เพลงอีแซว ตอนที่ 4 เกาะติดเวทีการแสดง งานแสดงกลางแจ้งเวทีท้องนา


คนในยุคก่อนช่างมีน้ำใจแบ่งให้ปันกันโดยไม่ต้องเสียค่าจ้างแรงงาน เรียกว่า “การลงแขกเกี่ยวข้าว"

เพลงอีแซว ตอนที่ 4

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(งานแสดงกลางแจ้งเวทีท้องนา)

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

 

        บทบาทหน้าที่เมื่อตอนเริ่มต้น ผมตั้งใจที่จะสืบสานตำนานเพลงอีแซวของจังหวัดสุพรรณบุรีเอาไว้ให้ได้นานที่สุดในฐานะที่ผมได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศของจังหวัดสุพรรณบุรี ในงานประกวดเพลงอีแซวด้นกลอนสด เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2525 งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่หน้าศาลากลางหลังเก่า ผมได้รับการฝึกหัดเพลงมาจากครูเพลงชาวบ้านที่ล่วงลับไปแล้ว คือ ป้าอ้น จันทร์สว่าง ป้าทรัพย์ อุบล ใจผมคิดอยากที่จะถ่ายทอดเพลงอีแซวสู่เยาวชน โดยเฉพาะนักเรียนที่ผมสอนอยู่ที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ให้ได้ แต่ในความเป็นจริงมิได้ง่ายอย่างที่ใจคิด จริงอยู่วงเพลงอีแซวนักเรียนมีเกิดขึ้นมากมายในจังหวัดสุพรรณบุรี นับจำนวนเป็นร้อย ๆ วง แต่วงเพลงอีแซวเหล่านั้นไปได้แค่ไหน
        ผมยังไม่ได้พบว่าเด็ก ๆ เหล่านั้นขึ้นไปเล่นเพลงรับงานแสดงเป็นคืนอย่างมหรสพหรืออย่างมืออาชีพได้เลย พวกเขาได้รับความรู้ ทักษะ เจตคติถึงขั้นไหน การสืบสานที่แท้จริงคนรุ่นใหม่ที่ฝึกหัดเพลงอีแซวหรือเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ จะต้องสมารถทำหน้าที่แทนคนรุ่นเก่าที่จากไปได้อย่างสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าการแสดงอาจจะแตกต่างไปจากของเดิมบ้างซึ่งก็จะต้องยอมรับในความเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคปัจจุบัน แต่จะต้องไม่ถึงกับทิ้งรูปแบบเดิมจนหมด
        ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานเพลงพื้นบ้าน โดยเฉพาะการแสดงเพลงอีแซวในจังหวัดสุพรรณบุรี มีการจัดอบรมปฏิบัติการให้กับครูผู้สอนอย่างถูกต้องตามวิธีแสดงของคนรุ่นเก่ารวมทั้งนักเรียนและรวมกลุ่มนักเรียนที่สนใจตั้งเป็นวงเพลงอีแซวกันมาก แต่ผมไม่อาจที่จะล่วงรู้ลึกลงไปได้ว่า แต่ละทีมแต่ละวงที่ตั้งกันขึ้นมา มีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายอย่างไร เช่น

        - เพื่อฝึกหัดร้องเพลงอีแซวในห้องเรียน กรณีนี้จะร้องได้เพียงบางคนเท่านั้น

        - ฝึกปฏิบัติการแสดงเพลงอีแซว เพื่อร่วมกิจกรรมในโรงเรียน (ดีขึ้นมาหน่อย)

        - ฝึกการแสดงให้มีอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ จนเด็ก ๆ มีความชำนาญมากขึ้น

        - ฝึกปฏิบัติการแสดงโดยมีการกำหนดเวลา 1-2 ชั่วโมง ที่นำเสนอผลงานได้

        - ฝึกหัดการแสดงเพลงอีแซวเพื่อส่งเข้าประกวดในกิจกรรมต่างๆ ระดับต่างๆ 

        - ฝึกหัดการแสดงเพลงอีแซวจนสามารถรับงานแสดงได้ 2-3 ชั่วโมง

        - ฝึกหัดเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น รับงานแสดงอย่างมืออาชีพ

        - ฝึกหัดศิลปะการแสดงท้องถิ่น สามารถรับใช้สังคมได้ตลอดเวลาที่ต้องการ

        ผมเรียงลำดับความความสำคัญของเป้าหมาย โดยเฉพาะ ในประเด็นต้น ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็เกิดความสำเร็จแล้ว ในกรณีที่ครูเป็นศิลปินนักแสดงจริง ๆ เพราะการสอนให้เด็กร้องเพลงอีแซว เป็นการสอนตามที่ครูร้องนำมิใช้ฟังจากสื่อแล้วร้องได้ ถึงจะมีสื่อช่วยสอนแต่ครูจะต้องอยู่ใกล้ชิดเพื่อเพิ่มเติมในจิตวิญญาณให้พวกเขาด้วย
        ส่วนในประเด็นสุดท้าย เป็นการทำวงเพลงแบบถาวร ผู้ทำวงเพลงอีแซวจะต้องมองไกล มองในระยะยาว สร้างความเข้มแข็ง พัฒนาความสามารถของนักแสดงทุกคนจนเกิดความโดดเด่นมีเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับในวงการและในชุมชนตลอดจนสังคมปัจจุบันได้อย่างกว้างขวาง เพราะว่าในบางครั้งหรือหลายครั้งที่มีผู้ติดต่องานหรือเชิญวงเพลงอีแซวไปแสดงในระยะกระชั้นชิด เช่น ติดต่อมาในตอนเช้า ให้ไปแสดงในตอนค่ำ แสดงบนเวทีกลาง ให้เวลาทำการแสดง 3-4 ชั่วโมง อย่างนี้วงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ ไปแสดงได้ ผมสามารถรับงานได้ทันที
        นักแสดงเพลงอีแซวที่ฝึกหัดหรือเป็นทายาทศิลปินพื้นบ้านที่เดินทางอย่างถูกต้องจะต้องมองดูต้นแบบรุ่นเก่าว่าท่านทำอะไรบ้าง การแสดงพื้นบ้านมิใช่แค่ร้องเป็น มิใช่แค่เล่นได้ และมิใช่ยืนอยู่บนเวทีเพียง 30-60 นาที แต่จะต้องยืนได้ยาวนานเท่า ๆ กับที่นักแสดงรุ่นครูเขาเล่นกันจึงจะเรียกได้ว่า สืบสานเพลงอีแซวจริง ๆ และการแสดงในแต่ละคืนต้องสร้างสรรค์ผลงานที่จะทำให้คุ้มค่ากับการเฝ้ามองของท่านผู้ชม ค้นหาจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวงเพลงให้พบและพัฒนาความสามารถจนมีความสมบูรณ์นำเสนอแล้วมีคนดู มิใช่มีแต่ผู้แสดง ตรงนี้เองที่เป็นความยาก ยากกว่าคำพูดที่ว่า “สามารถสอนเพลงอีแซวให้เด็ก ๆ ได้เรียนกันทั้งห้อง” เพราะการสอนให้เรียนรู้เป็นขั้นของการสอนพื้นฐาน แต่การสอนให้เด็ก ๆ มีเจตคติที่ดีต่อศิลปะการแสดงท้องถิ่นเพลงอีแซวนี่ซิเป็นเรื่องยาก ผมยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อให้สอดรับกับการติดต่องานหรือเชิญวงเพลงไปแสดงแบบเร่งด่วน
         ในตอนที่ 4 นี้ ผมขอกล่าวถึงงานแสดงที่มีผู้ติดต่อเข้ามา ให้ผมนำวงเพลงไปแสดงในกิจกรรมสำคัญของชุมชน คือ กิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวกลางท้องทุ่งหลังศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี (แห่งใหม่) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553  ผมรับงานแสดงนี้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 แล้วจัดเตรียมสาระไปนำเสนอ 3 รูปแบบ คือ นำเสนอเพลงเกี่ยวข้าว (เพลงเต้นกำ) นำเสนอเพลงฉ่อย และเพลงอีแซว โดยใส่เนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับการร่วมมือร่วมใจกันทำงานและความสามัคคีของประชาชนในท้องถิ่น การแสดงงานนี้ ไม่มีเวที เป็นการแสดงกลางแจ้งในท้องนาเวทีคือพื้นดินกลางทุ่งนา 27 ไร่ ก็เป็นบรรยากาศในอีกรูปแบบหนึ่ง

        

        

        เด็ก ๆ นักแสดงเขาตื่นเต้นกันมาก เมื่อไปถึงบริเวณจัดงาน (แต่งตัวไปจากโรงเรียน) ได้รับอากาศที่สดชื่นยามเย็นท่ามกลางนาข้าวที่สุกเหลืองเต็มอันนาเด็ก ๆ แบ่งหน้าที่กันจัดเตรียมอุปกรณ์ ตั้งแผ่นป้ายชื่อคณะ 2 แผ่น นำไมโครโฟนไปต่อกับเครื่องขยายเสียงที่เจ้าของงานจัดเตรียมเอาไว้ ผู้ชมบางส่วนนั่งพักอยู่ในเต็นท์ที่เจ้าของงานจัดเตรียมเอาไว้ บางส่วนทำหน้าที่อยู่ในท้องนา
        บนพื้นที่ทำการแสดงมีเสื่อขนาดใหญ่ 2 ผืนปูยาวไปตามแนวคันนาเพียงพอที่จะให้นักแสดงได้ยืนวาดลวดลายและแสดงท่าทางได้อย่างคล่องตัว ผมให้เด็ก ๆ ทำการไหว้ครูที่ด้านหลังป้ายชื่อคณะ การแสดงเริ่มเมื่อเวลา 15.50 น.ด้วยเพลงเกี่ยวข้าวก่อน ในบทเพลงกล่าวถึงความงามของท้องทุ่งนา เชิญชวนมาร่วมเกี่ยวข้าวแบบเอาแรงและอาสา แล้วตามมาด้วยเพลงฉ่อย แบบกระทบกระเทียบเสียดสีกันตามแบบของเพลงพื้นบ้าน และเพลงสุดท้ายนำเสนอเป็นเพลงอีแซว ใช้เพลงตับสนุก ๆ เล่นต่อว่าโต้เถียงกันแบบปะทะคารม แสดงไปจนถึงเวลา 17.00 น. ร้องเพลงลา จบการแสดง

       

         

       

        มีเวลาให้เด็ก ๆ นักแสดงได้รับประทานอาหารเย็น เจ้าของงานจัดเตรียมเอาไว้ให้มีทั้งข้าว ขนม น้ำดื่ม น้ำอัดลมอย่างเพียงพอ ให้การดูแลคณะของเราเป็นอย่างดี ผมบอกกับลูกศิษย์ว่า “เป็นบรรยากาศที่พวกเราไม่เคยได้สัมผัส เหนื่อยแล้วรับประทานอาหารเอาไปชดเชยกันให้อิ่ม” วันนี้ไม่รีบเพราะผมเอารถยนต์ส่วนตัวนำคณะนักแสดงไป เด็ก ๆ เขาจะคิดกันอย่างไรก็ไม่อาจเดาใจได้ แต่ผมนึกย้อนไปเมื่อครั้งที่ยังเรียนมัธยมศึกษาที่กรุงเทพฯ แล้วได้กลับมาบ้านช่วยพ่อแม่เกี่ยวข้าว ราว ๆ เดือนมกราคม แม่ลงแขกเกี่ยวข้าวประมาณ 60 คน สนุกมากร้องเพลงเล่นกันเหนื่อยก็หยุดพัก เกี่ยวข้าวกันจนเสร็จ บรรดาแขกอาสาที่มาจึงเดินทางกลับโดยไม่มีค่าจ้างแรงงาน คนในยุคก่อน (เมื่อปี พ.ศ. 2508) ช่างมีน้ำใจแบ่งให้ปันกันโดยไม่ต้องเสียค่าจ้างแรงงาน เรียกว่า “การลงแขกเกี่ยวข้าว” จากวันนั้นก็มาได้สัมผัสอีกครั้งในวันนี้เอง นี่คือชีวิตของชาวนา กระดูกสันหลังของประเทศชาติที่ดูเหมือนว่าจะถูกลืม

 

ติดตามเพลงอีแซว ตอนที่ 5 เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว (เทศกาลสงกรานต์)
หมายเลขบันทึก: 413597เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2010 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

***แวะมาชื่นชมเด้กๆค่ะ

*** ศิลปะทำให้มีชีวิตชีวา จริงๆนะคะ

ผมชอบศิลปะพื้นบ้านมากๆครับ ยังสนุกกับการฟังลูกเล่นเพลงฉ่อย เพลงอีแซว อย่างสนุกสนาน การกระตุ้นให้เด็กรุ่นหลังสนใจเพลงพื้นบ้านเป็นเรื่องดี เพราะเพลงพื้นบ้านมักมีคติสอนใจ แต่จะทำให้เด็กร้องเพลงพื้นบ้านได้ดีแค่ไหนอยู่ที่ตัวครูเพลงและพรสวรรค์ของเด็กและพรแสวงด้วยครับ

คุณกิติยา เตชะวรรณวุฒิ

  • ขอบคุณมากครับ ที่แวะมาให้กำลังใจเด็ก ๆ ท่ามกลางบรรยากาศยามเย็น

ท่านอัยการชาวเกาะ

  • ความเห็นของท่านถูกต้องและสอนใจเด็ก ๆ ได้อีกมาก ครับ
  • บทเพลงที่ผมเขียนขึ้นมาทุกบทแฝงเอาไว้ด้วยคติให้เก็บไปคิด
  • ใช่ครับ จะไปได้ดีแค่ไหนอยู่ที่ตัวครูและเด็ก ๆ ด้วยตามที่ท่านเสนอ

ผมเป็นนักแสดงคนหนึ่งของวง ได้อ่านคอมเม้นท์ด้านบนแล้วทำไห้ผมมีกำลังใจที่จะสืบสานเพลงพื้นบ้านต่อไป

เพราะเพลงพื้นบ้านเป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนไทย และผมขอขอบคุณท่านอัยการชาวเกาะแทนน้องๆนักแสดงทุกคนนะครับ

ที่ท่านให้กำลังใจที่ดีครับ

ภาธิณี นาคกลิ่นกุล

ดิฉันเป็นนักแสดงคนหนึ่งของวง ขอขอบคุณทุกความคิดเห็น ที่ทำให้พวกเรามีกำลังใจในการสืบสานเพลงพื้นบ้านต่อไป และยังร่วมรักษาสมบัติอันมีค่าสิ้งนี้ไว้ ขอบคุณค่ะ

ความเห็นที่ 5 และ 6

  • ธีระพงษ์ และ ภาธิณี เป็นนักแสดงนำในวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ
  • ขอบใจทั้ง 2 คน ที่แสดงความเห็นขึ้นมาให้ครูได้รับรู้ในบางสิ่งบางอย่าง
  • ตลอดเวลา 6 ปี เขาทั้ง 2 คนเหนื่อยมากในการทำหน้าที่ผู้สืบสานเพลงอีแซวที่ดีที่สุดของครู ในความประทับใจครูขอจดจำเอาไว้ตลอดไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท