ใกล้บ้านใกล้ใจทำอย่างไรได้ผลดี


อุปสรรคและปัญหาของทีมเยี่ยมบ้าน  นอกเหนือจากปัญหาด้านสุขภาพ และ ความเจ็บป่วยแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเยี่ยมบ้าน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางที่จะเข้าไป  หรือผู้พิทักษ์ประจำบ้าน อันได้แก่   เจ้าตูบตัวใหญ่ตัวน้อยของเจ้าของบ้าน  เพราะก่อนจะเข้าไปยังอนาบริเวณของเขาได้เรียกได้ว่า   ต้องขออนุญาตกันก่อน...เพราะฉนั้น อาวุธประจำกายของเรานอกจากกระเป๋าพยาบาลที่บรรจุยาและเวชภัณฑ์จำเป็น รวมทั้งอุปกรณ์ตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว .จะต้องพกร่ม!!! ซึ่งเอาไว้สำหรับกันแดด  กันฝน ที่สำคัญกัน...สุนัข..นี่แหล่ะค่ะ ....เยี่ยมบ้านครั้งแรกมักจะมีความลำบากอย่างแรก คือ การหาที่อยู่จริงๆ และการติดต่อกับญาติเพื่อนัดหมายเยี่ยม ....เพราะมันจะไม่ค่อยตรงกับที่อยู่ที่ได้มาจากเวชระเบียนผู้ป่วย

เช่นเดียวกันกับ ...ผู้ป่วยรายหนึ่ง ป่วยด้วยโรควัณโรคและมีแผลเรื้อรังติดเชื้อขนาดใหญ่มากที่ก้นกบ ...สาเหตุของการติดเชื้อวัณโรคของตา น่าจะมาจากการที่ตาแกมีอาชีพเก็บขยะขาย หาเช้ากินค่ำประทังชีวิต...ส่วนแผลเรื้อรังที่ก้นกบ เกิดมาจากสาเหตุที่แกเดินเหินไม่ค่อยสะดวกเวลาเก็บขยะก็จะ ไถเอาก้นผอมๆ ไปตามพื้น จนกระทั่งวันหนึ่ง ก้นของแกเป็นแผล ...และติดเชื้อ..แกก็ไม่มีเงินรักษา ..ไม่มีสิทธิประกันสุขภาพที่ไหน เพราะไม่มีทะเบียนบ้าน จนกระทั่งมีผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งสงสาร ได้หาที่อยู่และทะเบียนบ้านให้ในเขตพื้นที่ รพ.ของเรา....นั่นแหละเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้พบ.....ตาจีน.(นามสมมุติ)...

ตาจีนอาศัยอยู่กับภรรยาม่าย เพียงลำพัง 2 คน ไม่มีลูกและญาติที่ไหน ...มีแต่สุนัขที่แกเลี้ยงเหมือนลูกหลานเต็มบ้านไปหมด ...สุนัขก็เหมือนลูกแก แกอิ่ม มันก็อิ่มด้วย ...แกอดมันก็อดด้วย...หลังจากที่ทีมเยี่ยมบ้านเรารับการส่งต่อเยี่ยมบ้านมาจาก หอผู้ป่วยแห่งหนึ่ง..เราลงทะเบียนรับ Case  เสร็จก็ส่งให้ อสม.ลงสำรวจเพื่อนัดหมายกับผู้ป่วย....อสม.ในพื้นที่ไปสำรวจแล้วก็หาบ้านไม่เจอ....จนในที่สุดมารู้ทีหลังว่า บ้านแกน่ะอยู่ริมถนนใหญ่เลย ....อาจดูเหมือนไม่ใช่บ้าน แต่สิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าคือ เพิงหลังเล็ก ๆ หรือจะเรียกว่าอะไร ที่พักพิงชั่วคราว  ที่มุงด้วยสังกะสีทั้งหลัง ไม่มีหน้าต่าง มีเฉพาะสำหรับทางเข้าออก ด้านหน้าและด้านหลัง  สภาพโทรมและเก่าๆ  พื้นหญ้า และน้ำที่นอง  รอบ ๆ บ้านเต็มไปด้วย ขวดน้ำกองใหญ่สูงเท่าๆตัวบ้านเลย  หนังสือเก่าๆเปียกน้ำเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนที่ตกแทบจะวันเว้นวัน   การเยี่ยมบ้านครั้งแรกค่อนข้างทุลักทุเลเพราะเป็นช่วงหน้าฝน..ทางเข้าก็ถูกกั้นด้วยคลองเล็กๆเจิ่งนองไปด้วยน้ำ...........ว่าแล้วก็ถือโอกาส พับขากางเกงขึ้นพอประมาณไม่ให้เปียกน้ำ พร้อมสู้คะ !!!!

            ภาพที่ทีมเราเห็น คือ ผู้ชายสูงวัย ผิวคล้ำ ผอมแห้ง  ไม่ใส่เสื้อ  มองเห็นซี่โครงทุกซี่  สีหน้าอิดโรย นอนอยู่บนแคร่ไม้เก่าๆ สิ่งแวดล้อมรอบบ้านเต็มไปด้วยขยะ และกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์นัก เราได้รับการส่งต่อข้อมูลเยี่ยมบ้าน จากหอผู้ป่วยเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการรักษาพอประมาณ  ก่อนที่เราจะทำการเยี่ยมบ้านก็จะศึกษาประวัติ  ข้อมูลการเจ็บป่วยเพื่อวางแผนการดูแลและจัดเตรียมอุปกรณ์ พอสมควร  แต่เมื่อลงไปเยี่ยมจริงๆปัญหาการเจ็บป่วยมีมากกว่าที่คิดไว้  ซักประวัติเพิ่มเติมพบว่า  ภรรยามีโรคประจำตัว เป็นลมชัก นานกว่า 10 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ย้ายอพยพมาตามญาติ แต่ล่าสุดญาติย้ายแกไม่ได้ย้ายตาม ที่อยู่จึงไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง นอกจากปัญหาทางด้านร่างกาย ยังมีปัญหาความเป็นอยู่อีก อาชีพหลักของตา คือ เก็บของเก่าหรือขยะขาย   วันไหนที่ตาต้องเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลวันนั้น ตาจะขาดรายได้ทั้งวัน...เรียกว่าถ้าบุญเก่า มี จากเมื่อวานก็ยังพอเหลือเงินให้ซื้อข้าวสารกรอกหม้อได้...รายได้ที่เราทราบจากการสัมภาษณ์ มีมาจากการเก็บขยะขาย เดือนละ 2 ครั้ง ได้ครั้งละประมาณ 700-1,000 บาท แต่เดือนๆ หนึ่งต้อเสียค่าเช่าที่พัก จำนวน 1,000 บาท  นอกจากจะต้องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเองแล้ว ยังต้องเลี้ยงสุนัขจรจัดที่ไร้ที่อยู่และคนเลี้ยงดูอีกราวๆ เกือบ 10 ตัว รวมกับลูกสุนัขที่เพิ่งคลอดมาใหม่  นี่คือชีวิตของ คุณตาจีน

            ในด้านปัญหาการเจ็บป่วย ตามีแผลเรื้อรังที่ก้นกบด้านขวา รักษาไม่หาย เป็นมา 7  ปี  ซึ่ง รักษาที่ รพ. นั้น แพทย์ทำ I & D แล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น ส่ง  Incision Biopsy ขนาดแผลน่าหนักใจทีเดียว (แผลใหญ่มากจริงๆ) ระหว่างผู้ป่วยมารักษาที่ โรงพยาบาลด้วยเรื่องแผลเรื้อรัง แพทย์ตรวจเสมหะพบ เชื้อวัณโรค ด้วย  จึงเริ่มรักษาด้วยยาวัณโรค หลังผู้ป่วยจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล เราได้ วางแผนการดูแลร่วมกับ หอผู้ป่วยโดยมีแพทย์  เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ปัญหาของผู้ป่วย คือ การที่ไม่สามารถทำแผลได้ด้วยตนเองเพราะแผลอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถทำได้ ส่วนภรรยา ก็ปฏิเสธไม่สามารถที่ทำได้ เนื่องจากให้เหตุผลว่าตนเองเป็นลมชัก กลัวว่า ทำๆอยู่ก้มหน้าบ่อยๆแล้วจะเวียนหัวเป็นลมชักไป  เราจึงได้วางแผนร่วมกับ อสม.ในพื้นที่ และชุมชน ว่าจะช่วยเหลือผู้ป่วยรายนี้อย่างไร แรกๆ เราต้องลงไปทำแผล สอนญาติจัดยาทุกวัน  ไปทุกครั้งจะมี พี่สนั่นผู้ใหญ่บ้าน และพี่ อสม.เจ้าของเขตรับผิดชอบ  ไปด้วย จากที่เห็นเรามุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานไปทำแผลแทบทุกวัน  พี่สนั่น ขออาสาช่วยทำแผลให้ โดยมีเราเป็นผู้สอน แรกๆ ให้ภรรยาของตาจีนคอยสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ ช่วยหยิบจับอุปกรณ์และช่วยจัดยาให้ทาน จนหลังๆ เราไปเยี่ยมตาจีนแค่สัปดาห์ละ 2ครั้ง ที่เหลือ อีก 5 วัน พี่สนั่น และ พี่ อสม.ๆ ช่วยกันหมุนเวียนมาดูแลและช่วยทำแผลให้ ซึ่งเราจะเป็นผู้เบิกอุปกรณ์ทำแผลไปไว้ให้ที่บ้าน   จากใจสู่ใจและจากมือสู่มือ....  ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเริ่มเกิดขึ้น แม้กระทั่ง หน่วยงานราชการ ได้แก่ เทศบาลตำบล และ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ก็ได้ให้ความช่วยเหลือในการขึ้นทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้ด้อยโอกาสหลังจากที่เราได้ติดต่อและประสานไปจากเดิมที่ไม่เคยได้เลย ..... ..............แม้กระทั่งวันหนึ่ง ที่ฝนตกน้ำท่วมหน้าบ้าน ถนนหน้าบ้านที่เคยเป็นทางเข้าบ้านตาจีนขาด พี่สนั่นและเพื่อนบ้านก็ได้ช่วยกันทำสะพานไม้ชั่วคราวให้  จากที่พักเก่าๆ โทรมๆ เริ่มกลายเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความหวัง ตาจีนและภรรยาเริ่มเก็บกวาดทำความสะอาดบริเวณรอบบ้านตามคำแนะนำของเรา ของที่เคยวางเกลื่อนกลาดก็เริ่มวางเป็นระเบียบขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์ทำแผลที่เราเอาไปให้   ตาจะเก็บไว้อย่างดี ประหนึ่งเป็นสิ่งของมีค่าที่เราหยิบยื่นให้ ความช่วยเหลือเริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยพี่ๆ ทีมงานสร้างเสริมสุขภาพและ ฝ่ายการพยาบาลฯ ทราบเรื่องก็ช่วยกันบริจาค ข้าวของเครื่องใช้ไปให้ในช่วงที่ตาเจ็บป่วยไม่สามารถออกไปทำงานได้  ไม่ว่าจะเป็น พี่นุช OPD  พี่แจ็คส่งเสริมสุขภาพ ที่บริจาคแคร่สำหรับนอนป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อจากการนอนพื้นที่สกปรก  หรือ อาหารที่ส่งเสริมการหายของแผลอย่างไข่ เป็นถาดๆๆ   เสื้อผ้า จากพี่ๆ น้อง ส่งเสริมสุขภาพที่มาไม่ขาดสาย นี่คือน้ำใจของคนไทยด้วยกัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 53  ตาจีนมาตรวจตามนัด  เนื่องจากก้อนที่ขาหนีบโตและอักเสบอย่างเห็นได้ชัด  เราสงสัยว่าน่าจะมีอาการผิดปกติของเนื้อเยื่อที่ลุกลามขึ้น (แค่สงสัย)  และช่วยกันภาวนา อย่าให้ตาโชคร้ายไปกว่านี้เลย  แพทย์ได้ทำการส่งชิ้นเนื้อตรวจซ้ำที่บริเวณขาหนีบ  เราได้โทรประสานและติดตามอาการที่  ศูนย์มะเร็งในจังหวัด  ..และแล้วผลออกมา เป็นดั่งที่คาดไว้ คือ พบ cell มะเร็ง  จริงๆ!!!  และเริ่มแพร่กระจายไปแล้ว  เยี่ยมบ้านมาเกือบสองปี ผู้ป่วยรายนี้  ช่างน่าเห็นใจเป็นที่สุด  ในที่สุดแพทย์ได้ตัดสินใจส่งไปรักษาต่อที่รพ.ศูนย์มะเร็ง นั่นคือ การเยี่ยมบ้านครั้งสุดท้ายที่เราได้เยี่ยมตาจีนที่บ้าน ปัจจุบัน เรายังติดตามอาการตา กับทาง รพ.ศูนย์มะเร็งอย่างต่อเนื่อง อีกไม่นานตาก็จะรับประทานยารักษาวัณโรคครบตามกำหนด

            ถึงแม้ว่า กรณีของคุณตา เราก็พบว่า ในความโชคร้ายยังมีสิ่งดี ๆ อยู่เช่นกัน เรามีเครือข่ายสุขภาพที่ดี ที่ร่วมแรงร่วมใจในการดูแลคุณตา ทำให้เป้าหมายแรกคือ การดูแลแผล แม้จะต้องล้างแผลทุกวันและครอบครัวผู้ป่วย ไม่สามารถที่จะพาผู้ป่วยไปล้างแผลที่ รพ.ได้  ด้วยเหตุที่ว่าไม่มีรถ ไม่มีทุนทรัพย์ในการเดินทาง ทีมงานเราได้ประสาน อสม.ในพื้นที่ ร่วมดูแลและทำแผลให้ผู้ป่วย  ทุกคนทำด้วยใจไม่มีค่าตอบแทน มาจากจิตอาสา ของ อสม.และชุมชนล้วนๆ  “ ผลลัพธ์ที่เราวัดได้ นอกจากแผลจะดีขึ้น อย่างได้ชัดเจน ไม่มีการติดเชื้อ  ตาเองไม่ต้องกลับเข้ามารักษาซ้ำ การบริหารยาโดยเฉพาะยาวัณโรค ...ก็ถูกต้อง 100 % ล้วนเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของครอบครัวและชุมชน จนล่าสุดวันนี้ ...เราสามารถสอนให้ภรรยาของตาจีน เริ่มทำแผลให้ตาจีนได้  นั่นคือ สิ่งสำคัญที่เราคาดหวังไว้ เหตุผลที่ภรรยาของตาจีน กล้าที่จะทำแผลให้สามี จากที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ คือ การเห็นน้ำใจจากเพื่อนบ้านและ ชุมชน ที่หยิบยื่นให้ แม้จะไม่ใช่ญาติ แต่ทุกคนมีน้ำใจมาทำให้ ...ทำให้ ภรรยาแกมีกำลังใจที่จะต่อสู้และลงมือทำด้วยตนเอง ......”    

            การเยี่ยมผู้ป่วยรายนี้ เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่เราอยากถ่ายทอดหัวใจความเป็นมนุษย์ อุปสรรคและปัญหาในการทำงานกับชุมชน  เป็นแค่สิ่งที่เราต้องเดินข้ามและฝ่าฟันไปให้ได้  อุปสรรคคือ วัคซีนของความภูมิใจ ท้ายนี้ เราและทีมงานขอขอบคุณตาจีนและผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน ที่ทำให้เราเข้าใจการทำงานด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์        ขอบคุณ พี่ผู้ใหญ่บ้านและ พี่ ๆอสม. ทำให้เราเห็นความมุ่งมั่นและตั้งใจในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และที่สำคัญขอบคุณทีมงานสร้างเสริมสุขภาพที่ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามมาตลอด  ถึงแม้ว่าเราจะเหน็ดเหนื่อย  แต่เราก็มีความสุข สิ่งที่เราทำคนในโรงพยาบาลอาจจะไม่เห็น ไม่เข้าใจ แต่เราก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานด้วยหัวใจ ที่ได้เปิดโอกาสให้เราถ่ายทอดเรื่องราวดี ในรูปแบบของเรื่องเล่า ...เพราะเราไม่ถนัดเรื่องวิชาการ ....ขอบคุณ ท่าน ผอ.รพ. ค่ะ ที่เข้าใจและสนับสนุนการปฏิบัติงานของพวกเราเป็นอย่างดี ค่ะ

 

**********จะมีทางออกให้สำหรับทุกปัญหาเสมอ.......แต่จะไม่มีปัญหาในทุกทางออก********

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องเล่า
หมายเลขบันทึก: 410766เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2010 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

....กระบวนการขั้นตอน.....มีชัดเจนและในลงรายละเอียด.....แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าจะเป็นในการรับรู้และเรียนรู้เพิ่มเติม...ท่านใดมีประสบการณ์อย่าลืมมาแชร์กันบ้างนะคะ

สวัสดีครับ

ชอบบันทึกนี้มาก ๆ มีชีวิตชีวา เหมือนลงไปเยี่ยมตาจีนด้วยตัวเอง

ชื่นชมกับความต้ังใจและความพยายาม

เรื่องเล่าดีๆ จากทีมงานส่งเสริมสุขภาพ ค่ะ.............

ปลายเดือน ธันวาคม ปีที่แล้ว ...ช่วงใกล้เข้าวันปีใหม่ ....ปีใหม่ที่หลายๆคนรอคอยและอยากให้มาถึงไวๆ เพราะเป็นวันที่ทุกคนจะได้อยู่สังสรรค์ พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว ช่วงนี้งานที่แผนกส่งเสริมสุขภาพ ก็ยังคงยุ่งเป็นปกติ แผนกเพิ่งจะรับพยาบาลใหม่มา 2 คน เป็นพยาบาลรุ่นน้องที่ยังไม่ผ่านประสบการณ์วอร์ด กับ พี่พยาบาลอีกคนซึ่งเพิ่งจะเข้ามาได้ไม่กี่เดือนก็มีวี่แววว่าจะลาออกอีกแล้ว หลังๆพยาบาลอัตราจ้างลาออกกันเยอะๆพอสมควร ถึงแม้จะไม่ใช่การลาออกพร้อมกัน แต่ก็ค่อยๆ ทยอยกันออก ตัวฉันเองก็เป็นพยาบาลอัตราจ้างที่เพิ่งจะมาอยู่ที่ รพ.นี้ได้เพียง 2 ปี แต่ยังไม่เคยคิดว่าจะลาออก คงเพราะ....

งานหลายๆอย่างในแผนกส่งเสริมสุขภาพ ทำให้ฉันรู้สึกมีคุณค่า และมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมาก เพื่อนบางคนบอกว่า อยู่ที่นี่อาจไม่ได้บรรจุถึงแม้จะได้ค่าตอบแทนมากกว่า รพ.อื่นในจังหวัด แต่สิ่งที่ทำให้ฉันตัดสินใจมาอยู่ที่นี่ คือ ความประทับใจที่รู้ว่า ฉันเกิดที่นี่ และ รพ.ที่นี่ ก็เป็น รพ.ที่ใกล้บ้านที่สุด ที่ฉันจะได้มีโอกาสกลับดูแลพ่อแม่และครอบครัวได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การที่ได้ทำงานที่ชอบ ซึ่งเป็นงานชุมชนนั่นเอง

ทุกวันจันทร์ แผนกจะประชุมเตรียมแผนงานประจำสัปดาห์ รวมทั้งติดตามงานเก่าๆ นอกจากงานประจำที่ต้องทำ ก็จะมีการกำหนดแผนในการลงเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชนตามปรกติ คนไข้เรื้อรังในชุมชนที่เราลงเยี่ยมส่วนใหญ่ เป็นผู้ป่วยที่ รพ.ชุมชน อื่น ๆ ส่งมา จะมีเพียงไม่กี่รายที่จะเป็นผู้ป่วยที่หอผู้ป่วยส่งมาเพื่อเยี่ยมบ้าน การประชุมทีม จะเป็นการเตรียมการจัดสรรทั้งคน และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้งานเยี่ยมบ้านของเรากระทบกับ คนอื่นๆ โดยเฉพาะฝ่ายขนส่ง ที่จะต้องพาเราไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ซึ่งบางทีอยู่ไกลจาก โรงพยาบาลหลายกิโลเมตร หลังจากที่ได้รับมอบหมายงานประจำสัปดาห์แล้ว แต่ละทีมย่อยก็จะประชุมเคสเตรียมวางแผนทางการพยาบาล เพื่อจัดเตรียมความรู้และอุปกรณ์ที่สำคัญในการลงเยี่ยมบ้านตามปกติ การวางแผนเยี่ยมนั้น จะทำล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน เพื่อนัดหมายคนไข้ ยืมเวชระเบียน และ จองรถไว้ ถือเป็นภารกิจปกติของทีมเรา

วันอังคาร ฉันและทีมเราลงพื้นที่เยี่ยมบ้านตามปกติ ก็ได้รับโทรศัพท์ แจ้งจาก รพ.ชุมชนในพื้นที่ว่า มีผู้ป่วยโรควัณโรค เป็นพระสงฆ์อยู่ในวัดแห่งหนึ่ง พี่.. หัวหน้าคลินิกวัณโรค ขอส่งต่อให้เราลงพื้นที่ติดตามอาการให้ ซึ่งฉันก็รับทราบข้อมูลผู้ป่วยทางโทรศัพท์คร่าวๆ และได้ขอให้ทางโรงพยาบาลส่งรายละเอียดมาให้ ซึ่งเราก็ได้รับแฟกซ์ข้อมูลโดยสรุปอาการของคนไข้

วันรุ่งขึ้น เราลงพื้นที่เพื่อติดตามเยี่ยมพระภิกษุรูปนั้นตามแผน สิ่งแรกที่พวกเราพบ คือ พระหลวงตานอนอาพาธอยู่ในกฏิพัก มีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียอย่างรุนแรง จากการตรวจร่างกายและซักประวัติคร่าวๆ ทราบว่าหลวงตาไม่ได้ฉันยาวัณโรคมาร่วม 7 วัน แต่ด้วยการที่หลวงตาอาพาธ เลยไม่ได้ไปปฏิบัติภารกิจสงฆ์ตามปกติ มีเพียงเด็กวัดที่คอยเอาอาหารมาวางถวายไว้ให้ฉัน....ฉันและทีมตัดสินใจนำรถพยาบาลไปส่งหลวงตาที่ รพ.วารินชำราบ ตามสิทธิการรักษา และที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือ ผลตรวจเสมหะ และเอกซเรย์ปอดหลวงตายังอยู่ในช่วงแพร่กระจายเชื้อ 100!!! รพ.เจ้าของไข้ ได้ให้ยามารักษาและให้กลับมาพักฟื้นที่วัดต่อ ฉันและทีมได้นำปัญหาเรื่องการอาพาธของหลวงตา นำเรียนปรึกษาเจ้าอาวาส และ ทำการตรวจคัดกรองผู้ใกล้ชิดในวัดทั้งหมด ซึ่งนับว่าโชคดีมากที่ไม่มีใครมีอาการเสี่ยงหรือ รับเชื้อ รวมถึงญาติโยมทั้งหลายที่มาทำบุญในวัด อาจเพราะหลวงตาจำวัดอยู่รูปเดียวทั้งกุฏิ ค่อนข้างเก็บตัว มีสัมพันธภาพกับพระรูปอื่นๆ ค่อนข้างน้อย อาจจะเป็นความโชคดีด้วยทำให้ไม่มีใครในวัดรับการแพร่เชื้อวัณโรค ต่อก็เป็นได้ หรือมองอีกมุมหนึ่งพระหลายรูปรู้ว่าหลวงตาป่วยเป็นโรคติดต่อ อาจไม่มีรูปใดกล้ามาใกล้ชิด!! อาการของหลวงตาไม่ดีขึ้น คงยังมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย จนกระทั่งวันที่ 5 ม.ค. แพทย์จึงได้รับไว้นอนรักษาในโรงพยาบาลวไว้ ระยะเวลาหนึ่ง หลวงตาจึงได้กลับมาพักที่วัดอีกครั้ง

เรา ยิ่งลงเยี่ยมบ้านก็รู้สึกว่าจะเจอปัญหา เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่หลวงตาเองก็มีปัญหาว่าฉันยาบ้างไม่ฉันบ้างก็ปวดหัวพอควรแล้ว ยังมาเจอปัญหาใหม่คือ หลวงตารักษาโรคประจำตัวอยู่ไม่น้อยกว่า 3- 4 รพ. (หนึ่งในนั้น คือ รพ.ของเรา และ รพ.จิตเวช) และ หลวงตายังไปรักษากับคลินิกในอำเภอมาแล้วหลายคลินิก เวลาไปก็จะได้ยามาฉัน ....ซึ่งเราเองก็ไม่แน่ใจว่า...คุณหมอที่ รพ. หรือ คุณหมอที่คลินิกจะทราบไหมว่า ....หลวงตามียาเดิมอยู่แล้วหลายตัว...และหลวงตาก็ฉันยาทุกตัวที่ได้มาจากหมอทุกที่!!!!

แรกๆ ดูหลวงตาจะต่อต้านและไม่ยอมรับการอธิบายและคำแนะนำจากเรา หลวงตาบอกเราด้วยความหงุดหงิดว่า “กินบ่อกินมันก็ต้องขึ้นกองฟอน” ความหมายก็คือ ทานไม่ทานยาหลวงตาก็ต้องตายเหมือนเดิมอยู่แล้ว ประหนึ่งว่าไม่อยากให้เราไปเซ้าซี้วุ่นวาย แต่ แต่เราไม่ถอดใจง่ายๆ เป้าหมายการพยาบาลของเราในครั้งแรก คือ เราอยากเห็น “การยอมรับและการให้ความร่วมมือในการรักษา “ นั้นคือ Expect to see ตามหลัก Progress Maker ของ Outcome Mapping เราพยายามตื้อและขอมาเยี่ยมหลวงตาบ่อยๆ แสดงความตั้งใจสม่ำเสมอจนหลวงตายอมที่จะเอายาหลากหลายขนาน ที่มีประมาณ 1 กระบุงโกยมาให้ดู และเล่าให้ฟังว่า เอามาจากไหนบ้าง แต่ละตัวทานอย่างไร บางตัวที่ซ้ำกัน เราค่อยๆ บอกและอธิบายว่า มันคือตัวเดียวกัน ให้ทานเฉพาะการรักษาของแพทย์ที่สั่งไว้ล่าสุด และเราเองก็ได้ประสานไปที่ รพ.เจ้าของไข้ จน ทีมแพทย์ผู้รักษา รับทราบและค่อยๆ ปรับยา ในที่สุดสัมพันธภาพระหว่างเรา และ หลวงตาเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลวงตายอมปฏิบัติตามที่เราแนะนำ ไม่ไปหาหมอทุกที่ อีกแล้ว

แผนการขั้นต่อไป แต่สิ่งที่เราคาดหวังให้เกิด แบบ Love to see คือ ทำอย่างไรหลวงตาจะรับประทานยาสม่ำเสมอ และ ไม่ขาดยา ไม่ขาดนัด ซึ่งเราก็ยังไม่บรรลุผลสำเร็จเพราะเราไม่สามารถอยู่ดูแลหลวงตาได้ตลอดด 24 ชั่วโมงเหมือนอยู่โรงพยาบาลที่มีคนคอยจัดยาให้

และที่น่าหนักใจ สิ่งที่เราไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือ 2 เดือนผ่านไป ผลตรวจเสมหะของหลวงตายังเป็นบวก แพทย์ให้ข้อมูลว่า เชื้อคงดื้อยาไปแล้ว ทั้งๆที่ ทุกครั้งที่เราไปเยี่ยม นับเม็ดยา ถามหลวงตา หลวงตาก็ยืนยันว่าทานตลอด ยาเองก็หายไปตามจำนวนวันด้วยสิ แผนการรักษาขั้นต่อไป จึงต้องปรับยากิน เป็นยาฉีด เพื่อให้เกิดความมั่นใจที่สุด

ฉีดยาวันสัปดาห์แรก หลวงตาต้องโดยสารรถเมล์ 2 ต่อ เดินจากวัดไปขึ้นรถที่ปากซอยประมาณ 500 เมตร ขึ้นรถเมล์สาย 1 ไปลงที่ตลาดสด และขึ้นรถจากตลาดสดไปฉีดยาที่ รพ.ชุมชน กว่าจะไปถึง เดินทางไป-กลับ รอหมอ รอฉีดยา ก็ใช้เวลาครึ่งค่อนวันยังไม่รวมวันไหนที่คนไข้เยอะและไปรอเป็นวันๆ เผลอๆ หลวงตาก็จะได้โรคแถมมา คือ เมารถ..จนอาเจียน เวียนหัวไปหมด ทั้งที่โรงพยาบาลอยู่ใกล้นิดเดียว จากข้อมูลที่หลวงตาเล่าให้พวกเราฟัง เราจึงขอแพทย์เจ้าของไข้ ที่รักษาให้หลวงตาอนุญาตให้เราสามารถฉีดยาที่บ้านได้ ซึ่งยาต้องฉีดวันละ 1 ครั้งติดต่อกัน 48 วัน โดยเราเป็นผู้ไปฉีดยาและดูแลให้ รพ.จะเบิกอุปกรณ์และยาเตรียมไว้ให้ เราจึงได้จัดทีมไปฉีดยาให้หลวงตาทุกวัน จนหลวงตาเห็นความตั้งใจของเรา การยอมรับเริ่มเกิดขึ้น จากเดิมหลวงตาเคยนอนปิดประตูเงียบไม่ยอมออกมาพบปะผู้คนตั้งแต่เจ็บป่วย หลังผ่านระยะแพร่กระจายเชื้อ หลวงตาเริ่มสดชื่นขึ้น เปิดประตูกุฏิ และหน้าต่างๆ และที่สำคัญเหลวงตาจะรอฟังวิทยุทุกวัน ...ไม่ใช่หลวงตาติดรายการอะไรหรอก แต่เพราะทุกวันที่ทีมงานเราไปจัดรายการเพื่อสุขภาพที่สถานีวิทยุชุมชน ซึ่งอยู่ติดกันกับกุฏิหลวงตา หลวงตาก็จะรู้ว่าเรามา และเตรียมถาดยาฉีดออกมารอ ...หลวงตาเริ่มพูดคุยเยอะขึ้น เริ่มถามเกี่ยวกับเรื่อง รพ. เรื่องงานของพวกเรา “ อยู่กันกี่คนโยม” “ ไม่เยอะหรอกค่ะ หลวงตา ตอนนี้ พยาบาลลาออกไป 1 คนแล้ว” “เหลือแต่หนูกับน้องที่มาฉีดยาให้หลวงตาน่ะแหล่ะค่ะ” หลวงตาเริ่มพบปะพูดคุยกับพวกเราอย่างกันเองมากขึ้น และทุกวันหลวงตาก็จะเก็บขนม และของฝากเล็กๆน้อยไว้ให้พวกเราเสมอ กุฏิที่เคยปิดเงียบ ก็เริ่มเปิดให้แสงแดดและอากาศบริสุทธิ์ เข้าไป หลวงพี่กุฏิข้างๆ เริ่มเข้ามาถามและพูดคุยเกี่ยวกับอาการหลวงตา เราบอกหลวงพี่ด้วยความมั่นใจว่า “ฉีดยาครบจำนวน หลวงตาก็ไม่เป็นอะไรแล้วค่ะ” (จริงๆแล้วอยากจะบอกว่า หลวงตาไม่แพร่เชื่อให้ใครแล้ว) เมื่อหลวงพี่ (กล้า) มาเยี่ยม ทุกคนก็ทยอยมาเยี่ยมหลวงตา หลวงตามีกำลังใจขึ้น พวกเราก็สามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อจริง แต่ เราสามารักษาให้หายได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วน ทุกวันนี้ พวกเรายังคงไปเยี่ยมหลวงตาอยู่บ่อยๆ คงเพราะว่าหลวงตายังมีปัญหาทานยาไม่ถูก ยาที่ว่า คือ ยาแก้แพ้ทางผิวหนัง และยาทางจิตเวช ที่เราเคยจัดแบ่งใส่กล่องให้ ...แต่ก็ยังทานไม่ถูกอยู่ดี ...แต่การฉันยาไม่ตรงตามเวลา ของหลวงตา กลับไม่ได้ทำให้เราโกรธหรือ รู้สึกโทษหลวงตาเลย เพราะเรารู้ว่า สิ่งเหล่านี้ คือหน้าที่ที่เราต้องดูแลและจัดการแก้ไข สิ่งเหล่านี้มันทำให้เรารู้ว่า ปัญหาของเรากับปัญหาของหลวงตาอาจจะไม่เหมือนกัน ....หลวงตาที่เราเห็นทุกวันนี้ ท่านดูมีความสุข สงบขึ้น เราเห็นท่านกวาดลานวัด ไปเดินออกกำลังกาย พบปะผู้คน นั่นคือ...สิ่งที่สำคัญ ที่เราได้เรียนรู้ คือ การมองลึกลงไปในปัญหาและความต้องการและค่อยๆแก้ ช่วยกัน นั่นแหล่ะ ความผูกพันธ์ระหว่างพยาบาลชุมชน กับ คนไข้ที่ต้องพึ่งเรา ...ถึงแม้การดูแลหลวงตาอาจจะทำให้เราไม่ผ่านตัวชี้วัดบางตัวในงานคุณภาพมากนัก.เพราะมันคือ Love to see ที่เราอยากเห็น ..หากแต่ถ้าเราเพิ่มตัวชี้วัดเรื่องคุณค่า ความงามของจิตใจ และความสุข...เราคิดว่า ทั้งเราและหลวงตาผ่านตัวชี้วัดนี้ ...ฉลุย....

ด้วยความจริงใจและตั้งใจ...พยาบาลชุมชนตัวน้อยๆ

คุณภาพวัดที่หัวใจ....

การทำงานด้วยใจรัก ต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ก็ไม่เป็นไร เพราะผลของความสำเร็จนั้น จะเป็นประจักษ์พยานที่มั่นคง และก็จะเป็นผลงานที่ทำให้เรามีรอยยิ้มเล็กๆ ทุกครั้งเมื่อคิดถึงมัน

จากการที่ได้มีโอกาสทำงานในแผนกส่งเสริมสุขภาพ หลายครั้งที่มีคนถามว่า วันๆ แผนกส่งเสริมสุขภาพทำอะไรกันบ้าง มีแค่งานเยี่ยมบ้านหรือเปล่า ...ทำแล้วได้อะไรมั่ง... ทุกครั้งก็ได้แต่ยิ้ม เพราะรู้ดีว่าคงไม่สามารถอธิบายให้ใครเข้าใจได้ทั้งหมดว่าทุกวันนี้งานของเรามีอะไรบ้าง มีความจริงที่อยากจะบอกเพื่อนๆว่า การรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ให้มีอาการดีขึ้นแล้วกลับบ้านได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่จะทำยังไงไม่ให้คนไข้ กลับมา Re-admit ยากยิ่งกว่าเพราะตอนอยู่ที่บ้านกับ ที่โรงพยาบาลมันต่างกัน....ก็เลยขอยกตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนรายหนึ่งที่สะท้อนความคิดและสิ่งดีที่เราจะได้มาเรียนรู้ร่วมกัน

คุณตาวิสุทธิ์ อายุ 79 ปี อดีตทหารผ่านศึก ที่ผ่านสมรภูมิรบมานับครั้งไม่ถ้วน เป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง แต่ป่วยเป็น DM , HT มากว่า 30 ปี จนเกิดภาวะแทรกซ้อน และต้องตัดขาซ้าย ( Lt leg ambutation) นอกจากนี้คุณตายังมา Admit บ่อยมากๆ เพราะมีปัญหาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ (DM poor control) หอผู้ป่วยทุกหอ หรือ แม้กระทั่ง หอผู้ป่วย ICU ต่างก็รู้จักคุณตาเป็นอย่างดี จนกระทั่งการ Admit ครั้งล่าสุด เมื่อ 6 สิงหาคม 2553 หอผู้ป่วยอายุรกรรม ได้ส่งต่อเยี่ยมบ้านมาที่แผนกส่งเสริมสุขภาพ เราก็ทำการลงทะเบียนรับข้อมูล ศึกษาประวัติ และกำหนดแผนลงเยี่ยม.....ครั้งแรกที่โทรไปนัดคุณตา ขอไปเยี่ยมที่บ้าน คุณตาปฏิเสธทั้งๆที่ใบส่งต่อ มีหลักฐานยืนยันว่า “ ยินดีให้เยี่ยม” แต่เอาเข้าจริงๆ โทรนัดหมายลงเยี่ยมคุณตาปฏิเสธแบบมีมารยาท.... และให้เหตุผลว่าคุณตาเข้าใจเรื่องโรคที่เป็น เป็นอย่างดี เราก็พยายามอ้อน และ ขอแสดงความตั้งใจในการขออนุญาตไปเยี่ยมบ้านให้ได้ จนคุณตาใจอ่อนยินยอมให้เราไปเยี่ยมโดยดีเมื่อทนลูกตื้อ ของเราไม่ไหว

ครั้งแรกที่ได้คุยกับคุณ คุณตาอธิบายเรื่องโรค เรื่องยา ที่คุณตาทานพร้อมทั้งบอกถึงการปฏิบัติตนที่ถูกต้องให้เราฟังได้อย่างถูกต้อง....โอ้โห...ขั้นเทพ...เราคิดในใจ...แต่เอ๊ะ เราเกิดความสงสัยว่า คุณตาเข้าใจเรื่องโรคขนาดนี้ ทำไมยังไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้??? นับเม็ดยาแล้วก็ง๊ง...งง... จากการพูดคุยกับคุณตา เกือบชั่วโมงเศษ ทำให้เราได้ทราบว่า คุณตา จัดยา กว่า 10 ชนิดทานเอง เนื่องจากไม่มั่นใจที่จะให้ ญาติทำให้ ญาติทั้งหลายก็เลยไม่มีใครกล้าทำให้ คุณตาบอกว่า “ พ่อจำได้หมดทุกตัว ตัวไหน ชื่ออะไร กินตอนไหน แต่มันเยอะ บางทีก็ทำหล่นบ้าง บางทีก็ลืมว่ากินหรือยัง เลยกินใหม่” (แน๊ะ...รู้แล้ว) เราจึงถามคุณตาว่า “ทำไมคุณตาไม่ให้ลูกจัดยาให้ล่ะคะ” แกบอกว่า “ โอ๊ย ไม่ได้หรอกเดี๋ยวจัดให้ผิด” ตอนนี้เลยทำให้เราทราบสาเหตุที่ทำให้คุณตาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ก็คงเพราะการบริหารยาไม่ถูกต้องนี่แหละ นอกจากนี้ ที่บ้านของคุณตา มีสวนผลไม้ซะด้วย ผลไม้ในสวน...โดยเฉพาะ....น้อยหน่า กล้วย ลำไย....รสหวานมากๆๆติดผลตลอดทั้งปีซึ่ง คุณตาเองก็ชอบที่จะเก็บผลไม้พวกนี้มาแจกจ่ายให้กับเพื่อนทหารรุ่นเดียวกัน แล้วคุณตาก็บอกพวกเราว่าอย่างอารมณ์ดีว่า “ พ่อก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของรุ่นเหมือนกันก็เลยต้องกินกับเขา” และวันนั้นเราก็ได้ทราบถึงปัญหาของคุณตาพร้อมกับกลับมาช่วยกันคิดว่าเราจะทำยังไงดี เพื่อให้คนตาตระหนักความสำคัญของการรับประทานยาที่ถูกต้องและ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และที่สำคัญคุณตาเป็น อดีตชายชาติทหารที่ค่อนข้างภูมิใจในตัวเองมากๆ คงไม่ง่ายที่จะมานั่งแนะนำ สอนๆๆๆ ให้ความรู้อย่างเดียว .....เราจึงขอไปเยี่ยมคุณตาทุกสัปดาห์ เพื่อให้คุณตาเห็นถึงความตั้งใจของเราที่อยากจะช่วยไม่ให้คุณตาต้องกลับมานอนโรงพยาบาลอีก .....จนคุณตา ยอมรับพวกเรามากขึ้นและพยายามที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารตามที่เราแนะนำ คุณตาจะนั่งรอพวกเราในทุกๆ วันพฤหัสช่วงบ่าย ซึ่งเมื่อเวลาเราไปถึงคุณตา จะมีสีหน้าแสดงออกถึงอาการดีใจ และกระตือรือร้นมาก ๆ ตอนนี้ คุณตาดูแลตัวเองในเรื่องการรับประทานอาหารได้ดีขึ้น แต่คุณตายังรับประทานยาไม่ถูกอยู่ดี ...แถมคุณตาก็ยังไม่ยอมให้ญาติจัดยาให้อีกตะหาก และแล้วเราก็คิดออกใช่เลย.....นวัตกรรม ปฏิทินยา จัดยาตามตารางปฏิทินซะเลย ให้คุณตารับประทานยาเองเหมือนเดิม โดยเราจะจัดยาเป็นวันๆ ล่วงหน้า ไว้ให้ ตามตารางปฏิทิน เพราะเรารู้ว่าเหตุผลที่คุณตาอยากทานยาเองก็เพราะไม่อยากพึ่งพาลูกหลาน ถ้างั้นปฏิทินยาก็จะช่วยคุณตาได้ และไม่สูญเสียความภาคภูมิใจในการดูแลตัวเองอีกด้วย....

ในที่สุด ใช้เวลาประมาณ ไม่ถึงชั่วโมงเราก็สามารถสร้างสรรค์ “ปฏิทินยา” จากวัสดุเหลือใช้จากการจัดนิทรรศการ (ลดโลกร้อนได้ด้วย) หลังจากนั้นก็นำกลับไปให้คุณตาอีกครั้งหนึ่ง โดยทีมงานของเราจะออกไปจัดยาให้คุณตาและตรวสอบการบริหารยาที่บ้านทุกสองอาทิตย์ ด้วยความหวังว่า คุณตาจะทานยาได้ถูกต้องและสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยไม่กลับมา Admit ซ้ำ จากวันแรกที่เราได้ลงไปเยี่ยมคุณตาที่บ้าน ( ส.ค.53 ) จนครั้งล่าสุดที่คุณตามา F/U ตามนัด ( 19 ต.ค.53 ) คุณตาสามารถควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น (จากเดิม มากกว่า 200 mg% ปัจจุบันเหลือเพียง FBS 93 mg %) การบริหารยาถูกต้องครบถ้วน 100% จนทำให้คุณหมอสามารถปรับลดขนาดยาลงได้ ( ถ้ามีคนไข้น้ำตาลสูงรายต่อไปยังไม่ต้องเพิ่มยาค่ะ ..ส่งเยี่ยมบ้าน เพื่อหาสาเหตุเลยค่ะ...คุณหมอ) ตอนนี้ คุณตาไม่มีปัญหาเรื่องการบริหารยาแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดก็อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ความดันโลหิตก็ปกติ คุณตามีความสุขขึ้น เราเองก็ภูมิใจที่สามารถทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ให้คุณตาได้ เยี่ยมบ้านครั้งต่อไปเราวางแผนว่าเราจะสามารถทำให้คุณตาเชื่อมั่นในศักยภาพของคนในครอบครัว และดึงคนในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลคุณตาให้มากขึ้น โดยให้ญาติสามารถจัดยาตามปฏิทินยาได้ โดยที่เราจะคอยเป็นพี่เลี้ยงคอยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ

ถึงแม้ว่า สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องเล็กน้อย ใครๆก็อาจทำได้ แต่จากสิ่งเล็กน้อย หากเราใส่ใจและเห็นคุณค่า มันก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และ มีผลมากมายมหาศาล เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราได้เรียนรู้คือ การที่เราเอาใจใส่ มีความตั้งใจจริง รวมทั้งใส่ใจในบริบทและวิถีชีวิตของผู้ป่วย ยอมรับ เข้าใจ และเข้าให้ถึงใจ เพื่อที่เราจะช่วยเหลือและส่งเสริมให้ผู้ป่วยเหล่านี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นี่แหล่ะคือองค์ประกอบที่สำคัญของการดูแลแบบใกล้บ้าน ใกล้ใจ ไร้รอยต่อ เพียงพอและยั่งยืนของ พวกเราชาวส่งเสริมสุขภาพค่ะ

ขอบคุณค่ะ พี่ หนานเกียรติ สำหรับกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท