เรียนรู้ที่จะศรัทธาต่อ Tacit knowledge ของชุมชน


การส่งเสริมการเรียนรู้ น่าจะมีการส่งเสริมให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ทราบบ้างว่า “ความรู้ของชุมชนมีคุณค่า...”

ในปัจจุบันแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้มักจะเห็นแต่ภาพของนักวิชาการไปส่งเสริมให้ชุมชนเรียนความรู้จากภายนอก

ทั้งที่อยู่ในรูปของงานวิจัยชุมชนที่อื่น  ที่นักวิชาการไปสุ่มสำรวจก็ดี ไปการจัดการวิจัยตามรูปแบบต่าง ๆ ก็ดีแล้วประเมินว่าชุดความรู้นั้นเหมาะสมที่จะส่งเสริม ก็ทำแผนเพื่อที่จะอัดความรู้นั้นลงไปในชุมชน

แต่ในทางกลับกัน เราจะเห็นภาพที่นักวิชาการยอมรับความรู้จากชุมชนนั้นน้อยมาก
มีนักวิชาการสักคนที่จะยอมรับว่าชุมชนนั้น “รู้จริง” และรู้มากกว่าตนเอง

ในการที่ให้นักวิชาการลงชุมชนนั้นทางภาครัฐมีนัยยะนี้แฝงอยู่บ้างหรือไม่
นัยยะแฝงก็คือ เพื่อที่จะนักวิชาการที่มีทิฏฐิมานะ เมื่อเจอกับของจริงที่ดีกว่าแล้ว จะยอมลดทิฏฐิมานะของตนเอง ลดความเชื่อมั่นในความรู้ของต่างชาติ หันมายอมรับภูมิปัญญาท้องถิ่น

ในปัจจุบันเราเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้ตนเอง แต่เราไม่ได้ส่งเสริมให้นักวิชาการเรียนรู้ตนเอง

เมื่อนักวิชาการไม่เรียนรู้ตนเอง การลงไปส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้ตนเองก็ไม่ได้ผล เพราะกลายเป็นการนำความรู้ของตนเองไปทับถมภูมิปัญญาท้องถิ่น

จะมีประโยชน์อะไรที่เราไปสร้างตระหนักการเรียนรู้ในชุมชน แต่ไม่สร้างความตระหนักให้นักวิชาการเห็นค่าความรู้ของชุมชน

นักวิชาการลงไปชุมชน ไปเอาความรู้เขามา เสร็จแล้วเขียนรายงาน จากนั้นได้ผลงานทางวิชาการ ความรู้ก็วางอยู่ตรงนั้น จบอยู่ตรงนั้น จบอยู่ใบปริญญา จบอยู่แค่ตำแหน่ง

สุดท้าย ก็ต้องเข้ากรุงเทพฯไปอบรมกันเหมือนเดิม นักวิชาการในกรุงเทพฯ บอกอย่างไร ก็ต้องเชื่ออย่างนั้น แต่ปราชญ์ชุมชนบอกอะไรไม่ค่อยจะฟังกัน

เหมือนกันเราไปฟังแต่ความรู้เรื่องในบ้านเรากับคนนอกบ้าน แต่คนในบ้านบอกเราไม่ฟัง
ลูกบอกอะไรไม่ฟัง แต่ไปฟังข้อมูลจากคนอื่น
คนอื่นที่อยู่นอกบ้านจะรู้เท่ากับคนในบ้านเราได้อย่างไร

ถ้าเราศรัทธาต่อ Tacit knowledge จริง เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปอบรมสัมมนาที่ไหนเลย
เพียงแต่เราเปิดใจและใช้ตามองสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เราทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ถนนหนทางกลับบ้านของเรา ร้านข้าวแกงข้าง ๆ บ้าน เราก็จะได้ความรู้มากมายหลากหลาย จนอาจะเรียกได้ว่าชาตินี้ก็เรียนรู้ไม่หมด

นักวิชาการในปัจจุบันอาจจะมองไปไกลสักนิดจนลืมมองหนามที่จะตำเท้าตนเอง
เวลาโดนหนามตำเท้า ก็วิ่งไปกรุงเทพฯ แล้วก็ถามคนกรุงเทพฯว่า ใครเอาหนามมาวางไว้ตรงนี้ แทนที่จะรีบดึงหนามออกตนเองออกก่อน ใส่ยาแล้วรักษาแผลให้หาย เมื่อวิ่งไป หนามก็ทิ่มไปเรื่อย ยิ่งเดินมากก็ยิ่งลึกมาก

เหมือนกับคนที่ป่วยแล้วมัวแต่อ่านฉลากยา ยิ่งเป็นยาเมืองนอกยิ่งดี แต่ยังไม่เคยเปิดยาขวดนั้นดื่ม

การยอมรับความรู้จากภายนอก แต่ไม่ยอมรับความรู้จากท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน
เรารับ Explicit knowledge จากภายนอก แต่ปฏิเสธ Tacit knowledge ของชุมชน ก็เท่ากับเราปฏิเสธตัวตนของเราเอง

เหมือนกับเราเรียนวิธีการปรุงอาหารมามากมายหลายชาติ แต่ยังไม่เคยจุดเตาแก๊สแล้วลงมือทำอาหารแม้สักอย่าง
ในชีวิตของนักวิชาการก็เช่นนั้น ถ้าหากอ่านหนังสือหมดทั้งโลก แต่ลืมอ่านชีวิตของตนเอง อ่านความรู้ที่ตนเองที่เคยประสบอยู่ อ่านประสบการณ์ที่ภาครัฐมอบทุนการวิจัยให้เราเพื่อลงไปสัมผัสชุมชนแล้ว ชีวิตนักวิชาการนั้นก็ยังไม่สมบูรณ์...

 

หมายเลขบันทึก: 410543เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2010 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

มาเรียนรู้ค่ะ เห็นด้วยกับอาจารย์ทุกเรื่องเลยนะคะ  กำลังจะหาทางไปลงสนามทำวิจัยสักเรื่อง  เพราะลาออกมาอยู่บ้านเปล่า ๆ ไร้ประโยชน์ค่ะ

ขอขอบพระคุณสำหรับบันทึกนี้นะคะ  Tacit knowledge  มีอยู่ทั่วไปเพียงแต่เปิดใจรับมันเท่านั้น  จริง ๆ ค่ะ

...แม่ปู..พูดกับ..ลูกปู.ว่า...เดินดีๆอย่าเดินเฉียงๆ...เดินให้ตรง...ลูกปูบอกว่า..ไหนเดินอย่างที่ว่าให้ดูหน่อยซิ....แม่ปูเดินให้ดู......ลูกปูบอกว่า..แม่ไหงเดิน..เฉียงๆอย่างงั้นล่ะ...เดินให้ตรงๆซิ....

นักวิชาการที่จะรับใช้ท้องถิ่นได้นั้นจักต้องศรัทธาต่อความรู้และ “ปัญญา” ของท้องถิ่นเสียก่อน
หากนักวิชาการยังศรัทธาต่อตำราอยู่ ก็จะยังไม่สามารถศรัทธาต่อปัญญาของท้องถิ่นได้
ดังนั้นเมื่อลงไปท้องถิ่น สายตาสั้น ๆ ที่เคยปรับระยะแค่หนึ่งฟุต คือ ระหว่างสายตากับตำรานั้น จะต้องปรับให้ใช้เป็น “สายตายาว” คือต้องแหงนหน้ามองท้องฟ้า และเหยียดสายตาเพื่อมองท้องทุ่งนาที่เขียวขจี

การเชื่อมโยงทฤษฎีจากตำราสู่การปฏิบัติจักเกิดคุณค่าได้หากเรามีศรัทธาต่อสิ่งที่พบเห็น
การทำตนเป็นบุคคลที่มีน้ำชาล้นถ้วยอยู่ ไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับการได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการเพื่อท้องถิ่น นักวิชาการสายรับใช้สังคมไทย

ตามทัศนะส่วนตัวของข้าพเจ้า (ซึ่งอาจจะผิด) นักวิชาการน้อยคนมากที่ลงไปชุมชนแล้วมีความศรัทธาต่อองค์ความรู้ในชุมชน
นักวิชาการรุ่นใหม่ ๆ ส่วนมาก ลงไปชุมชนเพื่อ “ผลประโยชน์”
ไม่ว่าจะเป็นทุนวิจัย การทดลองทฤษฎี เพื่อนำมาเขียนเอกสาร เขียนตำรา หรือขอผลงานทางวิชาการ

Trend การวิจัยปัจจุบันที่นิยมรับใช้ชุมชน แต่ความเป็นจริงไม่ใช้การรับใช้ แต่เป็นการ “แสวงหา” ผลประโยชน์จากชุมชน
นำความรู้จากตำราเข้าไปเหยียบย่ำภูมิปัญญาของ “ชาวบ้าน”

แค่เราลงไปในชุมชนแล้วเรียกผู้คนเหล่านั้นว่า “ชาวบ้าน” แค่นี้เราก็เป็นการเหยียบหัวเขา ลงไปประกาศศักดาทางวิชาการของเราบนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา

เมื่อเรายังคิดว่าเรา “เจ๋ง” กว่าชุมชนอยู่ การทำงานกับชุมชนก็เท่ากับว่ามีแต่ “เจ๊ง” กับ “เจ๊ง...”

คนที่ “เจ๋ง” จริง เขาเดินลงไปชุมชนด้วยหัวใจที่ว่างเปล่า เป็นถ้วยชาที่พร้อมจะรองรับความรู้จากทุกอณูที่ได้สัมผัส

เรา (นักวิชาการ) ที่ลงไปชุมชนจะไม่มีค่าเลยถ้าหากเรานำความรู้ของเขาไปเผยแพร่ให้เขาแม้เพียงน้อยนิด

ความรู้จากหนอนหนังสือ (Explicit knowledge) ฤาจะสู้ความรู้จากผู้ปฏิบัติ (Tacit knowledge)
ถ้าเรามีหัวใจเป็นนักจัดการความรู้จริง เราต้องแคร์และให้คุณค่าต่อ Tacit knowledge ให้จงหนัก
ไอ้ความรู้จากห้องเรียน ห้องสัมมนาของเรา มันเป็นความรู้ปรุงแต่ง พูดแต่งแต้มด้วยความฉลาดทางการพูดของผู้ที่ถูกฝึกฝนมาโดยเฉพาะ

พึงทำตนเป็นผู้ปฏิบัติ หน้าที่ของนักวิชาการต่อชุมชนคือผู้ลงไปปฏิบัติดีต่อชุมชน
การปฏิบัติดีคือเป็นข้อต่อของชุมชนต่อบุคคคลภายนอก
ข้อต่อที่จะนำสิ่งที่ดี ๆ ความรู้ที่ “เจ๋ง ๆ” ภูมิปัญญาที่ล้ำลึกออกมานำเสนอ เผยแพร่ ด้วยความรู้ในการเขียนเอกสารที่เก่งกาจของเรา ความรู้ในการพูดที่ช่ำชองของเรา
ประกาศให้คนทั่วทั้งโลกรู้ว่า ภูมิปัญญาของเรานั้นสุดยอดแค่ไหน ปราชญ์ชุมชนของเรานั้นเก่งกาจแค่ไหน
หน้าที่ของนักวิชาการไทยควรพึงมีแค่นั้นเป็นลำดับต้น

ถ้าหากจะให้กระบวนการเรียนรู้เป็นไปอย่างธรรมชาติโดยแท้จริงไม่ เราไม่ควรแทรกแซงด้วยการ “ชี้นำ”
การชี้นำก็คือ การคิดว่าความรู้ใดดี ก็คิดว่าจะ “เหมาะสม” สำหรับเขา
คนเรานั้นยังมีความแตกต่างอย่างหลากหลาย ไฉนเลยกับชุมชน ที่ทั้งแตกต่างกับสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ภูมิคน ภูมิรู้ ภูมิจิต ภูมิใจ

นักวิชาการมีหน้าที่ทำงานเพื่อเก็บข้อมูล นำเสนอ สกัด วิเคราะห์ สังเคราะห์ก็ทำไป
สุดท้ายใครต่อเขาที่เขาได้มาพบมาเห็น เขาพิจารณาแล้วเห็นว่าดี ว่างาม พอที่จะนำไปปรับใช้ในบ้านของเขา ในชุมชนของเขา เขาก็นำไปลงทดลอง ไปทำ

ถ้าดี นักวิชาการก็ลงไปช่วยเก็บข้อมูลมานำเสนอต่อ
ถ้าผิดพลาด นักวิชาการก็ลงไปช่วยเก็บข้อมูลความผิดพลาดนั้นมาเป็นครู เป็นอาจารย์

นักวิชาการไม่ใช่อาจารย์ของเขา เราต้องเป็นอาจารย์ของตัวเรา
อาจารย์ที่สอนตนเองเสมอว่า เราไม่ใช่บุคคลที่จะไปสอนใครในชุมชนนั้น เราเป็นผู้ที่เข้าไปใช้ประสาทหู ตา จมูก ลิ้น กาย ที่ประเทศไทยได้ใช้เงินภาษีของประชาชนส่งเราไปฝึกไปฝนมาให้คม ให้เฉียบแหลม

ทักษะ ความสามารถในการวิจัย การเก็บข้อมูล การนำเสนอ ก็พึงเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ถ้าอยากสอน อยากบรรยาย ก็ให้นำมาใช้กับนักเรียน นักศึกษา หรือนักวิชาการด้วยกันให้เต็มที่

เราจะเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนหรือ…?
จะเอาตำราไปทับถมคุณค่าจากการปฏิบัติหรือ...?

ขอให้เรามีหัวใจศรัทธาต่อคุณค่าของความรู้จากการปฏิบัติ จะสามารถทำให้เราเข้าใจปัญญาที่จริงแท้ของชุมชน...

สวัสดีค่ะ

นี่แหละค่ะ....อยากจะเดินลงไปชุมชนด้วยหัวใจที่ว่างเปล่า เป็นถ้วยชาที่พร้อมจะรองรับความรู้จากทุกอณูที่ได้สัมผัส..ได้จากชุมชน

ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ใช่ไหมคะอาจารย์ ขอขอบพระคุณค่ะสำหรับข้อคิดเห็นและชี้แนะชี้นำจากอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท