มารบ่มี บารมีบ่กล้า


การฟันฝ่าอุปสรรคที่ดาหน้าถาโถมเข้าใส่ ต้องออกแรงและเพิ่มความเร็วมากกว่าปกติ

          ที่โถงบันไดในหอสมุดเก่าของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นอาคารคอมพิวเตอร์) มีป้ายเล็กๆ ติดให้อ่านแผ่นหนึ่งมีข้อความสั้นๆสองภาษาซ้อนกันว่า มารบ่มี บารมีบ่กล้า กับ No problem, no progress. ผมอ่านแล้วชอบและจำไว้ใช้กับตัวเองเรื่อยมา เช่นเดียวกับอีกประโยคหนึ่งที่ได้มาก่อนนั้นหลายปี คือ   Let it be a challenge.

          ผมได้ประโยคนี้จากพ็อคเก็ตบุคเล่มเล็กๆซึ่งชาวอเมริกันคนหนึ่งยกให้พร้อมกับหนังสือเก่าเล่มอื่นๆ ของเขาอีกหลายเล่ม  หนังสือเล่มที่ว่านี้ชื่อ Up the Down Staircase  เขียนโดย Bel Kaufman  เป็นเรื่องของครูใหม่ที่เผชิญปัญหาสารพัด ทั้งกับนักเรียนและกับกฏกติกาของโรงเรียนซึ่งทำให้ครูแทบไม่ได้พบปะเสวนากันเลย  การสื่อสารระหว่างครูด้วยกันส่วนมากจึงอาศัยจดหมายที่เอาไปหย่อนใส่ตู้ประจำตัวของแต่ละคน  ครูใหม่อาศัยตู้นี้สื่อสารกับครูเก่าคนหนึ่งเป็นประจำหลังจากรู้จักกันในที่ประชุมและครูเก่าแสดงไมตรีจิตอันดีต่อเธอ  ครูเก่าผู้นี้เป็นเสมือนที่ปรึกษาที่ช่วยตอบปัญหา ให้ข้อคิด และกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ จดหมายตอบจากเธอมักลงท้ายว่า   Let it be a challenge (จงถือว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทาย) 

           ชื่อหนังสือเองถึงแม้จะใช้คำเล็กๆ ง่ายๆ แต่ก็มีความหมายเกินตัว เพราะการเดินย้อนศรขึ้นบันไดเลื่อนขาลงนั้น นอกจากหมายถึงการฝ่าฝืนกฎกติกาต่างๆ (ตามธรรมชาติของเด็กซนทั้งหลาย) แล้ว ยังหมายถึงการฟันฝ่าอุปสรรคที่ดาหน้าถาโถมเข้าใส่ ทำให้ต้องออกแรงและเพิ่มความเร็วมากกว่าปกติเพื่อให้ขึ้นไปจนถึงหัวบันไดให้ได้

           เรื่องนี้ทำท่าว่าจะอ่านยากและชวนเครียดเอามากๆ แต่พออ่านเข้าจริงๆ กลับอ่านสนุก เพราะมีมุขตลกแปลกๆ เกินความคาดหมายตลอดเรื่อง ทำให้อ่านไปยิ้มหรือหัวเราะไป

           ผมใช้ประโยคนี้เป็นเสมือนคาถาบทหนึ่งเวลาเผชิญกับปัญหาต่างๆ และได้ใช้อย่างที่ครูเก่าใช้กับครูใหม่ในหนังสือด้วย คือ ใช้ในจดหมายตอบกลับถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพซึ่งถามถึงปัญหาและความยากลำบากต่างๆ ในการไปศึกษาต่อต่างประเทศ ผลคือ เขาตัดสินใจไปเรียน  เขาบอกใครต่อใครว่า อ่านเรื่องความทุกข์ยากต่างๆ หน้าครึ่งแล้วยังลังเลอยู่ แต่พอเห็นประโยคที่มีห้าคำนี้ในย่อหน้าสุดท้าย เขาก็บอกตัวเองทันทีว่า “ต้องไป” (ขณะนี้ เขากำลังเตรียมสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยมหิดลในเดือนมกราคม ๒๕๕๔)

          ผมเคยเอาวลีและประโยคเหล่านี้ไปคุยกับนักการศึกษา(ซึ่งส่วนใหญ่ผมใช้เรียกอาจารย์สังกัดคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์) ก็ได้ความรู้กลับมาว่า ถ้อยคำจำพวกนี้ใช้ได้ดีในการกระตุ้นความนับถือตัวเอง หรือต่อมแห่งศักดิ์ศรี(self esteem) ตามทฤษฎีของมาสโลว์  เหมาะที่จะเอาไปใช้ตะล่อมกล่อมเกลาเยาวชนได้ในหลายๆ กรณี

         จะเป็นไปได้เพียงไร ฝากไว้ก็แล้วกันครับ

         

หมายเลขบันทึก: 414376เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2010 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับสำหรับคำเล็กแต่แฝงไปด้วยความรู้สึกที่สร้างพลังให้คนฟังและสร้างจินตนาการให้กับตนเองไปในทางที่ดีและมีความกล้าที่จะเดินไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท