ความก้าวหน้าด้านอาชญาวิทยาใหม่ ๆ ในการประชุมใหญ่สมาคมอาชญาวิทยาของสหรัฐฯ


ความก้าวหน้าด้านอาชญาวิทยาใหม่ ๆ 

ในการประชุมใหญ่สมาคมอาชญาวิทยาของสหรัฐฯ 

 

นัทธี  จิตสว่าง

ในแต่ละปีสมาคมอาชญาวิทยาของสหรัฐฯ (American Society of Criminology) เรียกย่อๆ ว่า ASC จะจัดให้มีการประชุมใหญ่ประจำปีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ผลัดเปลี่ยนกันไปในรัฐต่างๆ โดยในการประชุมแต่ละครั้งจะมีนักอาชญาวิทยาและผู้รับผิดชอบในงานกระบวนการยุติธรรมทั้งของสหรัฐและจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม เพื่อเสนอผลงานทางวิชาการและงานวิจัยต่างๆ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พบปะสังสรรค์ของสมาคมย่อยๆ และการนำเสนอผลงานในรูปของโปสเตอร์ ดังนั้นการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมอาชญาวิทยาของสหรัฐฯ จึงเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสนใจของนักอาชญาวิทยาจากทั่วโลกในประเด็นต่างๆทางอาชญาวิทยา และทำให้เห็นแนวโน้มและทิศทางความก้าวหน้าของอาชญาวิทยาในแต่ละปี

 

ในปีนี้ก็เช่นกันการประชุม ASC จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน 2553 ที่เมืองซานฟรานซิสโกโดยในปีนี้แม้จะมีแนวหัวข้อของการประชุมอยู่ที่เรื่อง “อาชญากรรมกับสถาบันทางสังคม”  แต่ก็เปิดกว้างให้นักอาชญาวิทยาจากทั่วโลกกว่า  3,200 คน ซึ่งมาร่วมประชุมครั้งนี้ได้นำเสนอแนวคิดและผลงานทางวิชาการ ทั้งในส่วนที่เป็นตำรา หนังสือ งานวิจัย หรือการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่สนใจได้อย่างเป็นอิสระ โดยมีเวทีให้นำเสนอผลงานได้อย่างไม่จำกัด ในการประชุมครั้งนี้ จึงมีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานและการสัมมนาตลอดระยะเวลา 3 วันครึ่ง จำนวน 870 หัวข้อ ทำให้เห็นแนวโน้มของความสนใจและทิศทางของอาชญาวิทยา ในปีนี้ว่านักอาชญาวิทยา มีความสนใจในเรื่องอะไรบ้างเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของความสนใจด้านอาชญาวิทยาในปีนี้ได้เป็นอย่างดี

 

เริ่มต้นจากเรื่องของทฤษฎีอาชญาวิทยา ซึ่งมีการนำมาเสนออย่างหลากหลาย แต่ทฤษฎีที่ได้รับความสนใจและมีการนำเสนอผลงานวิจัยมากเป็นพิเศษคือ Life course Theory ซึ่งมีผู้นำมาเสนอมากกว่า 20 เรื่อง ทฤษฏีนี้มองสาเหตุของอาชญากรรมว่าเป็นกระบวนการ หรือพัฒนาการที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงชีวิตของอาชญากรคนหนึ่งๆ กล่าวได้ว่าพฤติกรรมอาชญากรแต่ละประเภท แต่ละคนมีที่มามีพัฒนาการที่สามารถจะอธิบายได้จากประวัติความเป็นมาในอดีต การศึกษาวิจัย ตามทฤษฎีนี้จึงมุ่งไปสู่การศึกษาเชิงคุณภาพเกี่ยวกับกระบวนการและพัฒนาการของพฤติกรรมอาชญากรในอาชญากรรมแต่ละประเภท  นอกจาก Life course Theory แล้วยังมีความสนใจเกี่ยวกับอาชญาวิทยาแนวใหม่ คือการพยายามที่จะอธิบายปัญหาอาชญากรรม โดยอาศัยตัวแบบและปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม เรียกว่า Culture Criminology ซึ่งมองว่ากลุ่มคนแต่ละกลุ่มจะมีนิยามหรือการตอบสนองต่ออาชญากรรมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม การเอาวัฒนธรรมตะวันตกไปจับหรืออธิบายพฤติกรรมที่ขัดต่อวัฒนธรรมของชาวตะวันตกว่าเป็นอาชญากรรม จึงอาจเป็นการมองด้านเดียวตามกรอบวัฒนธรรมของตะวันตก เพราะเรื่องบางเรื่องที่เป็นปัญหาของคนตะวันตกอาจไม่ใช่ปัญหาของคนในวัฒนธรรมอื่น

 

เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องที่เป็นที่สนใจในการประชุมครั้งนี้คือ Public Criminology  ซึ่งเป็นการศึกษาอาชญาวิทยาในฐานะที่อยู่ในสังคมประชาธิปไตยการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายอาญา หรือการแก้ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ จึงมีความเกี่ยวพันกันของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายทางอาญา แนวคิดนี้ไม่ได้ให้ความสนใจต่อสาเหตุอาชญากรรมมากนัก แต่สนใจกระบวนการในการที่จะจัดการกับปัญหาอาชญากรรม เช่น การควบคุมอาวุธปืน การจัดประเภทยาเสพติด หรือแนวทางในการควบคุมอาชญากรรมอื่นๆ 

 

ในส่วนของ Green Criminology ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในความสนใจเช่นกัน โดยเป็นเรื่องของอาชญากรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมของชนชั้นสูงหรือผู้มีอำนาจทางการเมือง ตลอดจนการกำหนดนโยบายทางอาญาในหลายๆ ด้าน เรื่องนี้ได้รับความสนใจมากพอสมควร แต่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนๆ มีหนังสือและผลงานทางวิชาการออกมาเผยแพร่หลายฉบับ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการศึกษาอาชญาวิทยาที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ  Convict  Criminology เป็นการศึกษาอาชญาวิทยาจากทัศนะของผู้ต้องขังหรือนักวิชาการที่มองปัญหาอาชญากรรมจากการศึกษาที่กลั่นมาจากทัศนะและโลกทรรศของผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นผู้กระทำผิด มิใช่ศึกษาสาเหตุจากทัศนะของผู้รักษากฎหมายหรือนักวิชาการที่อยู่ในห้องหองาช้าง แม้แนวการศึกษาอาชญาวิทยาแนวนี้จะมีพัฒนาการมา 13 ปีแล้ว แต่ก็พัฒนาขึ้นมาช้าๆ ความสนใจยังอยู่ในหมู่นักอาชญาวิทยาที่สนใจในการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะการศึกษาโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) หรือพวก  Phenomenology ที่เข้าไปศึกษาชีวิตนักโทษในเรือนจำโดยไปฝังตัวแล้วพยายามถอดเอาแก่นหรือคำอธิบายปัญหาอาชญากรรมต่างๆ  จากโลกที่เป็นจริง คือจากมุมมองของผู้ที่ประกอบอาชญากรรม ไม่ใช่จากผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ตรงที่ไม่ได้ประกอบอาชญากรรม แนวโน้มของความสนใจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของ Postmodern Criminology  อีกแง่มุมหนึ่ง

 

สำหรับส่วนที่เกี่ยวกับทัณฑวิทยาและงานในกระบวนการยุติธรรม เรื่องของตำรวจได้รับความสนใจเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยเรื่องของนิติวิทยาศาสตร์และงานเรือนจำโดยเสนอเรื่อง Reentry มากเป็นพิเศษอย่างเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้เรื่องโทษประหารชีวิตยังเป็นเรื่องยอดนิยมที่โต้เถียงกันไม่รู้จบ ในรัฐที่มีการใช้โทษประหาร ยังมีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการยกเลิก  โดยเฉพาะในรัฐที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่

 

น่าแปลกที่ในปีนี้การศึกษาและความสนใจเกี่ยวกับเรื่องบทบาทของภาคเอกชนมีลดน้อยลง  เรื่องเกี่ยวกับเรือนจำเอกชนหรือการรักษาความปลอดภัยเอกชนมีน้อยมากอีกเรื่องหนนึ่งที่ได้รับความสนใจน้อยลงคือ Restorative Justice เริ่มจะได้รับความสนใจน้อยลง เช่นเดียวกับเรื่องคุมประพฤติและมาตรการปฏิบัติในชุมชนอื่นๆ

 

เรื่องของประเภทอาชญากรรม อาชญากรรมองค์กร อาชญากรรมข้ามชาติ  อาชญากรรมทางเพศ ยาเสพติด และการก่อการร้ายเป็นหัวข้อยอดนิยมแต่หัวข้อที่หายไปคือเรื่องสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมพื้นฐาน

 

การประชุมในปีหน้าของสมาคมอาชญาวิทยาของสหรัฐฯจะจัดให้มีขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี  ในระหว่างวันที่  16  -  19  พฤศจิกายน  2554 โดยมีแนวเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรมและการบุกเบิกด้านอาชญาวิทยาแต่หัวข้อก็เปิดกว้างให้ผู้สนใจที่เป็นนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติ อาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกเข้าเสนอผลงาน ตลอดจนเป็นการเปิดตัวตำราและหนังสือด้านอาชญาวิทยาใหม่ๆ ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปว่าในปีหน้า  แนวโน้มความสนใจด้านอาชญาวิทยาจะมีแนวโน้มไปในทางใด

 

 

หมายเลขบันทึก: 410566เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2010 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับท่านอาจารย์ เป็นประโยชน์กับนักศึกษาอาชญาวิทยาที่ต้องการรู้สถานการณ์การศึกษาอาชญาิวิทยาในยุคปัจจุบัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท