ความหมายและขอบเขตของการป้องกันอาชญากรรม (ตอนที่ 2)


Allen et. al. (1981: 272) ได้พิจารณาแยกตัวแบบในการป้องกันอาชญากรรมออกเป็น 3 แนวทางคือ แนวทางการลงโทษ แนวทางการแก้ไข และแนวทางการใช้สิ่งป้องกันภัย ซึ่งความจริงแล้ว แนวทางการแก้ไขก็คือแนวทางการป้องกันโดยการแก้ไขสภาพทางสังคมและแนวทางการใช้สิ่งป้องกันภัยก็คือแนวทางการป้องกันโดยตัดช่องในการกระทาผิด ตัวแบบในการป้องกันอาชญากรรมทั้งสามแนวนี้ สามารถแยกพิจารณาได้ ดังนี้

  • ตัวแบบที่หนึ่ง การป้องกันโดยการขจัดเงื่อนไขทางสังคมและจิตใจที่สัมพันธ์กับอาชญากรรม

การป้องกันอาชญากรรมแนวนี้เป็นการป้องกันมิให้เกิด ตัวอาชญากร แนวทางนี้ถือว่า พฤติกรรมอาชญากรเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคมการเมือง สภาพแวดล้อมทางสังคมในระดับต่างๆ ตลอดจนสภาพความผิดปรกติของจิตใจของมนุษย์แต่ละคนที่หว่านล้อม บีบคั้นหรือกดดันให้หันไปสู่พฤติกรรมอาชญากร ดังนั้น แนวทางนี้จึงมุ่งศึกษาถึงปัจจัยดังกล่าวที่สัมพันธ์ หรือจะนำไปสู่การกระทำผิด และพยายามที่จะขจัดปัจจัยเหล่านั้นเสียก่อนที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล ปัจจัยดังกล่าวนี้ที่มีการกล่าวอ้างถึงอยู่เสมอตามแต่ความเชื่อของนักอาชญาวิทยาต่างๆ เช่น โครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Tyler, Walters, Young, 1972) ความแตกต่างในการคบหาสมาคม (Sutherland, 1966) โอกาสทางสังคม (Cloward-Ohlin, 1961) ความบีบคั้นจากการไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายของสังคมโดยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎ (Merton, 1957) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องอธิบายถึงปัจจัยที่เกี่ยวกับครอบครัว อบายมุข รวมทั้งปัจจัยทางด้านจิตวิทยาและกายภาพ

ในขณะที่นักสังคมวิทยาวิเคราะห์สาเหตุในระดับมหภาค นักจิตวิทยาและชีววิทยาจะวิเคราะห์ในระดับจุลภาค อย่างไรก็ตามทั้งสองแนวทางก็มีความสัมพันธ์กัน เพราะจากการวิเคราะห์ในระดับกว้างหรือระดับเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นักอาชญาวิทยาก็จะโยงผลของระบบดังกล่าวที่มีต่อจิตใจของผู้กระทำผิด ดังจะเห็นได้จากแผนภูมิดังนี้

 

 

 

เมื่ออาชญากรรมเป็นผลมาจากปัจจัยทางสังคมดังกล่าวนี้ การป้องกันก็ต้องพยายามที่จะขจัดปัจจัยเหล่านี้ ในแนวทางของ Marxist ก็หมายความว่าจะต้องปฏิวัติระบบเศรษฐกิจในแนวทางของ Durkheim ก็หมายถึงการจัดระเบียบทางสังคม ในแนวทางของ Sutherland ก็หมายถึงการจัดให้เด็กและเยาวชนหรือผู้กระทาผิดได้คบหาสมาคมกับคนดี ดังจะเห็นได้จากโครงการ YMCA, YWCA เพื่อแก้ไขเด็กกระทำผิดและกลุ่มสัมพันธ์ในเรือนจำหลายโครงการซึ่งได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีนี้

ในระดับบุคคลหากมีความเชื่อว่า การที่คนประกอบอาชญากรรมเพราะความบกพร่องด้านจิตใจหรือความบกพร่องทางกายภาพ การป้องกันก็ต้องพยายามพัฒนาแก้ไขหรือปรับพฤติกรรมของผู้กระทำผิดแต่ละคน เพื่อแก้ไขความบกพร่องดังกล่าว เช่นการฝึกอาชีพหรือการบาบัดผู้ต้องขัง อันจะนำไปสู่การป้องกันการกระทำผิดซ้ำต่อไป

  • ตัวแบบที่สอง แนวทางการป้องกันใช้กฎหมายและการลงโทษ

แนวทางในการป้องกันอาชญากรรมที่เน้นในด้านการลงโทษนั้น เป็นแนวทางที่มาจากความเชื่อที่ว่า คนกระทำผิดเพราะไม่เกรงกลัวการลงโทษหรือกฎหมาย เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายไม่แน่นอนล่าช้า และไม่มีโทษที่เหมาะสมกับการกระทำผิด จึงทำให้คนกล้าเสี่ยงที่จะกระทำผิด เพราะโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์จากการกระทำผิดมีมากกว่าโอกาสในการถูกจับกุมลงโทษ ดังนั้น การป้องกันอาชญากรรมตามแนวทางนี้ จึงต้องใช้การบังคับการตามกฎหมายและการลงโทษให้มีความรวดเร็ว แน่นอนเสมอภาค และมีโทษที่เหมาะสม เพื่อเป็นการข่มขวัญและยับยั้ง ผู้ที่คิดจะกระทำผิดให้เกิดความเกรงกลัวไม่กล้าเสี่ยงกระทำผิด วิธีการในการที่จะทำให้การบังคับการตามกฎหมายมีประสิทธิภาพก็โดยผ่านการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็หมายความว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมคือตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ จะต้องประสานงานกันในการที่จะทำให้การบังคับการตามกฎหมายเป็นไปโดยรวดเร็วแน่นอนและมีการลงโทษที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะเสี่ยงกระทำผิด ดังนั้นจึงเห็นว่าแนวทางนี้มีลักษณะคล้ายกับแนวทางแรกที่เน้นการป้องกันมิให้เกิด “ตัวอาชญากร” แต่แตกต่างกันที่แนวทางนี้ไม่ถือว่าการถูกกดดันจากสภาพแวดล้อมจะเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ความมีประสิทธิภาพของการบังคับการตามกฎหมายว่าจะมีผลทำให้คนทั่วไปเกิดความยับยั้งที่จะกระทำผิดหรือไม่

  • ตัวแบบที่สาม แนวทางการตัดช่องโอกาสในการกระทำผิด

แนวทางการป้องกันโดยการตัดช่องโอกาสในการกระทำผิดแนวทางนี้ มิได้เน้นที่การป้องกันมิให้เกิด “อาชญากร” ไม่สนใจว่ามีปัจจัยอะไรในสังคมบ้างที่ทำให้คนกระทำผิดแต่ความสนใจอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นเหยื่อของอาชญากรเหล่านั้นได้หรือทำอย่างไรจึงจะทำให้อาชญากรโจมตีเหยื่อได้ยากยิ่งขึ้น หรือทำไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะผู้ที่มีความเห็นตามแนวทางนี้ถือว่าปัจจัยที่มีส่วนสำคัญของการกระทำผิดนั้นก็คือช่องโอกาสในการกระทำผิด ซึ่งในบางครั้งผู้เสียหายก็มีส่วนหรือละเลยทำให้ช่องโอกาสดังกล่าวเกิดขึ้น ดังนั้นการป้องกันจึงต้องตัดช่องโอกาสดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเหยื่ออาชญากรรม ทั้งนี้โดยใช้วิธีการสร้างสิ่งป้องกันภัย เพื่อยับยั้งการกระทำผิด ทั้งในลักษณะที่เป็นกายภาพเช่น การติดตั้งประตู หน้าต่าง ลูกกรง สัญญาณเตือนภัยและการใช้อุปกรณ์เครื่องมือตลอดจนบุคคล หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ และในลักษณะที่เป็นนามธรรมคือใช้ความสัมพันธ์ในชุมชนที่จะรวมตัวกันต่อต้านอาชญากรรม หรือช่วยกันเป็นหูเป็นตาหรือร่วมมือกันป้องกันเช่น โครงการเพื่อนบ้านเตือนภัย กล่าวอีกนัยหนึ่ง แนวทางนี้ไม่ได้มองอาชญากรรมในลักษณะที่เป็นผลของปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมที่จำเป็นต้องแก้ไข แต่มองอาชญากรรมในลักษณะของพฤติกรรมที่จะต้องป้องกัน และวิธีป้องกันก็โดยการใช้สภาพแวดล้อมทั้งรูปธรรมและนามธรรมเข้ายับยั้งพฤติกรรมทางอาชญากร เพื่อที่จะทำให้การกระทำผิดอาจถูกตรวจพบถูกขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยว จนมีผลกระทบต่อความนึกคิดของผู้ที่กระทำผิด ทำให้ผู้กระทำผิดไม่กล้าเสี่ยงที่จะกระทำผิด ดังนั้นแนวทางการป้องกันอาชญากรรมแนวนี้จึงมีส่วนสัมพันธ์กับการควบคุมและลงโทษตามแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย เพราะหากการลงโทษไม่เหมาะสมหรือไม่มีประสิทธิภาพแล้วผู้กระทำผิดก็พร้อมที่จะเสี่ยงกระทำผิดมากขึ้นแม้จะถูกยับยั้งจากการจัดสภาพแวดล้อมก็ตาม

การจัดตัวแบบในการป้องกันอาชญากรรมออกเป็นสามแนวดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสอดคล้องระหว่างความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของอาชญากรรมกับการดำเนินการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการที่สำนักความคิดของอาชญาวิทยาสำนักปฏิฐานนิยม (Positivism) ซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุอาชญากรรมว่าเป็นผลมาจากบุคลิกภาพที่ถูกกดดันจากความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือจากความบกพร่องของสังคมเอง การป้องกันอาชญากรรมจึงเน้นที่การแก้ไขหรือป้องกันมิให้เกิดสภาพดังกล่าวขึ้น ในขณะที่แนวทางของสำนักคลาสสิก (classical) มีความเชื่อว่าอาชญากรรมเป็นผลมาจากความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมายซึ่งทำให้คนไม่เกรงกลัว ดังนั้นแนวทางในการป้องกันจึงต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สาหรับผู้ที่ยึดถือแนวทางการลดช่องโอกาสก็เช่นกัน มีความเชื่อว่าอาชญากรรมเป็นผลมาจากช่องโอกาสเปิดว่างในการกระทำผิด ดังนั้นจึงต้องป้องกันโดยการตัดช่องโอกาส เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า การป้องกันอาชญากรรมในแต่ละแนวก็จะมีข้อจำกัด หรือมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งอยู่ทุกแนวทาง

แนวทางการแก้ไขสภาพสังคมมีข้อจำกัดตรงที่ การเข้าเปลี่ยนแปลงหรือขจัดสภาพสังคมที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมนั้น เป็นเรื่องนามธรรมและทำได้ยาก นอกจากนี้แนวทางนี้ยังไม่คำนึงถึงปัจจัยในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องควบคุมพฤติกรรมของบุคคล ในทางตรงกันข้ามแนวทางการบังคับใช้กฎหมายก็มีจุดอ่อนตรงที่ไม่คำนึงถึงสิ่งที่มากดดันให้คนกระทำผิดคงพิจารณาแต่เพียงว่า เมื่อมีการลงโทษแล้วคนจะเกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิด ซึ่งที่จริงแล้วสภาพแวดล้อมทางสังคมก็มีส่วนกำหนดให้คนกล้าเสี่ยงที่จะทำผิดมากน้อยต่างกันด้วย สาหรับแนวทางการตัดช่องโอกาสก็มีจุดอ่อนที่การเคลื่อนย้ายอาชญากรรมหากแม้เราจะตัดช่องโอกาสในการกระทำผิดในสถานที่หนึ่งหรือชุมชนหนึ่งได้ แต่อาชญากรที่ถูกสร้างขึ้นมาจากสภาพความเหลวแหลกของสังคมก็จะเปลี่ยนไปเลือกเหยื่อในที่อื่นที่ซึ่งโอกาสเปิดช่องให้นั้นเอง ดังนั้นจึงเป็นเพียงการย้ายอาชญากรรมจากที่หนึ่งไปเกิดในอีกที่หนึ่งเท่านั้นเอง

กล่าวโดยสรุป ปัญหาเกี่ยวกับความหมายของ “การป้องกันอาชญากรรม” เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันในทางอาชญาวิทยามาเป็นเวลานาน แม้จะมีการหันไปใช้คำว่า การควบคุมอาชญากรรมแทนก็ตาม นักอาชญาวิทยาจึงได้หันมาพิจารณาถึงขอบเขตระดับและตัวแบบของการป้องกันอาชญากรรม เพื่อให้เห็นภาพพจน์และขอบเขตของกิจกรรมในการป้องกันอาชญากรรมที่สื่อความหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงได้มีผู้ที่พยายามจะเสนอตัวแบบในการป้องกันอาชญากรรมอยู่หลายตัวแบบด้วยกัน แต่ตัวแบบที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็คือตัวแบบที่ยึดแนวการป้องกันอาชญากรรม 3 แนวคือ แนวทางการบังคับใช้กฎหมาย แนวทางการขจัดเงื่อนไขในสังคมและแนวทางการลดช่องโอกาสในการกระทำผิด

หมายเลขบันทึก: 419100เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2011 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท