ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>มะเร็งต่อมลูกหมาก


ต่อมลูกหมาก

 

'มะเร็งต่อมลูกหมาก

    เป็นอีกโรคหนึ่งที่น่ากลัวที่สุดไปแล้ว สำหรับ “มะเร็งต่อมลูกหมาก”  ซึ่งเชื่อว่า คุณผู้ชายแทบทุกคน ควรจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกันอย่างจริงจังเสียที
       
    ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะว่า ส่วนมากแล้วมะเร็งทุกชนิด มักไม่แสดงอาการในระยะแรกเริ่มให้เห็น แต่จะมารู้ตัวว่าเป็น ก็แสดงอาการในระยะที่  2 ที่ 3 เข้าไปแล้ว ดังนั้น วิธีการตรวจคัดกรองหรือตรวจหาว่ามีความผิดปกติของการเกิดมะเร็ง จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีในการระมัดระวังตัวเอง ให้ห่างไกลจากมะเร็ง
       
    เช่นเดียวกัน “มะเร็งต่อมลูกหมาก” ก็มีวิธีในการตรวจคัดกรองเพื่อหาความเสี่ยง วิธีการดังกล่าวเรียกว่า พีเอสเอ (Prostate-specific antigen; PSA) ซึ่ง พีเอสเอ เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ของต่อมลูกหมาก พีเอสเอ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของต่อมอสุจิที่ทำให้มีลักษณะเป็นน้ำ ส่วนใหญ่ พีเอสเอ มักจะออกจากร่างกายระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิ แต่มีปริมาณน้อยที่จะสามารถเข้าสู่กระแสเลือด
       
    การตรวจวัดค่า พีเอสเอ ก็เหมือนกับการตรวจเลือดทั่วไปกล่าวคือ ค่า พีเอสเอ สามารถวัดได้จากการเจาะเลือด ระดับค่า  พีเอสเอ จะถูกวัดโดยวิธีการทางห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า การวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันทางเคมี ซึ่งวัดค่าเป็นนาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ผลระดับค่า พีเอสเอ ที่สูงขึ้นหมายถึงสัญญาณของความผิดปกติของต่อมลูกหมาก
       
    โดยทั่วไป ผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป มักมีค่า พีเอสเอ สูงกว่าผู้ชายอายุ 40 ปี สิ่งที่สำคัญของการมีค่า พีเอสเอ สูงขึ้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงการมีมะเร็งต่อมลูกหมากทุกราย ซึ่งจะเน้นว่าการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตรวจเลือดหาค่า พีเอสเอ เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องยึดหลักการตรวจร่างกายและซักประวัติครอบครัว ตลอดจนวัดผลจากการทดสอบต่อมลูกหมากต่อไป และแม้ว่าผู้ชายที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง ค่า พีเอสเอ ก็อาจจะค่อย ๆ สูงขึ้นตามอายุได้เช่นกัน
       
ผลจากการวัดค่า พีเอสเอ มีความหมายอย่างไร
       
     ถ้าการตรวจทางทวารหนักและค่า พีเอสเอ ปกติเป็นที่น่าพอใจ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจโรคเพิ่มเติม แพทย์อาจจะแนะนำให้มาตรวจทั้งทางทวารหนักและค่า พีเอสเอ ปีละหนึ่งครั้ง ถ้าค่าพีเอสเอสูงหรือการตรวจทางทวารหนักพบว่าต่อมลูกหมากมีความผิดปกติ แพทย์ก็จะนำชิ้นเนื้อมาทำการตรวจ
       
     ย้ำอีกครั้งว่า การตรวจวัดค่า พีเอสเอ เพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่หนทางที่เพียงพอนัก จึงอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมทางทวารหนัก และพิจารณาจากอายุ ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำมาประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากต่อไป
       
อะไรเป็นสาเหตุให้พีเอสเอมีการเปลี่ยนแปลง
       
     บางครั้งค่า พีเอสเอ ที่สูงขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดจากเหตุผลอื่นๆ นอกเหนือจากมะเร็งก็ได้ เพราะการมีต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ การมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้ส่งผลต่อระดับ พีเอสเอ ซึ่งรวมทั้งการตรวจทางทวารหนัก และการรับประทานยาก็อาจทำให้ค่า พีเอสเอ เปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อฮอร์โมน เป็นต้น
       
ควรได้รับการตรวจค่าพีเอสเอหรือไม่
       
     ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในยุโรป มีการแนะนำให้มีการตรวจต่อมลูกหมากปีละครั้งสำหรับผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และคาดหวังว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างน้อย 10 ปี สำหรับผู้ชายที่มีอัตราเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากจากการมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรได้รับการตรวจเริ่มต้นที่อายุ 45 ปี ส่วนผู้ชายอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรก การตรวจเพื่อหามะเร็งควรทำทันทีเมื่อมีอาการทางระบบปัสสาวะ
       
     สิ่งสำคัญที่ควรมีการตระหนักคือ การตรวจ พีเอสเอ เป็นเครื่องมือในการตรวจโรคของมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การตรวจร่างกายประจำปีสามารถช่วยให้หลีกเลี่ยงการมีภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้
       
ควรตรวจค่าพีเอสเอบ่อยแค่ไหน
       
     ถ้าค่าพีเอสเอและการตรวจทางทวารหนักได้ผลเป็นปกติตั้งแต่เริ่มแรก แพทย์ผู้มีประสบการณ์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้มีการตรวจทั้งสองวิธีทุกปี
       
มาถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายคนคงเกิดคำถามขึ้นว่า แล้ววิธีการตรวจทางทวารหนัก ทำอย่างไร
       
     การตรวจทางทวารหนักร่วมกับการตรวจค่าพีเอสเอ จะทำเมื่อมีการตรวจโรคหามะเร็ง หรือเมื่อมีการประเมินคนไข้ชายสำหรับปัญหาการถ่ายปัสสาวะ
       
    การตรวจทางทวารหนักเป็นการตรวจที่ง่ายและมีความสำคัญ คนไข้ที่ได้รับการตรวจทางทวารหนักจะนอนหงายงอตัวบนเตียงตรวจ หรือนอนตะแคงบนเตียง แล้วงอขาขึ้นให้เข่าชิดหน้าอก แพทย์จะใช้นิ้วมือที่สวมถุงมือที่ทาสารหล่อลื่นด้านนอกสอดเข้าไปในทวารหนัก เพราะต่อมลูกหมากอยู่หน้าต่อมทวารหนัก
       
   แพทย์จะตรวจได้ความรู้สึกว่าต่อมลูกหมากโตมากผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งการมีก้อนนูน มีรูปร่างหรือเนื้อผิวของต่อมลูกหมากที่บ่งบอกความเป็นไปได้ของการเป็นมะเร็ง ถึงแม้การตรวจทางทวารหนักทำให้คนไข้รู้สึกไม่สะดวก แต่ก็จะใช้เวลาไม่กี่นาทีเท่านั้นต่อการตรวจหนึ่งครั้ง

 

คำสำคัญ (Tags): #หว่งใย
หมายเลขบันทึก: 412099เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2010 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 00:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท