ทำขวัญนาค 13 (ทำขวัญนาคกับการแนะนำกิจของสงฆ์)


การเป็นนักบวชที่ดีพระภิกษุเป็นพุทธบริษัทระดับนำจึงมีภาระหน้าที่ (กิจของสงฆ์) ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา

ทำขวัญนาค 13

(ทำขวัญนาคกับการแนะนำกิจของสงฆ์)

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

          การทำขวัญนาคในยุคก่อนถือกันว่า ตอนสอนนาค เป็นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะผู้ที่ทำหน้าที่โหราจารย์จะได้แนะนำในสิ่งที่ถูกที่ควรให้แก่เจ้านาคได้นำความรู้ติดตัวไปและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม คนในยุคก่อนท่านจึงต้องหาหมอทำขวัญที่เป็นคนสูงวัย (ปัจฉิมวัย) เพื่อที่จะได้ผู้ที่มีความรู้ทางศาสนะมาสอนเจ้านาค บทสอนนาคเป็นบทร้อง พูดและแหล่ที่จะนำไปสู่ความรู้และการปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ 10 ประการ
          คุณตาวัน มีชนะ ผู้ซึ่งถ่ายทอดวิชาความรู้ “พิธีทำขวัญนาค” มาให้ผมท่านกล่าวกับลูกศิษย์ทุกคนว่า “สอนนาคได้มากเท่าไรยิ่งดี มีประโยชน์ต่อเจ้านาค เพราะนั่นแหละคือกิจวัตรที่ควรกระทำ” ในบทสอนนาคมีทั้งทำนองเสนาะ และทำนองแหล่ หมอทำขวัญนาคบางท่านใช้บทร้องทำนองอื่น ๆ ก็มีสุดแล้วแต่จะปรับเปลี่ยนกันไปตามความประสงค์ ในตอนที่ 13 นี้ผมขอยกเอาบทสอนนาคจากฉบับครูมากล่าวอีกครั้งแต่จะควบคู่ไปกับกิจของสงฆ์ 10 ประการ ที่เจ้านาควรที่จะได้รับรู้ในวันทำขวัญนาค

        

        

บทสอนนาค (ทำนองธรรมวัตร) คัดมาจากบทร้องทำขวัญนาคฉบับครู
         ศรี ศรี วิสุทธิโชค  ข้าพเจ้าจะขออุทิศร้องเป่าหมู่ฝูงเทวดา ทั้ง 6 ช่องชั้นฟ้า นางพระคงคา นางพระธรณี  พระภูมิเจ้าที่กรุงพาลี นายนิรัยบาล  ทั้ง 4 ผู้เที่ยวตระเวนคอยจดคนที่ทำการกุศล ฝ่ายเทวดาที่อยู่ในเบื้องบนก็มาร้องสาธุการ ชมโพธิ์สมภารด้วยท่านทั้ง 2 ที่ได้เลี้ยงลูกมาจนบรรลุ ได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา  อันกุศลที่จะคณานั้นหาบ่มิได้  จึงนัดเอาแผ่นดินและแผ่นฟ้าสุลาลัย มาเป็นพยาน  เอาเขาพระสุเมรุอันตระหง่านเป็นปากกา  เอาน้ำในมหาประเทศมาเป็นหมึกดำ  น้ำนั้นก็แห้งเหือดหายลำจนสิ้นหมด  ยังมาถึงอานิสงส์กำหนด ที่คนได้บวชในพระพุทธศาสนา           
         พ่อนาคเอ๊ย..เมื่อพ่อจะย่างเท้าเก้าลงจากเคหา บ่ายหน้าไปสู่วัด  พระอานิสงส์ก็จะตามไปปรนนิบัติก้าวละกัณฑ์จนถึงเขตขันธ์อุโบสถ  จงกำหนดยั้งข่มอารมณ์เสียด้วยบาปและกรรม เพื่อที่จะนำตัวท่านออกจากสงสาร (โทสะ โมหะ โลภะ) จงประหารเสียให้หายเหตุ เพื่อที่จะนำเข้าสู่พระนิเวศน์เมืองแก้ว  อันกล่าวแล้ว คือ มหานิพพานอันยิ่งใหญ่ 
         พ่อนาคเอ๊ย..อย่าประวิงด้วยโลกีย์ มันจะยึดหน่วงเอาตัวของพ่อนี้ ให้จมลงในสาคร ห้วงหนึ่ง คือลูกอ่อนอันเป็นที่รัก ย่อมประจักษ์จงหักเสีย อีกห้วงหนึ่งคือเมียที่เคยหลง  อย่าพวงด้วยความรักเสน่หา  พ่อจงเอาพระปัญญามาประหารเป็นพระขันธ์แก้ว จะได้แผ้วทางธุเรศที่อาลัย กาสาวพัตร์ คือธงชัยเฉลิมโลก จะได้ป้องกันทุกข์โสกอันตราย ที่จะเกี่ยวกายอันทาน  หน่วงเอาพระนิพพานในภายหน้า ข้อศึกษายังไม่หมด จะขอละลดลงเพียงนี้  
         พ่อนาคเอ๊ย..วันพรุ่งนี้แล้วหนอพ่อจะไก้เข้าไปในพระอุโบสถ  อุปสมบทเป็นสมมุติสงฆ์ นับว่าพ่อจะได้เป็นหน่อเนื้ออริยวงศ์ชิโนรส  พ่อจงรักษาสิกขาบทอย่าประมาท พ่อจงตั้งมั่นอยู่ในโอวาทของพระอุปัชฌาย์ สงสัยในสิกขาจงไต่ถาม สิ่งใดที่ท่านห้ามจงอย่าได้กระทำ พ่อจงได้ปฏิบัติตามเยี่ยงอย่าง อย่าดูเบา จะได้เป็นเสบียงเลี้ยงตัวเจ้าไปในภายหน้า  อนึ่งการปฏิบัติพระอุปัชฌาย์พ่ออย่าได้ละ พ่อจงเอาเป็นธุระทุกเช้าค่ำ  สิ่งใดที่ท่านจะทำพ่อจงทำแทน บุญคุณท่านเหลือแสนที่จะที่จะพรรณนา 
         บวชแล้วหมั่นรักษากิจ  อย่าให้ผิดวินัย เช้าขึ้นไซ้ หมั่นครองผ้า กวาดวัดวาปลงอาบัติ ตามบัญญัติของพระพุทธเจ้า รุ่งขึ้นเช้าได้เวลาจงห่มผ้าไปโปรดสัตว์  อย่าได้เคลื่อนคลาดเว้น แต่อาพาธไปไม่ได้ บังสุกุลนั้นไซ้ปลงให้เห็นทางพระทุกขัง  จงระวังข้อสิกขา  อย่าเข้าบ้านให้ผิดเวลา พบสีกาอย่าทักถาม  อย่าริเรียนเสน่หาไปเกี้ยวสาว  อย่าเอาลูกศิษย์ขึ้นนอนเตียง เลียบเคียงพูดจาขอพี่สาว ความมันจะอื้อฉาวขึ้นเมื่อปลายมือ  คนเขาจะเอาไปลือกันเพราะลูกศิษย์  ไม่ใช่กิจของพระ อย่าได้กระทำ  อย่าพูดจากันให้มันพร่ำเหมือนคฤหัสถ์ ออกนอกวัดอย่าลืมรัดปะคดคาดพุงเดินหมายมุ่งเที่ยวไปมา         
         นี่แหละจึงจะพ้นหนี้ค่าน้ำนมของมารดา บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาแสนจะยาก  ในสิกขาบทนั้นมีมาก  227  ต้องทำน้ำใจให้ขาดเด็ดหมั่นปฏิบัติตามพระพุทธฎีกา  จึงจะได้ชื่อว่า เป็นรากแก้ว ในพระพุทธศาสนาอันล้ำเลิศ บุคคลใดเล่าจะประเสริฐ เหมือนตัวพ่อนาคในวันนี้…. 

        

        

บทร้องแหล่สอนนาค (ทำนองแหล่เทศนา) 
      ศรี ศรี วันนี้วันดี      ศุภผล
   แสนประเสริฐ             เลิศล้น
   เป็นมิ่งมงคล              สวัสดี 
   ขอให้พ่อนาค             จงตั้งใจ  
   ฟังแล้วจะได้              เอาไว้เป็นวิถี 
   จะสั่งจะสอน              ให้ถ้วนถี่     
   เรื่องกาลโลกีย์           อย่าเป็นมณฑิร
   วันพรุ่งนี้                   แล้วหนอพ่อนาค
   จะต้องลาจาก            กันทั้งสิ้น
   ฟูกเบาะ เมาะหมอน    ที่นอนที่กิน
   พรุ่งนี้ต้องสิ้น             ความอาลัย 
   ต้องจากเพื่อนสาว      ต้องจากเพื่อนหนุ่ม 
   ที่เคยมั่วสุม               ที่เคยวิ่งไล่ 
   เคยเย้าเคยหยอก       เคยได้บอกความให้
   เคยนั่งใกล้ ๆ             เคยได้จับมือ
   เมื่อพ่อจะย่างก้าว      เข้ามาเป็นนาค
   อย่าปล่อยความรัก    ให้มาเป็นสื่อ 
   จงตัดสวาท              ให้ขาดจากมือ 
   พ่อจงอย่ายึดถือ        มาเป็นอารมณ์ 
   เมื่อพ่อนาค               จะแปลงเพศ
   เป็นบุตรสรรเพชร      แห่งโคดม  
   พ่อจงตั้งใจ                สงบอารมณ์
   กันเสียให้สม              กับความศรัทธา 
   ญาติทั้งหลาย            ก็พร้อมสะพรั่ง 
   พนมมือนั่ง                ลงวันทา 
   แวดล้อมวงเวียน         เตรียมเวียนเทียนซ้ายขวา 
   อนุโมทนา                 ให้พ่อคุณ
   ทรัพย์สมบัติ              ที่หามาได้
   แม่สะสมไว้                เพื่อทำทุน 
   พ่อจงใจเย็น              เช่นการุน 
   ให้นึกถึงคุณ              บิดา มารดา 
   แม่ถนอม                   ละม่อมละมัย  
   รู้ว่าลูกเป็นชาย           แม่สุดหรรษา  
   หวังเป็นญาติ              กับพระศาสดา
   พ่อแม่อุตส่าห์             ปลอบประคอง 
   อายุของเจ้า               โตเท่าวันนี้  
   ก็เพราะความดี           พ่อแม่ทั้งสอง
   อันศาสนา                  ก็เหมือนขุมทอง 
   น้อยคนที่จะได้ครอง    ได้ห่มผาไตร 
   จะขอแนะนำ              ให้นาคจำจด 
   พ่อจงกำหนด             พ่ออย่าเผลอไผล
   เมื่อแรกจะเข้า            ในโบสถ์ใหญ่ 
   พ่ออย่าทำใจ             ให้เหมือนตีกลอง
   นาคอย่าเผลอจิต        ไปคิดถึงบ้าน 
   นาคอย่างุ่นง่าน          นาคอย่าเกี่ยวข้อง
   จิตของนาค อย่าไปจับ สิ่งที่เคยจอง
   จะพาหม่นหมอง         เรื่องลูกเมีย
   ถ้าดวงจิต                  ยังคิดเสียดาย
   ถ้าเขาอาลัย               เขาคมส่งเสีย
   ถ้าเขาไม่รัก               เขาคงไม่อยากคลอเคลีย
   หักห้ามใจเสีย            อย่าห่วงใย
   จงตั้งใจบวช              กันดีกว่า
   สึกแล้วจะหา              ที่ไหนก็ได้
   บวชเรียนเขียนอ่าน    โบราณขานไข
   เจ้าจะได้                   ใช้คำคม
   วันแรก (พรรษาแรก) จงตั้งจิต  เพ่งพินิจโดยนิยม
   เรื่องผู้หญิงผู้หยัง       อย่าไปฟังคารม
   เรื่องโสมม                 จะพาเลโล
   จะพาดวงจิตพระ        ให้บิดบ่าย   
   จะพาดวงใจพระ        ให้โยกโย้
   มันเป็นเรือง               เครื่องโลโภ
   จะพาเด่โด่                กันอยู่ดักดาน
   อย่าคบพระ               ที่เจ้าชู้
   อย่าพารวมหมู่           กันเดินเข้าบ้าน
   ปากสีกา                   ค่อนข้างจะหวาน
   จะเชื่อมลูกตาล          มาให้พระฉัน
   อย่าไปชม                 ว่าขนมสีกา
   มีรดโอชา                  ทั้งหวานทั้งมัน
   องค์โน้นองค์นี้            ก็ว่าแฟนฉัน
   อย่าไปแย่งขนมนั้น     น้อยนิดถ้วยเดียว
    คบพระดี                   ก็จะได้ยั้งจิต
   ของนิด ๆ อย่าไปหลง  ขบเคี้ยว
   บางองค์ก๋ากั่น            บางท่านฮี้ยว ๆ
   ผิดเสียงนิดเดียว         ก็มีเรื่องเปล่า ๆ      
   อย่าเป็นเรื่อง              เครื่องเดือดร้อน
   ฉันเพลค่ำนอน           ตื่นตอนเช้า  
   ไปบิณฑบาต              ใช้หนี้เขา
   กิจของเราพระเจ้า       ควรจำ
   บิณฑบาต                  อย่ามองสีกา
   ห้ามลูกกะตา              อย่าแลถลำ
   นอกผ้าในเสื้อ             จะเกิดกรรม
   หน่อยจะเดินหน้าง้ำ     ศีลตำสบง
   เมื่อจะหลับนอน           พักผ่อนกาย
   อย่าเห็นสบาย            แล้วนอนส่ง
   จงปิดกุฏิพระ             ให้มั่นคง
   เมื่อจะหลับลง             อย่าเผลอใจ
   พระนุ่งผ้า                  เป็นผ้าถุง
   พระไม่ได้นุ่ง               กางเกงใน
   ลูกศิษย์วัด                 ไว้ใจไม่ได้
   จะบอกใคร ๆ              เขาให้รู้
   เราเป็นสงฆ์                ทรงสิกขา
   ต้องเรียนภาษา           ตามความรู้
    อย่าเรียนภาษา          แค่ปลา ๆ งู ๆ
   เรียนแล้วให้รู้             จะได้เป็นครูคน
   ถ้าจะเรียนคำกลอน     เอาอย่างสุนทรภู่
   ถ้าจะเรียนเจ้าชู้          เอาอย่างพระสุทน
   คงประเสริฐเลิศล้น      เยี่ยมกว่าคนธรรมดา..
         ภาระหน้าที่ของสงฆ์ ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยทำหน้าที่หลักใหญ่ ๆ 3 ประการ (คัดมาบางส่วนจากบทความของ พระอธิการประภาส โชติปญฺโญ)
 
        1. การศึกษา หมายถึง พระภิกษุจะต้องศึกษาหลักพระธรรมวินัยตามพระคัมภีร์พระไตรปิฎกเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย อย่างถูกต้อง สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสมณเพศ
        2. การปฏิบัติ  หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตให้เป็นสมาธิ ให้มีพลัง เพื่อนำไปใช้ในการข่มหรือกำจัดกิเลสคือความเศร้าหมองแห่งจิตและให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง จากการทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ส่วนตน เพื่อนำไปสั่งสอน ถ่ายทอดและเผยแพร่พระธรรม แก่พุทธศาสนิกชนและบุคคลทั่วไป การสั่งสอนและเผยแพร่พระธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของพระภิกษุ เพื่อให้พุทธศาสนิกชน และบุคคลทั่วไปได้เข้าใจในหลักธรรมและสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเองและสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นการทำประโยชน์แก่สังคม
        ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าได้ตรัสหน้าที่ของพระสงฆ์ในการสั่งสอนเผยแพร่หลักธรรมแก่ประชาชนไว้ ดังนี้
           1) สอนให้ละเว้นความชั่ว คือ การชักจูงใจให้บุคคลพึงละเว้นจากสิ่งที่กระทำลงไปแล้วเกิดโทษ ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดเป็นความทุกข์
           2) สอนให้ทำความดี คือ การชักจูงใจให้บุคคลประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สิ่งที่เป็นกุศล เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข
           3) อนุเคราะห์ด้วยจิตใจอันงาม หมายถึง การให้ความช่วยเหลือ และแนะนำสั่งสอนด้วยความปรารถนาดี มุ่งประโยชน์ที่บุคคลถึงได้รับเป็นสำคัญ ไม่หวังสินจ้างรางวัล ลาภ ยศ หรือชื่อเสียงใด ๆ เป็นการตอบแทน
           4) สอนสิ่งที่เขาไม่เคยสดับตรับฟังมาก่อน ประชาชนส่วนมากมักวุ่นวายอยู่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาและสดับพระธรรม พระสงฆ์ผู้ได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติมากกว่าชาวบ้าน จึงต้องนำเอาสิ่งที่ตนเรียนรู้มาถ่ายทอดให้เขาได้รู้ด้วย
           5) อธิบายสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังมาแล้วให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น บางเรื่องที่เขาฟังมาแล้วเกิดความสงสัยไม่แน่ใจ ก็ต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจแจ่มแจ้งหายสงสัย โดยรู้จักการจับประเด็นที่สำคัญมาขยาย และชี้แจงแต่ละประเด็นให้ชัดเจน
           6) บอกทางสวรรค์ให้ หมายถึง การบอกทางสุข ทางเจริญ โดยการแนะนำทางดำเนินชีวิตที่ดีงามและเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชน
        3. การเป็นนักบวชที่ดี พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ศึกษา ปฏิบัติธรรม เผยแผ่คำสอน ดังที่กล่าวมาแล้ว พระภิกษุจะต้องเป็นผู้สืบต่อพระพุทธศาสนา มีคุณธรรมและหลักความประพฤติที่ต้องปฏิบัติมากมาย นอกจากอนุเคราะห์พุทธศาสนิกชนแล้ว พระภิกษุจะต้องหมั่นพิจารณาตนเองในกิจของสงฆ์ (ภาระหน้าที่)  10 ประการ ดังนี้
          1. ลงอุโบสถ (ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น)
          2. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
          3. สวดมนต์ไหว้พระ
          4. กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์
          5. รักษาผ้าครอง
          6. อยู่ปริวาสกรรม
          7. โกนผม ปลงหนวด ตัดเล็บ
          8. ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์
          9. เทศนาบัติ
          10. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔ เป็นต้น ให้รู้จักข่มใจ เว้นแต่ความจำเป็น ๔ อย่างคือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช

          ถ้าจะกล่าวโดยสรุปคือ ภิกษุมีเพศต่างจากคฤหัสถ์สลัดแล้วซึ่งฐานะควรเป็น อยู่อย่างเรียบง่าย จะถือเอาแต่ใจตนเองไม่ได้ ความเป็นอยู่ของสงฆ์ต้องอาศัยผู้อื่นในการเลี้ยงชีพ ควรทำตัวให้เลี้ยงง่าย และบริโภคปัจจัย 4 โดยพิจารณา ไม่บริโภคด้วยตัณหา มีอากัปกิริยาที่พึงทำต่างจากคฤหัสถ์ อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะ พระภิกษุต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ และยังจะต้องปรับปรุงตนให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญูชน พิจารณาแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ เราจักต้องถึงความพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น  วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่ คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ในการข่มอารมณ์ จิตใจเว้นแต่ความจำเป็น
(บทความ "ภาระหน้าที่ของสงฆ์" โดยพระอธิการประภาส โชติปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดหนองขนาก)
          
          หากในพิธีทำขวัญนาค หมอทำขวัญ พระเทศนาสอนนาค ขาดซึ่งคำแนะนำหรือคำสอนให้แก่พ่อนาค ตามที่ยกมาใน 10 ประการนี้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายในประโยชน์ที่พ่อนาคควรจะได้รับ แม้ว่าคำสอนคำแนะนำอาจจะได้ไม่ครบถ้วนในบางประการก็ยังดีว่าที่จะไม่ได้กล่าวเอาไว้เสียเลย แต่ถ้านำเอาคำสอนที่เป็นอื่นไม่ตรงตามข้อบัญญัติก็ยิ่งเบี่ยงเบนและออกห่างไปจากเป้าหมายหรือจุดประสงค์ของการบวชมากเท่านั้น
 
ติดตามทำขวัญนาค ตอนที่ 14 (หมอทำขวัญนาคกับคำแนะนำข้อห้าม 227 ข้อ)
หมายเลขบันทึก: 413216เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2010 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท