ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสู่สุขภาวะ


เรื่องเล่าจากการประชุม "สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศไทย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ย. 2553 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เข้าร่วมเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ หัวข้อที่พูดคุยกัน คือ "ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสู่สุขภาวะ" ซึ่งเป็นหนึ่งในระเบียบวาระที่จะนำเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 15-17 ธันวาคม 2553 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ
 
รูปแบบของการประชุมเป็นไปตาม "พิธีการ" (Protocol) ของการจัด "สมัชชา" (Assembly) มี เอกสารหลัก และ ร่างมติ (Click เพื่อ Download) ส่งมาให้อ่านกันล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับการพูดคุยกันในกลุ่มย่อยร่วมกันพิจารณาสาระสำคัญและรับฟังข้อคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เอกสารทั้ง 2 ชุด ดังกล่าว
 
เล่าความในภาพรวม
 
การประชุมเริ่มขึ้นด้วยความขลุกขลักทางเทคนิคทำให้บางขั้นตอนต้องสลับกันแต่ในที่สุดเราก็ได้ชมวิดีทัศน์ เรื่อง ปฏิรูปประเทศไทย "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" โดยคณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้มอบหมายให้ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนบทและให้เสียงบรรยาย ด้วยเวลาประมาณ 10 นาที สื่อชิ้นนี้ได้สร้างความสั่นสะเทือนผ่านระบบคิดตรงไปถึงจิตใจเกิดเป็นคำถามร่วมกันว่า "เราจะออกจากวงจรของความเหลื่อมล้ำนี้ด้วยการปฏิรูปประเทศไทยได้อย่างไร ?"
 
หลังจากที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ขึ้นมากล่าววัตถุประสงค์นำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นนี้แล้ว เราก็ได้รับฟังปาฐกถานำจาก นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป เรื่อง "จากปฏิรูประบบสุขภาพสู่การปฏิรูปประเทศไทย"
 
ผู้เขียนนั่งนิ่ง หลับตา ใช้จินตนาการรับรู้ รับฟังเสียงบรรยายของหมอประเวศ โดยไม่ตีความเปรียบเทียบ ตัดสินถูก-ผิด แต่พยายามเชื่อมจินตนาการของตนเองให้ต่อติดกับจินตนาการของผู้พูดให้ได้มากที่สุด เมื่อเสร็จสิ้นปาฐกถารู้สึกว่าได้พลังใหม่ ๆ กระตุ้นให้ผู้เขียนซึ่งทุกวันนี้เสื่อมถอยความเชื่อมั่นและศรัทธาในขบวนการใด ๆ ที่ขับเคลื่อนกันอยู่ แม้กระทั่งขบวนการสมัชชาสุขภาพที่เป็นเจ้าภาพงานนี้ เพราะมองเห็นภาพของการทำงานแบบ "for show" ในหลาย ๆ กิจกรรม
 
ด้วยเนื้อหา น้ำเสียงที่จริงใจ เปี่ยมด้วยความเมตตา สะท้อนเจตนารมณ์ของหมอประเวศออกมาได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้เขียนพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม จากนั้นเราก็ได้รับฟังภาพรวมของ "ร่างข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" โดย รศ.สุริชัย หวันแก้ว และ อ.กรรณิการ์ บันเทิงจิต อีกครั้งหนึ่งก่อนแยกย้ายกันเข้ากลุ่ม
 
ผู้เขียนถูกจัดรายชื่อให้อยู่ในกลุ่มที่ 4 และเดินเข้ากลุ่มย่อย 10 คนเพื่อพูดคุยกัน สังเกตการแสดงออกของสมาชิกทั้งหมดมีผู้พูดและแสดงบทบาท 6-7 คน และมีอยู่ 3-4 คน รับฟังเฉย ๆ ไม่ได้พูดอะไรเลย น่าจะเกิดจากการเข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของหน่วยงาน กลุ่มที่จัดมีขนาดใหญ่เกินไป และขาดวิทยากรกระบวนการมาช่วยนำกลุ่ม ใช้วิธีให้ภายในกลุ่มเลือกบุคคลขึ้นมานำกันเอง ข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้สะท้อนออกมาตรง ๆ เพื่อจะได้นำไปสู่การแก้ไขให้ดีขึ้นในรอบต่อ ๆ ไป ถ้าปล่อยทิ้งค้างเอาไว้ต่อไปจะกลายเป็นวัฒนธรรมของความมักง่ายสะสมอยู่ในกระบวนการทำงาน
 
ความเห็นของตนเองที่มีต่อเอกสารหลักและร่างมติ
 
การแสดงความคิดเห็นโดยใช้เอกสารหลักและร่างมติเป็นกรอบในการพิจารณา ออกมาจากกลุ่มอย่างหลากหลายและได้รับการบันทึกในกระดาษประชุมกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนขอเพิ่มเติมเฉพาะที่ตนเองได้แสดงความคิดเห็นออกไปในประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้
 
1. เอกสารหลัก "ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสู่สุขภาวะ" ไม่มีมุมมองของกลุ่มคนที่ผ่านพ้นวิกฤตด้วยการพึ่งตนเอง
 
ผู้เขียนร่วมแสดงความคิดเห็นโดยตั้งข้อสังเกตว่า "เราจะมาพูดคุยกันในเรื่องของการฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย โดยใช้มุมมองของนักวิชาการมองเหตุ-ปัจจัยในเชิงโครงสร้างเป็นหลัก ว่าไปแล้วเป็นมุมมองแบบ Inside-out เป็นการเก็บข้อมูลทั่วไปมาวิเคราะห์และคิดเอาว่าประเทศชาติ ประชาชนต้องการอะไร แต่ในโลกของความเป็นจริงสังคมไทยยังมีกลุ่มคนที่ประสบกับภาวะวิกฤตในชีวิต มีปัญหาหนี้สินที่ดินหลุดมือ แล้วค้นพบทางออกด้วยการระเบิดจากภายใน เลือกที่จะเดินออกจากสายพานชีวิตของระบบทุนนิยมเต็มร้อย ที่รู้จักกันดี ได้แก่ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน กลุ่มชุมชนอโศก ฯลฯ"
 
“กลุ่มคนเหล่านี้เลือกที่จะพึ่งตนเองในเรื่อง อาหาร น้ำ ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย พลังงาน และการกำจัดของเสีย มีแนวทางเพื่อลด-ละการค้าขายกับรัฐและหน่วยธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม เมื่อเกิดภาวะวิกฤตในเรื่องใด ๆ ที่ใกล้ตัว เช่น น้ำมันแพง ค่าแรงถูก เศรษฐกิจตกต่ำ ค่าเงินผันผวน หรือแม้วิกฤตในภาพรวมของสังคม เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ สุขภาวะของเขาเหล่านั้นก็ดูเหมือนว่าจะมั่นคงแข็งแรงกว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ตกอยู่ในกระแสสังคม นี่คือสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่หรือ ?”
 
“แล้วทำไมเอกสารหลักที่เรากำลังพิจารณาร่วมกัน จึงไม่มีมุมมองของกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่มีแม้กระทั่งคำสำคัญ เช่น เสรีภาพในชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง และการพึ่งตนเอง”
 
2. ข้อเสนอในเอกสารร่างมติ ข้อ 2.6 การปฏิรูปด้านการจัดการทรัพยากร
 
เขียนไว้ว่า “ให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน การจัดการน้ำและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม เพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ปล่อยให้คนมีอำนาจและคนมีโอกาสในสังคมยึดไปครอบครองอย่างไม่เหมาะสม”
 
ว่าไปแล้วทุกคนในกลุ่มเห็นด้วยกับประเด็นนี้ ผู้เขียนได้หยิบยกเรื่องราวที่เคยเขียนไว้ใน Blog “ร่วมสร้างสังคมชุมพร” มาพูดคุยในกลุ่มเป็นกรณีตัวอย่าง ดังนี้
 
“จากข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2553 หัวข้อ “ราชการเดินหน้า ให้ต่างชาติฮุบที่ดิน” มาชี้ประเด็นให้เห็นปัญหากันชัด ๆ  ถึงผลกระทบของการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียนใน 3 สาขา คือ การทำป่าไม้จากป่าปลูก การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเพาะและขยายปรับปรุงพันธุ์พืช

ความห่วงใยในปรากฏการณ์นี้มีที่มาจากปัญหาที่เห็นกันอยู่ทุกวันว่า เรามีวิถีชีวิตที่ ใช้เงินเป็นตัวตั้ง เราคิด เราทำทุกอย่างก็เพื่อเงิน จากเดิมที่ชาวชุมพรปลูกข้าว ทำนา สร้างสวน ฯลฯ เราเดินอยู่บนวิถีของการ ใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง เราทำทุกอย่างเพื่อพึ่งตนเองให้อยู่ได้ทั้ง ข้าว ยา อาหาร น้ำ บ้าน พลังงาน และการกำจัดของเสีย แต่วันนี้เราหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้เคมีในการเกษตร และพึ่งปัจจัยการผลิตเกือบทั้งหมดจากบริษัท เกษตรกรส่วนใหญ่คงเหลือเฉพาะที่ดินที่เป็นของตัวเอง ไม่ถึงกับต้องไปเช่าเขาทำนา-ทำไร่เหมือนกับเกษตรกรในภาคต่าง ๆ ของประเทศ
 
แต่อย่าชะล่าใจเป็นอันขาด...การพนันสารพัดรูปแบบที่ผุดขึ้นมาในชุมชนต่าง ๆ ทั้งการเล่นพนันในงานศพ บ่อนไก่ บ่อนปลากัด นกกรงหัวจุก หวย รวมทั้งบ่อนวิ่ง บ่อนลอย และพนันบอล ได้ซึมลึกลงไปในสายเลือดของคนรุ่นพ่อ-รุ่นแม่ เด็กและเยาวชนของเราอย่างน่ากลัว เรื่องราวที่เข้าหูทุกวันนี้คือ การล่มสลายครอบครัวแล้วครอบครัวเล่าจากเหตุที่มีพ่อ มีแม่ติดการพนัน ลูกติดยาเสพติด นำมาซึ่งภาวะหนี้สินและจบบทที่หนึ่งด้วยการขายที่ดินทำกินให้กับทุนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งนักธุรกิจและนักการเมือง
 
ที่ดินเหล่านี้หลุดจากมือเกษตรกรอิสระไปแล้ว คิดหรือว่าจะกลับเข้าสู่มือของเกษตรกรอีกครั้งหนึ่ง ผู้ที่ได้ไปครอบครองตอนแรกเขาก็คงจะคิดทำสวนยาง สวนปาล์มน้ำมันให้ได้เงินมาก ๆ จากราคาที่ร่ำลือกันมา แต่สุดท้ายก็เจอกับสารพัดปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่ ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ขาดแรงงานตัดยาง แทงปาล์ม ถูกขโมยผลผลิต ขโมยปุ๋ย ขโมยยา ถูกข่มขู่ ฯลฯ พอหมดแรง หมดกำลังใจ...รวมทั้งหมดเงิน ความเบื่อ-เซ็งก็เข้ามาเยือน สุดท้ายก็ตัดสินใจขายที่ทิ้งเป็นเจ้าที่ 2, ที่ 3 ... ต่อไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็กลายเป็นที่ของบริษัท
 
กระแส Seashore Farming หรือการทำเกษตรโดยบริษัทต่างชาติ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย ฯลฯ ทั่วประเทศ และจะรุกกระหน่ำเข้ามาในบ้านของเราโดยไม่ทันรู้ตัว
 
หรือนี่คือสัญญาณบอกเหตุว่า ใกล้จะถึงเวลาแล้วที่ชาวชุมพรต้องเสียแผ่นดิน สูญสิ้นวิถีชีวิตเกษตรกรอิสระ เดินหน้าเข้าสู่การเป็นลูกจ้างบริษัท ทำงานรับใช้ตามที่เขาสั่งมาเพื่อแลกกับค่าตอบแทนที่เขากำหนดให้ ต้องทำมากจึงจะได้มาก ถ้าทำน้อยก็เอาไปใช้น้อย ๆ”
 
จากนั้น การแสดงความคิดเห็นที่มาจากประสบการณ์ของสมาชิกในกลุ่มก็ออกมาอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งทำให้เห็นปัญหาชัดเจนขึ้นกว่าเดิม ในที่สุดกลุ่มก็มีมติร่วมกันให้เพิ่มข้อความ ดังนี้
 
“ให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน การจัดการน้ำและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม เพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยการกระจายอำนาจให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการและมีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มแข็ง ไม่ปล่อยให้คนมีอำนาจและคนมีโอกาสในสังคมยึดไปครอบครองอย่างไม่เหมาะสม”
 
3. ข้อเสนอในเอกสารร่างมติ ข้อ 3.8 แสวงหาเครื่องมือใหม่
 
เขียนไว้ว่า “แสวงหาเครื่องมือใหม่ และมองหาตัวแสดง ที่ขัดแย้งแบบใหม่เพื่อการเข้าใจปัญหาที่ถ่องแท้เพื่อให้สามารถเข้าจัดการกับปัญหาได้อย่างแท้จริงและทันท่วงที”
 
ผู้เขียนอ่านแล้วไม่เข้าใจว่า เครื่องมือใหม่ ตัวแสดง ความขัดแย้งแบบใหม่ คืออะไรกันแน่ ? ช่วยกันถาม ช่วยกันตอบภายในกลุ่มแล้วก็ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน ต้องขอให้ทีมงานวิชาการ ชั้น “หัวกะทิ” อธิบายความหรือจะเขียนขึ้นมาใหม่ให้เกิดความเข้าใจก็ดีทั้งนั้นครับ.
หมายเลขบันทึก: 410845เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2010 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท