จากใจผู้เขียน "บทความทำขวัญนาค" ตอนที่ 5 สนับสนุนคนรุ่นใหม่


ผมได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และรับข้อเสนอแนะ “ทำขวัญนาค” มาเป็นเวลา 4 ปี ยังคงเหลือร่องรอยของความรู้ให้ท่านที่มีความสนใจติดตามอ่านได้ที่เว็บไซต์

จากใจผู้เขียน

“บทความทำขวัญนาค”

ตอนที่ 5  ขอให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น ด้านเพลงพื้นบ้าน รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

          

          การกระทำใด ๆ ในยุคนี้จะต้องระมัดระวังให้มากไม่เหมือนในยุคก่อน เพราะว่าในยุคก่อน “ไม้เรียว” สอนให้คนดีได้ แต่มาถึงวันนี้กลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลไปแล้ว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เยาวชนจึงขาดความเคารพยำเกลงผู้ที่อาวุโสกว่าอย่างเห็นได้ชัด คำว่า “สิทธิส่วนบุคคล” ผมขอขยายความว่า เป็นการกระทำสิ่งใด ๆ ที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน  ไม่บุกรุกหรือล่วงล้ำให้บุคคลอื่นเสื่อมเสียหรือขาดความนิยม รวมไปถึงการนำเอาข้อมูลของผู้อื่นมาใช้เป็นของตนโดยปราศจากการอ้างอิงที่มา
          สิทธิในความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิส้วนบุคคลที่ประกอบไปด้วยสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง รวมไปถึงความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายผิดข้อกำหนด เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
          จะอย่างไรก็ตาม ด้วยอายุขัยของผมที่สูงมากขึ้น ทำให้มุมมองของผมเปลี่ยนไป ถึงเวลาที่ผมจะต้องแบ่งปันเสียสละให้ตัวแทน เพื่อที่จะเข้ามาพยุงคนรุ่นใหม่ให้ยืนได้อย่างเข้มแข็งและมีคุณธรรม ทุกวันนี้ผมอยู่ในฐานะเป็นผู้ให้ (ความจริงได้ปฏิบัติมาเกือบจะ 10 ปีแล้ว) ให้คำแนะนำนักเรียนที่สนใจฝึกอาชีพการแสดงพื้นบ้าน-ทำขวัญนาคกับผมในแต่ละวันจนถึงเวลา 18.00 น. หรือเกินกว่านั้นด้วยซ้ำไป ผมยืนอยู่บนถนนเพลงพื้นบ้านมายาวนานโดยมิมีเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ด้วย 1 สมอง 2 มือ 2 เท้าของตนเอง ไม่ต้องอาศัยผู้อื่นดันให้โด่งดัง แต่กว่าที่จะมีคนรู้จักใช้เวลานานนับสิบปีหรืออาจจะหลายสิบปีด้วยความมานะพยายาม ได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว ผมมีความสุขตามอัตภาพ มีลูกศิษย์ที่คิดดีมีคุณภาพชีวิตเป็นคนที่สมบูรณ์แยกแยะได้ว่า อะไรไม่ดี อะไรควรไม่ควร พวกเขาแวะเวียนมาหาผมนาน ๆ ครั้งก็สุขใจ
          อีกไม่กี่ปีผมคงต้องหยุดพักเพื่อให้รางวัลแก่ชีวิตที่ได้ใช้งานมานาน ตั้งแต่เวทีการแสดงบนพื้นดินจนถึงสถานที่ที่สูงส่ง จากการที่ได้นั่งบนพื้นกระดานจนถึงบนคฤหาสน์ติดแอร์ ต่อจากนี้ท่านทั้งหลายคงจะได้เห็นได้ต้อนรับทายาทภูมิปัญญาท้องถิ่นเพลงพื้นบ้าน-ทำขวัญนาคที่มีความรักเคารพศรัทธาในวิถีทางด้านนี่อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าในวันนี้จะมีคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาฝึกหัดพิธีกรรมทำขวัญนาคกันมากขึ้น หมอทำขวัญแต่ละคนต่างก็มีกลุ่มผู้สนใจให้การอุปการะที่ต่างกลุ่มกันไป น่าที่จะเป็นทางเลือกที่ดีและเปิดโอกาสให้ผู้เรียกใช้ได้เลือกสรรตามความต้องการได้มากขึ้น
          ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีมากว่า ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ผมจะต้องไปปิดทางกัน เปิดทางให้โล่งคนรุ่นหลังเขาจะได้แสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ ผมจะขอเป็นผู้หนึ่งที่คอยให้กำลังใจและส่งเสริมด้วยความสุข จะเฝ้ามองความสามารถลีลาที่สวยงาม รูปแบบที่แปลกแตกต่างกันตามความถนัด เพียงแต่ว่าพิธีกรรมควรฝึกให้มีความถูกต้องหรือฝึกฝนให้ช่ำชองเสียก่อนค่อยออกไปทำหน้าที่ จะได้เป็นเกียรติแก่เจ้าของงานนั้น ๆ ผมเองก็เริ่มทำขวัญนาคตั้งแต่อายุก่อน 20 ปี แต่ผมไปเป็นผู้ช่วยหมอ ช่วยพ่อคุณของผมร้องตามบททำขวัญนาคจนกระทั่งพ่อคุณซึ่งเป็นครู อนุญาตให้ผมไปทำหน้าที่ตามลำพังกับลูกของป้า รวม 2 คน จึงได้ออกงานเต็มตัว ถึงแม้ว่าผมจะเป็นคนที่เชื่อสมัยใหม่แต่ก็ไม่ทิ้งโบราณ รับทั้ง 2 ยุคเอาไว้พยุงช่วยเสริมกัน
          มีข้อเสนอแนะหรือความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของความขลังในพิธีและบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ในพิธีทำขวัญนาคขึ้นมา (ผมได้จัดเก็บข้อมูลการแสดงความเห็นเอาไว้) ก่อนที่ผมจะนำเอาบทความที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันนี้มาเขียนใหม่ เรื่องนี้ผมได้เป็นผู้ให้สัมภาษณ์เอาไว้กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ โดยผมได้รับประเด็นมาว่า  “ทำขวัญนาคจากความศักดิ์สิทธิศรัทธา มาเป็นความสนุกสนาน” ผมเขียนข้อมูลให้ผู้สื่อข่าวลงใน นสพ.เดลินิวส์ ตั้งแต่ 3 พฤษภาคม 2536 นานมาแล้ว (ฉบับร่างที่เขียนด้วยลายมือผมยังคงเก็บเอาไว้อยู่เลย) ก็ได้อ่านกันไปทั้งประเทศ เนื่องจากในช่วงนั้น เป็นปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย หนังสือพิมพ์เขาตามหาผู้ที่จะให้ข้อมูล เพื่อที่จะนำเอาไปลงเตือนใจคนรุ่นหลังให้ช่วยกันรักษาสมบัติของชาติ คนที่สูงวัยน่าที่จะคิดไปในทางดีได้ ยังมีข้อมูลที่ลงในสื่อสารมวลชนอีกหลายบทความ

      

          เรื่องราวอย่างนี้ เป็นการย้อนไปมองอดีตเพื่อที่จะดูแลรักษาสิ่งที่มีคุณค่าของแผ่นดินเอาไว้บ้าง เท่าที่พอจะพยุง จูง เหนียวรั้งเอาไว้ได้ ที่ไหนไม่ไหว ฉุดไม่อยู่แล้วก็ต้องปล่อยไปตามกระแสของสังคม โชคดีที่ช่วงเวลาหนึ่งมีคณะกรรมการในระดับสูงนึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมไทยจึงจัดให้มีการรณรงค์วัฒนธรรมไทย จึงได้เกิดการรื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมเก่า ๆ กันอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงระยะหนึ่งแล้วก็ผ่านไป แต่ก็อีกนั้นแหละครับ ใครจะทำอะไร มีประโยชน์มีคุณค่าแค่ไหน ก็จะต้องมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยออกมาแสดงความเห็นมองตรงกันข้ามได้ทุกเรื่อง อาจจะขาดการไตร่ตรอง ขาดการพิจารณาที่ถี่ถ้วน เมื่อคิดได้ก็มาช่วยกันรักษาเอกลักษณ์ของชาติเอาไว้ดีกว่า คนละเล็กละน้อยคนละไม้ละมือ อย่ามองเห็นการนำเสนอทางเลือกเป็นจุดด้อยเพราะไม่มีใครเก่งและสมบูรณ์แบบที่สุด มาช่วยกันรักษาของดีที่ยังเหลืออยู่จะได้เก็บเอาไว้สอนใจคนรุ่นหลังให้สร้างความดี มีคุณธรรมต่อไป
          ในคนที่ใกล้ชิดกับผมเองก็ยังมีทั้งที่จริงใจต่อครูและวางเฉยจนถึงดูหมิ่น เรื่องอย่างนี้ใครทำใครได้ ใครทำดีมีสิ่งที่ดีคุ้มครอง เป็นสิทธิส่วนบุคคลซึ่งเราไม่อาจที่จะไปบังคับพวกเขาได้ เพียงแต่ว่า ครั้งหนึ่งหรือช่วงเวลาหนึ่งสมองของเขาเคยว่างเปล่าแล้วได้อาหารสมองจากใครคนหนึ่งเข้าไปบรรจุเอาไว้ในหัวของตน จนมีคนอื่นยอมรับว่าเก่ง ในความเก่งกล้าสามารถที่ได้มา มาจากความมานะบากบั่นพยายามของคนรุ่นเก่าคนหนึ่งที่ทุ่มเทเสียสละเวลาให้กับใครบางคนเป็นเวลา 3 ปี 6 ปี ถึงแม้ว่าคนที่อยู่ข้างหลังจะไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาเลย แต่คน ๆ นั้นก็ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่อย่างเดิม เป็นผู้สร้าง เป็นผู้ให้จนถึงเป็นผู้ถูกดูหมิ่นอย่างไม่น่าที่จะเป็น
          การศึกษาบางครั้งก็ไม่ทำให้ใครบางคนฉลาดขึ้นหรือตาสว่างมากขึ้น ถ้าผู้นั้นมุ่งแต่จะหาผลประโยชน์ ฉวยโอกาสเอามาเป็นของตัว ทำให้เกิดความลืมตัว หูอื้อตามัวไปชั่วขณะ น่าสงสารเจ้าของพฤติกรรมที่มองดูงดงามเพียงชั่วครู่ ก็ต้องแสดงธาตุแท้ตัวตนที่แท้จริงออกมาอย่างน่าเสียดาย กว่าที่จะได้พบคนที่มีความสนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นสักคนก็แสนที่จะยาก กว่าที่จะได้เห็นคนรุ่นใหม่เดินตามรอยคนภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเพลงพื้นบ้านสักคนนับเวลาเป็นสิบ ๆ ปี เมื่อได้โอกาสเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นแถวหน้าได้แล้ว กรุณาให้ความรัก เคารพ หวงแหนมรดกของชาติของแผ่นดินนี้เอาไว้ ผมขอยืนยันว่า สิ่งที่คนรุ่นก่อนท่านได้สร้างสรรค์เอาไว้เป็นของดีที่ถูกฝังเอาไว้ในแผ่นดิน เมื่อท่านเป็นผู้ที่โชคดีได้พบแล้วได้เป็นเจ้าของแล้วช่วยรักษาเอาไว้ด้วยใจศรัทธาตลอดไป
          ผมขอบอกไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพิธีทำขวัญนาค เป็นหมอทำขวัญ เป็นผู้ช่วยหมอขวัญ เป็นผู้ที่สนใจพิธีกรรมนี้ ไปจนถึงผู้ที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริม รักษาไว้ซึ่งพิธีกรรมนี้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้โดยประสบการณ์ตรง ณ สถานที่จัดกิจกรรมทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดที่ได้เข้ามารับบทบาทหน้าที่ “ทำขวัญนาค” ไม่ว่าสิ่งที่แสดงออกมาจะคงเดิมหรือปรับเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใดก็ตาม เป็นสิทธิของแต่ละท่านที่ได้ผ่านความคิดไตร่ตรองมาแล้ว หากมีผู้หนึ่งผู้ใดได้พบเห็นแล้วตั้งคำถาม หรือมีข้อสงสัยในความผิดพลาด (แก้ไขได้ให้อภัยได้) โปรดให้คำตอบโดยยึดหลักการที่เหมาะสมตามจารีต มีที่ไปที่มาอย่างน่าเชื่อถือได้ก็นับว่า เป็นการรักษาซึ่งสาธารณะประโยชน์ต่อสังคมที่ดีแล้ว ไม่มีใครเดือดร้อนกลับเป็นการรักษาสิทธิของตนเองไม่ให้มีใครมาดูถูกเราได้
          ส่วนท่านที่มีความสนใจ “ทำขวัญนาค” เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป วันนี้มีแหล่งข้อมูลทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่งกันขึ้นไปจำนวนมาก ทุกท่านสามารถที่จะนำเอาข้อมูลมาเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ได้ โดย
          - สืบค้นหาข้อมูลที่ท่านสนใจ อ่านขอบข่ายขั้นตอนวิธีปฏิบัติให้ครบถ้วน
          - เปิดคลิบวีดีโอในเว็บไซต์ ทำขวัญนาค (เลือกได้มากมาย) ดูหลาย ๆ ครั้ง
          - ลองฝึกหัดร้องตาม ร้องทำนองเสนาะ ร้องแหล่ ร้องทำนองเพลงไทยเดิม
          - ฝึกหัดประกอบพิธีด้วยตนเองเพื่อให้รู้ขั้นตอนของพิธีกรรมอย่างครบถ้วน
          - ติดต่อหมอขวัญคนที่ท่านศรัทธา เพื่อที่จะได้ไปพบและขอจดคาถา ที่จำเป็นจะต้องนำเอามาใช้ประกอบในพิธีได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน
          - ขอเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีในการประกอบพิธีจากหมอขวัญต้นแบบ และหาโอกาสครอบครูตามแบบโบราณ เพื่อความเป็นสิริมงคลสร้างความเชื่อมั่นและมีเสน่ห์ติดตัวไปตลอดกาล

          

          บนเว็บไซต์นี้ มีบุคคลผู้ทรงคุณค่า มีบทความที่สร้างสรรค์เป็นโยชน์แก่เยาวชนและสังคมจำนวนมาก บทความที่ดีมีคุณค่าจะได้รับการพิจารณาจากโครงการความรู้ จากบล็อกสู่หนังสือ: คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ GotoKnow.org (Blog to Book) ภายใต้โครงการระบบออนไลน์เพื่อการจัดการความรู้สุขภาวะ (Usable labs) ผู้พัฒนาเว็บไซต์ GotoKnow.org ได้ทำการรวบรวมบันทึกที่ควรค่าแก่การเผยแพร่แก่สาธารณะ โดยคัดเลือกบทความจากบล็อกต่าง ๆ บทความ “ทำขวัญนาค” เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ที่คัดสรรออกมาจำนวน 50 บทความ เพื่อทำการตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน ผมได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และรับข้อเสนอแนะ “ทำขวัญนาค” มาเป็นเวลา 4 ปี ยังคงเหลือร่องรอยของความรู้ให้ท่านที่มีความสนใจติดตามอ่านได้ที่เว็บไซต์  
           - http://www.portal.in.th/blogtobook/ เข้าถึงรายชื่อหนังสือได้ทั้งหมด        
           - http://gotoknow.org/blog/chamluang/362782 (เล่มที่เสร็จแล้วสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี) 
          - Partal in Thailand : http://portal.in.th/kwannak/pages/13087/ 

 

ขอขอบคุณสมาชิกคนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกท่าน (19 ธันวาคม 2553)
หมายเลขบันทึก: 414904เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2010 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท