“พระกรุ” ความสนุกที่มีมนต์เสนห์ในการสะสม


"บัดนี้..พระองค์นี้มาอยู่ในมือคุณแล้ว คุณเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้ไปแล้วล่ะครับ"

เดินเข้าตลาดพระทีไรต้องได้ยินคำถามยอดฮิตจากบรรดาเซียนเก่า เซียนแก่ถามนักสะสมรุ่นใหม่ไฟแรงว่า

“ไอ้น้องเดี๋ยวนี้เขาฮิตเหรียญหลวงพ่ออะไรกันแล้ววะ....ราคาไปยังไงกันแล้วล่ะ”

ค่านิยมของนักสะสมพระเครื่องยุคนี้แตกต่างจากยุคก่อนๆ  ในอดีตนักสะสมพระเครื่องชื่นชอบการสะสมพระกรุ พระเก่า พระโบราณ 

ปัจจุบันนักสะสมพระเครื่องจำนวนมากหันมาสะสมพระเครื่องที่สร้างโดยพระเกจิอาจารย์ต่างๆ เนื่องจากมีความชัดเจนในเรื่องเนื้อหา แยกแยะพิมพ์ทรงได้ง่าย เป็นระบบ รู้ผู้สร้างที่แน่นอน มีที่มาที่ไป ประสบการณ์ผู้ใช้บูชายังพอบอกเล่า สืบค้นต้นตอกันเจอ

ไม่เหมือนกับพระกรุ พระโบราณ ดูข้อมูลจะลางเลือน สับสน ไปหมด 

ความสนุกที่มีเสน่ห์มันก็อยู่ตรงที่ไม่รู้แน่ชัดนี่แหละครับ!

คนโบราณสร้างพระเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา  ทำให้พระกรุมีเป็นพันๆ กรุ มีหลายยุค หลายสมัย พุทธศิลปะก็แตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย  ไม่ว่าจะเป็นทวาราวดี , ศรีวิชัย ,ลพบุรี,หริภุญไชย,สุโขทัย ,อยุธยา เรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์  ทำให้เราย้อนเวลาสู่ประวัติศาสตร์ในยุคนั้นๆ พระพิมพ์ หรือ พระกรุโบราณเหล่านี้มีตำนาน มีเรื่องราวในการบอกเล่าให้เราเสมอ ลองคิดตามกันนะครับ.....

วันหนึ่งถ้าคุณได้พระกรุโบราณมาครอบครองอยู่องค์หนึ่ง 

ดูรูปลักษณ์ภายนอกก็เป็นพระเนื้อชิน  แต่ทำไมที่ฐานพระมีเนื้อเกินเป็นเดือยยื่นออกมา  พลางก็นึกได้ว่า

 “อ๋อ..เป็นพระยอดธงนี่เอง”

“แล้วมวลสารนี้ทำจากอะไรน้า?”

มาถึงตอนนี้ก็ต้องหยิบกล้องส่องพระคู่ชีพออกมาใช้งานเพื่อดูว่าเป็นเนื้ออะไร 

ด้วยภูมิรู้ของคุณพอเห็นเนื้อโลหะมีคราบผิวปรอท มีสนิมขุม เนื้อระเบิด

ปริบางส่วน บางช่วงมีไขสีขาวๆ ขุ่นๆ คลุมเนื้อพระดูฉ่ำ ก็เชื่อได้ว่าทำจาก

 “ชินเงิน”

“แล้วกรุไหนวะเนี่ย” 

คุณพึมพำกับตัวเองเพื่อให้สมองดึงข้อมูลออกมา ดูหน้าตาที่เรียวรี  

พุทธลักษณะปางมารวิชัย แต่สีหน้าดูเคร่งเครียดขององค์พระ ไม่อ่อนช้อย

จึงสรุปได้ว่าเป็น “ยุคอยุธยา”  

มาถึงตอนนี้คุณวางกล้องลงแล้วมองดูพระพักตร์ขององค์พระอีกครั้งจึงรู้ว่า

มีสีหน้าเคร่งเครียดจริงๆ  เลยเดาเอาว่าช่างแกะพิมพ์พระคงจะเครียดด้วยแน่ๆ

คุณกำพระไว้ในมือขวาพลางหลับตานึกย้อนอดีตไปว่า... 

เห็นหมู่สงฆ์ผู้มีวิชาเข้มขลังแห่งกรุงศรีอยุธยา กำลังสวดประสิทธิพุทธคุณ

ลงในพระยอดธง โดยมีกษัตริย์ที่แต่งกายนักรบสมัยโบราณในชุดแม่ทัพนั่งเด่น

เป็นประธาน  อยู่ท่ามกลางทแกล้วทหารหาญแห่งกรุงศรีอยุธยา เข้าร่วมพิธีและ

รับพระองค์นี้ติดไว้บนยอดธงประจำกองทหารของตนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ

ในการออกต่อสู้กับข้าศึกผู้รุกรานพระนคร  

บัดนี้..พระองค์นี้มาอยู่ในมือคุณแล้ว   

"คุณเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้ไปแล้วล่ะครับ"

หมายเลขบันทึก: 410260เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2010 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัจจุบัน มีพระกุ มากกว่า พระกรุ

"พระกุ" เห็นจะจริงอย่างท่านว่า...

มีทั้งย้ายวัด ยัดกรุ กุขึ้นมาเล่าสารพัดแบบล่ะครับ

ผมมีวิธีพิจารณาวิธีดูพระกรุแท้ๆ

ลองค้นดูใน blog ของ "ดร.แสวง รวยสูงเนิน" ดูครับ

ท่านค้นคว้า ทดลอง ด้วยตนเองจน รวบรวมจนเป็นองค์ความรู้ในการดู "พระกรุ"

คราวนี้ "พระกรุ" หรือ "พระกุ" ก็ไม่ยากที่จะแยกแยะ

ขอบคุณครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท