ชีวิตที่พอเพียง : 1153(3) ทบทวนชีวิตที่พอเพียงในปี ๒๕๕๓


งานของหลากหลายองค์กรเหล่านี้มันเกี่ยวโยงกัน synergy กัน ทำให้ผมมีโอกาสฝึกฝนการทำหน้าที่ “ช่างเชื่อม” สร้างพลังร่วมมือเพื่อทำงานสร้างสรรค์สังคม โดยงานทั้งหมดนั้นผมไม่ใช่ผู้ลงมือดำเนินการ และไม่ใช่เจ้าของความสำเร็จ เจ้าของความสำเร็จคือผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารองค์กรเหล่านั้น ผมทำหน้าที่เป็นเพียง “กองเชียร์” และ “กองชื่นชม” ทำหน้าที่ เชียร์ ชี้ ชวน ชม ให้เกิดพลังของคุณค่าในการทำงานเหล่านั้น แค่นี้ผมก็มีความสุขล้นเหลือ

ชีวิตที่พอเพียง  : 1153(3) ทบทวนชีวิตที่พอเพียงในปี ๒๕๕๓

ผมเป็นคนเกิดปีม้า ผู้ใหญ่ทำนายไว้ว่าชีวิตจะควบไม่หยุด   ซึ่งมาจนบัดนี้ปรากฏว่าเป็นความจริง  คือผมเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบควบไปข้างหน้า ไม่ค่อยมีเวลาปัดกวาดจัดระบบสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว   บ้านจึงรกรุงรัง สมองก็รกด้วย   มีผลให้จำอะไรไม่ค่อยได้ ค้นหาเอกสารไม่ค่อยพบ

การได้มีเวลาทบทวนตนเองจึงเป็นสิ่งที่ดี   เมื่อต้นปี ๒๕๕๓ ผมได้ลงบันทึกทบทวนชีวิตในปี ๒๕๕๒ ไว้ที่นี่

งานที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องในปี ๒๕๕๓   และทำให้ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่มีคุณค่า และมีการเรียนรู้สูง ได้แก่

  •   R2R ทั้งของศิริราช  และของระบบสุขภาพที่ สวรส. เข้าไปหนุน   ได้เดินเข้าสู่สภาพที่เกิดเครือข่ายและ node ในภาคต่างๆ   ดำเนินการกันเอง ใช้ทรัพยากรของตนเอง   โดยมีกลไกคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการดำเนินการ รวมทั้งการประชุมประจำปี และการประชุม ลปรร. คุณอำนวย ที่ สวรส. ออกค่าใช้จ่าย   มีแนวโน้มจะดำเนินการต่อเนื่องยั่งยืน

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ เป็นต้นไป นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ จะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการอำนวยการ   เป็นกัปตันของการขับเคลื่อน R2R ในระบบสุขภาพไทยแทนผม   โดยผมขยับไปเป็นที่ปรึกษา   ผมภูมิใจที่ได้สร้างความต่อเนื่องของภาวะผู้นำในระบบ R2R ประเทศไทย

ในปีที่แล้วผมได้บันทึกเรื่อง R2R ไว้ที่นี่ และที่นี่   

  •   กลไกกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา   ที่คนมักเข้าใจว่า กกอ. / สกอ. รับผิดชอบนั้น   ในปี ๒๕๕๓ มีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมของการก่อตั้งระบบ “สมอง” ของกลไกกำกับดูแล  คือการวิจัยระบบอุดมศึกษา   ดำเนินการโดยสถาบันคลังสมองของชาติ (สคช.) อย่างเห็นได้ชัดว่าต่อไปจะเกิดคุณูปการต่อระบบกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาแบบ knowledge-based  ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาอีกจำนวนมาก (เช่นสำนักงบประมาณ  สมศ.  กพร.  เป็นต้น) ร่วมกันทำให้ระบบอุดมศึกษาเหมาะสมต่อสังคมไทยยิ่งขึ้น

การสร้างความรู้ความเข้าใจการทำหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณค่า   เริ่มในปี ๒๕๕๓ นี้ โดยโครงการจัดตั้งสถาบันธรรมาภิบาลอุดมศึกษา ในสังกัด สคช. ได้จัดหลักสูตรธรรมภิบาลเพื่อพัฒนาอุดมศึกษา รวม ๓ รุ่น  และมั่นใจแล้วว่าเป็นที่ยอมรับในวงการอุดมศึกษา   

มีการเอาจริงเอาจังกวดขันเรื่องคุณภาพในหลายเรื่อง ได้แก่ การจัดหลักสูตรการศึกษานอกสถานที่ตั้ง   การหลอกลวงนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรที่ไม่ผ่านการอนุมัติของสถาบันวิชาชีพ,  TQF,  ปริญญาปลอม เป็นต้น

การริเริ่มใหม่ๆ ที่กำลังก่อตัว ได้แก่ วิชาการสายรับใช้สังคมไทย,  โครงการ ๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัย,  การกำกับดูแลอุดมศึกษาโดยสังคมเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบคุ้มครองผู้บริโภค

สภามหาวิทยาลัยของหลายมหาวิทยาลัยที่ผมเป็นกรรมการ กำลังเดินหน้าหาแนวทางทำหน้าที่กำกับดูแลแบบเพิ่มคุณค่าให้แก่มหาวิทยาลัย และแบบที่ทำให้มหาวิทยาลัยเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคม (University Social Responsibility)   

  •   ครูเพื่อศิษย์  ปี ๒๕๕๓ เป็นปีแห่งการขยายอุดมการณ์ แต่ยังไปไม่ถึงปฏิบัติการเครือข่ายครูเพื่อศิษย์   หนังสือเล่มเล็ก สู่เส้นทางแห่งอาจาริยบูชา  ”ครูเพื่อศิษย์”  ได้รับความนิยมแพร่หลาย   สสค. ตีพิมพ์เพิ่มอีก ๓,๐๐๐ เล่ม สำหรับเอาไปกระตุ้นแรงบันดาลใจของครู   และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ขอนำไปตีพิมพ์โดยเพิ่มบันทึกใหม่ๆ ในปี ๒๕๕๓  รวมทั้งบันทึกของคุณเอก เป็นหนังสือเล่มใหญ่ชื่อ ครูเพื่อศิษย์ เติมหัวใจให้การศึกษา   ออกเผยแพร่   และผมได้ไปบรรยายหลังอาหารเย็นแนะนำหนังสือนี้เมื่อวันที่ ๑ ธ.ค. ๕๓ ชม narrated ppt ของการบรรยายได้ที่นี่  

ในปี ๒๕๕๔ ผมจะลงบันทึกเรื่องทักษะครูเพื่อศิษย์ ขยายจากมิติจิตใจ สู่มิติปัญญาปฏิบัติ คือทักษะครูเพื่อศิษย์ ในการทำหน้าที่ โค้ช หรือ “คุณอำนวย” (facilitator) ในการฝึกฝน 21st Century Skills ให้แก่ศิษย์

ทักษะการฝึกฝน 21st Century Skills นี้ต้องทำผ่านการจัดการเรียนรู้แบบ PBL   ซึ่งจะเชื่อมโยงสู่ขบวนการสร้างความใกล้ชิดระหว่างอุดมศึกษากับสังคมไทย  ช่วยทำให้บัณฑิตไทยรู้จักสังคมไทย

  •   การจัดการความรู้  ปี ๒๕๕๓ เป็นปีที่ สคส. หยั่งรากความเป็น SE (Social Enterprise) อย่างมั่นใจ   มีการจัดมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๓ พ.ย. ๕๓  โดยมี Prof. Nonaka มาเป็น keynote speaker  และมีหน่วยงานยักษ์ใหญ่ในภาคเอกชนเข้ามาเป็นภาคีร่วมจัด   เป็นมิติใหม่ของวงการ KM ประเทศไทย

ปี ๒๕๕๓ เป็นปีที่ผมห่างจาก สคส. ยิ่งขึ้น  เนื่องจากภารกิจอื่นมากขึ้น   และเนื่องจากเห็นว่า สคส. ภายใต้ภาวะผู้นำของ ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด ดำเนินไปได้สวย

แต่ผมก็ยังเขียนบันทึก KM วันละคำ ทุกสัปดาห์ แสดงว่าใจของผมยังอยู่กับเรื่อง KM ไม่จืดจาง

สรพ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้นกว่าสมัยเป็น พรพ.  คือต้องขับเคลื่อนวัฒนธรรมคุณภาพของประเทศร่วมกับองค์กรที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกันในภาคส่วนอื่น  ต้องทำงานเชิง macro – micro ให้เกิด synergy   และขยายฐานลงสู่สถานพยาบาลระดับชุมชนด้วย   ซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่หลวงที่ผมในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารต้องเข้าไปช่วยขับเคลื่อน โดยทำหน้าที่กำกับดูแลเชิง strategic และ generative  เป็นงานหนักของปี ๒๕๕๔

เป็นการทำงานเพื่อสังคมที่ให้ความสุข ความภาคภูมิใจในชีวิต ที่ได้ทำงานเพื่อสังคมในหลากหลายมิติ

ที่เป็นงานวางรากฐานในปี ๒๕๕๓ และมีทีท่าว่าวิธีการจัดการที่เราร่วมกันพัฒนาขึ้นน่าจะดำเนินไปถูกทาง และจะสร้างคุณูปการแก่สังคมไทยอย่างใหญ่หลวงในอนาคตคือ โครงการเยาวชน มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ผมเคยบันทึกไว้ที่นี่ และ ที่นี่  

เยาวชนเป็นอนาคตของชาติ เป็นสินทรัพย์ของแผ่นดิน  ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว หาก stimulate และ facilitate ให้ดี   ให้เขาได้ใช้แรงบันดาลใจของเขาทำสิ่งที่สอดคล้องกันระหว่างแรงบันดาลใจส่วนตัว กับผลประโยชน์ของส่วนรวม  ก็จะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้จากการลงมือทำของเขา และฝึกฝนทักษะสำหรับเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าต่อสังคม  นี่คืออุดมการณ์ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ในการทำงานสนับสนุนเครือข่ายพูนพลังเยาวชน   เป็นอีกงานหนึ่งที่ผมมีความสุขที่ชีวิตนี้ได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้อง 

  •   สกว.  ผมไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของ สกว. มาเกือบ ๑๐ ปี   แต่ความผูกพันเชิงไมตรีจิตซึ่งกันและกันยังมีอย่างต่อเนื่อง   โดยเวลานี้ผมเกี่ยวข้องกับ สกว. โดยตรงเฉพาะที่เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก   และเป็นประธานคณะกรรการชี้ทิศทางโครงการ LLEN  

วงการจัดการงานวิจัยเขายังจัดให้ผมเป็นคนในวงการอยู่   ปรากฏการณ์ใหม่ในวงการจัดการงานวิจัยไทยในปี ๒๕๕๓ คือเกิดเครือข่ายองค์กรด้านการวิจัย   ประชุมกันอย่างสม่ำเสมอโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพทุกๆ ๓ เดือน   เพื่อสร้างความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม  ผมได้บันทึกความประทับใจไว้ที่นี่ 

 

งานของหลากหลายองค์กรเหล่านี้มันเกี่ยวโยงกัน  synergy กัน ทำให้ผมมีโอกาสฝึกฝนการทำหน้าที่ “ช่างเชื่อม” สร้างพลังร่วมมือเพื่อทำงานสร้างสรรค์สังคม   โดยงานทั้งหมดนั้นผมไม่ใช่ผู้ลงมือดำเนินการ   และไม่ใช่เจ้าของความสำเร็จ   เจ้าของความสำเร็จคือผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารองค์กรเหล่านั้น   ผมทำหน้าที่เป็นเพียง “กองเชียร์” และ “กองชื่นชม” ทำหน้าที่ เชียร์  ชี้  ชวน  ชม ให้เกิดพลังของคุณค่าในการทำงานเหล่านั้น   แค่นี้ผมก็มีความสุขล้นเหลือ

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๔

                      

หมายเลขบันทึก: 417666เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2011 06:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์
  • ขอองค์กรจงมี synergy ตลอดไปครับ

     

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

    กระผมก็เกิดปีมะเมียเช่นเดียวกัน แต่กระผมคิดว่ากระผมเป็นปีมะเมียแบบนักสู้ซะมากกว่า เป็นการต่อสู้ เพื่อการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน และเพื่อตอบตนเองได้ว่าเกิดมาว่าชาตินี้ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่อยู่บนขาตัวเองได้ เช่นกันก็ไม่ลืมว่าเ ราก็ควรร่วมสร้างสังคมที่สันติสุข ตามสติปัญญาที่ตนเองได้พากเพียรมา และ ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร หวังว่าประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยให้ความเป็นครูอาจารย์มีความสมบูรณ์ขึ้น ตามหน้าที่และบทบาทของกระผมเองที่ได้รับผิดชอบ และทำบทบาทหน้าที่นั้นเพื่อให้เป็นไปโดยธรรม

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

อนุโมทนา

และขอบพระคุณ

สำหรับสิ่งที่ท่านทำเพื่อผู้อื่นเสมอมาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท