"กบข." ขอเคลียร์ปมบำนาญ 2 มาตรฐาน


เสียงสะท้อนจากข้าราชการใกล้วัยเกษียณต่อกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.) ในระยะหลัง ๆ นี้ เป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก จากหลายปมปัญหาที่ขมวดมัดกันอยู่คาใจข้าราชการ

เสียงสะท้อนจากข้าราชการใกล้วัยเกษียณต่อกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.) ในระยะหลัง ๆ นี้ เป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก จากหลายปมปัญหาที่ขมวดมัดกันอยู่คาใจข้าราชการ  โดยเฉพาะข้าราชการผู้น้อย ที่คุกรุ่น รุนแรง มากขึ้น นับตั้งแต่ปี'51 ที่ กบข. บริหารขาดทุน จนทำให้สมาชิกเสียขวัญกำลังใจ หรือจะเป็นปมคำถามวิธีการคำนวณการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญรูปแบบใหม่ ที่สมาชิก กบข.บางกลุ่มรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ถูกหลอกลวงแล้วยังมีอีกหลายปัญหาสารพัด สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสมาชิกที่มีต่อกองทุนนั้นเริ่มหดหายไป คำถามคือมันเกิดอะไรขึ้น อะไรคือข้อเท็จจริง ในฝั่งผู้บริหาร กบข. เขาคิดกันอย่างไร ใครมีหน้าที่ดูแลการจ่ายบำนาญ น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการคณะกรรมการ กบข.ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ข่าวสด" เปิดใจกรณีปัญหาความไม่เข้าใจของสมาชิกข้าราชการ  โดยเฉพาะปัญหา วิธีการคำนวณบำนาญ ที่เป็นปัญหาค่อนข้างมากว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกินอำนาจของ กบข. จะเข้าไปแก้ไขปัญหาซึ่งยอมรับว่าการจ่ายบำนาญให้กับสมาชิกยังมีความเสียเปรียบกว่าข้าราชการที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.อยู่

       ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าปัญหาทุกวันนี้คือการที่ระบบการจ่ายบำนาญยังมีวิธีการคิด 2 แบบ แต่ความรับผิดชอบในส่วนนี้ก็ไม่ใช่ของ กบข. แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ที่จะต้องเข้าไปเร่งแก้กฎหมาย มาตรา 63 พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้รับการแก้ไข  "ถ้าพูดตามความเป็นจริง กบข.เหมือนตกเป็นจำเลยเรื่องนี้ถ้าสมาชิกเข้าใจก็จะเรียกร้องได้ตรงจุด กบข.ก็รับรู้ปัญหา และข้อเรียกร้องมาโดยตลอด ไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ที่ผ่านมาก็หารือกับกรมบัญชีกลาง ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ หารือกับรัฐมนตรีคลังก็ทำมาหมดแล้ว แต่ทำไมต้องให้เราเป็นจำเลยอยู่คนเดียว ถ้าจะด่าจะว่าให้ไปที่บัญชีกลาง ไม่ใช่ กบข."

       วิธีการจ่ายบำนาญปัจจุบันเป็นอย่างไร

       น.ส.โสภาวดี เผยต่อว่าระบบการจ่ายบำนาญในปัจจุบันมี 2 รูปแบบคือ  1. ข้าราชการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน (หมายถึงข้าราชการที่ไม่ได้สมัครใจเข้าเป็นสมาชิกกองทุน ในปีที่จัดตั้ง 27 มี.ค. 40)  จะได้รับบำนาญโดยคำนวณด้วยอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณอายุราชการ หารด้วย 50 ซึ่งจะได้รับเงินในอัตราที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้าย
       แต่หากข้าราชการตัดสินใจที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก กบข. จะได้รับวิธีการคำนวณบำนาญแบบที่ 2 คือ เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายคูณอายุราชการ หารด้วย 50  แต่บำนาญที่ได้รับต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งหากมองเฉพาะวิธีการคำนวณบำนาญแล้วจะพบว่าวิธีที่ 2 เสียเปรียบกว่าวิธีแรก  ดังนั้น รัฐบาลจึงชดเชยบำนาญในส่วนที่สูญเสียไปสำหรับข้าราชการที่เข้าเป็นสมาชิก กบข. โดยแบ่งเป็น 4 ก้อนและจะจ่ายให้สมาชิกเมื่อเกษียณอายุราชการ ประกอบด้วย  1.เงินประเดิม เพื่อชดเชยเงินที่หายไปในช่วงเวลาก่อนสมัครเป็นสมาชิก กบข. มีสูตรคำนวณชัดเจนและจ่ายเป็นเงินก้อน 2.เงินชดเชย เพื่อชดเชยเงินที่หายไปในช่วงเวลาหลังสมัครเป็นสมาชิกจ่ายเพิ่ม 2% ทุกเดือน จนกว่าจะเกษียณ ก้อนที่ 3 เงินก้อนที่รัฐหักจากเงินเดือนทุกเดือน เดือนละ 3%  เพื่อส่งเข้า กบข. เพื่อให้นำไปลงทุนบริหารให้เกิดดอกผล และ4.เงินที่รัฐสมทบให้อีก 3% เท่ากันในทุกเดือน เพื่อส่งให้ กบข.บริหารเช่นกัน

       "เมื่อตั้งกองทุนข้าราชการรุ่นเก่าเห็นว่ามีประเดิม ชดเชยสะสม สมทบ ก็สมัครใจสมัครเข้ากองทุนเข้ามาเยอะกว่า 1.06 ล้านคน แต่หลังจากนั้นมาเจอปัญหา มีการนำวิธีการคิดบำนาญแบบเก่า กับแบบใหม่มาเทียบกัน แล้วเห็นว่า
เสียประโยชน์ แต่ลืมไปแล้วว่าคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกจะได้รับเงินก้อนอีก 4 ก้อน ซึ่งไม่มีใครพูดถึงเลย"

       ความคืบหน้าแก้ไขสูตรบำนาญข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายบำนาญ 2 ระบบ  กรมบัญชีกลางก็รับทราบปัญหามานานแล้ว และเร่งดำเนินการแก้ไข โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาการแก้ไขสูตรบำนาญ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าสูตรบำนาญ กบข. เสียเปรียบเมื่อเทียบกับสูตรบำนาญเดิม โดยเห็นว่าปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดสูตรบำนาญ กบข. เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการเดิมมาก มีสาเหตุจาก อัตราผลตอบแทนเดิมประมาณการไว้ที่ 9%  แต่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 7% อัตราการขึ้นเงินเดือนข้าราชการประมาณการไว้ที่ปีละ 8% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 10% และอายุขัยเฉลี่ยในปีที่ตั้ง กบข. คือ 71 ปี แต่ปัจจุบัน 78 ปี

       ทั้งนี้ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขให้กรมบัญชีกลางพิจารณา โดยให้เพิ่มเงินประเดิมและเงินชดเชย รวมทั้งเพิ่มเงินบำนาญสูตร กบข. ให้แก่สมาชิกภาคสมัครใจ หรือให้สมาชิกภาคสมัครใจมีสิทธิ์เลือกใหม่ว่าจะรับเงินบำนาญสูตรเดิมหรือสูตร กบข. เมื่อออกจากราชการ "เข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณแน่นอน  แก้สูตรบำนาญต้องให้คลังพิจารณา เพราะมันกระทบงบประมาณ เราก็พร้อมติดตามความคืบหน้าและแจ้งให้สมาชิก กบข.ก็เข้าใจสมาชิก ที่ผ่านมารัฐบาลก็ขึ้นเงินเดือน เร่งผลักดันกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งก็ทำได้เร็ว แต่เหมือนเรื่องนี้ที่เป็นปัญหา กลับไม่ได้รับการแก้ไข แต่ทราบเท่าที่คุยกับกรมบัญชีกลางก็มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายแก้สูตรบำนาญ ก็คาดว่ากระบวนการจะได้เริ่มต้นในช่วงต้นปี'54 นี้"

       นอกเหนือจากปมประเด็นสูตรคำนวณบำนาญ สมาชิกยังมีการร้องเรียนในประเด็นอื่นเพิ่ม เช่น การเสียประโยชน์จากเงินบำนาญ การเสียประโยชน์ของข้าราชการทหาร ตำรวจตระเวนชายแดนที่เสียสิทธิ์วันทวีคูณ  แต่ก็จะถูกจำกัดกรอบไว้ที่ 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน

       น.ส.โสภาวดี กล่าวว่า ข้อร้องเรียนว่าเมื่อเป็นสมาชิกแล้วไม่สามารถลาออกได้  นั้นไม่ใช่ความผิดของ กบข. แต่เป็นแนวปฏิบัติของกฎหมายที่สนับสนุนให้เกิดการออมไว้ใช้ในยามเกษียณ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าประเด็นนี้ปะทุขึ้นมาพร้อมกับเหตุการณ์เมื่อปี'51 ที่ กบข.บริหารขาดทุน ผลตอบแทนติดลบ 5.17% 

       สำหรับตัวแปรที่มีผลต่อเงินสะสมอยู่กับ กบข. ณ ปีที่ตั้งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ถือได้ว่าเป็นปีที่อัตราดอกเบี้ยสูงมากประมาณ 9% กรมบัญชีกลางจึงประเมินว่าผลประกอบการจากการบริหารกองทุน น่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 9% เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย  ซึ่งในปีนั้น กบข. ก็สามารถบริหารกองทุนสร้างผลตอบแทนได้ถึง 10.96%  และสูงต่อเนื่องเป็น 16.51% ในปี'41  แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเติบโตปกติ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารก็ลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดสำหรับปี'53 คือเฉลี่ยประมาณ 0.5% ซึ่ง กบข. ก็สามารถสร้างผลประกอบการเป็นบวกต่อเนื่องมาทุกปีจนกระทั่งปี'51 ซึ่งเป็นปีที่เกิดปัญหาวิกฤตซัพไพรม์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก กบข.ในฐานะที่เป็นกองทุนเช่นเดียวกับกองทุนอื่น ๆ ในต่างประเทศก็ได้รับผลกระทบ ผลประกอบการในปีนั้นขาดทุนเป็นปีแรก  ขณะที่ปี'52 ผลประกอบการก็กลับมาเป็นบวกอีกครั้งเป็น 8.92% และในปี'53 (ม.ค.-พ.ย.) อยู่ที่ 7.22% ซึ่งผลประกอบการที่ชนะเงินเฟ้อ และสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเช่นนี้ถือได้ว่า กบข.ได้มีความเป็นมืออาชีพในการบริหารกองทุนไม่ต่ำกว่ากองทุนอื่น ๆ ในต่างประเทศ "เราก็ขาดทุนในปี'51 เพียงปีเดียว ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจเลวร้ายทั่วโลก ตลาดหลักทรัพย์ลดลงไป 70% แต่พอมันฟื้นตัว
ก็ฟื้นได้เร็วเป็นธรรมดาการลงทุนที่จะมีความเสี่ยง แต่ถ้าจะเอาผลตอบแทนที่จะชนะเฟ้อก็ต้องลงทุนในหุ้น ไม่อย่างนั้นจะทำไม่ได้เลย"

       ทั้งนี้ กบข.มีรูปแบบการกำหนดผลประโยชน์แบบกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution) ซึ่งเป็นแผนบำนาญ
ที่รัฐไม่ประกันผลตอบแทน ขณะที่การลงทุนก็ย่อมมีความเสี่ยงอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ แต่การขาดทุนไม่ใช่ศัตรูหลักของเงินออม เพราะศัตรูหลักคืออัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น นโยบายการลงทุนของ กบข.จึงมุ่งเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อเป็นหลัก

       สมาชิกข้าราชการกลุ่มปัญหาคือมองว่าเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ มาจากปัญหาสำคัญที่เป็นแรงดันคือเรื่องภาระหนี้สิน คนที่โวยมากที่สุดคือ ครู ตำรวจ ทหาร แต่ข้าราชการกลุ่มอื่นจะเข้าใจ แต่ถามว่าทำไม 3 กลุ่มนี้ไม่เข้าใจกันเยอะ เพราะเขามีหนี้เยอะ พอออกจากราชการเขาก็หวังจะนำเงินสะสมนี้ไปใช้หนี้สิน เลยเป็นปัญหาว่าจะมีเรื่องราวอย่างนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีทั้งที่เข้าใจและก็ทำเป็นไม่เข้าใจ  โดยปัจจุบันจากข้อมูลสมาชิกมีจำนวน 1.15 ล้านคน เป็นข้าราชการครู 4.37 แสนคนหรือคิดเป็น 37.92% ข้าราชการตำรวจ 1.74 แสนคน คิดเป็น 15.12% และข้าราชการทหาร จำนวน 1.65 แสนคน
คิดเป็น 14.34% จะเห็นได้ว่า กลุ่มที่เป็นปัญหานั้นมีสัดส่วนสูงสุดของสมาชิก กบข.ทั้งหมด "กบข.เป็นหน่วยปฏิบัติ ไม่ใช่หน่วยกำหนดนโยบาย คนจ่ายบำเหน็จบำนาญก็คือกรมบัญชีกลาง แต่เราก็จะรับปัญหาและสะท้อนกลับไปที่กรมบัญชีกลางและคอยติดตามผลต่อไป"

       น.ส.โสภาวดี ระบุว่า กบข.มีสถานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กบข. พ.ศ. 39  ค่าตอบแทนของพนักงาน กบข. ถือว่าอยู่ในขั้นต่ำของอุตสาหกรรมบริษัทจัดการหลักทรัพย์ โดยปัจจุบันอัตราการลาออกของพนักงานในฝ่ายลงทุน
มีอัตราสูงมาก เพราะค่าตอบแทนของ กบข.เฉลี่ยแล้วต่ำกว่าอุตสาหกรรมมาก การให้ผลตอบแทนที่ดีตามค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเป็นทางหนึ่งเพื่อรักษาพนักงานบุคลากรด้านการลงทุน เพื่อให้องค์กรเดินหน้า และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับ กบข.

       คำถามต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนออกมาจากสมาชิกต่อเนื่องกินระยะเวลาพอสมควร ซึ่งจากการพูดคุย กบข.ก็เคลียร์ปมใจที่มีต่อสมาชิกได้ในระดับข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ทั้งยังยืนยันว่าทุกปัญหาของสมาชิก ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมรักษาผลประโยชน์ให้กับสมาชิกเต็มที่ แต่น่าเศร้าและเหนื่อยใจคือถูกมองว่าเป็นจำเลย เอาเปรียบสมาชิก เป็นทองไม่รู้ร้อน

ข่าวสด วันที่ 27 ธันวาคม 2553

 

หมายเลขบันทึก: 416733เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2010 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท