที่ทำ  การเลื่อนตำแหน่งหรือโอกาสก้าวหน้าในการทำงาน  การบังคับบัญชา  การสร้างทีมงาน  สภาพบรรยากาศในการทำงาน

         6)  การพัฒนาทีมงานให้เกิดขึ้นในองค์การ  คุณลักษณะของทีมงานที่จะประสบความสำเร็จได้แก้

              (1)  เป้าหมาย   เป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป้าหมายที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Shared  Goals)  จะทำให้เกิดพัฒนาการของทีมงาน  โดยทุกคนมีส่วนร่วม  มีความผูกพันในเป้าหมายร่วมกัน

              (2)  การแสดงออก  ทุคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและรับฟัง  และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้เกิดการสื่อสารและเกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน

              (3)  ความเป็นผู้นำ  แม้การทำงานเป็นทีมอาจมีหัวหน้าที่เป็นทางการ  แต่การทำงานร่วมกั้นอาจสับเปลี่ยนตำแหน่งระหว่างกันได้ตลอดเวลา  ซึ่งจะช่วยให้ทีมงานใช้ทักษะและความสามารถของสมาชิกทุกคนได้อย่างเต็มที่

              (4)  แสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องและเป็นเอกฉันท์  การลงมือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับแก้ปัญหาและการปฏิบัติงานโดยไม่สร้างแรงกดดันหรือการบังคับให้จำใจยอมรับเสียงส่วนใหญ่อย่างไม่เต็มใจ

              (5)  ความไว้วางใจ  เป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการทำงานเป็นทีม  ซึ่งจะช่วยให้ทีมงานมีผลงานความคิดสร้างสรรค์  และนวัตกรรมใหม่ๆ 

              (6)  ความคิดสร้างสรรค์  ทีมงานที่มีประสิทธิภาพจะต้องดำเนินการอย่างสร้างสรรค์  โดยอาศัยพลังความคิดและความสามารถของสมาชิกแต่ละคนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าแก่ทีมงาน

              (7)  เครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้เพื่อสร้างบรรยากาศการกระจายอำนาจการตัดสินใจ นวัตกรรม  ความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน  การเรียนรู้  ทั้งในระดับองค์การและผู้ปฏิบัติงาน  การส่งเสริมให้บุคลากรทำงานอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบและหลักจริยธรรมคือ  การปรับ/สร้างวัฒนธรรมองค์การ  (Culture  Development) 

8.  การปรับ / สร้างวัฒนธรรมองค์การ (Culture  Development) 

       การปรับ/ สร้างวัฒนธรรมองค์การ  หมายถึง  การปรับ /สร้างรูปแบบ  ความเชื่อ  ค่านิยม  วิถีการเรียนรู้  ซึ่งแสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมของบุคลากร  เทคโนโลยีที่ใช้  ตลอดจนเงื่อนไขและคุณภาพชีวิตในการทำงานในองค์การเพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์การ

 

                                                 อ้างอิง

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย, สพฐ., กพร. 2553. การนำองค์การและ

         เทคโนโลยีการบริหารการศึกษา. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 419900เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2011 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท