การเริ่มต้น


            รถ มิชชูบิชิ เก่าๆของสำนักงานที่ใช้ในการออกพื้นที่วิ่งผ่านไอแดดลงสู่พื้นที่ทุ่งกุลาร้องให้......

      ใครจะไปนึกว่าผมจะได้มาเหยียบที่นี้  จากที่เคยนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์...ไม่เร่งรีบ...เมาค้างก็ปิดร้านนอน...ไม่สนใจ...ทำอย่างนี้มา 7 ปี ไม่เคยนึกด้วยว่าต้องขับรถออกพื้นที่ทั่วจังหวัด  มีนายคอยสั่งการอยู่เบื้องหลังจากที่เคยทำงานคนเดียวกลายมาเป็นทำงานเป็นทีม...ต้องคิด...ต้องรีบ...ต้องเสร็จ...และอีกหลายอย่าง          

           สงสัยใช่มั๊ยครับว่าผมทำงานอะไร..........?

       หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้มีกลุ่มชาวไร่ชาวนา นักศึกษา นักการเมือง เดินขบวนเรียกร้องหลายครั้ง สาเหตุสำคัญมาจาก ปัญหาที่ดินทำกินและการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน รัฐบาลในสมัย ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518

             ผลจากการประกาศใช้พระราชบัญญํติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2518 เรียกโดยย่อว่า ส.ป.ก. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุง สิทธิการถือครองที่ดิน การกระจายสิทธิในที่ดิน ทั้งในที่ดินของรัฐและที่ดินของเอกชน ที่มีมากเกินความจำเป็น ให้ไปสู่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินพร้องทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอาชีพ ปรับปรุง ส่งเสริม และสนับสนุน ปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต่าง ๆ และให้มีการจัดตั้งกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน และใช้จ่ายเพื่อการปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

              จุดมุ่งหมายของการปฏิรูปที่ดินเพื่อที่จะช่วยลดช่องว่างความแตกต่างในฐานะความเป็นอยู่ของคนในสังคม และเพื่อสร้าง เสถียรภาพของการเมือง ทั้งนี้ก็โดยการให้ผลประโยชน์และความช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และชักนำให้เขาเหล่านั้นหันมาจงรักภักดีและสนับสนุนรัฐบาลที่ทำการปฏิรูปที่ดิน

             เป็นบทความที่ผมจำขึ้นใจเพราะอ่าน...ไม่ใช่สิจะเรียกว่าท่องจำก็ว่าได้ ผมทำงานที่ ส.ป.ก. ครับเมื่อก่อนอยู่จังหวัด....(ตอนนี้อยู่ส่วนกลาง) หน้าที่คอยประสานงานระหว่าง ส.ป.ก.กับผู้นำท้องถิ่น  ประสานงานระหว่างหน่วยงาน เช่น อบต. เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ชลประทานจังหวัด  ศูนยวิจัยข้าว  ประมงจังหวัด ฯลฯ จัดกิจกรรมอบรม ให้ความรู้แก่เกษตรกร ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผมวิ่งพล่านไปทั่วจังหวัด

           งานนี้อีกเช่นเคย.....ต้องวิ่งลงทุ่งกุลาร้องให้...

ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ อยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ (อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม) ,จังหวัดมหาสารคาม (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) , จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอพุทไธสง) ,จังหวัดศรีสะเกษ, จังหวัดยโสธร (อำเภอมหาชนะชัย) และจังหวัดร้อยเอ็ด(อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอโพนทราย) การที่ได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้ มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ชนเผ่ากุลาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจากเมืองเมาะตะมะ ประเทศพม่า ได้เดินทางมาค้าขายผ่านทุ่งแห่งนี้ ต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน ไม่พบหมู่บ้านใด ๆ เลย น้ำก็ไม่มีดื่ม ต้นไม้ก็ไม่มีที่จะให้ร่มเงา มีแต่ทุ่งหญ้าเต็มไปหมด พื้นดินก็เป็นทราย เดินทางยากลำบากเหมือนอยู่กลางทะเลทราย ทำให้คนพวกนี้ถึงกับร้องไห้

      ในอดีต ทุ่งกุลาร้องไห้ในฤดูแล้ง พื้นที่ส่วนใหญ่จะแห้งแล้งมาก ส่วนในหน้าฝนน้ำจะท่วมทุกปี ใต้พื้นดินลงไปเป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถทำการเกษตรได้ หลังจากที่ได้มีการพัฒนาที่ดิน ทุ่งกุลาร้องไห้ได้กลายเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ และกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีชื่อเสียงของไทย

       ส.ป.ก.จังหวัดร้อยเอ็ด ต้องรับผิดชอบเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินในทุ่งกุลาร้องให้เกือบ 4 แสน ไร่ จากเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินทั้งจังหวัดประมาณ 1 ล้านไร่

       อย่างว่าหล่ะครับพื้นที่มาก....งานก็มากเป็นเงาตามตัว   ในกลุ่มที่ผมทำงานอยู่ เป็นกลุ่ม ปฏิรูปการจัดการและพัฒนาเกษตรกร มีภาระกิจคือ

           - จัดศูนย์บริการประชาชนเคลื่อนที่

           - งานแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

           - งานจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

           - งานนิคมเศรษฐกิจพอเพียง

           - งานนิคมเกษตร

           - จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

           - ปราชญ์เกษตร

           - งานยุวเกษตรกร

           - งานสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่

        งานแต่ล่ะอย่างหินๆทั้งนั้น.....ทั้งหมดทั้งมวลสำเร็จได้ต้องอาศัยการวางแผน...และที่สำคัญมาก คือทำงานเป็นทีม ...หาข้อมูล...ซึ่งข้อมูลนั้นมันก็อยู่ในพื้นที่ ต้องลงไปดูเอง  เห็นเอง  แล้วนำกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป .... หวังว่างานที่ ส.ป.ก.ทุ่มเททำให้กับเกษตรกรทั้งหมด จะส่งผลให้เค้ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น.....

....หวังว่าอย่างนั้นนะครับ....

หมายเลขบันทึก: 410237เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2010 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

เอาอ้อยมาฝาก จากอินเดีย

ติดตามต่อได้ใน..

http://gotoknow.org/blog/supersup300/404326

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท