จากใจผู้เขียน "บทความทำขวัญนาค" ตอนที่ 1 ครูกับศิษย์


สำหรับผมไม่ต้องการอะไร แต่ผมยินดีที่จะเป็นผู้ให้ ให้ในสิ่งที่ผมมีกับคนที่ศรัทธาในอาชีพนี้ด้วยความเต็มใจ

จากใจผู้เขียน

“บทความทำขวัญนาค”

ตอนที่ 1 ครูกับศิษย์

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น ด้านเพลงพื้นบ้าน รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547
 
        ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผมได้บันทึกความรู้ความสามารถที่ผมได้สั่งสมเอาไว้ในตัวเอง โดยการนำเอาประสบการณ์ที่อยู่ในพิธีทำขวัญนาคมานานกว่า 40 ปี เขียนเป็นบทความลงในบล็อกที่ชื่อ “ทำขวัญนาค” เป็นจำนวนเกือบจะ 100 ตอน (คงไม่เกินไปกว่านี้แน่) ทั้งที่ผมไม่เคยเขียนบทความอย่างนี้เอาไว้ ณ ที่ใดเลยนอกจากมีเพียง 1-2 ครั้งที่หนังสือรายวันฉบับใหญ่มาขอเรื่องราวเกี่ยวทำขวัญนาคไปลงเมื่อปี พ.ศ. 2536

            

        ที่ผมต้องเขียนบทความลงในสื่ออีเล็กทรอนิกส์ บนเว็บไซต์ Gotoknow.org. ก็เพราะมีคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมากมาหาผมที่บ้าน ที่โรงเรียน โทรศัพท์มาและส่งจดหมายเข้ามาขอความรู้ (อยากที่จะเรียนทำขวัญนาค) ที่ผมสอนไปให้โดยตรงก็หลายคน ที่เป็นศิษย์โดยสมัครใจและติดตามผมไปในแต่ละงานผ่านมาก็หลายคน (9-10 คน) บางคนเป็นศิษย์ที่เรียนกับผมจบการศึกษาไปจากโรงเรียนที่ผมทำงานอยู่ แต่เขาไปฝึกหัดทำขวัญนาคกับหมอผู้หญิง (รุ่นน้องผมเอง) อยู่มาวันหนึ่งลูกศิษย์คนนี้ก็กลับมาหาผม มาขอเพลงที่ครูร้องเพราะ ๆ จะเอาไปร้องบ้าง ก็แปลกดี
        ทำไมเขาจึงไม่เรียนกับผมไปเสียเลย ทั้งที่เขาก็เป็นลูกศิษย์ผมแต่กลับไปเรียนกับคนอื่น แล้วจะให้ผมคิดอย่างไรในเมื่อคนที่สอนเขาก็ขอเพลงผมไปร้องหลายเพลง ความจริงเพลงที่ผมร้องประกอบในพิธีทำขวัญนาคเกือบทั้งหมด เป็นเพลงที่ผมเขียนขึ้นมาใหม่และมีบันทึกเป็นลายมือเอาไว้ในสมุดส่วนตัวตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้าย นับจำนวน 100 เพลง อีกส่วนได้มาจากครูหมอที่สอนผมมา คือพ่อคุณวัน มีชนะ มีบางเพลงที่จำเอามาจากแผ่นเสียงชนิดแผ่นครั่งที่ได้ฟังเมื่อเกือบจะ 50 ปี มาแล้ว โดยที่เจ้าของเพลงเองก็ยังลืมไปแล้วว่า เป็นเพลงของท่านเพราะตอนที่ท่านบันทึกแผ่นเสียง เพลงนี้ไม่ดัง ไม่มีคนรู้จัก เมื่อผมนำเอามาร้องกลับมีคนตามหาต้นฉบับกันยกใหญ่ก็แปลกดีเหมือนกัน
        การที่คนสูงอายุคนหนึ่งได้นำเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต 60 ปี นำเอามาเขียนบอกให้คนรุ่นหลังที่มีความประสงค์จะเดินตามแบบ ได้มีข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะผมเขียนบทความทุกตอนด้วยความเต็มใจที่จะมอบให้ผู้ที่ยังไม่รู้ได้มีสติในการที่จะยึดอาชีพทางด้านนี้ ส่วนผม ผมผ่านงานการประกอบพิธีนี้มานับพันนับหมื่นครั้ง ตั้งแต่อายุ 17-18 ปี โดยได้เรียนได้ฝึกหัดทำพิธีและได้ยึดตามรูปแบบของครูที่สอนมาให้อย่างถูกต้องตามหลักของพิธี ตามแบบของพ่อคุณวัน มีชนะ (อาจจะไม่เหมือนกับครูหมอท่านอื่นร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้) เป็นเรื่องปกติเพราะครูเก่า ๆ ต่างคนต่างก็มีอัตลักษณ์ส่วนตัวที่โดดเด่นต่างกัน เพียงแต่ว่าใครมีที่มา มีต้นตอมาจากใครก็ยึดตามแนวนั้น อย่างครูขุนแผน ลูกปราจีน ผมไม่เคยได้พบตัวท่านเพียงแต่ฝากตัวเป็นศิษย์ทางจดหมายและเรียนรู้ตามตำราของท่านมาตลอด (ท่านคือครูคนหนึ่ง ที่ผมเคารพและศรัทธาอยู่ในหัวใจ)
        เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ความมีสัจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่า มีความสำคัญ ความกตัญญูรู้คุณสำหรับผู้ที่ให้ความรู้เรามาเป็นสิ่งที่ต้องคิดไตร่ตรอง ในพิธีทำขวัญนาคผมมีครูหลายท่าน แต่พ่อคุณวัน มีชนะ คือครูคนแรกที่สอนผมมา ส่วนครูท่านอื่น ๆ ที่ได้ให้ความรู้ ผมให้ความเคารพทุกท่านด้วยความเต็มใจและจริงใจ จากใจผู้เขียนในตอนนี้ผมได้นำเอาคติที่ได้รับจากครูที่สอนผมมา ขอถ่ายทอดสู่ผู้ที่มีปัญญารุ่นหลัง เพื่อเตือนใจให้มีสติก่อนที่เกิดข้อผิดพลาดจนถึงกับผิดหวัง ครูคือผู้ให้ ศิษย์คือผู้รับการถ่ายทอด ครูคือผู้ที่ส่งเสริมศิษย์ ศิษย์ที่ดีไม่น่าที่จะลืมคุณ ถ้าผมใจแคบคงไม่มีคนรุ่นใหม่ได้นำเอามันสมองผมไปเผยแพร่แน่ (ความจริงผมดีใจที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ผมไม่เคยหวง) สำหรับผมไม่ต้องการอะไรจากใคร แต่ผมยินดีที่จะเป็นผู้ให้ ในสิ่งที่ผมมีกับคนที่ศรัทธาในอาชีพนี้ด้วยความเต็มใจ

                             

          ขอขอบคุณโครงการความรู้ จากบล็อกสู่หนังสือ: คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ GotoKnow.org (Blog to Book) ภายใต้โครงการระบบออนไลน์เพื่อการจัดการความรู้สุขภาวะ ผู้พัฒนาเว็บไซต์ GotoKnow.org ได้ทำการรวบรวมบันทึกที่ควรค่าแก่การเผยแพร่แก่สาธารณะ โดยให้ผมคัดเลือกบทความจาก บล็อก ทำขวัญนาค จำนวน 50 บทความ ทำการตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) เนื้อหา “ทำขวัญนาค” ขึ้นตีพิมพ์เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน

                               

         ติดตามอ่านได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนการดาวน์โหลดต้องรออีกสักระยะหนึ่ง ครับ เว็บไซต์ที่ติดตามอ่าน   http://www.portal.in.th/blogtobook/  เว็บไซต์ดาวน์โหลดหนังสือ http://gotoknow.org/blog/chamluang/362782  และที่เว็บ Portal in Thailand : http://portal.in.th/kwannak/pages/13087/  (15 ธ.ค. 2553)

 

หมายเลขบันทึก: 413953เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท