"คุณภาพการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน" ที่ กศน. ตำบล ต้องทำ...


จะต้องทำให้ กศน. ตำบล เป็น "ศูนย์กลาง" การเรียนรู้ตลอดชีวิต เอาง่ายๆ คือ การสร้าง ศูนย์เรียนรู้ย่อย/แหล่งเรียนรู้ ในชุมชน โดยการสำรวจ รวบรวม และพัฒนาศูนย์เรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ ผู้รู้/ภูมิปัญญา ของชุมชน ประกาศจัดตั้งให้ชัดเจนเพื่อการใช้ประโยชน์ เป็นการเรียกความเชื่อมั่นและความศรัทธาของประชาชนที่จะเข้าใช้บริการ

         กศน. ตำบล กับภารกิจ ๖ เดือน ๖ คุณภาพ ของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ ๒ ของกระทรวงศึกษาธิการ และ หนึ่งใน ๖ คุณภาพ ก็คือ "คุณภาพการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน" ที่มุ่งเน้นให้ กศน.ตำบลเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตลอดชีวิต ให้ กศน. ตำบลเป็นการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ที่เป็นการเรียนฟรี สำหรับประชาชนวัยทำงาน ๓๐ ล้านคน และเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของประชาชนนอกระบบทั้งหมด สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ส่งเสริมเรื่องทักษะชีวิต และความเป็นพลเมือง

         ผมจะลองถอดกระบวนการทำงานของ กศน. ตำบล ออกมาทีละเรื่อง....นะครับ? เอาเป็นว่า ตามประสบการณ์การทำงานของครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน

  • กศน.ตำบลเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตลอดชีวิต

         ผมได้เกริ่นเรื่องนี้ไปบ้างแล้วในบันทึกที่ผ่านมา... กศน.เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนตลอดชีวิต ตามความคิดของผมแล้ว จะต้องทำให้ กศน. ตำบล เป็น "ศูนย์กลาง" การเรียนรู้ตลอดชีวิต เอาง่ายๆ คือ การสร้าง ศูนย์เรียนรู้ย่อย/แหล่งเรียนรู้ ในชุมชน โดยการสำรวจ รวบรวม และพัฒนาศูนย์เรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ ผู้รู้/ภูมิปัญญา ของชุมชน ประกาศจัดตั้งให้ชัดเจนเพื่อการใช้ประโยชน์ เป็นการเรียกความเชื่อมั่นและความศรัทธาของประชาชนที่จะเข้าใช้บริการ จัดกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ในศูนย์เรียนรู้/แหล่งเรียนรู้ย่อย โดยใช้ กศน. ตำบล เป็นแม่ข่ายในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ประสานงานกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในการบูรณาการในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน ตามภารกิจงานของแต่ละองค์กร/หน่วยงาน ใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดกิจกรรม ข้อมูลต่างๆ แผนชุมชนพึ่งตนเอง แผนพัฒนาของ อบต. การทำหลักสูตรการจัดกระบวนการเรียนรู้ ตามความต้องการของชุมชน ตามบริบทและวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายแบบบูรณาการการทำงานร่วมกัน

  • กศน. ตำบลเป็นการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ที่เป็นการเรียนฟรี สำหรับประชาชนวัยทำงาน ๓๐ ล้านคน

         สำหรับเรื่องของการจัดการศึกษานอกระบบมี ๒ รูปแบบ คือ การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ การศึกษานอกระบบ (การศึกษาต่อเนื่อง) ที่จัดให้ประชาชนเรียนฟรี ทั้ง ๒ รูปแบบ ได้กำหนดจำนวนเป้าหมายให้ กศน. ตำบลดำเนินการอย่างชัดเจน... โดยเฉพาะเรื่องการศึกษานอกระบบ (การศึกษาต่อเนื่อง) ที่มีงบประมาณจัดกิจกรรม อุดหนุนลงมาแบบที่เรียกว่า ล่ำซำ (๗๕,๐๐๐.-บาท)ในแต่ละ กศน. ตำบล นับว่าเป็นเงินไม่น้องเลยเมื่อเทียบกับตอนที่ครูอาสาฯจัดกิจกรรม(ได้น้อยกว่านี้เกือบครึ่ง) แต่ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่า กศน. ตำบลจะมีวิธีดำเนินการอย่างไร ให้คนเรียนฟรีและประหยัดงบประมาณด้วย ในการจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณ แต่สำหรับการศึกษาต่อเนื่อง ผมคิดว่าหากเราใช้ชุมชนเป็นฐาน ใช้บริบท และวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน และข้อมูลความต้องการของคนในชุมชน อีกทั้งการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย จะทำให้ประหยัดงบประมาณลงได้อีกเยอะ....เพราะไม่มีใครที่ไม่อยากเรียนรู้ในสิ่งที่อยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง....การใช้ศูนย์เรียนรู้/แหล่งเรียนรู้/ภูมิปัญญาของชุมชนมาร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ก็เป็นการประหยัดงบประมาณ และการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายจะลดความขัดแย้งและการแข่งขันในการทำงานอีกด้วย

  • เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนของประชาชนนอกระบบทั้งหมด สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

         การที่จะให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ของประชาชน และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา กศน. ตำบลต้องมีความพร้อมในการให้บริการ ข้อมูล ข่าวสาร ทั้งเป็นเอกสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา จะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้คนสามารถเรียนรู้ตามความสนใจ เช่น การจัดทำเว็บไซด์ ของ กศน.ตำบล เรามีศูนย์เรียนรู้/แหล่งเรียนรู้ เรื่องใดบ้าง ก็นำข้อมูล/องค์ความรู้ของศูนย์เรียนรู้/แหล่งเรียนรู้นั้นมาลงในเว็บไซด์ ให้คนได้เรียนรู้ และสามารถจะไปเรียนรู้ในสถานที่จริงได้หากมีความสนใจและต้องการ

  • ส่งเสริมเรื่องทักษะชีวิต
  • ความเป็นพลเมือง

         สำหรับ ๒ เรื่องนี้ จริงๆ แล้วเป็นงานในภารกิจหลัก ของ กศน. ในกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องเช่นกัน บางคนอาจมองเป็นกิจกรรมเดียว คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปอีก "ส่งเสริมทักษะชีวิต" เรื่องอะไร...?  ทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม ทักษะการอยู่รอดปลอดภัย ทักษะการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ซึ่งสอดคล้องสัมพันธ์อยู่กับกิจกรรมอื่นๆ  ของกศน. และเรื่องของความเป็นพลเมือง อันที่จริงก็อยู่ในการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต เกี่ยวกับประชาธิปไตย การเป็นพลเมืองที่ดี บทบาทหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดี ซึ่งยังเป็นวิชาหนึ่งที่อยู่ในหลักสูตรการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่หากเราจะมองให้ลึกลงไปก็ต้องมาดูว่า หากจัดกระบวนการให้คนรู้บทบาทหน้าที่ของความเป็นพลเมืองแล้วสามารถที่จะเชื่อมโยงกระบวนการกับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมชุมชนได้....

         ทั้งหมดนี้แล้วแต่ใครจะมอง....สำหรับผมแล้ว....คิดว่าถึงเวลาที่ กศน. จะทำให้สังคมยอมรับ...และพูดได้เต็มปากว่า กศน. เป็นหน่วยงานจัดการศึกษาเพื่อประชาชน....สมกับการใช้โลโก้ "กศน.เพื่อนเรียนรู้"

หมายเลขบันทึก: 419507เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2011 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ
  • ดูสนุกกับงานดีนะคะ
  • ดูแลสุขภาพด้วยค่ะ

สวัสดีครับ....อ.ดาธิณี

  • ก็สนุกไปตามประสาคน...กศน. ที่ต้องทุ่มเทการทำงานเพื่อประชาชนครับ...
  • ขอบคุณครับ...สำหรับกำลังใจ....ที่ทำให้มีเรี่ยวมีแรงในการทำงาน....
  • บอกตรงๆ ดีใจครับที่ คน กศน. เข้ามาร่วม ลปรร.
  • นี่และครูยุคใหม่ ทันสมัย...ในการศึกษาหาความรู้ ไม่ต้องไปนั่งอบรมที่ใหน...จริงมั๊ยครับ....
  • โอกาสหน้าเชิญใหม่นะครับ....
  • สวัสดีวันครูค่ะ
  • ลปรร  ย่อมาจากอะไรคะ
  • ช่วยบอก ผู้ไม่รู้หน่อยนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีคุณครู... อ.ดาธิณี

  • ลปรร. เป็นตัวย่อที่ชาวบล็อก นิยมใช้กัน...แทนคำว่า "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" โดยเฉพาะ การ ลปรร. ของคนทำงานที่เล่าประสบการณ์กัน ใน g2k
  • g2k ก็คือ  "gotoknow" ครับ...
  • ยินดีตอบทุกคำถาม...
  • ขอบคุณสำหรับการ ลปรร.
  • โอกาสหน้าเชิญใหม่นะครับ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท