การปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดิน


ส.ป.ก. ตระหนักถึงปัญหาด้านความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

          ประเทศไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมซึ่งปรากฏชัดเจน กล่าวคือมีบทบัญญัติด้านสิ่งแวดล้อมโดยเปลี่ยนจากเดิมที่รัฐมีหน้าที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรงเป็นรัฐมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้จุดประกายการมีส่วนร่วม รวมทั้งปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายกระจายอำนาจสู่องค์การส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์กรประชาชนหรือประชาสังคม โดยภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งอปท.ได้รับการถ่ายโอนภารกิจจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ งานพัฒนาป่าชุมชน การควบคุมไฟป่า การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ การดูแลที่สาธารณะ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะมูลฝอย การสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการถ่ายโอนภารกิจด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม (ธนาคารอาหารชุมชน, การปลูกไม้ยืนต้นตามแนวเขตปฏิรูปที่ดินกับแนวเขตอนุรักษ์) ซึ่ง ส.ป.ก. ได้ถ่ายโอนไปแล้วเมื่อปี 2553

 นโยบายรัฐบาลปัจจุบันได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมสอดคล้องกับภารกิจของ ส.ป.ก. ดังนี้

                                1) คุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญเชิงระบบนิเวศ เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน สภาพแวดล้อมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น

                                2) พัฒนาองค์ความรู้การบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่ชุมชนและนักวิชาการท้องถิ่นมีส่วนร่วม รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัดและช่วยลดมลพิษ

                                3) ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์แบบมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชนและภาคีที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสนองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกโครงการอย่างจริงจัง

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้รับมอบที่ดินจากกรมป่าไม้เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินทั้งสิ้น จำนวน 31 ล้านไร่ ได้จัดให้เกษตรกรได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์แล้ว  เนื้อที่ 28 ล้านไร่ ซึ่งที่ดินที่นำมาดำเนินการนั้นส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเดิมที่มีสภาพเสื่อมโทรมที่เกิดจากการบุกรุกแผ้วถางทำการเกษตรมาเป็นเวลานาน บางแห่งอยู่ติดกับเขตป่าไม้ เขตอนุรักษ์ฯและในเขตลุ่มน้ำซึ่งเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการบุกรุกและมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอื่นๆอีก คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ ส.ป.ก. จะต้องส่งเสริมเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินปลูกไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ เพื่อเป็นการฟื้นฟูรักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเกษตรและการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย

                                ส.ป.ก. ตระหนักถึงปัญหาด้านความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยกำหนดพันธกิจด้านการจัดที่ดินและอนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อสร้างความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติมีความเหมาะสมต่อการประกอบอาชีพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและสนับสนุนมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพเป็นระบบแบบองค์รวม การนำนโยบายตามกรอบยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ จึงจัดทำแผนงานโครงการและมาตรการรองรับในลักษณะบูรณาการ โดยยึดพื้นที่ กลุ่มบุคคลเป้าหมายเป็นหลัก การประสานเชื่อมโยงเครือข่ายส่งเสริมให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยทำให้ชุมชนสามารถปรับตัวด้วยการเรียนรู้ภายในชุมชน นำมาสู่การริเริ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สอดคล้องกับศักยภาพที่ดินเป็นไปตามแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมมากขึ้น ชุมชนสามารถปรับตัวเองตามหลักธรรมาริบาล ด้วยการตรวจสอบของชุมชนเองและนำมาสู่การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อเป็นการปรับตัวด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยให้ อปท. มีบทบาทด้านบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จึงเห็นควรดำเนินโครงการปลูกไม้เศรษฐกิจตามมติ ครม. โดยมีองค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและขยายผล เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดิน 69 จังหวัด เนื้อที่ 600,000 ไร่ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปีงบประมาณ 2555-2559)

**คัดลอกจาก บทคัดย่อ

โครงการปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดิน

   ของ ชัชวาล  ชื่นนอก

หมายเลขบันทึก: 412570เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2010 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โครงการนี้ดีมากครับ ว่าแต่ว่าต้องตัดต้นไม้เดิมหรือเปล่าครับ เห็นที่บ้านผมเมืองกาญจน์เขาตัดเสียให้เกลี้ยงก่อนแล้วค่อยปลูกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท