คุณครูที่รัก


พ.ญ.อมรา มลิลา

คุณครูที่รัก  
โดย ดร.อมรา มลิลา

ณ โรงเรียนธรรมภิรักษ์ ในวันปฐมนิเทศคณะครูและอาจารย์
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 


กราบเรียนท่านศึกษานิเทศก์ อาจารย์ คุณครูโรงเรียนธรรมภิรักษ์

เรื่องที่จะคุยกันวันนี้ ก็คือเรื่องการจะทำหน้าที่ของครูให้เกิดประโยชน์เต็มที่สูงสุดได้อย่างไร ดิฉันเชื่อว่า ท่านทุกคนมาเป็นครูด้วยน้ำใสใจสมัครรักงาน เพราะตัวเองถือว่า เราจะทำการงานอะไรก็ตาม ถ้าไม่เอาหัวใจเข้าไปทำด้วยแล้ว ตัวเองขาดทุน เพราะอะไร

เพราะขณะที่ตัวของเราต้องทำกิจหน้าที่เหล่านั้นอยู่ ใจกลับปลิวแล่นไปที่อื่น หรือคิดขัดเคืองว่าทำไมต้องเป็นเราที่มาติดอยู่ตรงนี้ ยิ่งคิด ใจก็ยิ่งปวด ชอกช้ำ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ทั้งที่ความเป็นจริงงานไม่ได้เลวร้ายหนักหนาสาหัส แต่ใจของเราที่ไม่เต็มใจ ไม่พอใจ ทำให้เกิดแรงเสียดทาน แล้วความสามารถ ความเก่งกาจของเรา เลยถูกเสียดสีกลายเป็นอารมณ์ความรุ่มร้อน ระเหยสูญหายไปหมด แทนที่จะเกิดเป็นสิ่งสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเราและกับเด็ก

ดังนั้น ถ้าท่านผู้ใดเซ็ง เบื่อ หรือเตรียมที่จะเอาตัวตั้งไว้ตรงนี้ แล้วเอาใจหนีไปอยู่ที่อื่น โปรดกรุณาดึงใจกลับเข้ามาอยู่ในกายของตัวเสียเวลาที่ทำได้อย่างนั้น เราจะเห็นสิ่งที่กำลังทำเป็นเรื่องสนุก แล้วอะไรก็ตามที่เราทำออกไป จะเป็นสิ่งที่มีคุณภาพ ผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์เราก็ดี ผู้ปกครองก็ดี หรือเพื่อนร่วมงานก็ดี จะสัมผัสถึงพลังที่มีชีวิตจิตใจของเรา ทำให้เขาพลอยรู้สึกตามไปว่า… เออ…มันก็น่าสนุกนะ เราลองดูอีกสักครั้งเถอะ อะไรที่ร้ายก็มองเป็นแบบฝึกหัด เพื่อให้เรามีประสบการณ์เพิ่มขึ้น มีความรอบรู้เพิ่มขึ้น

ขออนุญาตดิฉันยกตัวเป็นตัวอย่าง สมัยที่เป็นนักเรียนแพทย์นั้น ชีวิตพวกเราไม่ต่างอะไรกับขุนทาส ไหนจะฟังคำบรรยาย ไหนจะคอยติดตามเวลาอาจารย์มาดูคนไข้ ไหนจะคอยรับคนไข้ใหม่ตามแพทย์ฝึกหัดรุ่นพี่จะจัดสรรจ่ายให้ พอคนไข้หนักหนา พี่จะเลือกจ่ายให้นักเรียนที่ตนเห็นว่า มีความรับผิดชอบ ไว้วางใจได้ ยังไม่ถึงคิวก็ไม่เป็นไร…เถอะน่า… น้องช่วยรับไปก่อนนะ… บางครั้งคนไข้หนักหลายๆ รายมาติดต่อกัน พี่ก็ไว้วางใจเรามาก…น้องช่วยรับอีกคนนะ… แล้วก็ …อีกสักคนก็ยังพอไหวไม่ใช่หรือ…

วาระที่ดิฉันขึ้นกองสูติกรรม ปกติคนไข้มา 3-4 ชั่วโมงก็คลอด ดิฉันไม่ได้หรอกค่ะ คนไข้แบบนี้ มีแต่ชนิดที่อาจารย์มาดูคนไข้ในห้องรอคลอดเซพติคเตียงที่หนึ่ง ดิฉันก็วิ่งเข้าไปรายงานว่า คนไข้เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ อาจารย์ตรวจเสร็จ ล้างมือ ไปเตียงที่สอง ดิฉันก็ตามไปรายงานอีก พอถึงเตียงที่สาม อาจารย์หันมามองแล้วเลิกคิ้ว ถามเสียงเครียด

“เพื่อนคุณเขาไปไหนกันหรือ?”

“เขาก็อยู่กันทุกคนแหละค่ะ อาจารย์”

“แล้วเรื่องอะไรคุณมารับเหมาอยู่คนเดียวอย่างนี้นี่เตียงที่สามแล้วนะ”

“ก็เขาเป็นคนไข้ของหนูทุกคนนี่คะ”

“ฮ้า… แล้วเตียงที่สี่สุดท้ายโน่นละ ?”

“ก็ของหนูอีกแหละค่ะ”

เพราะพี่แพทย์ฝึกหัดเอ็นดูดิฉันมาก ว่าเป็นคนไว้เนื้อเชื่อใจได้ คนไข้รายไหนที่ผิดปกติ ต้องติดตามอาการ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะทุกวัน เป็นเทกระจาดมาจ่ายให้ดิฉันหมด พักนั้นเราก็เซ็ง บางครั้งก็นึก…ทำไมต้องเป็นเราทุกที อ้าว…อีกแล้วหรือ…พี่ก็ปลอบใจ จะบอกให้ คนไข้อย่างนี้นะ บางทีจบเป็นหมอแล้วสิบปียังไม่เคยเห็นเลย พี่ไว้ใจน้อง จึงจ่ายให้ช่วยดูแลไงล่ะ ตอนนั้นเราไม่เห็นด้วยสักนิด นึกในใจว่า …เอาไปจ่ายให้คนอื่นก็จะไม่ว่าอะไรสักคำ

ครั้งไปเรียนต่อเมืองนอก ถึงซาบซึ้งในความรัก ความหวังดีของพี่ อะไรๆ ที่อาจารย์บรรยาย แล้วคนอื่นได้แต่ฟังตาแป๋วนั้น เราเคยเห็น เคยทำมากับมือแล้วทั้งนั้น เจาะหัวใจหรือ เขาก็ยกให้เราเจาะมาเสียช่ำชองแล้ว เราเลยกลายเป็นคนน่าทึ่งในหมู่เพื่อนฝูง เพราะไม่ว่าอะไรๆ ถามมาเถอะ เราเคยทำมาแล้วทั้งนั้น แต่ตอนที่ กำลังทำ นั้น แทนที่จะดีใจ เต็มใจกลับนึกประท้วงว่า …ทำไมถึงเป็นเราอีกแล้ว พี่จะลืมเราเสียบ้างไม่ได้หรือ… คือ เรามีความรู้สึกว่า งานหนักมาก เกินกำลัง จนไม่ใช่ความยุติธรรมเสียแล้ว

เราลองย้อนนึกถึงใครที่มีพี่น้องหลายคน อาจจะเคยรู้สึกเหมือนดิฉัน ทำไมเรื่องดีๆ พ่อแม่นึกถึงลูกคนอื่นๆ ครบหมด แล้วเฉลี่ยให้ทุกคนเท่าๆ กัน แต่พอถึงเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ ระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาดเสียหาย พ่อแม่กลับไว้อกไว้ใจ นึกถึงแต่เราอยู่คนเดียวทุกครั้งไป จนต้องประท้วงว่า …เอ๊ะ…เราก็มีพี่น้องนะ ทำไมไม่นึกถึงลูกคนอื่นบ้าง ท่านก็ตอบว่า… ดูมือเราสิ ทั้งที่นิ้วห้านิ้วไม่มีเท่ากันเลย เราก็รักหมดทุกนิ้วเท่าๆ กันแหละ แต่เวลาใช้งานเราก็ไม่ได้ใช้ทุกๆ นิ้วให้ทำเท่าๆ กัน นิ้วก้อยไม่ใคร่ถูกใช้หรอก มันถึงได้เป็นน้องน้องอยู่อย่างนี้ ส่วนนิ้วชี้กับหัวแม่มือถูกใช้ให้คีบหยิบจับสิ่งโน้นสิ่งนี้ตลอดวันใช่ไหม ล่ะ ?…

เราก็บังเอิญเป็นหัวแม่โป้งหรือนิ้วชี้เสียนี่ ใครๆ เลยชอบใช้

ที่นี้ถ้าเราเห็นด้วยกับหลักการนี้ เกิดอาจารย์ใหญ่หรือใครใช้เรามากผิดปกติ ก็อย่าไปคิดน้อยใจนะคะ นึกเสียว่าเราเป็นคนโชคดี จะได้มีประสบการณ์หลากหลาย เพราะอะไร เพราะยิ่งเราได้ทำมากเท่าไร ความชำนาญ ความรอบรู้ที่จะช่วยให้เราหยั่งเห็น และพลิกแพลงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราเตรียมในฝ่ายของเราให้พร้อม ให้พลังที่จะไปสู้กับงานเต็มไปด้วยความสนุก ความเพลิน ความพอใจ ไม่ใช่เพราะมีใครมาบีบบังคับ

คราวนี้เราก็มารู้ถึงสิ่งที่ต้องไปเกี่ยวข้องด้วย ธรรมชาติของเด็กนั้นแตกต่างจากสิ่งอื่นๆ ตรงที่ว่า เต็มไปด้วยพลังที่ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จนบางครั้งก็เหมือนเขา ลองเอาใจของเด็กเปรียบเหมือนกระดาษซับ อะไรที่ได้ยินได้ฟังจากเรา ช่างน่าตื่นเต้นไปหมดทุกอย่าง ใครที่สอนเด็กเตรียมอนุบาล หรืออนุบาล คงเข้าใจความรู้สึกของดิฉันตอนที่ลาออกจากงานมาใหม่ๆ แล้วมาช่วยเลี้ยงหลาน ปกติหมอเด็กก็รู้จักแต่เด็กเจ็บป่วยไม่เคยรู้จักเด็กดีๆ ที่เป็นปกติแข็งแรง เราเล่านิทานให้ฟังจบ เขาจะบอกให้เราเล่าซ้ำอีกรอบ …เอา…เล่าอีกรอบก็จะเป็นไรไป เราก็เริ่มต้นเล่าใหม่ พอถึงรอบที่ห้าเราชักเหลืออด …อะไรกันนักนะ...ตัวคนฟังก็จำเรื่องได้นะคะ ไม่ใช่จำไม่ได้ เพราะเวลาที่เราเล่า เขาจะจดจ่อฟัง พอถึงตอนจะพลิกหน้าใหม่ก็ทำเหมือนเขาอ่านหนังสือได้ โดยรีบพลิกให้เราได้อย่างถูกต้องทันท่วงที แล้วถ้าเราเล่าตกหล่นคำไหน เขาจะประท้วงว่า...ไม่ใช่ คือ ที่จริงนั้นเขาจำได้แม่นยำเหมือนเป็นเทปอัดเสียง แต่พอเราประท้วงว่า...อ้าว ลูกก็จำได้แล้วนี่ เขาจะรีบคัดค้านว่า...ยังไม่ได้ เล่าอีกรอบ เอาใหม่อีกรอบ คือ ใจของเขายังดื่มด่ำ ยังรู้สึกว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังยังไม่ประทับใจ ยังเป็นจินตนาการที่ไม่ชัดเจนเพียงพอสำหรับเขา แต่เรามีความรู้สึกว่า...อะไรกันนะ จะเอากันนักหนาอะไรอย่างนี้... เพราะเราเบื่อแล้ว เล่าซ้ำอีกไม่ไหวแล้ว

ถ้าเราเข้าใจถึงความแตกต่างอันนี้ นึกถึงความกระหายใคร่รู้ของเด็ก เราจะได้ไม่ไปเบื่อว่า นี่เรากำลังเล่านิทานเรื่องเก่าซ้ำเป็นรอบที่ห้าแล้ว แต่จะทำใจว่า เรากำลังเล่านิทานแสนสนุก อย่าไปสนใจว่าที่เป็นครั้งที่เท่าไรแล้ว เฝ้าสังเกตแต่ผู้ฟัง เฝ้าสังเกตกิริยาอากรที่เขาซึมซับคำบอกเล่าเหล่านั้นเข้าไป ถ้าคำนึงอยู่อย่างนี้เราจะได้โอกาสปลูกฝังสิ่งที่ป็นประโยชน์เข้าไปในจิตใจ ของเขาได้

การจะสั่งสอนเด็กนั้น ถ้าไปสอนตรงๆ ว่า นี่นะอย่าเกเร เขาจะปิดเครื่องรับ ปล่อยให้เสียงผ่านเข้าหูซ้ายออกหูขวา แล้วก็เกเรอยู่อีกเช่นเดิม เพราะเขาไม่รู้หรอกว่า ที่ทำไปนั้น คือการเกเรอย่างที่เราสั่งห้ามเอาไว้ เขาไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้สนใจจำ ผัสสะอะไรมากระทบ ก็มีปฏิกิริยาตอบสนองออกไปอย่างนั้นเอง เหมือนกับเราเอาลูกฟุตบอลปาเข้าข้างฝา ฝาก็เด้งลูกฟุตบอลสวนกลับมาในทิศทางที่เราปาเข้าไป ถ้าเราไปปรับไหมเขา เขาก็น้อยใจเสียใจ แต่ถ้าเราหาวิธี เป็นต้นว่า เขาชอบแกล้งเพื่อน แกล้งแล้วทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แล้งก็แกล้งอยู่เรื่อยๆ อย่างนั้น เราก็ยกเป็นนิทานมาเล่า เหมือนกับหลานของดิฉัน ช่วงหนึ่งเขาคงคันฟัน พ่อแม่ไปรับกลับจากโรงเรียน ต้องกลั้นใจทุกวัน เพราะไม่รู้ว่าจะถูกครูฟ้องว่า วันนี้น้องไปกัดหัวไหล่เพื่อน กัดพุงเพื่อน เวลาเขาชอบใจนิทานที่แม่เล่า หรือคิดถึงแม่ เขาจะซบหน้าเข้าไป พอซบได้ที่ แม่จะสะดุ้งสุดตัวเลย เพราะถูกกัดเขี้ยวเป็นจ้ำจากรอยเขี้ยว ถ้ารักมาก นี่ถึงเลือดซิบเลย เราก็รู้ว่าการกัดของเขาไม่ใช่มาจากนิสัยชั่วร้ายอะไรหรอก เป็นแต่ว่าเขายังหักห้ามตัวเองไม่ได้ แต่ยิ่งใครไปดุว่าให้เลิกนิสัยนี้ เขายิ่งกลับทำมากขึ้น คล้ายกับว่าเกิดความเครียดจนควบคุมตัวเองไม่ได้

วันหนึ่ง ดิฉันเลยชวนเขามาฟังนิทาน แล้วก็เล่าถึงเรื่องช้างตัวหนึ่ง เป็นกำพร้า ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีใครดูแล ต้องเร่ร่อนอยู่ตามลำพังตัวเดียว จึงไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว ลูกช้างที่ดีควรมีนิสัยอย่างไรบ้าง วันหนึ่ง วันหนึ่ง มันเดินเที่ยวไป เที่ยวไป ลูกช้างตัวนี้มีนิสัยว่า ถ้าใครห้ามว่าอย่าทำอะไร มันจะต้องทำสิ่งที่ถูกห้ามนั้นทันที เป็นอันรู้กันในบรรดาสัตว์ทั้งป่า วันหนึ่ง พายุพัดเอารังของแม่นกไส้ซึ่งมีลูกเล็กๆ สองตัวตกลงมาอยู่กลางทางเดิน แม่นกพยายามเอาปากคาบก็แล้ว เอาปีกยกก็แล้ว ผลักก็แล้ว รังก็ไม่ขยับเขยื้อน แม่นกก็วิตกว่า ถ้าลูกช้างเดินผ่านมา ลูกนกในรังสองตัวต้องตายแน่ๆ เพราะยังบินไม่ได้ ขณะที่แม่นกวิตกวุ่นวายอยู่นั้น ลูกช้างก็เดินผ่านมาพอดี แม่นกรีบไปกราบกรานลูกช้างว่า "ลูกช้างจ๋าลูกช้างไปเที่ยวทางอื่นเถิด อย่าเดินมาทางนี้เลย"

ลูกช้างนึกสนุก “ทำไมหรือแม่นก มีอะไรหรือ” ถามพลาง ก็เดินใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามา จนเห็นรังที่ตกอยู่ ลูกช้างก็ร้องว่า “รังนกแน่ะ” แม่นกก็ยิ่งหวาดวิตก ละล่ำละลักว่า “ไปทางอื่นเถอะ…อย่า…อย่า…อย่ามาทางนี้เลย เดี๋ยวลูกช้างจะเดินไปเหยียบถูกรังนกเข้า” ลูกช้างก็ยิ่งสนุกใหญ่ เพราะเข้าใจว่าแม่นกกำลังเล่นกับตน …ไหน…ไหน ลองวัดดูหน่อย รอยเท้าจะพอดีกับรังไหม… ว่าแล้วก็วางเท้าลงไปบนรังเบาๆ ผลปรากฏว่า รังแบนราบไปกับเท้าลูกช้างเลย ลูกนกสองตัวตายเรียบ แม่นกทั้งตกใจเสียใจ ไม่เป็นอันทำอะไร ยืนเกาะซากรังร้องไห้อยู่นั่นแหละ

แม่นกมีเพื่อนรักเป็นกบตัวหนึ่ง แมลงวันตัวหนึ่ง ทุกเช้าสัตว์ทั้งสามจะนัดพบกันเป็นประจำ วันนั้น กบและแมลงวันคอยจนสายแล้ว ยังไม่เห็นแม่นกมาก็ออกตาม มาพบแม่นกร้องไห้อยู่กับซากรังที่แบนราบ ก็ถามไถ่จนรู้เรื่อง สองตัวเลยช่วยคิดกันใหญ่ แมลงวันหัวเสนาธิการบอก “คราวนี้เราจะต้องสั่งสอนให้ลูกช้างรู้เสียบ้างว่า การทำให้คนอื่นเสียใจนั้นเป็นอย่างไร นี่นะ…เอาอย่างนี้ แม่นกเลิกร้องไห้เสีย ลูกช้างเดินไปทางไหน แม่นกคอยบินตามไปนะ หาโอกาสโฉบเข้าวงแคบแล้วจิก…จิกตรงรอบๆ ลูกนัยน์ตาลูกช้างให้เป็นแผลทั้งสองข้าง แล้วฉันจะตามไปตอม ไปหยอดไข่เอาไว้ พอไข่ฟักตัวเป็นหนอนออกมาไชซอนแผลเฟอะ นัยน์ตาลูกช้างก็จะบอด เมื่อตาบอดแล้ว ลูกช้างก็กระหายน้ำ เพราะพิษไข้จากแผลที่ตาอักเสบ คราวนี้กบไปพาเพื่อนฝูงมาส่งเสียงร้องอยู่ตรงเหว ลูกช้างจะได้เข้าใจผิดว่าเป็นบึงพอไปหาน้ำกิน จะได้พลัดตกลงไป คราวนี้ละ ลูกช้างจะได้รู้สำนึกว่า การแกล้งคนอื่นให้ทุกข์เดือดร้อนนี่ เวลาตัวเองเจ็บบ้าง จะทุกข์เดือดร้อนอย่างไร”

ตกลงสัตว์สามตัวนี้ก็ทำแผนจนสำเร็จ ลูกช้างตาบอดกระเซอะกระเซิง กระหายน้ำเต็มที่ เมื่อได้ยินเสียงกบร้อง ก็เข้าใจว่าเป็นบึง จึงมุ่งหน้าไป หวังจะได้น้ำกิน แมลงวัน กบ และแม่นก ตั้งใจจะสอนลูกช้างแค่ให้เจ็บทุกข์เดือดร้อนเท่านั้น แต่มันไม่รู้ เหวนั้นลึกชันเมื่อลูกช้างตกลงไปเลยได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงตายอยู่ในเหวนั้น เอง

หลานนั่งฟังดิฉันเล่าจนจบ แล้วก็ถามว่า “ป้า ที่ลูกไปกัดเพื่อนนี่ จะเหมือนลูกช้างไปเหยียบรังนกหรือเปล่า?” ดิฉันย้อนถามไปว่า “เออ…ถ้าป้ากัดลูก ลูกว่าจะเจ็บไหมล่ะ ?” “คงเจ็บนะป้า เพราะเขาร้องไห้ … แต่นี้ต่อไป ลูกจะไม่กัดใครอีกแล้ว ถ้าลูกเป็นเหมือนลูกช้าง พ่อแม่ก็เสียใจแย่สิ” นับแต่วันนั้น หลานก็เลิกนิสัยคันเขี้ยวได้

การสอนเด็กด้วยเหตุผลแบบผู้ใหญ่ … นี่นะ การรังแกคนอื่นไม่ดี อย่าทำ ถ้าทำครูจะลงโทษ… เด็กก็ยังไม่เข้าใจว่า รังแก คืออะไร ไม่ดี คืออะไร เพราะเขายังต่อเติมความหมายของสิ่งเหล่านี้ ให้เกิดเป็นภาพพจน์ในใจไม่ได้ หรือเราตั้งใจบอกอย่างหนึ่ง เขาเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะแปลความหมายไปคนละทาง การสื่อความหมายยังไม่ได้ผล ที่จะให้เขาเกิดความเข้าใจได้ถูกต้อง เราก็เลยเข้าใจเขาผิด เขาก็เกิดความคับเครียด แล้วเลยแสดงออกด้วยพฤติกรรมของเด็กดื้อรั้น อวดดีหรือบางประเภท ก็แสดงออกในรูปหวาดกลัว ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง บอกให้ทำอะไรก็ทำเหมือนไม่มีจิตใจของตัว แต่กลับไปถึงบ้าน จะออดอ้อนพ่อแม่ว่า พรุ่งนี้ไม่สบาย ไม่มาโรงเรียนได้ไหม อะไรทำนองนี้ เพราะเด็กเกิดความหวาดกลัว แต่ไม่รู้จะอธิบายถึงความรู้สึกในใจว่าอย่างไร

ถ้าเรานึกถึงประเด็นเหล่านี้ไว้เป็นหลักในใจ เราจะเข้าใจลูกศิษย์ของเราแต่ละคน แต่ละคนดีขึ้น และเมื่อเข้าใจแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนมีแขนสองแขน ขาสองขาเหมือนกัน จริตนิสัยย่อมต้องเหมือนกันไปด้วย ดิฉันเปรียบคนเราเป็นเหมือนสัตว์ชนิดต่างๆ บางคนเป็นนก มีอะไรเกิดขึ้นต้องบินไป บางคนเป็นปลา มีอะไรต้องลงว่ายน้ำ พื้นนิสัยที่แตกต่างกันทำนองนี้ ทำให้บางคนก็เป็นเด็กก้าวร้าว เมื่อถูกคุกคามหรือขู่ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าตัวจะสู้ได้หรือไม่ได้ ก็ขอสู้เอาไว้ก่อน แต่บางคนโดนดุเข้าหน่อยก็เสียอกเสียใจจนทำอะไรไม่ถูก ดุไม่ได้ ต้องปลอบกันให้น้ำอ้อยน้ำตาลเป็นกระสอบๆ …หนูคนเก่งนะจ๊ะหนูช่วยทำนี่ให้ครูหน่อย… อย่างนี้ เท่าไรเท่ากัน ทำได้หมด

ถ้าเราไม่รู้จริตนิสัยของเด็ก ไม่รู้จักกุญแจดอกพิเศษ ที่จะไปไขเครื่องจักรอันนี้ให้เดินอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์อยู่ในตัวด้วยกันทั้งนั้น เราก็จะไปทำให้จิตใจของเขาเกิดการชะงักงัน เด็กบางคนพ่อแม่ถูกอาจารย์สั่งให้พามาหาจิตแพทย์ เพราะเป็นเด็กติดอ่าง เป็นเด็กที่ทำอะไรช้ากว่าเพื่อนฝูง เมื่อจิตแพทย์ได้คุยด้วย ได้ศึกษานิสัยใจคอแล้ว ปรากฏว่า ความเป็นจริง เด็กไม่ได้ผิดปกติ ไม่ใช่เด็กปัญญาต่ำ แต่เป็นเด็กที่มีอารมณ์หวั่นไหวง่าย ถ้าไปพบครูที่เด็กรัก เกิดความอบอุ่นไว้วางใจ เด็กก็สามารถทำอะไรๆ ได้ และทำได้ดีเหนือเพื่อนรุ่นเดียวกันด้วย

แต่ถ้าไปพบบุคคลที่เด็กเกิดความหวั่นไหว สิ่งที่เคยทำได้ก็จะนึกไม่ออก เกิดอาการประหม่า ติดอ่างกระสับกระส่ายกระวนกระวาย กัดเล็บ ดูดนิ้วมือ คือกลับไปแสดงพฤติกรรมของเด็กอ่อนใหม่ เด็กที่มีอาการอย่างนี้บางคนจะปัสสาวะราดปัสสาวะรดที่นอน ทั้งๆ ที่แต่ก่อนนี้ก็ควบคุมปัสสาวะได้ บอกถูกต้องเวลาปวดปัสสาวะ ถ้าเราพบอาการของเด็กที่ผิดแปลกไป อย่างเพิ่งลงความเห็นว่า เด็กผิดปกติ ต้องส่งไปพบจิตแพทย์ อาจเป็นการทำร้ายเด็กโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ เราลองให้ความอบอุ่น สนใจ สนิทสนมกับเขา แล้วค่อยๆ ศึกษาค้นคว้าเข้าไปในใจว่า อะไรเป็นสาเหตุให้เด็กเกิดความหวั่นไหว หรือมีพฤติกรรมบ่ายเบนไปเช่นนั้น

มีเด็กโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ครอบครัวของเขาทำงานกระทรวงต่างประเทศ ชีวิตช่วงเด็ก เกิดและเติบโตมาในยุโรปและอเมริกา เขาจึงเหมือนเด็กฝรั่ง มีอะไรสงสัยก็ถามออกไป เป็นเด็กช่างซักถาม เจ้าเหตุเจ้าผลมากพอครอบครัวย้ายกลับมาเมืองไทย มาเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ อาจารย์ทั้งหลายก็ทนเด็กไม่ไหว เรียกผู้ปกครองมาบอกให้พาเด็กไปพบจิตแพทย์ เด็กคนนี้เป็นเด็กผู้ชาย อยู่ชั้นประถม 5 เมื่อทราบว่าถูกพามาพบจิตแพทย์ เด็กเกรี้ยวกราดมาก ร้องห่มร้องไห้ประท้วงว่า “ผมไม่ได้เป็นบ้า ผมไม่มีปัญหา เรื่องอะไรถึงทำกับผมอย่างนี้” เขายืนยันย้ำไปย้ำมาอยู่อย่างนี้ คุณหมอเห็นแบบนี้ก็ปลอบเด็กว่า “ใช่ หนูไม่ได้เป็นบ้า ที่เราต้องพบต้องคุยกันก็เป็นเรื่องปกติ เด็กทุกคนแหละต้องมาหาจิตแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่า สมองเจริญเติบโตไปถึงไหนแล้ว ทักษะ ความสามารถในการใช้มือคล่องแคล่วแค่ไหนแล้ว”

บังเอิญเขาเข้าใจพื้นฐานเรื่องเหล่านี้มาแล้วจากเมืองนอก จึงยอมรับได้ อาการค่อยดีขึ้น คุณหมอก็พาเล่นเกม คุยโน่นคุยนี่ เพื่อให้เกิดความสนิทสนมและรู้จักนิสัยใจคอ ในที่สุดเขาก็เล่าถึงเรื่องที่เป็นปัญหา เขาเป็นเด็กมีเหตุผล เรื่องที่จะเป็นเรื่องขึ้นมานี่ครูสอนว่า แต่ก่อนโลกเราร้อนมากๆ เพราะเป็นสะเก็ดไฟที่เพิ่งหลุดมาจากดวงอาทิตย์ บรรยากาศครั้งนั้นจึงไม่เหมาะกับสิ่งมีชีวิต อะไรๆ ก็ยังไม่เจริญพัฒนา ครั้นอยู่ไป อยู่ไป อุณหภูมิเริ่มลดลง สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตมากขึ้น ต้นไม้อะไรต่อมิอะไรก็งอกงามขึ้นโดยลำดับ ทีนี้ครูก็กล่าวถึงกระบองเพชร แรกเริ่มสมัยดึกดำบรรพ์ กระบองเพชรส่วนใหญ่ไม่มีใบ ลำต้นก็เล็กลง เขาก็สงสัยจึงถามครูออกไป “อาจารย์ครับ หนังสือเล่มไหนว่าอย่างนี้” คือ เขาจะถามว่า “อาจารย์ครับ อาจารย์แน่ใจหรือ ทำไมถึงกลับตาลปัตรกับต้นไม้อื่นๆ ล่ะ ขอเอกสารอ้างอิงให้ผมด้วย” แต่ภาษาไทยของเขายังไม่สละสลวยนัก ก็เลยฟังเหมือนกับว่าเขาก้าวร้าวว่าอาจารย์สอนผิด หนังสือเล่มไหนกันว่าอย่างนี้ อาจารย์ก็โกรธ เมื่อไปคุยกันขึ้นที่ห้องพัก ก็ปรากฏว่า ทุกคนหมดความอดทนกับคำถามทำนองนี้ของเขา

แต่ความจริงนั้น เขาเล่าให้จิตแพทย์ฟังว่า “ก็ในเมื่อโลกร่มเย็นขึ้น สภาพแวดล้อมเหมาะกับต้นไม้ดีขึ้น กระบองเพชรก็ควรจะมีใบใหญ่ ต้นใหญ่ขึ้นอย่างต้นไม้อื่นๆ สิ นี่ทำไมมันถึงสวนทางกัน” จิตแพทย์ก็เห็นด้วย “เออ…หมอจะไปค้นดูก่อนนะ หนูก็ลองไปสอบถามจากผู้รู้ดูด้วย แล้วเรามาคุยกันอีก คราวหน้าจะได้คุยกันเรื่องกระบองเพชรนะ” จิตแพทย์ไปไต่ถามเพื่อนนักพฤกษศาสตร์ ไปค้นจากห้องสมุด ก็เลยได้เรื่องสำหรับมาคุยกัน ตัวเขาเองก็ไปค้นหาข้อมูล แต่ยังไม่ได้จนเป็นที่จุใจ

จิตแพทย์เริ่มป้อนคำถามว่า “กระบองเพชรนี่เอาลำต้นไว้ทำอะไร เอาใบไว้ทำอะไร” เขาก็ตอบว่า “เอาไว้เก็บน้ำ เพราะเวลาใครไปหลงทางติดอยู่ในทะเลทราย แล้วพบกระบองเพชร เขาจะดีใจเอากระบองเพชรมาเคี้ยว เพื่อจะได้น้ำที่มันเก็บสะสมไว้แก้กระหาย” จิตแพทย์ก็ว่า “ถ้าอย่างนั้น เดี๋ยวนี้โลกร่มเย็นชุมฉ่ำ มีน้ำเยอะแยะขึ้น จำเป็นหรือที่กระบองเพชรจะยังต้องมีตุ่มติดตัวเอาไว้เก็บน้ำใบใหญ่ๆ อย่างแต่ก่อน” “เออ จริงสิครับ แหม…ยอดจริงๆ” คือเขาจุใจแล้วสิ้นสงสัย

จิตแพทย์ก็จับจุดที่เป็นปัญหาของเขาได้ และสามารถแก้ไขว่า “การที่หนูอยากรู้สิ่งต่างๆ นี่เป็นของดี แต่หนูต้องรอบคอบว่า วิธีที่จะไปถามครูนี่ บางทีก็ไม่เหมาะ เพราะเวลาครูกำลังสอนอยู่ นึกถึงหนูสิ กำลังคิดอะไรติดพันอยู่ หมอพูดโพล่งขึ้นมานี่ หนูก็โกรธนะ เพราะความคิดของหนูกำลังหลั่งไหลอยู่ดีๆ หมอโพล่งพรวดพราดขึ้นมา ทำให้ต้องเบรกเสียตัวโก่ง แล้วเลยพาลคิดต่อไม่ออก เพราะฉะนั้น อย่าไปถามในห้องเรียนอย่างนี้นะ” นี่คือการสอนให้เขารู้กาลเทศะ แต่ถ้าเราไปดุเขาว่า คนอะไรซุ่มซ่ามไม่รู้กาลเทศะ เขาก็ไม่เข้าใจ เพราะนึกไม่ออก แต่พอเราค่อยๆ ชี้แนะ เขาก็เห็น เข้าใจปรับปรุงตัวได้

ปรากฏว่า เด็กคนนี้ แต่ก่อนตัวเขาไปเข้าห้องเรียนก็จริง แต่ใจไม่อยากเรียน เขาก็สอบได้คะแนนหนึ่งบ้าง สองบ้าง มีประวัติก้าวร้าว ท้าทาย ดึงดื้ออวดดี หลังจากพบจิตแพทย์แล้ว คะแนนของเขาเป็นสี่หมดทุกวิชาเป็นเด็กโอบอ้อมอารี ช่วยเหลือเพื่อนฝูง เพราะเขาเข้าใจแล้วว่า วิธีเรียน วิธีคิดของเขาจะต้องฝึกหัดพัฒนาอย่างไร ถ้าสงสัยจนทนไม่ไหว จดเอาไว้ก่อนเพื่อกันลืม จากนั้นไปค้นที่ห้องสมุด หรือเวลาที่ครูอารมณ์ดี ท้ายชั่วโมงให้โอกาสถามค่อยถาม เมื่อเขารู้ เข้าใจอะไรแล้ว เพื่อนๆ ไม่รู้ เขาเข้าใจจิตใจเพื่อนด้วยกัน ก็อธิบายให้เพื่อนฟังจนรู้เรื่องเข้าใจดี สิ้นสงสัย

การจะแปรพลังของศิษย์แต่ละคนให้มาเป็นพลังในทางสรรค์สร้าง แทนการผลักดันให้กลายเป็นความหงุดหงิดคับเครียด แล้วเลยหักเหพลังทั้งหมดไปเป็นพลังก้าวร้าว พลังต่อต้านนั้น อยู่ที่ความละเอียดรอบคอบของเรา ถ้าใจของเรามีความรัก มีความสุขกับเด็กแต่ละคนที่มาสัมผัส เราจะค้นจนพบจุดอันนี้ได้ แล้วสามารถแก้ไขหรือปรับเขาเข้ามาสู่ลู่ทางที่ถูกต้องได้  


คัดลอกบทความจาก

http://www.dharma-gateway.com

คำสำคัญ (Tags): #อมรา มลิลา
หมายเลขบันทึก: 411347เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2010 07:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท