สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน (ตอนที่ 2)


การปฏิบัติควรจะต้องมีกัลยาณมิตรคอยบอกทางให้


โดย ไตรพิตรา วิสิษฐยุทธศาสตร์

Wat Yannawa, Thailand

วิปัสสนา แปลว่า ความเห็นแจ้ง คือความเห็นตรงต่อความเป็นจริงถึงสภาวะความเป็นจริง

วิปัสสนากรรมฐานมีรูปนามเป็นอารมณ์ อิริยาบถทั้งหมด รวมทั้งลมหายใจเป็นส่วนรูป ใจที่เข้าไปรู้เป็นนาม สรุปว่าตากับสีหรือสิ่งที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเป็นส่วนรูป ใจเข้าไปรู้เป็นนาม หูกับเสียงเป็นส่วนรูป ใจเข้าไปรู้เป็นนาม จมูกกับกลิ่นเป็นรูป ใจเข้าไปรู้เป็นนาม ลิ้นกับรสเป็นส่วนรูป ใจเข้าไปรู้เป็นนาม สิ่งที่ถูกต้องสัมผัสได้และกายเป็นส่วนรูป ใจเข้าไปรู้เป็นนาม ความนึกคิดเป็นนาม ใจเข้าไปรู้เป็นนาม

 

สมาธิที่ใช้ในวิปัสสนา เป็นสมาธิที่ใช้งานเป็นตัวรองจากสติ ส่วน ในสมถะนั้นสมาธิเป็นตัวจุดหมายที่สำคัญหรือเป็นที่หมายปลายทาง นอกจากนั้นสมาธิในทางโลกเกิดขึ้นได้ เช่น เล่นไพ่ก็มีสมาธิ หมอผ่าตัดก็มีสมาธิ เป็นต้น ซึ่งสมาธิเหล่านั้นเป็นสมาธิเช่นกัน แต่เป็นสมาธิที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยสิ่งที่ต้องมองออกไปนอกตัว ถึงแม้ว่าจะมีความรู้ตัวจริง แต่เมื่อไม่ได้รู้ตัวอยู่บนสติปัฏฐานจึงไม่ชื่อว่า เป็นสมาธิที่ใช้ในวิปัสสนา

สติปัฏฐาน แปลว่า ฐานอันเป็นที่ตั้งของสติ ซึ่งสติ ดังกล่าวนี้มิใช่สติทางโลก ที่ใช้ในการขับรถโดยไม่มีอุบัติเหตุ หรือเดินข้ามถนนโดยไม่ถูกรถชน แต่จะต้องเป็นสติที่ตั้งอยู่บนฐานกายหรือบนฐานใจ คือสติที่อยู่กับรูปนาม ซึ่งมุ่งให้เกิดรู้เท่าทันตามความเป็นจริง

วิปัสสนาขั้นนี้ยังถือว่าเจือปนอยู่กับสมถะ ยัง ขึ้นวิปัสสนาล้วนๆ เลยไม่ได้ ต้องมานั่งหลับตา ต้องมาเดินช้าๆ มีคำพูดกำหนดตามไปด้วย เปรียบเหมือนเด็กเล็กๆ ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก เมื่อส่งหนังสือให้อ่านจึงอ่านไม่ได้เลย ทำไมต้องมาเข้าโรงเรียนหัดอ่านช้าๆ หัดเขียนลากเส้นไปตามแนวจุดเป็นตัวอักษรซึ่งอยู่บนบรรทัดไปก่อน ต่อเมื่อเข้าใจและชำนาญแล้วจึงไม่ต้องใช้วิธีนี้อีก ส่งหนังสือให้อ่านก็อ่านได้ทันที การฝึกวิปัสสนา บางทีก็ใช้การฝึกสมถะเป็นพื้นฐาน บางอาจารย์นิยมให้ฝึกสมถะเป็นพื้นฐานอย่างเดียวก่อนในขั้นต้นๆ

จิตที่ยังไม่เคยฝึกมาเลย ย่อมชอบต่อการอยู่กับอารมณ์ที่เป็นอดีตและอนาคต ซึ่งอารมณ์ที่เป็นอดีตและอนาคตนี่แหละที่ทำให้เกิดความชอบและไม่ชอบ ดัง นั้น การฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบันอยู่กับอิริยาบถน้อยใหญ่ กำลังทำอะไรก็รู้ตัวว่าทำอะไรตามไปกับอิริยาบถนั้นๆ ถ้ามีความคิดให้ทำความรู้สึกไว้ที่ใจ เมื่อฝึกจิตให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับกายและใจ ความชอบไม่ชอบจะเข้ามาไม่ได้ เพราะใจถึงแม้จะมี ธรรมชาติคือคิดแล้ว แต่ก็สามารถคิดได้ทีละอย่างไม่สามารถคิดพร้อมกันหลายๆเรื่องได้ ดังนั้น เมื่อคิดถึงเรื่องอดีตหรือเรื่องอนาคตเสียแล้วจึงไม่สามารถจะมาอยู่กับ ปัจจุบันได้

เมื่อวานผ่านไปแล้วไม่เคยหวนกลับมา พรุ่งนี้ยังมาไม่ถึง ดังนั้น ทั่งสองอย่างนี้จึงไม่ใช่ของจริง เป็นความมืดบอด ห้องที่มืดไม่เปิดไฟเรายังหยิบของผิดได้ ดังนั้นหัวใจที่คล่องตัวลื่นตกอยู่ในความมืดบอดตลอดเวลาย่อมตัดสินใจผิดพลาด นำความเดือดร้อนมาให้เราอยู่เรื่อย ห้องมืดเรายังสามารถเปิดไฟได้ ทำไมหัวใจที่มืดนั้นเราจะไม่สามารถนำแสงสว่างเข้าไปได้ และแสงสว่างดังกล่าวนี้คือตัวปัญญานั่นเอง

สำหรับปัญญานี้ไม่ใช่ปัญญาที่ได้เพียงจากการอ่าน การฟัง หรือการคิดพิจารณาเท่านั้น แต่หมายถึงปัญญาที่สามารถทำการขัดเกลากิเลส ที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา

ภาวนา แปลว่า การฝึกอบรม

ภาวนามยปัญญา จะเกิดก็ต่อเมื่อฝึกจิตให้มีสติและสมาธิอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน โดยมีรูปนามเป็นอารมณ์ เวลา นั่งดูลมหายใจเข้าออกแค่ลมที่ผ่านเข้าออกจมูก หรืออาการที่ท้องพองยุบก็ได้ ทั้งลมหายใจเข้าออกและอาการท้องพองยุบเป็นกาย ใจที่เข้าไปรู้เป็นนาม เมื่อสติและสมาธิยังอ่อนจึงต้องอาศัยคำบริกรรมไปก่อน (คำบริกรรม ในที่นี้หมายถึงพูดซ้ำๆ อยู่ในใจ) เช่น พุทโธ หรือพองหนอ ยุบหนอ ทั้งนี้เพื่อผูกจิตใจให้อยู่กบลมหายใจ เวลาเดินเป็นระยะ “ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ” ก็เช่นกัน การยกเท้ากับปากจะต้องไปพร้อมกัน ไม่ใช่ยกเท้าเสร็จแล้วจึงพูด หรือพูดเสร็จแล้วจึงยกเท้า ขอให้เดินแบบสบายๆ ให้เป็นธรรมชาติ อย่าเกร็ง อาการที่เท้าเคลื่อนไปเป็นรูป ใจที่เข้าไปรู้เป็นนาม

ระยะเดินทั้งหมดมี 6 ระยะ ผู้ปฏิบัติควรเดินจนครบ เพื่อให้เห็นความละเอียดของการเกิดดับของรูปนามแต่ละรูป และเมื่อระยะเดินละเอียดขึ้นจะเป็นการผูกสติและสมาธิให้อยู่กับปัจจุบัน

เมื่อเดินก้าวหนึ่งโดยไม่มีความนึกคิด หรือลมหายใจเข้าครั้งหนึ่ง อาการพองครั้งหนึ่ง โดยไม่มีความนึกคิด ใจอยู่กับลมหรือการพองโดยไม่มีการนึกคิด สมาธิแค่นั้นที่วิปัสสนาต้องการ ลองทิ้งคำบริกรรมดู เวลานั่งก็สบายๆ ของมันมีอยู่แล้ว ลมหายใจมีอยู่แล้ว ดูลมหายใจสบาย ๆ เวลาเดินก็สบาย ๆ ให้เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องใส่คำพูดไม่ต้องเดินเป็นระยะ แต่ทำความรู้สึก (คือมีสติกับสมาธินั่นเอง) เอาไว้ที่เท้าซึ่งเคลื่อนที่ไป กำลังวางเท้าลง จนกระทั่งหัวแม่เท้ากำลังจรดพื้น วางเท้าหน้าให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงเริ่มยกเท้าหลัง

ถ้าไม่ทิ้งคำบริกรรม แสดงว่ายังใช้สมมติเป็นอารมณ์อยู่ จะทำให้สมาธิมากไป เมื่อสติตามไม่ทัน จะยังเป็นสมถะอยู่ และจะเลยเป็นสมาธิลึกเข้าไปอีก จนทำให้ลมหายใจหาย แล้วจะมีนิมิตต่าง ๆ ในตอนนั้นถือว่าตกจากฐานกายแล้ว คนยังมีชีวิตอยู่ต้องมีลมหายใจ ภาพที่เห็นจนเกิดขึ้นตรงหน้าซึ่งไม่มีฐานกายฐานใจรับรองภาพนั้นห่างจากลม หายใจหนึ่งคืบ ห่างจากพองยุบหนึ่งศอก จะมีความสุขแทน ผู้ปฏิบัติจะคิดว่าทำถูกแล้ว เพราะในทางโลกนั้นอะไรสุขหมายถึงถูก และจะไม่มีความนึกคิดเลย เพราะสมาธิเข้าไปกันความนึกคิดหมด ถ้าท่านไม่รีบถอนออกมา ท่านอาจจะเห็นเบอร์ลอตโต้ (Lotto) หรือหวยเบอร์ก็ได้ แต่นั่นยิ่งทำให้ท่านหลงทางมากขึ้น

การทำวิปัสสนาจะต้องมีอาการคล่องตัวขึ้นไม่ใช่ทำให้คนเฉื่อย ดัง นั้น จึงต้องฝึกให้ทันกับความนึกคิดของตนเอง ตัดสินความถูกต้องให้ทันกาล ฝึกให้จิตเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง เมื่อไหร่เราเห็นอะไรชอบหรือไม่ชอบ ให้เราคิดได้เลยว่าเรากำลังเดินหลงทางแล้ว เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่บอกว่าเราเห็นไม่ตรงต่อความจริง เพราะเราเอาความรู้สึกออกไปไว้นอกตัว จะไม่มีความชอบหรือความไม่ชอบ เนื่องจากความชอบ ไม่ชอบ เกิดจากการปรุงแต่งของเราเอง วัตถุภายนอกไม่ได้บอกเราสักหน่อยว่าให้ชอบหรือไม่ให้ชอบ ถ้าเราชอบ นั่นแสดงว่าสิ่งนั้นสามารถสนองความต้องการของเราได้ สำหรับหู จมูก ลิ้นสัมผัส และความนึกคิดก็ลักษณะเช่นเดียวกันนี้

คนเรามักจะตามความนึกคิดและพยายามทำตามความนึกคิดนั้น นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำความเดือดร้อนให้กับตัวเอง ลองถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรเราจึงจะไม่หลงกลกิเลสที่อยู่ในหัวใจ เราจะฝึกได้ด้วยการนั่งกำหนดลมหายใจ เมื่อความนึกคิดเกิดขึ้น ให้ทิ้งลมหายใจ ให้ทิ้งความนึกคิดทันที หันมาทำความรู้สึกที่ใจ จนกว่าความนึกคิดนั้นจะหายไป จะรู้ได้จากการที่ลมหายใจหวนกลับเข้ามาปรากฏให้เราได้รู้สึกอีก นั่นแสดงว่าความนึกคิดดับแล้ว หมายถึง จิตไปอยู่กับอารมณ์ที่ผ่านล่วงไปเป็นอดีตแล้ว ตกจากฐานกายฐานใจตกจากปัจจุบัน การตามความนึกคิดเป็นการเพิ่มกิเลส เมื่อกิเลสมีกำลังเพิ่มมากขึ้นจะสั่งงานออกมาเป็นคำพูดบ้างเป็นการกระทำบ้าง

ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้เราอยู่รอด เมื่อสติอยู่กับรูปนามได้ทันปัจจุบันเรื่อยไป ปัญญาอันนี้จึงจะเกิด เป็นดังเหมือนเช่น การประคองชามก๋วยเตี๋ยว ถ้าประคองแรงจะหกรดมือ ถ้าประคองไม่ดีชามจะหล่นเช่นเดียวกัน การจ้องรูปนามแรงเกินไปจะทำให้เครียด ถ้าสติและสมาธิอ่อนจะทำให้ตกฐานซ้ายทีขวาที คือตกจากอารมณ์ปัจจุบันนั้นเอง

ฉะนั้น การปฏิบัติควรจะต้องมีกัลยาณมิตรคอยบอกทางให้ เหมือน รถไฟสองสายที่ออกจากสถานีหัวลำโพงพร้อมกัน สายหนึ่งลงไปทางภาคใต้ อีกสายหนึ่งขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งทั้งสองสายนี้จะไปแยกกันทีบางซื่อต้องการไปเชียงใหม่อุตส่าห์นั่งไปตั้ง นาน เอ! ทำไมไม่ผ่านอยุธยาสักที มารู้สึกตัวอีกทีมาโผล่ เพชรบุรีได้อย่างไร แหม คิดว่าถูกขบวนแล้วเชียวนะ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง จะเดินทางไปเชียงใหม่โดยทางรถยนต์ คนที่เป็นกัลยาณมิตรรู้ว่าสถานีขนส่งสายเหนืออยู่ไหน ผู้ปฏิบัติหรือผู้เดินทางซึ่งมาจากจันทบุรีบ้างราชบุรีบ้าง กาญจนบุรีบ้าง ซึ่งมีวิธีการในการเดินทางมาสถานีขนส่งสายเหนือไม่เหมือนกัน คนเหล่านั้นจึงได้รับคำตอบไม่เหมือนกัน (ฉะนั้น ขณะที่เป็นอารมณ์ของสมถะ จึงมีสภาวะที่แตกต่างกันออกไป) ต่อเมื่อขึ้นรถไปสู่เส้นทางสายเหนือแล้ว จะมองเห็นเป็นเช่นเดียวกัน เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าวิปัสสนาล้วนๆ แล้วมีรูปนามเป็นอารมณ์ ปัจจุบัน ทุกคนจะเห็นเหมือนกัน ไม่มีการถกเถียงกัน

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งในสังคมทุกระดับ ในปัจจุบันที่มีความไม่ลงรอยกัน แม้จะมีความรู้เสมอกัน ทั้งนี้เพราะระดับจิตของแต่ละคนแตกต่างกัน ถ้ามีการปรับระดับจิตให้เข้ามาใกล้เคียงกัน ความขัดแย้งจะเริ่มน้อยลงตามลำดับ การทำงานจะเต็มไปด้วยประสิทธิภาพและสมรรถภาพ

เราจะรู้สิ่งเหล่านิ้ได้เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว เราอ่านหนังสือออก ไม่จำเป็นต้องมีคนรับรองเรา แต่เราสามารถรับรองตัวเราเองได้ว่า เราอ่านออกแล้ว ตราบใดที่ยังต้องให้ครูอาจารย์รับรองอยู่ นั่นแสดงว่าเป็นความรู้ของท่าน ไม่ใช่ความรู้ของเราเอง

หลายท่านเวลานั่งแล้วเกิดอาการตัวโยกตัวคลอนซึ่งบางท่านรู้ตัว บางท่านไม่รู้ตัว ตอนนั้นลมหายใจท่านอ่อนมากหรืออาจจะไม่มีความรู้สึกเลย สิ่งที่เกิดขึ้นมาเเทนที่คืออาการของปีติซึ่งเป็นอารมณ์ของสมถะ เมื่อเกิดอาการดังนี้ ให้ท่านมาทำความรู้สึกที่ใจสบาย อาการปีติที่เกิดขึ้นนั้นจะหายหรือดับไป (แต่ส่วนมากแล้วเราจะติดกับอาการปีติเหล่านั้น) ขณะเดียวกันอาการตัวโยกจะหมดและหายไป จะกลับเป็นวิปัสสนาตามเดิม โดยมาอยู่กับรูปนาม

เมื่อไหร่จิตตก สมาธิจะอ่อนให้หันมาใช้คำบริกรรมอีก ซึ่งคำว่าบริกรรมนั้นเราใช้เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้นเช่น ในการสร้างบ้านเราก็ยังต้องมีไม้ดามไว้ก่อนเช่นกัน เมื่อบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงค่อยเอาไม้ดามออก

Note: บทความนี้ตีพิมพ์ลงในหนังสือ “กรรมฐาน (On Medition)”

คลิกเพื่ออ่านต่อตอนที่ 3

หมายเลขบันทึก: 411184เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณทีนำธรรมะดี ๆ มาให้อ่านดีมากคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท