youtube โยคะ ๒


การที่ข้อต่างๆยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ผมรู้สึกว่า การกระจายแรงโดยเฉพาะระหว่างกระดูกสันหลัง ข้อสะโพกและข้อเข่า ได้สัดส่วนมากกว่าเดิม ที่ผมมักเคยชินกับการถ่ายน้ำหนักลงข้อเข่ามากไม่จะยืน เดิน ก้ม บิด พร้อมกันนั้นอาการปวดข้อเข่าก็ดีขึ้น แม้ว่าผมเชื่อจนวินาทีนี้ว่า ภาวะข้อเข่าเสื่อมที่มีมาแต่เดิมจะไม่มีวันหายก็ตาม

ล่วงเข้าเดือนที่ ๔ ภายหลังบาดเจ็บเส้นประสาท  ผมบอกกับตัวเองว่า พร้อมจะกลับไปเล่นแบดมินตันตามคำเชิญของเพื่อนๆ(วัยอ่อนกว่าผมทุกคน) และความตระหนักอยู่เสมอว่า หากปรารถนาจะเป็นอิสระให้มากที่สุดแม้วัยจะล่วงเลย ก็ต้องหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งต้องอาศัยฉันทะเป็นเหตุนำ

ในเวลานั้น ไม่มีวิธีออกกำลังกายอื่นใด นอกจากแบดมินตันที่ผมรู้สึกสนุกสนานทุกครั้งที่ได้เล่น  อย่างไรก็ตาม ใครเลยจะฝืนสังขารได้นาน  การหวนกลับสนามแบดมินตันครั้งนี้ สัญญาณใหม่จากสังขาร บอกว่า ฉันไม่ไหวแล้วจ้า

ข้อศอก ข้อไหล่ และข้อเข่า(เจ้าเดิม) ล้วนประสานเสียงมโหฬี กึกก้องทุกครั้งที่เล่นแบดมินตันว่า "ปวด"ๆๆๆๆ  หลังเล่นเสร็จแทนที่จะสบายตัว กลับต้องเผชิญกับเสียงดังในข้อทั้งสาม ผสานความปวดที่แม้ทนได้แต่ก็ไม่เคยประสบมากเท่านี้มาก่อน

ความรู้ที่เรียนมา ชวนให้ตีความว่า นี่ไม่ใช่อาการบาดเจ็บเอ็นและกล้ามเนื้อแบบเฉียบพลันที่จะหายไปด้วยการพัก๓-๔วันอย่างเคย มันคือสัญญาณของข้อเสื่อมที่มีแต่จะทรุดกับทรงถ้าฝืนสังขารต่อไป ผมจึงบอกกับเพื่อนๆว่า ขอพักชั่วคราว

นั่นคือ ๘เดือนมาแล้วที่ผมไม่ได้แตะไม่แบดมินตันอีกเลย  

และคือ ๘เดือนที่ผมเริ่มฝึกฝนโยคะภายหลังการฝีึกไทเก็ก โดยค้นคว้าเองจากyoutube

ยังจำได้แม่นว่า ครั้งแรกๆที่เริ่มเล่น ท่าแมว ท่าสุนัขโ่ด่งก้น(downward facing dog pose)  ทั้งลำแขนสองข้างโดยเฉพาะข้างซ้าย(ซึ่งไม่ถนัด) ออกอาการสั่น ปวดตั้งแต่ข้อมือเรื่อยขึ้นมาถึงข้อไหล่ ทั้งๆที่ ลองเล่นเพียงไม่กี่อึดใจ แต่สังเกตว่า เมื่อเล่นเสร็จอาการปวดก็ทุเลาภายในไม่เกินข้ามวัน เลยตีความว่า น่าจะลองต่อไป

ผ่านไป ๒ สปด.กับการเล่นไทเก็ก๑๕นาที แล้วตามด้วยโยคะทุกวันเช้า เช้าละ๑ชั่วโมง ผมพบว่า อาการสั่นและปวดดีขึ้นมาก ผมอยู่กับท่าต่างๆได้นานขึ้น เมื่อเล่นเสร็จก็มีอาการปวดหลงเหลือน้อยลง สังเกตว่า ข้อมือทั้งสองที่เคยฝืด กลับยืดหยุ่นมากขึ้น  

การที่ข้อต่างๆยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ผมรู้สึกว่า การกระจายแรงโดยเฉพาะระหว่างกระดูกสันหลัง ข้อสะโพกและข้อเข่า ได้สัดส่วนมากกว่าเดิม ที่ผมมักเคยชินกับการถ่ายน้ำหนักลงข้อเข่ามากไม่ว่าจะยืน เดิน ก้ม บิด  พร้อมกันนั้นอาการปวดข้อเข่าก็ดีขึ้น แม้ว่าผมเชื่อจนวินาทีนี้ว่า ภาวะข้อเข่าเสื่อมที่มีมาแต่เดิมจะไม่มีวันหายก็ตาม

ผมอยู่กับข้อเข่าเสื่อมมาเกินกว่า ๑๐ ปีโดยกินยาลดการอักเสบ(NSAID)และพาราเซทตามอล รวมกันไม่ถึง ๑๐๐ เม็ด  นอกจากอาศัยความอดทน ก็ได้ความกรุณาจากภรรยา(คุณสุภาษร) คอยนวดให้เป็นครั้งคราว โดยใช้ยานวดบ้าง(รวมยาลดการอักเสบชนิดทาด้วยแต่เชื่อว่าไม่ค่อยได้ผลแตกต่างจากไม่ใช้) ใช้การปะคบร้อนซึ่งบรรเทาปวดได้ดีในเวลาสั้น  

๘ เดือนมานี้ ผมแทบจะไม่ต้องพึ่งสิ่งต่างๆดังกล่าวอีก ผมสามารถยืนบรรยายนานเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็ม จากที่ต้องอาศัยการนั่งเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการเดินและยืนนานกว่าหนึ่งชั่วโมงยังเกินความสามารถในขณะนี้ ครับ

สัปดาห์ก่อนปีใหม่ ได้ร่วมสอนวิชาระบาดวิทยาคลินิกกับอาจารย์รุ่นลูกศิษย์ เมื่อจบการสอน เราคุยกันสั้นๆเพราะไม่ได้พบกันเสียนาน  ก่อนจบการสนทนา เธอถามผมว่า อาจารย์ได้ประโยชน์อะไรจากการเล่นโยคะ  ผมเลยชี้ไปที่ตัวเธอและลูกศิษย์ปี๓ที่ยังอยู่ในห้องจำนวนหนึี่ง ว่า ความต่างระหว่างผม กับคนรุ่นหนุ่มสาวกว่า  คือ ผมสวมเสื้อแขนสั้น ในห้องบรรยายปรับอากาศ แต่พวกเธอสวมเสื้อแจ๊กเกทเสริมเพื่อกันหนาวตลอด ๓ ชั่วโมงของการเรียนวิชานั้น  สีหน้าของเธอบอกชัดเจนว่า เธอเข้าใจอานิสงของการออกกำลังกายสม่ำเสมอ(ไม่จำเป็นต้องเป็นโยคะ หรือไทเก็ก) 

ตัวผมในอดีต และหมออีกจำนวนมากซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางการแพทย์มาก กลับละเลยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นเรื่องที่ชี้ชัดว่า ความรู้กับการกระทำไม่จำเป็นต้องไปด้วยกัน  

การกระทำจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเงื่อนไขภายในของแต่ละคน และกับบริบทแวดล้อม สำหรับผม วันที่รพ.รามาธิบดีสร้างศูนย์กีฬาขึ้น มีความหมายต่อชีวิตผมในฐานะบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เป็นโอกาสให้ผมได้ออกกำลังกาย และที่ปฎิเสธไม่ได้คือ เพื่อนใกล้ชิดจำนวนหนึี่งที่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของบริบท ชักนำการกระทำของผม ครับ

หมายเลขบันทึก: 417849เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2011 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท