อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร


พระองค์ท่านตรัสว่า ไม่ต้องทำทีเดียวทั้งหมดถ้าแบ่งเป็น 4 ส่วน พึ่งตนเองให้ได้ 1 ส่วนก็เพียงพอแล้ว

วันนี้ขณะเสิร์ชหาข้อมูลการทำการเกษตร ซึ่งก็ทำเป็นประจำทุกวัน อันที่จริงเป็นงานอดิเรกมากกว่า เนื่องจากสิ่งที่หานั้น ส่วนมากจะเป็นเรื่องการทำการเกษตรแบบพอเพียง หรือเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ เนื่องจากต้องการหาข้อมูลสำหรับเมื่อได้พื้นที่สำหรับ บ้านไร่คุณหมิง แล้วจะได้มีแผนที่จะทำโดยไม่เคว้งคว้างและจะได้ทำอย่างมีความรู้เบื้องต้นสักหน่อย ซึ่งตั้งแต่มาทำงานที่นี่สักพักก็เริ่มคิดหาเส้นทางชีวิตต่อไป เนื่องจากตลอดทางที่เรียน จนกระทั้งจบการศึกษา ทำงาน ก็คิดถึงที่นี่เป็นที่สุดท้ายของความคิด ยังไม่มีแผนที่จะทำอะไรต่อจากนี้ คงเป็นเพราะว่ามีข้อมูลของลักษณะงานที่ทำนี้น้อยมาก ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง

 เอ๊ะ เอ๊ะ !!!!

มาถึงเรื่องนี้ขอบอกนิ๊ดนึงว่า วันนี้จะมี รายการ กบนอกกระลา มาถ่ายทำรายการเกี่ยวกับเรื่องอารัยนั้นหรือครับ ก๊อเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ก๊าซที่ใช้อยู่ทุกวันนี่หล่ะครับว่าเขาได้มาอย่างไร

เห็นสคริปแล้วแต่ยังไม่เห็นตัวพิธีกรเลย เพราะคณะถ่ายทำยังไม่มาครับ

จะมาตอนเช้าด้วยเที่ยว ฮ. เที่ยวแรก

 เอาละผู้ที่สนใจก็ติดตามชมได้นะครับ

 โอเค มาเรื่องเดิมของเราดีกว่า ที่มาโพสต์วันนี้เนื่องจากว่า วันนี้ได้ค้นหา ศูนย์กสิกรรมมาบเอื้อง เนื่องจากว่า คิดว่าน่าจะเป็นศูนย์ต้นแบบในการเริ่มต้นการสร้างฝันของผมได้ครับ เพราะจากที่ได้อ่านประวัติอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร แล้ว ท่านมีพื้นฐานด้านงานเกษตรพอเพียงอย่างเต็มเปี่ยมและท่านก็ได้เริ่มสร้างศูนย์การเรียนรู้จากที่ดินเสื่อมโทรมก็ว่าได้ด้วยตัวของท่านเอง จึงอยากจะขอเป็น cast study สำหรับ บ้านไร่คุณหมิง ซะหน่อยครับ ทั้งแนวทางปฏิบัติและแนวทางปรัชญาด้านความคิด การบริหารจัดการ

เมื่อค้นได้สักครู่ก็ได้พบประวัติของท่านรวมทั้งประวัติการจัดตั้งศูนย์ฯ ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งจึงขออนุญาตคัดลอกนำมาให้อ่านกันนะครับ

วิวัฒน์ ศัลยกำธร กับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

ศักดา ศรีนิเวศน์

การเกษตรที่เอื้อต่อสุขภาพ

เครือข่ายสาขานโยบายการเกษตรและชนบท

[email protected]

สถานการณ์ปัจจุบัน เกษตรกรในทุกจังหวัดประสบปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารเคมีมากมาย และยังได้รับผลกระทบในด้านสุขภาพทั้งต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค มีสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ และอากาศ เกษตรกรมีหนี้สินจำนวนมาก จนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นความล้มเหลวในการทำเกษตรกรรม ที่มาของปัญหาเกิดจากการส่งเสริมของภาครัฐที่ผิดทาง ทำให้เกิดผลผูกพันธ์กับองค์กรธุรกิจระบบทุนนิยม การผลิตแบบเน้นการส่งออกโดยมุ่งที่ปริมาณผลผลิตมากกว่าคุณภาพเกษตรกรขาดความรู้ทำให้ต้องพึ่งพารัฐในเรื่องของการผลิต การตลาด การจัดการ ปัจจัยการผลิตการบริหารจัดการชีวิตของตนเอง จนวิญญาณยังไม่อาจจะพึ่งร่างกายตนเองได้ ผู้บริโภคขาดความ

ตระหนักในด้านสุขภาพและขาดทางเลือกเพราะไม่มีความรู้และความเข้าใจที่ดี ธุรกิจ/สื่อโฆษณาขาดความรับผิดชอบต่อสังคม มักมุ่งเน้นเรื่องธุรกิจเพื่อประโยชน์ของตนเอง ในขณะที่รัฐขาดความเข้มแข็งในการควบคุมสื่อ ความรู้และแหล่งความรู้เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพของเกษตรกรยังมีไม่เพียงพอ เกษตรกรขาดองค์ความรู้ในเรื่องการผลิตพันธุ์พืชใช้เอง ทำให้ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชจากต่างประเทศ/บริษัทปัจจัยสำคัญในการผลิตด้านการเกษตรซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของชาติกลับเสื่อมถอยลง เกษตรกรหลายราย ขาดทุนต้องขายที่ทำกินแล้วอพยพไปหางานทำในเมือง ผลกระทบจากการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมที่ผิดทางก่อให้เกิดผลเสียตามมาหลายด้าน อาทิ ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเกิดของเสียและมลพิษต่าง ๆ ทำให้ความสมดุลยของธรรมชาติเสียไป ภาคการเกษตรมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีที่เป็นพิษจากต่าง ๆ ประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งกระทบต่อ

ภาคเกษตรมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าภาคอุตสาหกรรม ปัญหาดินเสื่อมโทรมเป็นกรดจัด การตกค้างของปุ๋ยเคมีและสารเคมีที่เป็นพิษในสภาพแวดล้อมและผลผลิตทางการเกษตรกลายเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำการกีดกันทางการค้าของแต่ละประเทศก็ยิ่งเข้มงวดมากขึ้น ยังผลให้สินค้าเกษตรอันเป็นผลผลิตส่วนใหญ่ของประเทศถูกจำกัดตลาดให้แคบลงราคาตกต่ำซ้ำเติม ทำให้ความยากจนคุกคามประชาชนมากยิ่งขึ้นประเทศไทยตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีความหลากหลายทางชีวภาพ และการปรับตัวค่อนข้างสูง การส่งออกสินค้าสู่

ตลาดโลกส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากการเกษตรรที่ขึ้นชื่อ และทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าว ทุเรียน มังคุด มะม่วง ฯลฯ รวมทั้งสินค้าสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง เป็นต้น การพัฒนาประเทศในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม โดยนำเข้าเทคโนโลยีระดับสูงตามแบบ ทุนนิยม ทำให้การพัฒนาทางด้านการเกษตรลดลงและไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพทำการเกษตร กอปรกับความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างสูงเป็นเหตุให้เกษตรกรบางส่วนละทิ้งการทำการเกษตรและขายที่ทำกินอพยพเข้าสู่เมืองหลวงหันมาขายแรงงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาต่าง ๆ ในสังคมมากมาย วิถีชีวิต และค่านิยมของคนในสังคมมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศ ดังจะเห็นได้จากการดำรงชีวิตของคนที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย คนในชนบทต้องการให้ลูกหลานประกอบอาชีพรับราชการ จึงนิยมส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนหนังสือในเมืองหลวง ขณะเดียวกันการพัฒนาสังคมเมืองที่เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตไปตามการเผยแพร่วัฒนธรรมของชาติตะวันตก เป็นแบบนิยมวัตถุมากกว่าจิตใจอันดีงามของคน หลงลืมวัฒนธรรมอันดีและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่โบราณ เมื่อคนชนบทได้

เข้ามาเรียนรู้ ชีวิตในเมืองก็เจริญรอยตาม และเริ่มปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตของญาติพี่น้องทำให้สังคมไทยเสื่อมถอยลง คุณภาพจิตใจลดลง การเอารัดเอาเปรียบและแข่งขันกันมีมากขึ้นแทนการเอาใจใส่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเช่นในอดีตแม้แต่การเกษตรเองก็ยังถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งแฝงด้วยแผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยเฉพาะเทคโนโลยีเคมี ซึ่งเป็นที่นิยมและเห็นได้อย่างชัดเจน คือการใช้ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรรวมถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เช่นการใช้รถไถแทนการใช้แรงงานจากสัตว์เลี้ยงซึ่งเหล่านี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นการถ่ายทอดกันมาแบบผิด ๆ กลายเป็นชีวิตประจำวันที่ต้องดำเนินไปแบบขาดไม่ได้ ยิ่งนานวันก็สะสม นำพาประเทศชาติเข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมอันยากต่อการเยียวยาดังเช่นทุกวันนี้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพ่อของแผ่นดินไทยทรงเป็นจอมทัพแห่งการพัฒนา เพื่อเอาชัยชนะแก่ความยากจนทรงมีพระราชดำริและทรงนำปฏิบัติด้วยพระองค์เองดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และสายพระเนตรอันกว้างไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้า

อยู่หัวที่ทรงห่วงใยในพสกนิกร และประเทศชาติ ทรงพระราชทานแนวทางรอดต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาของประเทศรวมทั้งเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถือเป็นแนวคิดทฤษฎีการพัฒนาประเทศใหม่ล่าสุดที่ได้พระราชทานเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองในระดับประหยัดก่อนแล้วยกระดับเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นก้าวหน้าต่อไป

เพื่อสนองแนวทางพระราชดำริและเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าการพึ่งตนเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนนั้น ทำให้ประเทศชาติสามารถแก้วิกฤตและทำให้บ้านเมืองอยู่รอดได้จริง อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ในฐานะประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จึงตั้งปฏิฐานอันแน่วแน่ในการที่สานต่อแนวพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร คือใคร อาจารย์วิวัฒน์เป็นลูกชาวนาแต่กำเนิด

การศึกษา

ปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตร์มหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม)

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

มัธยมศึกษา โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพ ฯ

ประถมศึกษา โรงเรียนวัดสนามจันทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ตำแหน่งทางสังคม (ปัจจุบัน)

- ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

- ประธานคณะกรรมการสถาบันวิสาหกิจชุมชน

- ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา

- กรรมการที่ปรึกษาสหกรณ์เกษตรอินทรีย์สุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

- กรรมการมูลนิธิสวัสดี

- กรรมการชมรมเกษตรชีวภาพแห่งประเทศไทย

- ที่ปรึกษาชมรมกสิกรรมธรรมชาติทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร

- ที่ปรึกษาชมรมกสิกรรมธรรมชาติลำปาง

- ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษวังน้ำเขียว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครราชสีมา

- ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนนวมินทราชูทิศเตรียมอุดม น้อมเกล้า

ตำแหน่งทางสังคม (อดีต)

- นายกสมาคมพัฒนาสังคม/ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

- ผู้อำนวยการสถาบันราชพฤกษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการราชพฤกษ์

- กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์

- ที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์สภาผู้แทนราษฎร์

- ที่ปรึกษามูลนิธิสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิต

- ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

- ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (พลโทสุนทร โสภณศิริ)

ประสบการณ์ทำงานด้านราชการประจำ

- ผู้อำนวยการประเมินผลและข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรี

- หัวหน้าฝ่ายประสานงานโครงการพระราชดำริ ภาค 1 สำนักงานคณะกรรมการ พิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรี

- เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร) สำนักนายกรัฐมนตรี

- นักพัฒนาชุมชน กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

- กรรมการโครงการมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

- ที่ปรึกษากองกำลังบูรพา กองทัพภาคที่ 1

- ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ประจำคณะกรรมมาธิการเกษตรและสหกรณ์สภาผู้แทนราษฎร์

ตัวอย่างโครงการที่รับผิดชอบ

- ศูนย์ศึกษาและพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี

- โครงการทฤษฎีใหม่วัดมงคลชัยพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี (จัดหาที่ดินและพัฒนาทฤษฎีใหม่)

-โครงการกสิกรรมไร้สารพิษวังน้ำเขียว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

- โครงการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี

- โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

- ฯลฯ

จากการที่ได้สนทนากับอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร อาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่าจากแนวความคิด ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงทำให้อาจารย์เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะทำตามแนวทางพระราชดำริ โดยเริ่มจากการทำนาในพื้นที่ของตนเองที่ดินโทรมสุด ๆจำนวน 3 ไร่ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถพึ่งตนเองได้จากการผลิตเอ็นไซม์สมุนไพรธรรมชาติใช้เองในนาข้าว และพืชชนิดอื่น ๆ ทั้งพืชผักและไม้ผล รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย โดยทำการทดลองที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี และนำประสบการณ์ที่ปฏิบัติจริงไปเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาค้นคว้า วิจัย และพัฒนาการผลิตเอ็นไซม์สมุนไพรธรรมชาติ สุมนไพรไล่แมลง โดยทำการดลองและเผยแพร่ใน พื้นที่ของเกษตรกรกว่า 50 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ โดยได้ทดลองกับพืชหลากหลายชนิด เช่น ข้าว พืชตระกูลแตง พืชตระกูลถั่ว หอมแดง หอมแบ่ง ข้าวโพด หน่อไม้ฝรั่ง มันสำปะหลัง ไผ่ตง อ้อย ยางพารา ทุเรียน มังคุด ลองกอง ขนุน มะไฟ มะม่วง ลำไย และอื่น ๆ อีกมากมาย ในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ กุ้ง ก้ามกราม ปลาดุก ปลานิล เป็นต้น โดยก่อนที่จะมาเป็นมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติได้ก่อตั้งเป็นชมรมกสิกรรมธรรมชาติไทก่อนกว่า 4 ปี ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาของชมรม ฯ ได้ให้ความรู้และช่วยเหลือให้กับเกษตรกรในหลาย ๆ จังหวัด ประกอบกับชมรม ฯ เองได้แนวร่วม มีประชาชน และเกษตรกรที่สนใจและพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงาน

ของชมรม ฯ ทวีมากขึ้น จนกระทั่งสมาชิกในชมรม ฯ เห็นพ้องต้องกันว่าเพื่อให้การดำเนินการของชมรม ฯ เป็นไปอย่างยั่งยืน คล่องตัว และชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึงได้จดทะเบียนขึ้นเป็นมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 เพื่อนำโครงการต่าง ๆ ที่ชมรม ฯ ได้ดำเนินการมาสานต่อและเผยแพร่ขยายให้กว้างไกลยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ แล้วเป้าหมายในการดำเนินการดังนี้

วัตถุประสงค์

1. เพื่อส่งเสริมการผลิตอาหารไร้สารพิษปราศจากสารเคมีสำหรับมนุษย์ชาติ

2. สนับสนุนการฝึกอบรม ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการกสิกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปศุสัตว์ การพลังงาน การแพทย์เภสัชกรรม และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเน้นภูมิปัญญาตะวันออก

3. สนับสนุนให้ชุมชนพึ่งตนเอง พึ่งพาอาศัยกัน และพึ่งพิงกันกว้างขวางมากยิ่งขึ้นตามแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทฤษฎีใหม่

4. สนับสนุนให้เกษตรกร ชุมชน และองค์กรธุรกิจ ดำเนินการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เพื่อทดแทนสารเคมี และสารพิษทางการเกษตร

5. ส่งเสริมวัฒนธรรม

6. ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ ร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ

7. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองประการใด

เป้าหมาย

1. ดำเนินการจัดตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติซึ่งเป็นศูนย์เครือข่ายของมูลนิธิฯ ในแต่ละภูมิภาค ให้ได้ไม่น้อยกว่า 25 แห่ง ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้ศูนย์ทำหน้าที่ในการจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรในภาคการเกษตร

2. ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพได้แก่ เอ็นไซม์สมุนไพรธรรมชาติทั้งชนิดน้ำชนิดเม็ด ฮอร์โมน และสมุนไพรไล่แมลง เพื่อทดแทนเทคโนโลยีเคมี

3. สนับสนุนให้ชุมชนพึ่งตนเองให้ได้ทั้งในเรื่องปัจจัยการผลิต การแปรรูป และการตลาดให้ครบวงจร โดยจัดให้มีการตั้งร้านค้าสหกรณ์ประจำชุมชน

4. สนับสนุนให้ความร่วมมือและคำปรึกษากับองค์กรต่าง ๆ ทั้งกลุ่มเกษตรกร ชมชนและสหกรณ์ ในการปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าเพื่อพัฒนาและขยายการผลิต รวมถึงเศรษฐกิจของชุมชน

ปัจจุบันมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มีโครงการที่ดำเนินการเป็นจำนวนมาก หลายโครงการเช่น

1. โครงการ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ

ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มชุมชนหรือศูนย์กสิกรรมในท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการทำการเกษตรแบบธรรมชาติ และเชื่อมโยงศูนย์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เป็นระบบเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนความรู้

2. โครงการ เรารักเกษตร

มุ่งสร้างจิตสำนึกและรณรงค์ให้เด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้สนใจทั่วไปให้ตระหนักถึงความสำนึกของการทำการเกษตรแบบธรรมชาติ รวมทั้งเข้าใจถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำกสิกรรมรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศโดยมีเป้าหมายให้ผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 6,000 คน ภายใน 3 ปี

3. โครงการ การทำการเกษตรแบบพึ่งตนเอง

รณรงค์ให้เกษตรกรไทยทุกคน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำการเกษตรแบบพึ่งตนเอง ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีฆ่าแมลง ฆ่าหญ้าซึ่งเป็นการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ หันกลับมาพึ่งตนเอง โดยใช้ของที่ผลิตได้ภายในประเทศ อาทิเช่น การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ ผู้นำชุมชนในการเปิดสัมมนาหัวข้อต่าง ๆ ให้กับชุมชน หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศ

4. โครงการ เรียนรู้วัฒนธรรมแผ่นดินแม่

ส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามตลอดจนสืบสานวิถีชีวิต และภูมิปัญญาพื้นบ้านโดยการจัดเข้าค่ายสำหรับลูกหลานคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ

5. โครงการ ท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ

มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวที่ชอบการท่องเที่ยว และพักผ่อนในรูปแบบของธรรมชาติโดยการพักผ่อนในแถบชนบท รับประทานอาหารไร้สารพิษ เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทย

หมายเลขบันทึก: 41414เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2006 03:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แล้วตอนนี้บ้านไร่คุณหมิง ไปถึงไหนแล้วคะ  อืม...อยู่ที่ไหนอ่ะคะ

ดีมาเดลยครับ

ยาวมากๆๆๆๆๆ คิดได้ไงง่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท