ถึงเวลาหรือยัง สำหรับเรือนจำเอกชนในประเทศไทย?


“ถึงเวลาหรือยัง  สำหรับเรือนจำเอกชนในประเทศไทย”

                                                                            นัทธี  จิตสว่าง

การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต้องขังอย่างรวดเร็วในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จาก 155,000 คน เป็น 205,000 คน โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระบบราชทัณฑ์ของไทยได้ขยายตัวตามไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การก่อสร้างเรือนจำเพิ่มปรากฏเป็นประจำทุกปี การขยายตัวของงบประมาณและจำนวนเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งจำเป็นตามมา เมื่อมีเรือนจำและผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น

องค์กรราชทัณฑ์เริ่มเป็นองค์กรที่ใหญ่โต  อุ้ยอ้าย  เรือนจำหลายแห่งมีจำนวนผู้ต้องขังเกินกว่า 5,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินกว่าที่จะยอมรับกันในระดับสากลว่า จะสามารถบริหารดูแลได้อย่างทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ

การขาดการตรวจสอบ ประเมินผลที่เป็นรูปธรรม และขาดคู่แข่งที่จะมาเปรียบเทียบในเชิงการบริหารและบริการ ทำให้การพัฒนาองค์กรเป็นไปได้ช้า

แนวคิดที่จะให้เอกชนเข้ามาบริหารงานเรือนจำแทนรัฐจึงเกิดขึ้น โดยเชื่อกันว่าเอกชนจะบริหารงานได้คล่องตัวกว่า ประหยัดกว่า และช่วยหยุดยั้งการขยายตัวของระบบราชการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้

ที่จริงแล้ว เอกชนเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานเรือนจำอย่างแพร่หลายแล้วในต่างประเทศ ปัจจุบันมีบริษัทรับจ้างบริหารงานเรือนจำเกิดขึ้นหลายบริษัท ที่มีหลักฐานมั่นคงมีประมาณ 23 บริษัท บริษัทที่มีชื่อเสียง เช่น Cornell Corrections Inc., Wackenhutt  Corrections Corporation และ Corrections Corporation of America บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่รับจ้างบริหารงานเรือนจำในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐ ออสเตรเลีย และอังกฤษ เฉพาะบริษัท Corrections Corporation of America มีเรือนจำที่เข้าไปบริหารอยู่ 82 แห่ง รวมผู้ต้องขังที่อยู่ในความดูแล 72,000 คน

การบริหารเรือนจำเอกชน นับเป็นบริการที่บริษัทเอกชนเข้ามารับงานจากรัฐเช่นเดียวกับที่บริษัทรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่ราชการ สนามบิน สนามกีฬา การขนย้ายทรัพย์สิน และอื่น ๆ จึงมีบริษัทรักษาความปลอดภัยหลายบริษัทที่ขยายบริการมารับดำเนินกิจการในการบริหารงานเรือนจำ แต่โดยที่การบริหารงานเรือนจำค่อนข้างจะมีลักษณะที่พิเศษแตกต่างไปจากงานการรักษาความปลอดภัยทั่วไป จึงมีบริษัทรักษาความปลอดภัยหลายบริษัทที่ตั้งบริษัทในเครือขึ้นมาบริหารงานเรือนจำโดยเฉพาะ

ในการเข้ามาบริหารงานเรือนจำของบริษัทเอกชนนั้น รัฐจะเป็นฝ่ายกำหนดมาตรฐานในการทำงานให้เอกชนดำเนินการ มีการตกลงทำสัญญาให้มีการดำเนินการตามที่ได้กำหนด เช่น ในเรื่องการควบคุมผู้ต้องขังมิให้หลบหนี การจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง การจัดสวัสดิการ และการให้การศึกษาผู้ต้องขัง เป็นต้น หากปฏิบัติไม่ได้ตามมาตรฐาน อาจกำหนดเป็นค่าปรับ หรือเป็นเหตุให้ยกเลิกสัญญาได้ แต่หากปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะมีโบนัสให้กับบริษัท ทั้งนี้ โดยจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมทุกระยะ รัฐจะจ่ายเงินจ้างเหมาในการดำเนินการให้บริษัทเอกชน รวมทั้งแก้ไขกฎหมายให้พนักงานของเรือนจำเอกชนมีอำนาจในการควบคุมผู้ต้องขังและปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือให้ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

การเข้ามาบริหารงานเรือนจำของภาคเอกชนอาจเข้ามาบริหารงานทั้งเรือนจำ หรือตัดโอนภารกิจบางส่วนให้เอกชนดำเนินการ เช่น ด้านการแพทย์และอนามัยผู้ต้องขัง อาจจ้างคลินิกเอกชนมาดำเนินการ ด้านการฝึกวิชาชีพ ด้านการจัดการศึกษา หรือการจัดกิจกรรมบำบัด เช่น ชุมชนบำบัด เป็นต้น

ในการให้เอกชนเข้ามาบริหารงานเรือนจำทั้งระบบ อาจทำได้ในรูปที่เอกชนลงทุนออกแบบและก่อสร้างเรือนจำเองแล้วเข้ามาบริหาร หรือรัฐเป็นผู้ก่อสร้างเรือนจำแล้วทำสัญญาให้เอกชนเข้ามาบริหาร ถ้าเป็นกรณีแรกรัฐก็ต้องผ่อนจ่ายค่าก่อสร้างเรือนจำให้เอกชนอีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากค่าจ้างในการบริหารเรือนจำ

เหตุผลหลักของการให้เอกชนเข้ามาบริหารงานเรือนจำอยู่ที่ประเด็นเรื่องประสิทธิภาพ ที่เชื่อกันว่าภาคเอกชนจะบริหารงานได้คล่องตัวมากกว่า เพราะมีขนาดกะทัดรัด ไม่มีกฎระเบียบดังเช่นระบบราชการ ซึ่งจะทำให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ โดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการบริหารงานโดยภาครัฐ ขณะเดียวกันก็เป็นการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของภาครัฐที่ไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะการเพิ่มอัตรากำลังคน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามจากหลายฝ่ายในประเทศไทยในการที่จะให้มีการถ่ายโอนงานเรือนจำไปให้เอกชนดำเนินการ เพื่อมุ่งสกัดการขยายตัวของภาคราชการ

แต่ข้อเท็จจริงของเรือนจำในประเทศไทยต่างจากเรือนจำในประเทศตะวันตก จึงทำให้เกิดข้อโต้แย้งบางประการสำหรับเรือนจำเอกชน เช่น ในประเทศไทยประเด็นที่เอกชนมาใช้อำนาจรัฐในการควบคุมเอกชนด้วยกันเอง เรื่องความน่าเชื่อถือ และเรื่องความรับผิดชอบของเรือนจำเอกชนจะมีแค่ไหน มั่นคงแค่ไหน เนื่องจากความรับผิดชอบของภาคเอกชนในประเทศไทยในเรื่องนี้ยังไม่มีผลงานที่เด่นชัด นอกจากนี้เรือนจำเอกชนจะคัดสรรแต่ผู้ต้องขังที่ปกครองง่าย คงเหลือแต่ผู้ต้องขังดื้อด้านไว้ในเรือนจำของรัฐ ทำให้การบริหารงานเรือนจำของรัฐประสบปัญหา หรือเรื่องการพยายามลดค่าใช้จ่ายของเรือนจำเอกชนเพื่อให้ได้ผลกำไร ทำให้สวัสดิการของผู้ต้องขังแย่ลงหรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้  เรือนจำเอกชนยังไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้เพราะเรือนจำเอกชนไม่สามารถรองรับการระบายผู้ต้องขังจากเรือนจำ อื่น ๆ จนเกินความจุของเรือนจำเอกชนได้ เนื่องจากจะกระทบต่อมาตรฐานในการทำงานตามสัญญา ในขณะที่เรือนจำเอกชนอาจใช้พนักงาน 100 คน ดูแลผู้ต้อง 1,000  คน โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ในขณะที่เรือนจำของรัฐสามารถใช้คน 100 คน คุมผู้ต้องขัง 3,000 คน โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทเช่นกัน ค่าใช้จ่ายต่อคนของผู้ต้องขังในเรือนจำเอกชนจึงจะต้องสูงกว่าเรือนจำของรัฐ

กล่าวกันว่าเรือนจำเอกชนจึงมิใช่คำตอบของการของการแก้ปัญหานักโทษล้นคุก เพราะคำตอบของการแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุกน่าจะอยู่ที่การดำเนินการตามนโนบายทางอาญาตามหลักทัณฑวิทยา ในการใช้มาตรการเลี่ยงโทษจำคุกให้มากขึ้น เพื่อกันคนที่ไม่จำเป็นต้องส่งเข้าไปควบคุมในเรือนจำออกไปดูแลในชุมชน หรือระบายผู้ต้องขังที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคมออกจากเรือนจำ โดยมีการควบคุมความประพฤติ และให้เรือนจำเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่จำเป็นจะต้องได้รับการควบคุมอย่างแท้จริง

แม้ว่าในการให้เอกชนเข้ามาดำเนินกิจการแทนรัฐจะมีข้อคัดค้านได้หลายประการดังกล่าว แต่ด้วยเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงบทบาทของรัฐในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการทบทวนการเข้ามีส่วนร่วมของเอกชนในกิจการเรือนจำ โดยถือว่าเอกชนสามารถเข้ามาบริหารงานบริการแทนรัฐหลายเรื่อง เช่น โทรศัพท์ ประปา ไฟฟ้า โรงพยาบาล โรงเรียน  การเรือนจำก็น่าจะเป็นกิจการที่เอกชนน่าจะเข้ามาดำเนินกิจการแทนรัฐได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่าเอกชนมิได้เข้ามาดำเนินกิจการแทนรัฐทั้งหมด เพราะเอกชนอาจจะเข้ามาบริหารงานเรือนจำบางประเภทเท่านั้น เช่น เรือนจำพิเศษซึ่งขังผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ยังไม่ถือเป็นนักโทษ ทัณฑสถานวัยหนุ่มหรือทัณฑสถานบำบัดพิเศษ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่ไม่จำเป็นต้องควบคุมอย่างเข้มแข็ง

เรือนจำเอกชนจะช่วยหยุดยั้งการเจริญเติบโตของระบบราชการอย่างไม่มีขีดจำกัด และเป็นข้อเปรียบเทียบการบริหาร โดยรัฐซึ่งถูกผูกขาดมานาน ทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหาร วางระบบในการประเมินผลที่เป็นรูปธรรมและมีมาตรฐาน

การนำเอาระบบเรือนจำเอกชนมาใช้ในประเทศไทย จึงน่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนางานราชทัณฑ์

 

              ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการมีเรือนจำเอกชนในประเทศไทย !     

 

 

หมายเลขบันทึก: 418632เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2011 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท