ดักหน้าโรงเรียน "กวดวิชา..."


สืบเนื่องจากบันทึก เกล็ดทรงจำ ความฝันของกูรู ใน NKM5 ลด ละ เลิก รร.กวดวิชา ของท่านอาจารย์หมอ JJ ซึ่งท่านได้เมตตาให้แนวคิดอย่างยอดเยี่ยมไว้ว่า

เดินร่วมกัน เป็น Team Learning วิ่ง ไปดัก วิชา ในอนาคต ดีกว่าครับ 

ขออนุญาตต่อยอดแนวความคิดนี้สักเล็กน้อย กับโจทย์ที่เกิดขึ้นในใจว่าถ้าเราจะวิ่งไปดักอะไร เราต้องรู้ก่อนว่าเราต้องวิ่งนำใครบ้าง

ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า (ซึ่งอาจจะผิด) บุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรา (นักบริหารการศึกษา) ควรจะวิ่งแซงความคิดเขาให้ได้ก็คือ "นักธุรกิจ"

ถ้าหากเรายังเดินอ้อยอิ่งเดินตามนักธุรกิจอยู่ การกำหนดทิศทางความรู้ก็อยู่ในมือเขา

ซึ่งแน่นอนว่านักธุรกิจมี "ผลประโยชน์" เป็นทั้งแรงผลัก แรงดึง แรงดันที่ยิ่งใหญ่กว่านักบริหารการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระบบ

การทำงานมากได้ผลตอบแทนมาก เป็นวัฏฏะชีวิตปกติของนักธุรกิจ

ดังนั้น หัวของเขาจะคิดหมุนวนอยู่ตลอดเวลา จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่เขาต้องการ

และผลประโยชน์ทางการศึกษาในยุค Generation Y เป็นชิ้นเนื้อก้อนใหญ่ที่ใคร ๆ ก็อยากได้

วัดได้จากอัตราการเกิดของสถาบันทางการศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีมากมายเป็นดอกเห็ด ก็แสดงให้เห็นว่ายังมี Target ภายในประเทศอยู่อย่างเหลือเฟือที่จะดูดเงินเข้าระบบการศึกษาภาคเอกชนได้

ดังนั้น กลยุทธ์ทางการตลาดจะถูกนำมาใช้เป็นอย่างมากในธุรกิจการศึกษา โดยเฉพาะการอัด การป้อนความรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กที่มีสิทธิเรียกร้องในการเลือกว่าจะเรียนที่ไหน หรือไม่ อย่างไร...

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งแน่นอนว่าร้อยทั้งร้อยเป็นของเอกชน แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คือครูหรืออาจารย์ในโรงเรียนกวดวิชาร้อยทั้งร้อยเช่นเดียวกันเป็นครูของโรงเรียนรัฐบาล

เพราะครูโรงเรียนรัฐบาลใหญ่ ๆ มีชื่อเสียง มีความรู้ มีความสามารถ มีโอกาสที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ (โดยภาษีของรัฐ) มากกว่าครูของโรงเรียนเอกชนที่จะต้องจำกัดต้นทุน

ถ้าหากจะดักโรงเรียนกวดวิชาให้ได้ จักต้องดักที่ตัวครูตัวอาจารย์ให้ได้เป็นลำดับต้น

ถ้าครูสอนในโรงเรียนดี ก็ไม่มีใครอยากจะเสียเวลาที่จะพักผ่อน หรือเล่นกีฬาไปนั่งอยู่ในโรงเรียนกวดวิชา

เงินเปรียบเสมือนมีดเล่มหนึ่ง จะใช้ให้เป็นประโยชน์ก็ได้ หรือจะใช้ให้เกิดโทษอย่างโรงเรียนกวดวิชาก็ได้

ถ้าหากจะสู้กันด้วยเงินหรือค่าตอบแทน อย่างไรเราก็สู้เม็ดเงินจากภาคธุรกิจไม่ได้

แต่อย่างไรข้าพเจ้าก็ยังเชื่อว่า "ครูในระบบ" ที่พัฒนาตัวเองไปร่ำ ไปเรียน ไปศึกษาจากเงินภาษีของประชาชนก็ยังเป็นผู้มีจิตสำนึกที่จะเห็นผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

ถ้าแก้ที่จิตสำนึกของครูให้สอนอย่างมีประสิทธิภาพภายในโรงเรียนเท่ากับที่มีประสิทธิภาพที่ตนเองไปสอนในโรงเรียนกวดวิชาก็น่าที่จะแก้ปัญหาลงไปได้มาก

เพราะถ้าหากจะไปแก้ที่ค่านิยมของเด็กที่นิยมในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือการเป็นนักเรียนนายร้อยของทั้ง ๓ เหล่าทัพแล้วให้กันกลับมาเรียน "เกษตรศาสตร์" เพื่อออกไปทำไร่ทำนา ก็คงจะยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ลูกจำเป็นต้องมีพ่อแม่คอยเลี้ยงดูฉันใด เด็กนักเรียนไทยก็ต้องมีครูเป็นผู้พร่ำสอนอยู่ฉันนั้น

ถ้าเด็กมีครูดี ครูที่ดีก็จะนำทางไปในทางดี

หมายเลขบันทึก: 410066เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2010 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท