หมอข้าวหอม
แพทย์หญิง ลำพู(Lampu) โกศัลวิทย์(Kosulwit)

ก่อนชีวิตจะหลับ


ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ได้สัมผัสผู้ป่วยหลายรายที่รับรู้ว่าตนเองคงมีชีวิตลืมตาดูโลกต่อไปอีกไม่นาน ทั้งที่ยอมรับความจริงและยังสับสน  ผู้ป่วยเด็กหนุ่มอายุ 20 ปีรายหนึ่ง ทราบว่าตนเองกำลังเผชิญกับโรคมะเร็งกระดูกที่แพร่กระจายไปทั่วปอดแล้ว เขาตัดขาด้านซ้ายไปแล้ว แต่เขาได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำวันที่ยังเหลืออยู่ของตนเองให้ดีที่สุด ทั้งการเข้ารับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง และ เคร่งครัด เขาโชคดีที่มีคนที่รักอยู่ด้วยจนวินาทีสุดท้าย 

ผู้ป่วยหน้าตาดีแต่ท่าทางทะนงตน ตามประสาเด็กแนวรายนี้ ตอบคำถามของหมอที่ว่า

“คุณคิดว่า...อาการที่คุณเป็นอยู่ ต่อไปจะเป็นอย่างไรคะ”

เขาหันขวับมาตอบด้วยแววตามั่นใจและมีสติเต็มบริบูรณ์ว่า

“ ตาย !! ”           

แล้วก็หันหน้ากลับไปนั่งคว่ำหน้ากับโต๊ะ over bed แล้วหอบต่อ...

งานนี้เล่นเอาป้าหมอ เอ้ย... น้าหมอ อึ้งเล็กน้อย ทบทวนสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเสี้ยววินาทีก่อนว่าคำตอบนี้มีความรู้สึกอะไรแฝงอยู่บ้าง ทบทวนอย่างรวดเร็วก็เข้าใจว่าเขาไม่ได้ต้องการเล่นบทเด็กแนวกับป้าหมอ เอ้ย..น้าหมอ.............เพราะสิ่งที่เห็นและรับรู้ได้คือ.......ความรู้สึกที่ปะปนกันทั้งความโกรธ การยอมรับ และ ความรู้สึกทรมาน ดูเขาไม่ต้องการพูดด้วยมากนัก น่าจะเพราะเหนื่อยและอาจจะรำคาญหากจะต้องมาคุยกันอย่างเป็นทางการกับน้าหมออย่างเรา (^^’) น้าหมอจึงได้แต่คุยเรื่องทั่วๆ ไป  

“กลัวอะไรไหมคะ?” น้าหมอบรรจงถาม

 เด็กแนวมองตาน้าหมอและส่ายหน้าแทนคำตอบอย่างเหมือนไม่มีเยื่อใยว่า

“ ไม่ !! ”

คุณแม่และเพื่อนสาวที่นั่งอยู่ข้างเตียงก็มองดูการสนทนาระหว่างเราทั้งสองอย่างเงียบๆ และ ยิ้มมุมปากน้อยๆ ไม่ได้ว่ากระไร

      เมื่อมาเยี่ยมเขา ในครั้งแรกหวังว่าจะได้เนื้อหาของการสนทนาที่น่าจะพอช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง แต่ดูเหมือนจะไม่มีสิ่งใดต้องช่วยมากนัก มีบ้างคือช่วยเพิ่มความเข้าใจระหว่างทีมที่รักษากับคนไข้และญาติ การเยี่ยมไข้ในครั้งต่อๆ มาจึงเป็นการมาเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจ และ ตรวจสอบข้อมูลว่าสุขสบายใจดีเช่นเดิมหรือไม่ เตรียมพร้อมสำหรับความตายที่ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วหรือไม่ ซึ่งพวกเขาทำได้ดีอยู่แล้ว ทั้งทีมที่รักษา ผู้ป่วยและญาติ นึกกังวลเล็กน้อยว่าในหอผู้ป่วยสามัญอย่างนี้ วินาทีสุดท้ายของเขาจะมีคุณแม่หรือคนที่เขารักที่สุดอยู่ด้วยหรือไม่ แต่แล้วก็รู้สึกดีใจเมื่อได้ทราบในวันสุดท้ายที่ได้ไปเยี่ยมเขาว่า คุณแม่ได้รับอนุญาตให้นอนเฝ้าไข้ได้ 2-3 วันแล้ว เด็กหนุ่มรายนี้เคยเย้าคุณหมอที่ดูแลเขาว่า “ถ้าตายจะมาหาหมอ” เขาเป็นเด็กหนุ่มที่เข้มแข็งทีเดียว ทุกครั้งที่ไปเยี่ยม จะเห็นภาพที่เขาหอบเหนื่อย ดูเขาพยายามอย่างเต็มที่ที่จะยื้อชีวิตของตนเองเอาไว้ เขาขยันหายใจมาก ไม่บ่นอะไร นั่งก้มหน้าก้มตาหอบหายใจอยู่อย่างนั้น

หลังการประเมินจึงพบว่า...เขาคิดเอาเองว่าถ้าใส่ท่อช่วยหายใจเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 6 เดือน แม้ความคิดนี้จะไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ก็สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมเขาจึงคิดเช่นนั้น  การที่ใครสักคนหนึ่งพยายามจะเข้าใจว่าตัวเองกำลังจะตายนั้น มัน overwhelm ต่อจิตใจของเขามากเกินกว่าจะประมาณได้ เพียงแค่พูดออกมาได้ว่า ตัวเองต้องตายแน่ในไม่ช้า ก็นับว่าเก่งมากแล้ว เมื่อมองย้อนไปที่ความรู้สึกของ “หนุ่มแนว” รายนี้ ก็ทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นกับ concept ที่ว่า five stages of grief ของ Elisabeth Kubler-Ross ที่ว่า stage ทั้ง 5 นั้น สามารถเปลี่ยนกลับไปมาได้ และ ในช่วงลมหายใจสุดท้ายก็อาจจะไม่ใช่การยอมรับเสมอไป 

 

วันสุดท้ายที่ได้ไปเยี่ยมเขา  ดูเขาซูบลงมากและเหน็ดเหนื่อยเต็มทน  จึงถามเขาว่า

                      “อยากให้หมอช่วยอะไรบ้าง” 

 หากเป็นทุกครั้งเขาคงตอบโดยส่ายศีรษะทันทีเพื่อปฏิเสธ แต่ครั้งนี้..

          เขานิ่งสักครู่ แล้วตอบเบาๆ อย่างไม่มีแรงว่า...

                            “ยาแก้ปวด”

                 หมอรับปาก แล้วถามเขาเรียบๆว่า.......

                 “ยังมีเรื่องไหนที่อยากทำอีกไหมคะ”

                           เขาส่ายศีรษะ....

         คุณแม่ยังห่วง จึงเล่าว่าเมื่อคืนออกซิเจนในตัวของเขาตกลงไปเหลือ 70 กว่าๆ เขาดูสะลึมสะลือเหมือนจะไปแล้ว หมอหันไปมองคุณแม่เพื่อรับรู้ แล้วจึงหันไปจับตัวของเขาแล้วบอกว่า “ ให้มั่นนึกถึงเรื่องดีๆ ที่ผ่านมา หากคิดอะไรไม่ออก ให้นึกถึงพระเจ้า ให้นึกถึงสิ่งดีๆ ที่ทำให้ใจเบา ใจสบายนะคะ ” 

         เขานิ่งฟัง...หมอลาเขาเรียบๆ.... แล้วเชิญคุณแม่ไปสนทนาด้านนอกเพื่อประเมินและประคับประคอง

         คุณแม่ในวันนั้นดูเศร้ากว่าทุกครั้ง แต่ก็ยังเข้มแข็ง คุณแม่คาดเองว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ ลูกก็จะจากไป

             เธอบอกกับลูกว่า ถ้าไม่ไหวก็ไปเถอะลูก

             ลูกชายบอกความรู้สึกของเขากับคุณแม่เท่านั้นว่า เขากลัว

             เมื่อคุณแม่ถามว่า กลัวอะไร เขากลับไม่ตอบ

             คุณแม่จึงถามเขาว่า “กลัวตายหรือ”  เขาจึงพยักหน้า

             เขาจะยอมแสดงความอ่อนแอบ้างก็เฉพาะกับคุณแม่

 

        หมอได้ให้กำลังคุณแม่ว่า “ลูกชายคนนี้เขาเข้มแข็งนะคะ และที่เขาเข้มแข็งได้อย่างนี้... หมอมั่นใจว่าเพราะเขาได้เรียนรู้วิธีนี้มาจากคุณแม่” คุณแม่สะอื้นและเล่าเรื่องราวในอดีตที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังเพราะหย่าขาดกับสามี และเล่าไปถึงการได้รับอนุญาตจากแพทย์ประจำบ้านเมื่อ 2 วันก่อน เพื่อให้สมาชิกโบสถ์ในคริสต์ศาสนาที่เขาคุ้นเคย มาร่วมร้องเพลงรอบเตียงเพื่ออวยพรและให้กำลังใจแก่เขา ซึ่งนับว่าคุณหมอผู้ดูแลให้ความสำคัญและมีความเข้าใจในเรื่องจิตวิญญานเป็นอย่างดี เพราะคุณแม่บอกว่าตัวของผู้ป่วยรู้สึกดีใจและรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาก และ รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับพระเจ้าซึ่งจะมารับเขาเมื่อวันที่เขาหลับตาสนิทแล้ว

 

ในช่วงเวลาก่อนตะวันจะลับฟ้าของเขาใกล้เข้ามาแล้ว หมอจึงแนะนำจุดที่อาจมีปัญหาโดยการบอกกับคุณแม่ว่า

          “ที่คุณแม่ทำทุกอย่างมานั้น ดีมากๆ แล้วค่ะ หากวันหนึ่งเมื่อมองย้อนกลับมา หมออยากให้มั่นใจว่า ณ วันนี้ทุกอย่างถูกตัดสินใจอย่างดีที่สุดแล้ว ภายใต้ขีดจำกัดต่างๆ ที่เรามีและเราเป็น อย่าให้วันนี้กลายเป็นวันในอนาคตที่คุณแม่จะลงโทษตัวเอง เมื่อนึกถึงเขา”

                 คุณแม่หยุดสะอื้น มองหน้าหมอสักครู่ และพยักหน้า

“แม่คุยกับเขาแล้วเรื่องไม่ใส่ท่อ(ช่วยหายใจ) แม่ไม่อยากเห็นเขาเจ็บ..เขาก็คิดอย่างนั้น”

 

           “หมอคิดว่าเวลาที่เหลืออยู่นี้เป็นเวลาที่น่าจะดีมาก หากได้อยู่กับเขา แล้วเล่าเรื่องในอดีตที่เป็นความดีงามของเขา ว่าเขาเป็นเด็กน่ารักอย่างไร เล่าเรื่องตลกๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตระหว่างคุณทั้งสองและครอบครัว”

คุณแม่พยักหน้าแล้วบอกว่า

           “หลายคืนที่ผ่านมาแม่เล่านิทานให้เขาฟัง เขาก็ฟัง หากแม่หลับก่อน เขาจะโยนหมอนมาปลุกแม่ที่ข้างเตียง หากแม่ไม่ตื่น เขาก็จะโยนลงมาแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าแม่จะตื่น บางทีโยนลงมาตั้ง 3-4 ใบ ”  

คุณแม่กับหมอมองหน้ากันแล้วหัวเราะเล็กๆ คราวนี้สีหน้าของคุณแม่ดูเป็นสุขมากขึ้นในวันที่ความทุกข์มาเยือน เพราะเขาได้ internalized ความเป็นตัวตนของลูกชายของเขา และความรักที่มีต่อกันไว้แล้วในหัวใจ ซึ่งจำเป็นต่อการทำใจกับการสูญเสียคนที่ตัวเองรักไปอย่างไม่มีวันกลับ

 

สิ่งที่หมออย่างฉันหวังอยู่ในใจเงียบๆ คือ ขอให้เขาจากไปอย่างสงบ และขอให้คุณแม่ของเขา “เสียใจอย่างมีสติ” และฉันมั่นใจในสิ่งที่พวกเขารวมทั้งตัวฉันได้ทำว่า มันถูกทำอย่างดีที่สุดแล้ว

ต่อมาเมื่อจะไปเยี่ยมเขา จึงได้ทราบว่า วันที่เขาขอยาแก้ปวด และวันทีได้สนทนากับคุณแม่ของเขานั้น เป็นวันสุดท้ายของเขานั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 419608เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2011 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุณหมอ..ช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ดีค่ะ

ดีใจที่มีหมอแบบนี้

ขอบพระคุณค่ะ หมอคิดว่า ตัวเองยังต้องฝึกต่อไปค่ะ

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้ป่วยเด็กหนุ่มคนนี้ เป็นครูของหมอสำหรับการดูแลผู้ป่วยคนต่อๆไปเลยค่ะ ^_^

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท