ราชทัณฑ์ประสบความสำเร็จในการแก้ไขผู้ต้องขังหรือไม่?


ราชทัณฑ์ประสบความสำเร็จในการแก้ไขผู้ต้องขังหรือไม่

นัทธี จิตสว่าง

ความรู้สึกของคนบางกลุ่มสะท้อนให้เห็นทัศนะว่า ราชทัณฑ์ไม่ประสบความสำเร็จในการอบรมแก้ไขผู้ต้องขัง ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากการที่ได้รับทราบ การกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังบางรายที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือจากการปฏิบัติหน้าที่เข้าไปสัมผัสกับผู้กระทำผิดที่เคยมีประวัติต้องโทษจำคุกมาก่อน

แต่ถ้าพิจารณาจากสถิติการกระทำผิดของผู้ต้องขังซึ่งใช้เป็นเครื่องวัดความสำเร็จในการอบรมแก้ไขของราชทัณฑ์ จะพบว่าในประเทศไทยมีอยู่เพียงร้อยละ 14 อีกนัยหนึ่งร้อยละ 14 ของผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำเคยมีประวัติต้องโทษจำคุกมาก่อน และถ้าคิดเผื่อความผิดพลาดทางสถิติอาจมีเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ก็จะเห็นว่าเป็นสถิติที่ไม่สูง ยิ่งถ้าไปเทียบกับต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐฯ  ออสเตรเลีย  อังกฤษ  หรือฝรั่งเศส จะพบว่าสถิติการกระทำผิดซ้ำของประเทศเหล่านี้มีถึงร้อยละ  50 – 70

ตัวเลขนี้แสดงว่า  ราชทัณฑ์ไทยประสบความสำเร็จในการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังมากกว่าประเทศตะวันตก  ใช่หรือไม่

คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะคนที่เข้าคุกในประเทศตะวันตก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ร้ายจริงๆ  เป็นพวกผู้ร้ายโดยสันดาน แก้ไขยาก พวกมืออาชีพ คนที่ทำผิดคดีเล็กน้อย คดีเสพยาเสพติด หรือ คดีที่ผู้กระทำผิดมิได้สันดานเป็นผู้ร้าย จะไม่ใช้โทษจำคุก แต่ใช้วิธีการอื่นๆ แทนการใช้โทษจำคุก ดังนั้นเมื่อราชทัณฑ์ในประเทศตะวันตกคุมขังเฉพาะผู้ต้องขังที่มีลักษณะร้าย สถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังจึงสูง ในขณะที่ราชทัณฑ์ของไทยต้องรับคุมขังผู้ต้องขังคดีเล็กน้อยเป็นจำนวนมาก (จนคนล้นคุก) สถิติการกระทำผิดซ้ำจึงต่ำ  เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ทำผิดซ้ำ จริงๆ แล้วไม่ควรนำเข้าไว้ในคุกเสียด้วยซ้ำ (แต่เวลาจะลดโทษให้พวกนี้จะถูกคัดค้าน)

แต่ถ้าราชทัณฑ์ไทยคุมขังเฉพาะผู้ต้องขังที่มีสันดานเป็นผู้ร้าย หรือผู้ต้องขังลักษณะร้ายจริงๆ แล้ว  สถิติการกระทำผิดซ้ำคงจะสูงกว่านี้

ปัญหามีอยู่ว่า ระบบราชทัณฑ์ไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศใดในโลกไม่สามารถแก้ไขผู้กระทำผิดกลุ่มที่มีลักษณะร้าย  มีสันดานเป็นผู้ร้ายได้เลย  ใช่หรือไม่

คำตอบคือ ใช่ เพราะพวกนี้ส่วนใหญ่จะแก้ไขยาก หลายประเทศยอมรับในความยากลำบากที่แก้ไขพวกนี้  และหันมาใช้วิธีกันตัวเองออกจากสังคม  เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ

 

  1. ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ได้ถูกทำลาย ถูกหล่อหลอมมาจากสถาบันทางสังคม หรือสภาพแวดล้อมที่เหลวแหลกมาเป็นเวลานาน การแก้ไขในเรือนจำในภายหลังจึงเป็นเรื่องปลายเหตุ  พวกเขาเปรียบเสมือนกับแก้วที่ร้าวแล้วยากที่จะประสานให้เหมือนเดิม

  2. สังคมไม่ยอมรับบุคคลเหล่านี้เมื่อพ้นโทษ เมื่อสังคมไม่ยอมรับ ครอบครัว เพื่อนฝูงไม่ยอมรับ ก็ต้องกลับไปคบกับพวกที่ยอมรับบุคคลประเภทเดียวกันทำให้นำไปสู่การกระทำผิดซ้ำอีก

  3. ฝ่ายราชทัณฑ์ไม่สามารถตามไปแก้ไขช่วยเหลือผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปอยู่ในสังคมได้ เพราะเมื่อพ้นโทษแล้วก็หมดอำนาจที่จะไปติดตามดูแลได้ ไม่สามารถตามไปแก้ไขปัญหาครอบครัว ปัญหาการว่างงาน หรือปัญหาอื่นได้ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้ผู้พ้นโทษและคนทั่วไปเข้ามาสู่เรือนจำ

แต่สำหรับผู้กระทำผิดที่ยังไม่ถลำไปมาก ทำผิดเล็กน้อย ทำโดยอารมณ์ชั่ววูบหรือพลั้งพลาด ไม่ใช่พวกทำผิดโดยสันดานแล้ว พวกนี้พอแก้ไขได้ โดยถ้าจะเปรียบผู้ต้องขังในระดับของการแก้ไขแล้ว อาจแยกได้เป็น 3 ระดับคือ

 

พวกผู้กระทำผิดในระดับที่1 พวกนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เรือนจำก็แก้ไขได้ พวกที่ 2 พอแก้ไขได้ ถ้าใช้ความพยายาม ดังนั้นถ้าจะวัดประสิทธิภาพของฝ่ายราชทัณฑ์ต้องวัดจากความสามารถในการแก้ไขผู้ต้องขังกลุ่มนี้ และถ้าจะกล่าวว่าราชทัณฑ์ไทยประสบความล้มเหลวหรือไม่ ต้องมาแยกพิจารณาว่าเป็นผู้ต้องขังกลุ่มไหน ถ้าเป็นพวกที่ 1 และ 2 ราชทัณฑ์ไทยก็ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่ 3 ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่ปัญหาก็คือว่า ฝ่ายราชทัณฑ์มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องขังเพียงพอหรือไม่ในการที่จะจำแนกผู้ต้องขังแต่ละประเภท ในเมื่อผู้ต้องขังที่เข้าสู่เรือนจำไม่มีข้อมูลใดๆ ติดตัวมานอกเสียจากหมายจำคุก การจำแนกเพื่อแยกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังแต่ละประเภทให้เหมาะสมจึงทำได้ยาก หากเป็นผู้ต้องขังโดยสันดานที่แก้ไขยาก ควรขังไว้เป็นระยะเวลานานเพื่อกันออกจากสังคมจนกว่าความชราภาพจะทำลายศักยภาพในการประกอบอาชญากรรมของเขา พวกที่ทำผิดโดยพลั้งพลาดควรได้รับโอกาสอบรมแก้ไขในชุมชนแทนการจำคุก เพื่อเก็บพื้นที่และทรัพยากรในเรือนจำไว้สำหรับผู้ต้องขังที่จำเป็นต้องได้รับการอบรมแก้ไขในเรือนจำ หรือพวกที่มีลักษณะร้าย

แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถแยกปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดแต่ละประเภทได้เหมาะสมแล้ว ความล้มเหลวของฝ่ายราชทัณฑ์ก็เป็นเรื่องเดียวกับความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบนั่นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 411489เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2010 22:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท