World-Class Standard School


การจัดการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
"...บัดนี้การติดต่อกันระหว่างประเทศทั่วโลกมีมากขึ้นแล้ว ทางทะเลก็มีเรือกลไฟ ทางบกก็มีรถไฟ ความต้องการแลกเปลี่ยนสินค้ากระทำให้นานาประเทศคบหาสมาคมกัน อันเปนเหตุให้ความรู้ทั้งฝ่ายวิชาและศิลปการทำด้วยฝีมือต้องหันเหียนไปหาสิ่งที่ถูกที่ดี และที่ได้ประโยชน์ยิ่ง วิชาหรือศิลป์ใดก็แพ้เสื่อมไป หรือต้องเปลี่ยนแปลงไปให้สู้กันได้ในประเภทเดียวกัน
   อันความยิ่งหย่อนเปนลุ่มๆดอนๆ ในส่วนศิลปวิชาการทั้งปวงนี้  เมื่อครั้งการไปมาระหว่างนานาประเทศยังไม่ติดต่อถึงกันได้สะดวก ความยิ่งและหย่อนเปนลุ่มๆ ดอนๆ นี้ ก็อาจมีอาจเปนอยู่ได้ในที่ต่างๆ กัน แต่ครั้นความติดต่อกันได้มาถึงเข้าแล้วในสมัยนี้ ความรู้ในศิลปการทั้งปวง จำต้องหันเข้าหาความสม่ำเสมอเปนลำดับทุกที่
   เพราะเหตุสมัยความเปนไปของประเทศบ้านเมืองได้เปลี่ยนมาฉะนี้ จึงจำเปนต้องคิดบำรุงศิลปวิชาการทั้งปวงของเราให้เจริญขึ้น ป้องกันไม่ให้เสื่อมทรามลงไปด้วยอำนาจที่ต้องแข่งขันกันกับเขาอื่น ความทนุบำรุงและป้องกันเช่นนี้ ก็ได้แต่รีบจัดการฝึกหัดสั่งสอนกันให้เกิดความรู้ และความสามารถยิ่งยวดขึ้น..."
หนึ่งศตวรรษของพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

     ณ วันนี้ พระราชปณิธานล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เป็นจริง เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายมุ่งมั่นต่อการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษา โดยการยกระดับโรงเรียนชั้นนำของประเทศที่มีความพร้อมสู่ โรงเรียนดีมีมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นโรงเรียนที่มีระบบการพัฒนาผู้เรียน สถานศึกษา แหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม หลักสูตร และการจัดการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีนิสัยใผ่เรียนรู้ มีความสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีคุณธรรมนำความรู้รักความเป็นไทย และมีความสามารถก้าวไกลในระดับสากล หรือภายใต้โครงการ โรงเรียนมาตรฐานสากลWorld-Class Standard School

     น.ส.ขวัญชีวาวรรณพินทุ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะเลขานุการคณะทำงานโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล เปิดเผยกับ "คม ชัด ลึก" ว่าโรงเรียนมาตรฐานสากล  หรือ World-Class Standard School เป็นโรงเรียนในโครงการที่จัดหลักสูตรการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล โดยมีความมุ่งหวังไว้ว่า นักเรียนมีศักยภาพ เป็นพลเมืองโลก โดยมีโรงเรียนในโครงการทั่วประเทศรวม 500 โรงเรียนด้วยการคัดเลือกโรงเรียนที่มีศักยภาพในการต่อยอดให้บรรลุวัตถุประสงค์โครงการ ใช้ระยะเวลาดำเนินการโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2553-2555

     "วัตถุประสงค์ 1.เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพเป็นพลโลก (World Citizen) เป็นเลิศวิชาการ, สื่อสาร 2 ภาษา, ล้ำหน้าทางความคิด, ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์, ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมโลก 2.ยกระดับการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล โดยกำหนดรายวิชาเพิ่มเติมที่มีความเป็นสากล ได้แก่ ทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge) การเขียนความเรียงขั้นสูง(Extended-Essay) กิจกรรมโครงงานเพื่อสาธารณประโยชน์ (CAS : Creativity, Actions, Service)  และโลกศึกษา (Global Education) และ 3.ยกระดับการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ (Quality System Management) ซึ่งในจำนวน 500 โรง เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา 381 โรง โรงเรียนประถมศึกษา 119 โรง เฉพาะกรุงเทพฯ มี ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา, ร.ร.สามเสนวิทยาลัย, ร.ร.เทพศิรินทร์ ฯลฯ" น.ส.ขวัญชีวากล่าว

     ทั้งนี้การดำเนินการพัฒนาและยกระดับโรงเรียนมาตรฐานสากล น.ส.ขวัญชีวา ระบุว่าจะมุ่งพัฒนา 5 ด้านคือ 1.พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเทียบเคียงมาตรฐานสากล โดยนำจุดเด่นจากหลักสูตรต่าง  เช่น หลักสูตร English Program (EP) Mini English Program (MEP) International English Program (IEP)  หรือ International Baccalaureate (IB) หรือหลักสูตรความเป็นเลิศเฉพาะทางนำมาปรับหลักสูตรให้เข้มข้นเทียบเคียงกับมาตรฐานสากล

     เหนืออื่นใดจะจัดให้มีกิจกรรมการเรียนการสอน/กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน/รายวิชาเพิ่มเติม 4 วิชา ได้แก่ ทฤษฎีองค์ความรู้ (Theory of knowledge) การเขียนความเรียงขั้นสูง(Extended Essay) โลกศึกษา(Global Education) และการสร้างโครงงาน(Create Project Work) 2.พัฒนาการเรียนสาระการเรียนวิทยาศาสตร์- คณิตศาสตร์ โดยใช้ภาษาอังกฤษ ภายในปี 2555 3.พัฒนาครูผู้สอนในสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่ 2 และครูผู้สอนสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์เพื่อใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอน 4.พัฒนาผู้บริหารโรงเรียน ร่วมกับสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 5.พัฒนาระบบการบริหารโรงเรียน เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์โรงเรียนมาตรฐานสากล การบริหารจัดการระบบคุณภาพ


http://www.komchadluek.net/detail/20100427/57157/ร.ร.มาตรฐานสากลปั้นเด็กไทยเป็นพลเมืองโลก.html

หมายเลขบันทึก: 416714เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2010 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท