มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

แสงประกาย เธอจงรักษา


“พี่คะ เขาว่าหนูเป็นเด็กดอย เขาว่าหนูพูดไม่ชัด เขาว่าหนูเป็นพม่าสวมบัตร เขาว่าพ่อแม่หนูทำไร่นี่เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า....”

 แสงประกาย เธอจงรักษา

 

 

หน่อดี

 

“หนูชื่อเด็กหญิงสมร จรรยาพร้อม  เรียนอยู่ชั้น ป.5 ค่ะ ” เด็กหญิงตัวจ้อยเจื้อยแจ้วรายงานตัวกับฉัน นั่นคือวันแรกที่ฉันได้รู้จัก “น้องหมอน”

ตุลาคม 2545 เราคนหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัย เดินทางไกลไปออกค่ายอาสาฯที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอซึ่งซุกซ่อนตัวอยู่ในขุนเขาซึ่งมีลำน้ำแม่เงาพาดผ่าน และมีป้ายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตั้งตระหง่านอยู่ ณ ปากทางเข้า เหมือนจะขับไล่คนให้ออกจากป่าโดยไม่แยแสว่าใครจะอยู่ที่นี่มาเนิ่นนานเพียงไร

ที่หมู่บ้าน น้องหมอนออกมาต้อนรับฉัน ด้วยเหตุที่กรรมการค่ายอาสาจัดให้ฉันไปขออาศัยอยู่กับบ้านเธอ ความร่าเริงสดใสและช่างเจรจาของเด็กหญิงเจ้าของบ้าน ทำให้ฉันเดาได้ว่าชีวิตครึ่งเดือนกลางดอยคงจะมีสีสันไม่น้อยกว่าสีของใบไม้ดอกไม้ในป่าเลยทีเดียว

ครอบครัวของน้องหมอนมีกัน 4 คนพ่อแม่ลูก น้องหมอนเป็น “โพสะดา” หรือลูกสุดท้อง พี่ชายของเธอไปบวชเรียนอยู่เชียงใหม่ พ่อแม่ของน้องหมอนทำไร่ข้าว ปลูกพริก และทำงานรับจ้างทั่วไปเพื่อหาเงินมาเลี้ยงปากท้อง พ่อเคยไปไกลถึงฝั่งทะเล แต่ก็กลับมาเพราะว่า “ทะเลมันกว้าง เวลามีพายุก็กลัวจะตายอยู่กลางทะเลไม่ได้เห็นหน้าลูกเมียอีก” ระหว่างที่ฉันอาศัยอยู่กับครอบครัวนี้ น้องหมอนเป็นพี่เลี้ยงให้ฉัน เราไปเก็บผักกูด  ไปจับปลา และร้องเพลงด้วยกัน เธอสอนฉันร้องเพลงภาษาปกาเกอะญอ ซึ่งฉันร้องออกไปสุดเสียง แน่ละมันย่อมผิดเพี้ยนเพราะนี่ไม่ใช่ภาษาที่ฉันคุ้นเคย เด็ก ๆ พากันขบขัน แต่ก็นั่นก็คือเสียงหัวเราะสดใสที่มิได้เย้ยหยันให้ฉันต้องอับอาย และมันก็เป็นเสียงหัวเราะที่ต่างจากเสียงที่น้องหมอนได้ยินจากสังคมไทยในวันที่เธอโตขึ้นโดยสิ้นเชิง

ค่ำคืนหนึ่ง เรานั่งดูดาวด้วยกันข้างกองไฟ น้องหมอนเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อย แล้วเธอก็บอกว่า “หนูอยากเรียนสูง ๆ ทำงานดี ๆ พ่อกับแม่จะได้สบาย” ในวัย 11ขวบ เด็กผู้หญิงตัวน้อยมีความฝันอันยิ่งใหญ่ เธอก็รู้ว่าโอกาสนั้นจะไม่ได้เป็นของเธออย่างง่ายดาย และเธอตั้งใจจะต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา ฉันเชื่อตั้งแต่วันนั้นว่าเธอเป็นคนเก่งและแกร่ง และเธอจะคว้าความฝันไว้ในมือไว้จนได้

เมื่อถึงกำหนดที่ฉันต้องกลับกรุงเทพฯ เราร่ำลากันด้วยน้ำตา ใจหาย  ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้พบกันอีก แม่ของน้องหมอนเข้ามาจับมือฉันแล้วพูดว่า “วันนี้แม่พูดไทยกับลูก แม่อยากให้ลูกพูดปกาเกอะญอกับแม่” ฉันจึงตอบออกไปว่า “เหย่อแอ้นา” .. หนูรักแม่ และ “ตาบลึ้” .. ขอบคุณค่ะ..เรากอดกันเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ภายในซึ่งไม่อาจสื่อสารเป็นคำพูดได้ น้องหมอนร้องไห้จนตาช้ำ พ่อเดินตามไปส่งฉันขึ้นรถ รถของเราติดร่องเลนลึก พ่อกับชาวบ้านมาช่วยกันเข็นรถให้ แล้วรถก็วิ่งออกไปไกล พ่อส่งยิ้มโบกมือ ตัวพ่อพอกไว้ด้วยโคลนสีส้ม

จากนั้น น้องหมอนกับฉันก็ติดต่อกันทางจดหมายอยู่เสมอ เธอเขียนมาบอกว่าพ่อกับแม่ยังคงทำไร่ พี่ชายเรียนใกล้จะจบ ม.3 แล้ว ส่วนตัวเธอหลังจากจบ ป.6 ก็จะเรียนต่อในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์  ไม่นานนัก เด็กหญิงตัวน้อยกลายเป็นนางสาวสมร เธอเรียนจบม.3 และก็เป็นไปตามที่เธอเคยคาดไว้ ว่าที่บ้านไม่มีกำลังจะส่งเสียเธอให้ได้เรียนต่อ น้องหมอนจึงเดินทางมาไกลถึงนครสวรรค์เพื่อมารับจ้างทำงานบ้าน เธอเล่าบอกว่า “งานมันหนัก เงินเดือนนิดเดียว แต่เจ้าของบ้านใจดี ให้หนูไปเรียน กศน.ได้” เธอส่งเสียตัวเองจนเรียนจบ กศน. และก็เขียนมาบอกอีกว่า “หนูได้วุฒิม.6 แล้วค่ะ ในหมู่บ้านเราไม่เคยมีใครจบ ม.6 เลยสักคน พ่อกับแม่ก็ดีใจมาก”

แล้วก็...วันหนึ่ง... “พี่คะ หนูจะไปทำงานโรงงาน และเก็บเงินเรียนต่ออีก หนูอยากเรียนปริญญาตรี พี่ว่าหนูจะทำได้มั้ยคะ” น้องหมอนไปอยู่โรงงานใหญ่เกือบปี เก็บเงินได้หนึ่งหมื่นบาท และใช้มันเป็นทุนเบื้องต้นในการเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลระยะสั้น โดยกู้เงินรัฐเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด หลังจากเรียนจบ เธอก็ไปรับจ้างดูแลผู้ป่วยตามบ้านเพื่อใช้หนี้ แต่แล้ววันหนึ่ง เธอก็โทรศัพท์แทนที่จะเขียนจดหมายมา “พี่คะ เขาจะข่มขืนหนูค่ะ หนูเอาไม้กวาดฟาดเขาไป แล้วเขาก็ขู่จะตามไปเอาเรื่องหนูถึงบ้าน”

เสียงของน้องหมอนสั่นแต่ก็สงบ และแม้ว่าเธอจะรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้อย่างหวุดหวิด ฉันก็นั่งไม่ติดไปหลายวัน กว่าจะได้รู้ว่าอาจารย์ของน้องหมอนฝากให้เธอได้เข้าทำงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งก็ดูเหมือนชีวิตเธอจะเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง น้องหมอนทำงานเก็บเงินซื้อมอเตอร์ไซค์ให้พ่อ สร้างบ้านใหม่ และซื้อของกินบำรุงร่างกายให้แม่อยู่เป็นประจำ จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอก็บอกฉันว่าจะไปสมัครงานใหม่แล้ว เพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นรู้ว่าเธอก็มีความสามารถ น้องหมอนไม่ชอบใจนักที่เป็น “เด็กเส้น” ในโรงพยาบาลมาตลอด เธอเชื่อว่าเธอจะต้องเดินได้ด้วยความสามารถ ความตั้งใจ และความรู้ที่อุตส่าห์ได้ร่ำเรียนมา

ธันวาคม 2553  เสียงน้องหมอนร้องไห้สะอึกสะอื้นปลุกฉันให้ตื่นจากชีวิตอันเฉื่อยเนือย และพาฉันกลับไปยังหมู่บ้านในขุนเขาและค่ำคืนที่มีดาวเต็มฟ้าอีกครั้ง “พี่คะ เขาว่าหนูเป็นเด็กดอย เขาว่าหนูพูดไม่ชัด เขาว่าหนูเป็นพม่าสวมบัตร เขาว่าพ่อแม่หนูทำไร่นี่เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า....”

“.... เขาไม่รู้จักเราสักนิด ทำไมต้องมาว่าแบบนี้ เขาไม่รู้เลยว่าหนูต้องพยายามแค่ไหนกว่าจะพูดภาษาไทยได้ ถึงมันจะไม่ชัด หนูก็ไปโรงเรียน ไปหัดพูดหัดเขียน ทำไมเขาไม่คิดบ้างว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ ถ้าเลือกเกิดได้ใครมันจะอยากเกิดเป็นคนดอยให้เขาดูถูก” เธอพรั่งพรูออกมา “ถ้าเขาไม่รับหนูเพราะหนูไม่มีความสามารถ หนูจะไม่เสียใจเลย บอกหนูมาสิว่าคนอื่นเค้าเก่งกว่าหนู ทำไมต้องว่าหนูพูดไม่ชัด คนมีการศึกษาสูง ๆ ทำไมพูดจาแบบนี้คะ....”

ฉันพยามปลอบโยนน้องหมอนให้ก้าวเดินต่อ แต่น้องหมอนก็บอกว่า เธอไม่กล้าไปสอบสัมภาษณ์งานที่ไหนอีกแล้ว เพราะกลัวจะถูกดูถูกอีก ฉันนึกถึงวันที่ได้ยินว่าเธอเกือบถูกข่มขืน หนักหนาสาหัสขนาดนั้นน้องหมอนยังรับมือกับมันได้ สู้จนเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์เลวร้ายได้โดยไม่มีน้ำตาเลยด้วยซ้ำ แต่แล้ววันนี้ คำพูดที่ว่าคงกรีดแทงจนแม่คนเก่งของฉันบาดเจ็บสาหัส เหมือนกับหัวใจจะสลาย

ดาวดวงน้อยแสนสดใสที่เต็มไปด้วยความฝัน วันนี้แสงหม่นไปถนัดตา หรือวาเธอสู้สุดใจมาทั้งชีวิตเพื่อจะพบว่าสังคมไม่มีที่ให้เท้าของเธอเหยียบยืน น้องหมอนรู้สึกว่าไม่เพียงแต่ตัวเธอจะถูกปฏิเสธ แต่เถือกเถาเหล่ากอของเธอที่บ้านดอยก็โดนเหยียบย่ำไปด้วย

“เฮ้ย! ก็คนเหมือนกัน? อย่าทำกันแบบนี้อีกได้มั้ย มันเจ็บนะ เข้าใจกันบ้าง”  ฉันตะโกนลั่นอยู่ในใจ  นึกถึงเพลง ๆ หนึ่งที่บอกถึงวิถีชนเผ่าปกาเกอะญอซึ่งถูกเบียดขับจนหมองแสง ฉันอยากจะร้องเพลงนั้น .. “ลูกคนโต” ให้น้องหมอนฟัง “เราคือลูกคนโตใช่ไหม แสงประกายเธอจงรักษา หรือเธอละอายคำที่พ่อแม่สอนมา ขอเธออย่าอายหัวใจตัวตนภาษา ดั่งคำผู้เฒ่าว่า.. สักวันเราจะทอแสง”

ฉันเชื่อว่าน้องหมอนจะกลับมาทอแสงอีกครั้ง ความเป็นเด็กใจสู้คงทำให้น้องน้อยกลับมายืนหยัดได้ในเร็ววัน แต่แล้วอีกกี่คนล่ะที่จะต้องเสียน้ำตา เมื่อไรเพื่อนหลากชาติพันธุ์ของเราจะยิ้มได้ และยืนหยัดบนแผ่นดินนี้ได้อย่างเต็มตีนเสียที

 

หมายเหตุ ภาพประกอบบทความไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลในเรื่อง 

--------------------  

หมายเลขบันทึก: 415070เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2010 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท