ลุยแก้หนี้นอกระบบรอบ 2 ต้นปี 54


นายกฯ เตรียมเปิดลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบรอบสองต้นปีหน้า โชว์ตัวเลขแก้หนี้ได้เกือบ 5 แสนราย มูลหนี้กว่า 4 หมื่นล้านบาท สั่งออมสิน-ธ.ก.ส. ระดมโครงการ "หมอหนี้" ทุกหมู่บ้าน หวังช่วยวางแผนป้องกันปัญหาซ้ำซาก ด้าน รมว.คลังประเดิมแจก "บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน" พร้อมคู่มือสิทธิประโยชน์ลูกหนี้ที่ดี เตรียมผลักดัน "ธนาคารชุมชน" แก้ปัญหาหนี้แบบครบวงจร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (19 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมเสวนาและเป็นประธาน เปิดโครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาการเงินภาคครัวเรือน (หมอหนี้) และการต่อยอดกองทุนหมู่บ้าน (คลังในบ้าน) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการระบบการเงินในภาคชนบท สร้างโอกาสให้คนจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เพื่อทดแทนเงินกู้นอกระบบในระยะยาว โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังและผู้แทนอาสาสมัครหมอหนี้ เข้าร่วมด้วย

       นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงิน ด้วยการออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนผ่านกลไกของสถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ซึ่งผลจากการแก้ไขปัญหาในรอบแรกปลายปี 2552 มีผู้มาลงทะเบียนได้ตามเป้าหมาย 1 ล้านคน  ขณะนี้ ธนาคารของรัฐทั้ง 2 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน รับโอนลูกหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบได้ถึง 5 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ถึง 4.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ลูกหนี้สามารถลดภาระในการจ่ายดอกเบี้ยได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท

       นายอภิสิทธิ์ กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชน การแก้ปัญหาหนี้สินจากที่ได้แก้ปัญหาหนี้นอกระบบมาในรอบแรก ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ไปประมาณ 500,000 คน โดยรัฐบาลจะเปิดลงชื่อรอบสองในช่วงต้นปีหน้า ในระหว่างนี้เรามีมาตรการเพิ่มเติม นั่นก็คือ การที่เราจะอบรมอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง เพื่อที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาทางด้านการเงินให้แก่พี่น้องประชาชน อันนี้สำคัญครับเพราะว่าเราค้นพบว่าในพื้นที่ที่ได้มีการดำเนินการในลักษณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ ไปทำให้พี่น้องประชาชนคุ้นเคยกับการจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายครัวเรือน เห็นตัวเลขต่าง ๆ แล้วสามารถที่จะลดรายจ่ายของตัวเอง หรือเพิ่มรายได้ของตัวเองจนกระทั่งในที่สุดนี้หลุดพ้นจากภาวะหนี้สิน โครงการนี้เราก็ใช้คำว่าคนเหล่านี้จะเป็นหมอ คือ "หมอหนี้"

       "ลูกหนี้เหล่านี้ไม่มีใครเป็นหนี้เสียแม้แต่รายเดียว ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลใช้กลยุทธ์การต่อยอดด้วยการจัดทำบัตรลดหนี้ วินัยดี มีวงเงิน ถือเป็นการดูแลลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงินที่ดี เมื่อเดือดร้อนก็สามารถกู้กลับคืนไปได้ กลยุทธ์นี้ทำให้ลูกหนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบและเป็นการตัดวงจรไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีกครั้ง" นายกฯ กล่าวถึง ความสำเร็จโครงการดังกล่าว

       เขากล่าวว่า ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังกู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ได้ หน้าที่ของรัฐบาล คือ ต้องแก้ไขให้คนยากจนเข้าถึงแหล่งเงินดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่การให้ฟรี หรือการชำระหนี้แทน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ประชาชนพร้อมจะทำมาหากิน และชำระหนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม จึงมอบหมายให้ ธ.ก.ส. และออมสิน ดำเนินโครงการหมอหนี้ขึ้นทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน คอยติดตาม
คอยประสานงานระหว่างชาวบ้านกับธนาคาร รวมทั้งเป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องการทำ บัญชีครัวเรือน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้เงินอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกไปอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบอีก

       ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หมอหนี้ คือ อาสาสมัครที่จะไปดูแลและสร้างเสริมสุขภาพทางด้านการเงินให้กับชาวบ้าน ที่มีอยู่กว่า 88,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นผู้ที่จะมาช่วยสร้างวัฒนธรรมและสร้างวินัยทางการเงินในระบบฐานรากให้มีความเข้มแข็ง โจทย์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทำอย่างไรไม่ให้คนเข้าสู่การเป็นหนี้นอกระบบตั้งแต่แรก คำตอบ คือ ต้องมีธนาคารชุมชน หรือธนาคารในระดับหมู่บ้าน

       กระทรวงการคลังจึงได้จัดทำโครงการ "คลังในบ้าน" โดยให้ ธ.ก.ส. กับออมสิน ให้สินเชื่อแบบโฮลเซล แก่องค์กรการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ ธนาคารชุมชน เพื่อให้สถาบันเหล่านี้ นำไปปล่อยกู้ต่อแก่สมาชิก พร้อมกำหนดเงื่อนไขการกู้ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่าย "หมอหนี้ก็จะมาทำหน้าที่เชื่อมโยงในจุดนี้ ด้วยการคัดกรองผู้ที่มีความซื่อสัตย์ ตั้งใจประกอบอาชีพ ได้มีโอกาสใช้บริการทางการเงินที่อยู่ในระบบเหล่านี้ด้วย" รมว.คลังกล่าว

       นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) โดยให้ชุมชนคัดเลือกผู้ที่มีจิตอาสา มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับนับถือและไว้วางใจของคนในชุมชน มาอบรมให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินในครัวเรือนไปแล้ว จำนวน 650 ราย จาก 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร หนองคาย ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี และศรีสะเกษ และจะดำเนินการอบรมหมอหนี้ชุดต่อ ๆ ไป จนครบ 26,000 คน ตามเป้าหมายในปี 2554 ส่วนการยกระดับกองทุนหมู่บ้านขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชน ขณะนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 265 แห่ง

       ด้าน นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้วางรากฐานให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในการเพิ่มศักยภาพไปสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชน พร้อมกับการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตลอดจนเครื่องใช้สำนักงาน  ขณะนี้ ธนาคารออมสินได้พัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นสถาบันการเงินชุมชนพร้อมทั้งจัดโครงการฝึกอบรมโปรแกรมบัญชีสถาบันการเงินชุมชน ไปแล้วจำนวน 1,812 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจะเพิ่มเป็น 2,500 แห่งภายในสิ้นปี 2553 นี้ และจะมีจำนวน 30,000 แห่งภายในปี 2555 และได้ฝึกอบรมอาสาสมัครหมอหนี้ไปแล้วจำนวน 12,404 คน จาก 76 จังหวัด  "ตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปีนี้ จะมีหมอหนี้ไม่ต่ำกว่า 180,000 ราย โดยทั้ง 2 โครงการนี้จะดำเนินการควบคู่ เพื่อขจัดปัญหาด้านการเงินของประชาชนในระดับฐานรากได้เป็นอย่างดี"

       นอกจากนี้ นายกรณ์ ยังได้มอบ "บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน" ถึงมือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบ เพื่อใช้ในการชำระหนี้แก่ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการในอัตราดอกเบี้ยต่ำ พร้อมรับวงเงินสำรองฉุกเฉินหากมีวินัยในการชำระคืนหนี้ในแต่ละเดือนอย่างครบถ้วน และต่อเนื่องเป็นเวลา 1

       เขากล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบร่วมกับกระทรวง มหาดไทยและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบธนาคาร โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีหนี้นอกระบบไม่เกิน 200,000 บาท มาลงทะเบียนเข้าโครงการตั้งแต่วันที่ 1-30 ธ.ค. 2552 เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปลงหนี้นอกระบบกลับเข้าสู่ระบบธนาคาร จนถึงขณะนี้ ทางโครงการได้ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบไปแล้วกว่า 500,000 คน ลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนได้กว่า 3,000 ล้านบาทต่อเดือน  "ผู้เข้าร่วมโครงการนอกจากจะสามารถชำระคืนหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ คือ 1% ต่อเดือน ระยะเวลาในการผ่อนชำระนานถึง 8 ปี และได้รับการประกันชีวิตฟรีทุกรายแล้ว ขณะนี้ กระทรวงการคลังได้ส่งมอบบัตร ‘บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน’ ให้กับประชาชนที่โอนหนี้เข้าระบบ เพื่อใช้ในการชำระหนี้ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารที่ร่วมโครงการ และเมื่อผ่อนชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนครบ 1 ปี ถือว่าเป็นผู้มีวินัยทางการเงินดี ทางธนาคารจะมีวงเงินสำรองฉุกเฉินให้"

       เขากล่าวว่า ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำบัตรลดหนี้ไปเบิกเงินดังกล่าวจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารที่ร่วมโครงการ เพื่อให้ประชาชนมีเงินไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น ไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบอีก เป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วงเงินสำรองฉุกเฉินจะมีจำนวนเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินที่ผู้เข้าร่วมโครงการชำระคืนในแต่ละปี และผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเบิกเงินสำรองฉุกเฉินด้วยบัตรลดหนี้ได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี หากไม่ได้เบิกไปใช้ วงเงินดังกล่าวก็จะไปสมทบกับวงเงินในปีถัดไป สามารถสะสมได้ 4 ปี เงินสำรองที่เบิกมาใช้จะถือเป็นหนี้ระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการกับธนาคารในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะได้รับ "บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน" พร้อมคู่มืออธิบายโครงการและวิธีการใช้บัตรเป็นภาพการ์ตูนที่เข้าใจง่าย และวีซีดีละคร "วนิดาภาคพิเศษ โอนหนี้เข้าระบบเพื่อพบชีวิตใหม่" เพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการหนี้นอกระบบ

       ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธนาคารเอสเอ็มอี) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ บัตรลดหนี้สามารถใช้ชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์และเบิกเงินจากตู้เอทีเอ็มได้ทุกธนาคารข้างต้น ยกเว้นธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารเอสเอ็มอี

       สำหรับประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากหนี้นอกระบบและยังไม่ได้ลงทะเบียน กระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่ประมาณต้นปี 2554

       นายอภิสิทธิ์ กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจ ประการแรก รัฐบาลเห็นเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะต้องสกัดกั้นไม่ให้ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาเรื่องของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในตลาดโลก ในที่สุดแล้ว ขณะนี้ ก็ได้ข้อยุติว่าในช่วงหน้าหนาวจากนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2554  กองทุนน้ำมันจะเข้าไปดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มเกิน 30 บาท  "เรื่องของการขอขึ้นราคาสินค้าจะได้ไม่ตามมา เราถือว่าทำอันนี้คุ้มค่า เพราะไม่อย่างนั้นแล้วปัญหานี้จะสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน และในที่สุด ก็จะลุกลามบานปลายเป็นปัญหาในเรื่องของเงินเฟ้อ ไปกระทบกับเรื่องของแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยตรง"

       นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ต้องห่วงว่าการทำเรื่องนี้จะขาดเรื่องของวินัย เนื่องจากได้บริหารจัดการดูแลร่วมกับทางกระทรวงพลังงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันมีปัญหา ซึ่งในอดีตมีการไปใช้มาตรการจนกองทุนน้ำมันขาดทุนกันไปเกือบจะแสนล้านบาท ต้องมาแก้ไขกันในช่วงประมาณปี 2550-2551 จนกระทั่งในที่สุดนี้ครับ กองทุนตอนที่ผมเข้ามาดูแล ก็ติดลบอยู่หลายพันล้านบาท แต่เราได้อาศัยจังหวะในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำ ในการเก็บเงินเข้ากองทุน เพราะฉะนั้น สถานะของกองทุนในขณะนี้เกือบ 30,000 ล้านบาท

       เขากล่าวว่า การช่วยเหลือไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2554 เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาท ซึ่งมั่นใจว่า จะช่วยประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างดี แล้วไม่กระทบการที่จะทำให้กองทุนน้ำมันมีปัญหาอย่างแน่นอน และสิ้นเดือน ก.พ. 2554 ฐานะของกองทุนน้ำมันจะไม่ติดลบ

 

กรุงเทพธุรกิจ  แนวหน้า  โพสต์ทูเดย์ ข่าวสด เดลินิวส์ ASTV ผู้จัดการรายวัน บ้านเมือง มติชน สยามรัฐ พิมพ์ไทย โลกวันนี้
20 ธันวาคม 2553 
หมายเลขบันทึก: 415004เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2010 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท